ญี่ปุ่น อินเดีย คู่แข่งของจีนในเอเชีย อาจร่วมกับสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย คลอดแผนความร่วมมือใหม่เอี่ยม ประชันกับโครงการ ‘หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง’ ที่รัฐบาลปักกิ่งกำลังผลักดัน
เร็วๆ นี้ เกิดกระแสข่าวว่ากลุ่มสี่ประเทศประกอบด้วย ญี่ปุ่น อินเดีย สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย อาจจับมือกันเสนอแนวคิดใหม่ สร้างโครงข่ายสาธารณูปโภค ทำนองเดียวกับแนวคิด เส้นทางสายไหมใหม่ (New Silk Road) ของจีน
ว่ากันว่า นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย มัลคอล์ม เทิร์นบุล เห็นด้วยกับไอเดียของญี่ปุ่นกับอินเดีย โดยจะชักชวน โดนัลด์ ทรัมป์ ให้มาร่วมวงด้วย นักสังเกตการณ์กำลังรอดูว่า ผู้นำสหรัฐฯ ซึ่งประกาศนโยบายเน้นหนักที่กิจการภายในประเทศจะรับลูกหรือเปล่า
แนวคิดเส้นทางสายไหมใหม่ หรือในอีกชื่อหนึ่งว่า‘หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง’ (One Belt, One Road) และแนวคิดของกลุ่มสี่ประเทศ ต่างชูภาพว่าเป็นโครงการทางเศรษฐกิจ
แต่อันที่จริง หากทำสำเร็จ มีความหมายอย่างมหาศาลในทางการเมืองระหว่างประเทศ
จีนผงาด
‘ความริเริ่มแถบและเส้นทาง’ (Belt and Road Initiative) เป็นอีกชื่อของโครงการสาธารณูปโภคที่เชื่อมโยงพื้นที่การค้าการลงทุนของจีนที่ว่านี้ ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงประเดิมขายไอเดียดังกล่าวระหว่างแสดงสุนทรพจน์กับนักศึกษามหาวิทยาลัยในคาซัคสถานเมื่อปี 2556
โครงการนี้มุ่งสร้างระบบขนส่งคมนาคม ทำนองเดียวกับเส้นทางสายไหมยุคโบราณที่จีนเคยใช้ติดต่อกับดินแดนไกลโพ้น ตามแนวคิดนี้ ‘หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง’ จะครอบคลุมพื้นที่กว่า 60 ประเทศ ประชากร 4,400 ล้านคน มีจีดีพีรวมกันในสัดส่วนถึง 40 เปอร์เซ็นต์ของโลก
สีจิ้นผิงเอาจริงมากกับโครงการนี้ จีนเชิญผู้นำประเทศทั่วโลกไปพบกันที่กรุงปักกิ่งเมื่อเดือนพฤษภาคมปีก่อน พร้อมประกาศให้ทุนสนับสนุน ‘หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง’ เป็นเงิน 124,000 ล้านดอลลาร์ฯ ต่อมาในเดือนตุลาคมยังบรรจุเรื่องนี้ไว้ในธรรมนูญของพรรคคอมมิวนิสต์ด้วย
บางเสียงวิจารณ์ว่า แนวคิดนี้ไม่ต่างจากการสร้างจักรวรรดิ มุ่งต่อท่อไปทั่วย่านยูเรเชียและแปซิฟิก เพื่อระบายสินค้าที่จีนผลิตจนล้นเกิน และเพื่อดูดดึงเอาทรัพยากรจากประเทศที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัวกลับไปเลี้ยงยักษ์เศรษฐกิจที่กำลังก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจ
บางคนมองถึงขั้นว่า จีนกำลังอาศัยเส้นทางสายไหมยุคใหม่เป็นลู่วิ่ง หวังก้าวขึ้นแท่นอันดับหนึ่งในโลกแทนที่สหรัฐฯ หรืออย่างน้อยเป็นนัมเบอร์วันในย่านเอเชีย-แปซิฟิก
บางคนมองถึงขั้นว่า จีนกำลังอาศัยเส้นทางสายไหมยุคใหม่เป็นลู่วิ่ง หวังก้าวขึ้นแท่นอันดับหนึ่งในโลกแทนที่สหรัฐฯ
ข้อวิตกและคำวิจารณ์ในประการหลัง อาจเป็นเหตุผลอย่างหนึ่ง ที่ทำให้ญี่ปุ่นกับอินเดียจับมือกันสกัดอิทธิพลของจีน ด้วยการเสนอแนวคิดขึ้นมาประกบ
โครงข่ายเชื่อมโยง เวอร์ชั่นสี่ประเทศ
เมื่อกลางเดือน ก.พ. สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย และสหรัฐฯ กำลังหารือกันจัดทำโครงการสาธารณูปโภคระดับภูมิภาค เพื่อเป็น ‘ตัวเลือก’ สำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่ได้รับข้อเสนอโครงการจากจีน
