หลังจากภาพยนตร์เรื่อง คิมจียอง เกิดปี 82 เข้าฉายไปเมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ชมชาวไทย ตลอดไปจนถึงการวิพากษ์วิจารณ์สังคมชายเป็นใหญ่ของเกาหลีใต้ผ่านภาพยนตร์เรื่องนี้ที่สะท้อนชีวิตของผู้หญิงเกาหลีรวมถึงเรื่องราวอันแสนไม่ยุติธรรมที่ผู้หญิงเกาหลีต้องเจอ ความคิดเห็นของผู้ชมชาวไทยส่วนใหญ่เป็นไปในทางเดียวกันคือหดหู่ และสงสารผู้หญิงเกาหลี ขณะที่ก็มีบางความเห็นที่สะท้อนความลำบากใจของผู้ชาย ที่ต้องเป็นใหญ่หรือได้เปรียบโดยอัตโนมัติบนความคาดหวังของสังคมและหน้าที่ที่ยัดเยียดให้ผู้ชายเกาหลี  

ในสังคมเกาหลีเอง กระแสตอบรับ คิมจียอง เกิดปี 82 ในรูปแบบหนังสือได้สร้างความเคลื่อนไหวในหมู่สตรีนิยมอย่างมาก ซ้ำด้วยฉบับภาพยนตร์ที่ยกประเด็นนี้ให้กลับมาสดอีกครั้ง ในทางหนึ่งมันส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของผู้ชายเกาหลีในชีวิตประจำวันเช่นเดียวกัน 

ก่อนหน้านั้นเรื่องสิทธิสตรีเป็นที่ถกเถียงกันมาในสังคมเกาหลีใต้ บางครั้งเป็นคลื่นใต้น้ำ บางครั้งก็ปะทุขึ้นมา จากข่าวนักศึกษาชายที่ถูกกล่าวหาว่าใช้วาจาคุกคามทางทางเพศนักศึกษาหญิงจนได้รับโทษและกลายเป็นข่าวใหญ่ ตลอดจนกระแส #YOUTOO ที่เรียกร้องให้หยุดแบ่งแยกหรือกดขี่เพศชาย จากเหตุการณ์เหล่านี้เห็นได้ว่าเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศเป็นประเด็นร้อนทางสังคมเกาหลีอยู่เสมอ ทั้งฝ่ายสตรีนิยมและต่อต้านสตรีนิยมแสดงความคิดเห็นปะทะกันอยู่เนืองๆ หลายการเรียกร้องทำให้ผู้ชายในสังคมเกาหลีเริ่มวางตัวลำบากขึ้น ในการเรียกร้องแต่ละครั้งจะกลายเป็นว่ามีทั้งผู้ได้เปรียบและเหยื่อ โดยทั้งหญิงและชายสามารถตกเป็นเหยื่อกันถ้วนหน้า

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2018 มีบล็อกอิสระเกาหลีเขียนเรื่อง ชองแดฮยอนเกิดปี 79 บอกถึงความในใจของผู้ชายหลายคนที่อยากให้สังคมรับรู้ หากมีเรื่องราวเล่าในบริบทผู้ชายเกาหลีในแบบ คิมจียองเกิดปี 82 โดยเนื้อได้เล่าเรื่องคู่ขนานกับเนื้อเรื่องของ คิมจียอง เกิดปี 82 โดยเล่าจากฝั่งผู้ชายที่ถูกตัดสินและได้รับผลกระทบจากการเรียกร้องสิทธิเรื่องความเท่าเทียมของผู้หญิง ประเด็นนี้ทำให้ผู้ชายทุกคนกลับ ‘อยู่ยาก’ กลายเป็น ‘ผู้ร้ายทำลายเธอ’ ซึ่งเป็นบทบาทที่ผู้ชายไม่ได้เลือกเช่นกัน  

ในเนื้อเรื่องขนาดสั้นที่เป็นการสะท้อนเสียงของผู้ชายผ่านตัวละคร ชองแดฮยอน หรือสามีของคิมจียอง ได้รับความสนใจจากผู้ชายที่พากันมาคอมเมนต์ว่าอินไปด้วย รู้สึกเข้าใจ  เนื้อเรื่องหลักมีความยาวไม่มากสามารถอ่านจบได้ภายในไม่กี่นาที โดยเล่าจากช่วงชีวิต และเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ของชีวิตชองแดฮยอน ตั้งแต่ในวัยเด็ก วันครบรอบวันเกิด 100 วัน เด็กผู้ชายทุกคนต่างต้องถูกถ่ายรูปเปลื้องผ้าในวัยดังกล่าว ชองแดฮยอนก็เช่นเดียวกัน แต่ทว่ารูปใบนั้นยังติดอยู่หน้าร้านถ่ายภาพ เมื่อมีผู้หญิงเดินผ่านไปมา ก็ต่างวิจารณ์ถึงอวัยวะเพศของชองแดฮยอนในวัย 100 วัน ว่า ‘เล็กกะทัดรัด’ จัง และพากันหัวเราะคิกคัก ทำให้ชองแดฮยอนรู้สึกอับอายเสมอ 

ในวัยประถมของชองแดฮยอน เขามีเรื่องทะเลาะกับเพื่อนผู้หญิงตามประสาเด็ก แต่มักถูกดุเสมอว่า เป็นผู้ชายต้องอดทนสิ แม้เขาอยากจะโต้แย้งว่า ถึงแม้เขาจะเป็นผู้หญิง แต่เขาแรงเยอะกว่าผมอีก แต่ก็ไม่กล้า  เมื่อเรียนชั้นมัธยมต้นนักเรียนชายทุกคนต้องถูกโกนหัวเกรียน แต่พวกผู้หญิงกลับได้ไว้ผมยาวประบ่า เขาอยากบอกว่ามันไม่ยุติธรรมเลย แต่ก็กลัวถูกตบบ้องหู ตอนเรียนมัธยมปลายเมื่อเขาทำข้อสอบผิดก็ถูกตีด้วยด้ามไม้ปิงปอง แต่ผู้หญิงโดนตีด้วยไม้ส่วนบางๆ 

เขาอิจฉาผู้หญิงเป็นอย่างมาก เมื่อเขาเข้าเรียนมหาวิทยาลัยได้ทำงานพิเศษ นักศึกษาชายถูกให้ไปทำงานในห้องที่ไม่มีแอร์ ร้อนอบอ้าว เขาก็ได้แต่คิดว่าเป็นความไม่เท่าเทียมจริงๆ แต่ได้แต่คิดว่าถ้าพูดไปคงได้คำตอบว่า เป็นผู้ชายทั้งทีทำไมเรื่องมากขนาดนี้ ในขณะที่เหล่าผู้หญิงได้ใช้ชีวิตวัยรุ่นในรั้วมหาวิทยาลัยแต่ชองแดฮยอนต้องไปใช้ชีวิตวัยรุ่นในรั้วหนาม การฝึกทหารทำให้เขาได้ลิ้มรสขมและความสกปรก และรู้สึกเสียใจที่เกิดมาเป็นผู้ชาย เขาได้รับอุบัติเหตุจากการฝึกทำให้ต้องปลดประจำการและเป็นกระดูกทับเส้น 

หลังจากที่ออกมาจากค่ายทหาร เขาต้องเตรียมสอบราชการ แต่ด้วยสมองทื่อๆ หลังจากไม่ได้เรียนหนังสือนาน การเตรียมสอบสำหรับเขาจึงไม่ใช่เรื่องง่าย และแล้วก็มีข่าวยกเลิกคะแนนพิเศษให้กับผู้ผ่านการเกณฑ์ทหารเนื่องจากการเรียกร้องของกลุ่มเคลื่อนไหวของสตรี เขาสอบข้าราชการไม่ผ่าน ตกไปเพียง 0.1 คะแนน เขาได้แต่คิดว่าถ้ายังมีคะแนนพิเศษให้กับผู้ผ่านการเกณฑ์ทหารก็คงจะดีมาก 

ตอนออกเดทเขาก็ไม่เข้าใจว่าผู้ชายต้องออกเงินค่าเดทเกือบทั้งหมดไปทำไม ในเมื่อผู้หญิงก็หาเงินได้เช่นกัน แฟนเก่าเขาบอกว่า ก็ผู้หญิงจ่ายค่าเดทไปแล้วเป็นค่าแต่งเนื้อแต่งตัว หลังจากชองแดฮยอนได้ยินเช่นนั้นก็รับไม่ได้ ขอเลิก หลังจากนั้นไม่กี่วันเขาก็ถูกฟ้องข้อหาข่มขืน กว่าจะสะสางเรื่องนี้กันได้ก็หลังจากชองแดฮยอนถูกไล่ออกจากบริษัทเสียแล้ว 

เขายังเคยรู้สึกไม่มั่นใจ เสียความมั่นใจเกี่ยวกับความสูงของตัวเอง ชองแดฮยอนรูปร่างค่อนข้างเล็ก หากบวกเพิ่มครึ่งเซนติเมตรก็จะสูง 170 เซนติเมตร หลังจากได้ดูรายการทอล์กโชว์ มีนยอเอซูดา (미녀의 수다) ได้มีสาวจากมหาวิทยาลัยหญิงล้วนคนหนึ่งกล่าวว่า “ผู้ชายที่สูงไม่ถึง 180 เซนติเมตรคือ คนขี้แพ้” เขาแทบไม่กล้าเดินในที่คนเยอะๆ เพราะกลัวผู้หญิงคิดว่าเขาเป็นคนขี้แพ้ 

ส่วนชีวิตแต่งงานของชองแดฮยอนกับคิมจียองเอง วันเสาร์อาทิตย์ก็ยังต้องไปทำงาน ทำโอทีจนร่างแหลกไม่ต่างอะไรกับกิมจิเหี่ยวๆ ขากลับจากบริษัทชองแดฮยอนขึ้นรถไฟใต้ดินตามเดิม เขาเหนื่อยมากและคิดว่าถ้าไปนั่งที่นั่งที่ว่าง (สีชมพู) อยู่ ซึ่งเป็นที่นั่งของคนตั้งครรภ์ คงจะไม่เป็นไร ถ้ามีคนตั้งครรภ์เข้ามาก็จะลุกให้นั่งทันที ด้วยความเหนื่อยเขาคล้อยหลับไป แต่ทว่าในวันถัดไปเขาได้กลายเป็นคนดังเพราะมีคนถ่ายรูปเขาขณะนั่งหลับบนที่นั่งของคนตั้งครรภ์ 

หลังจากมีการเคลื่อนไหวเรื่อง #MeToo ชีวิตของชายหนุ่มอย่างชองแดฮยอนก็เหมือนเจอกับฝันร้ายอีกครั้ง การวางตัวกับเพื่อนร่วมงานเพศหญิงเป็นเรื่องที่ยากขึ้นและต้องระวังตัวมากยิ่งขึ้น เขาพยายามเลี่ยงการเจอกันตามลำพัง จึงสั่งงานผ่านข้อความหรือ kakao talk ชองแดฮยอนเคยปฏิเสธการไปทานอาหารอย่างสุภาพกับนักข่าวสาวที่เคยคุยธุระทางโทรศัพท์ ทว่าหลังจากนั้นก็มีข่าวจู่โจมชองแดฮยอนว่า Pence Rule (การไม่กินข้าวหรือไม่อยู่ไหนสองต่อสองกับผู้หญิงที่ไม่ใช่ภรรยาของตัวเอง) ก็เป็นการคุกคามทางเพศเหมือนกัน ชองแดฮยอนได้แต่ถอนหายใจและคิดว่าการเป็นผู้ชายมันช่างยากจริงๆ

ชองแดฮยอนใช้เงินหมดไปกับงานแต่งงานกว่าหนึ่งร้อยล้านวอน ส่วนคิมจียองออกค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับงานแต่งงานไปยี่สิบล้านวอน ส่วนค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันก็เป็นหน้าที่ของชองแดฮยอน โดยไม่มีอิดออด เขาคิดว่าต้องเป็นแบบนี้อยู่เพราะเขาเป็นผู้ชาย เป็นหัวหน้าครอบครัว ในช่วงวันหยุดยาวในเทศกาลสำคัญแทนที่เขาจะได้พักผ่อนแต่กลับต้องทะเลาะกับคิมจียองก่อนวันเทศกาล ชองแดฮยอนอยากรักษาความสุขครอบครัวจึงไม่แสดงออกอะไรมากนัก ไม่เหมือนภรรยาของเขา 

ชีวิตของชองแดฮยอนก็เหมือนผู้ชายวัยทำงานทุกคน หลังจากชองแดฮยอนออกจากงานไม่นานคิมจียองได้ยื่นขอหย่า ตลอดเวลา 30 ปีมาที่เขาทำงานหาเงินหามรุ่งหามค่ำถึงเที่ยงคืนทุกวันเพื่อจุนเจือครอบครัว เขารู้สึกว่ามันเป็นผลเสียกับตัวเองมากที่ทำงานเยี่ยงสุนัขแบบนั้น ชองแดฮยอนอดทนมาโดยตลอดเพื่อรักษาครอบครัวไว้ เงินเดือนที่หามาด้วยหยาดเหงื่อรวมถึงเงินบำนาญของเขาก็ต้องแบ่งให้คิมจียองมากกว่าครึ่ง เขารู้สึกถึงความไม่เป็นธรรม สภาพจิตใจเริ่มป่วย ในที่สุดชองแดฮยอนก็กลายเป็นโรคซึมเศร้า อีก 6 เดือนให้หลังสุขภาพเขาแย่ลงและได้รับการตรวจพบว่าเป็นมะเร็งตับขั้นสุดท้าย คงเป็นผลพวงจากการทำงานหนักเพื่อหาเลี้ยงลูกเมียมาตลอด 30 ปี และหลังจากนั้น 3 เดือนชองแดฮยอนก็ได้จากไป ทรัพย์สินของชองแดฮยอนก็ถูกแบ่งให้กับคิมจียองที่แต่งงานใหม่กับชายอายุน้อยกว่า คิมจียองไม่ได้ปรากฏตัวในงานศพของเขาแต่อย่างใด 

ความเห็นของเนติเซนเกาหลีก็อย่างเช่น “ถ้าอย่างนี้ชีวิตพวกผู้ชายก็ลำบากเหมือนกัน” “การที่หนังสืออย่างคิมจียองเกิดปี 82 จะดังแล้วมันมีปัญหายังไงกัน” “ถ้าพวกสตรีนิยมเห็นคงนั่งไม่ติด” “ความไม่เท่าเทียมที่ผู้หญิงเจอ กำลังจะดีขึ้น แต่ความเหลื่อมล้ำที่ผู้ชายต้องเจอเมื่อไหร่จะหมดไป” “เรื่องนี้ต้องทำเป็นหนังสือ” 

ความเห็นจะแตกเป็นสองฝั่งอย่างเห็นได้ชัด มีทั้งฝ่ายเข้าข้างผู้หญิง และเข้าข้างผู้ชาย กลายเป็นข้อถกเถียงไม่รู้จักจบสิ้นเหมือนที่เกิดขึ้นเสมอมา ไม่ใช่แค่ในเกาหลีใต้ แต่รวมถึงประเทศอื่นๆ ทั่วโลก และท่ามกลางข้อถกเถียงที่ส่วนใหญ่มักจะหาคนผิด-คนไม่ผิด กลับแทบไม่มีใครพูดถึงการพบกันตรงกลางและต้นทางของชุดความคิดที่ทำให้ระบบสังคมกลายเป็นอย่างนี้

ที่สุดแล้วทั้งผู้ชายและผู้หญิงเกาหลีล้วนเจ็บปวดจากลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรมที่เป็นตัวกำหนดหน้าที่ต่างๆ ของสมาชิกของสังคมเหมือนๆ กัน (รวมถึงเพศอื่นๆ ที่ต้องถูกบังคับให้อยู่ในกรอบของ ชาย-หญิง ซึ่งก็เป็นปัญหาอีกเลเยอร์หนึ่งที่ทับซ้อนในสังคมชายเป็นใหญ่) ดังนั้นการจะบอกว่าใครผิดใครถูก ใครต้องเหนือกว่าใคร ใครดีใครไม่ดีจากการที่เขาหรือเธอเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย คงเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญ และไม่ยุติธรรม เพราะท้ายที่สุดแล้วทุกคนก็ยังคงเป็นมนุษย์เหมือนๆ กันอยู่ดี

 

เอกสารอ้างอิง:  

http://www.cine21.com/news/view/?mag_id=94131 

https://pgr21.com/freedom/76221

https://itlove.tistory.com/770

http://news.chosun.com/site/data/html_dir/2018/03/07/2018030700120.html 

Tags: ,