ความเคลื่อนไหวนี้เป็นเรื่องสืบเนื่องจากการหารือของพี่เบิ้มทั้งสี่ ภายใต้กลไกที่เรียกว่า ‘เวทีสนทนาด้านความมั่นคงจตุภาคี (Quadrilateral Security Dialogue)’ หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า ‘ควอด (Quad)’
เจ้าหน้าที่อาวุโสของควอดเห็นพ้องกันในการพูดคุยนอกรอบระหว่างการประชุมผู้นำอาเซียนและเอเชียตะวันออกที่กรุงมะนิลาเมื่อเดือน พ.ย. ว่า สมควรรื้อฟื้นกลไกนี้กลับมาอีกครั้ง หลังระงับไปเมื่อทศวรรษก่อน เนื่องจากจีนทักท้วง ทำให้ออสเตรเลียถอนตัว
กลไกที่ฟื้นขึ้นใหม่เมื่อปีที่แล้วนี้ ไม่ได้หารือเฉพาะเรื่องความมั่นคง หากยังประสานความร่วมมือในการสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการสาธารณูปโภคที่จีนเสนอให้ประเทศต่างๆ ทำด้วย
เวลานี้ ญี่ปุ่นกับอินเดียกำลังร่วมมือกันพัฒนาโครงการหลายอย่าง ตั้งแต่โรงไฟฟ้า ทางรถไฟ ไปจนถึงท่าเรือ ทั้งในศรีลังกา บังกลาเทศ เมียนมา และเกาะต่างๆ ในมหาสมุทรอินเดีย
นอกจากนี้ ประเทศทั้งสองยังร่วมกันผลักดัน ระเบียงเศรษฐกิจเอเชีย-แอฟริกา (Asia-Africa Growth Corridor) ซึ่งเป็นแนวคิดของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ชินโซะ อาเบะ ที่จะเชื่อมเศรษฐกิจของแอฟริกา เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าด้วยกัน ในขณะที่จีนกำลังข้ามมหาสมุทรอินเดียไปผูกไมตรีในย่านแอฟริกาตะวันออก
แผนการของกลุ่มสี่ประเทศอาจเป็นแหล่งทุนใหม่ ช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย รวมทั้งไทยซึ่งกำลังร่วมมือกับจีนทำรถไฟความเร็วสูงตามแนวคิด ‘หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง’ มีตัวเลือกนอกเหนือจากทุนจีน
ญี่ปุ่นเองยังเสนอความคิดอีกอย่าง เรียกว่า ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Strategy) มุ่งพัฒนาสาธารณูปโภคคุณภาพสูงในย่านมหาสมุทรอินเดีย ย่านตอนกลางและฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก และย่านทะเลต่างๆ ในแถบหมู่เกาะอินโดนีเซีย ครอบคลุมเส้นทางจากเอเชียตะวันออกไปยังแอฟริกา
โครงข่ายเชื่อมโยงในเวอร์ชั่นของกลุ่มสี่ประเทศมีหน้าตาอย่างไร เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องบอกว่า แนวคิดนี้เพิ่งก่อหวอด ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง แต่ไม่ได้ต้องการสกัดกั้นหรือประชันขันแข่งกับ ‘หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง’
ขณะกำลังเขียนต้นฉบับนี้ นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย มัลคอล์ม เทิร์นบูล อยู่ระหว่างเยือนสหรัฐฯ คาดว่าในช่วงสุดสัปดาห์ เขาจะหยิบยกแนวคิดของสี่ประเทศ ซึ่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงได้หารือกันในเวทีความมั่นคง พูดจาหยั่งท่าทีกับผู้นำสหรัฐฯ เราจึงต้องคอยฟังว่าทรัมป์จะเห็นอย่างไร
แผนการของกลุ่มสี่ประเทศอาจเป็นแหล่งทุนใหม่ ช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย รวมทั้งไทยซึ่งกำลังร่วมมือกับจีนทำรถไฟความเร็วสูงตามแนวคิด ‘หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง’ มีตัวเลือกนอกเหนือจากทุนจีน
ถ้าทำเนียบขาวเอาด้วย ประเทศทั้งสี่เดินหน้าเต็มสูบ จีนจะมองเป็นความพยายามสกัดดาวรุ่งหรือไม่ กลุ่มสี่ประเทศจะวางบทบาทของโครงการใหม่นี้อย่างไร ถือเป็นคู่แข่งหรือเป็นออปชั่นเสริม เหล่านี้ยังคงเป็นคำถาม
แนวคิดของกลุ่มสี่ประเทศเพิ่งก่อรูป ยังไม่มีรูปธรรมชัดเจน แม้แต่ชื่อเรียกก็ยังไม่มี แต่นับเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าติดตามทีเดียว
อ้างอิง: