จนถึงตอนนี้เหตุน้ำท่วมจากฝนกระหน่ำไม่หยุดทางตะวันตกของญี่ปุ่นตั้งแต่บ่ายวันศุกร์จนถึงเช้าวันเสาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว  มีผู้เสียชีวิตแล้ว 157 คน ซึ่งเป็นภัยพิบัติธรรมชาติจากฝนที่หนักมากที่สุดในรอบ 36 ปี และยังมีผู้สูญหายอย่างน้อย 60 คน ส่วนใหญ่อยู่ในเมืองฮิโรชิมา

ประชาชนประมาณ 2 ล้านคนต้องอพยพมาอยู่ในสนามกีฬาของโรงเรียน หลังจากน้ำในแม่น้ำเอ่อล้นท่วมบ้านเรือน ขณะที่ทางการเร่งค้นหาผู้รอดชีวิตที่อาจจะติดอยู่ใต้ดินให้ทันภายใน 72 ชั่วโมงซึ่งคนมีโอกาสรอดชีวิตได้ พร้อมทั้งเร่งฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมและดินถล่ม

ระดับความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากฝนถล่มญี่ปุ่นทำให้มีคำถามตามมา ว่าเหตุใดประเทศญี่ปุ่นซึ่งมักประสบกับภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่าง แผ่นดินไหวและสึนามิขึ้นชื่อว่าสามารถรับมือกับภัยธรรมชาติได้ดีมาก จึงมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 150 คนจากฝนที่ตกหนัก

มีข้อสันนิษฐานว่า มีหลายปัจจัยที่ทำให้ครั้งนี้เป็นภัยพิบัติจากฝนที่เลวร้ายที่สุดในรอบสามทศวรรษ

นี่เป็นช่วงญี่ปุ่นกำลังเข้าสู่ฤดูพายุไต้ฝุ่น โดยเฉลี่ยญี่ปุ่นจะเผชิญกับพายุไต้ฝุ่นเฉลี่ย 6 ครั้งต่อปี ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมไปจนถึงตุลาคมหรือพฤศจิกายน ลมพายุทำให้กระแสน้ำไหลเชี่ยวและกระแสลมแรง แม้ว่าทางการจะมีมาตรการติดตามเพื่อป้องกันผลกระทบที่เกิดขึ้น แต่ฝนไม่เคยตกหนักมากเท่านี้มาก่อน ปริมาณน้ำฝนที่บันทึกไว้ในเช้าวันอาทิตย์สูงที่สุดในรอบหลายทศวรรษ  

สถานีโทรทัศน์ NHK ของญี่ปุ่นรายงานว่าช่วงตี 5-7 โมงเช้าวันอาทิตย์ (8 ก.ค.) เมืองอูวะจิมามีปริมาณน้ำฝน 364 มิลลิเมตร มากกว่าของปริมาณฝนโดยเฉลี่ยในฤดูฝน 1.5 เท่า ส่วนในจังหวัดโคจิ มีปริมาณน้ำฝน 263 มิลลิเมตร ซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1976

พื้นที่ 70% ของญี่ปุ่นเป็นภูเขาและเนิน ดังนั้นบ้านจึงมักตั้งอยู่บนที่ลาดชัน หรือเป็นพื้นที่น้ำท่วมอยู่ด้านล่าง “นอกจากนี้ ดินของญี่ปุ่นยังมีหลากหลายทางธรณีวิทยา จากการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลกและชั้นของภูเขาไฟ ซึ่งมันอ่อน” ฮิโรยูกิ โอโนะ หัวหน้าศูนย์ควบคุมการกัดเซาะของดินและศูนย์เทคนิคดินถล่ม กล่าว ด้วยเหตุนี้จึงทำให้บ้านเรือนของประชาชนซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่ดังกล่าวเกิดดินถล่มและน้ำท่วมได้

แม้รัฐบาลมีโครงการระยะยาวโดยเตือนให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยย้ายออกไป และห้ามไม่ให้มีการก่อสร้างในพื้นที่อ่อนไหว แต่โครงการนี้ยังไม่เสร็จสิ้น หลายพื้นที่ยังอยู่ในอันตราย

นอกจากนี้ บ้านส่วนใหญ่ในญี่ปุ่นเป็นบ้านไม้ โดยเฉพาะบ้านแบบดั้งเดิมซึ่งเป็นที่นิยมมากในชนบท ฐานของบ้านยังทำด้วยไม้เพื่อให้ยืดหยุ่นกับแผ่นดินไหว แต่ว่าไม่ทนทานต่อแรงปะทะของน้ำหรือดินถล่ม ผู้สื่อข่าวเอเอฟพีรายงานว่า มีบ้านหลายหลังที่ชั้นบนแยกตัวจากชั้นล่าง และถูกดินถล่มพัดพาไป มีไม่น้อยที่หายไปทั้งหลัง

ขณะเดียวกัน แม้ทางการญี่ปุ่นออกคำสั่งให้ประชาชนประมาณ 5 ล้านคนอพยพในช่วงที่ฝนตกหนักที่สุด แต่ว่าคำสั่งนี้ไม่ได้บังคับใช้ ประชาชนส่วนใหญ่ไม่สนใจ

“มนุษย์มักจะไม่ค่อยยอมอพยพและเมินเฉยต่อข้อมูลแง่ลบ” ฮิโรทาดะ ฮิโรเสะ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการภัยพิบัติกล่าว “ธรรมชาติของมนุษย์นี้ทำให้ไม่ทำอะไรต่อภัยพิบัติอย่างดินถล่มและน้ำท่วมฉับพลัน ซึ่งเกิดขึ้นรวดเร็ว” อย่างไรก็ตาม เขายังกล่าวว่าระบบเตือนภัยของญี่ปุ่นมีปัญหา ซึ่งปล่อยให้การออกคำสั่งอพยพเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่น ที่ไม่มีความเชี่ยวชาญในการจัดการภัยพิบัติ

นี่ยังเป็นผลจากความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ประชาชนในภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบนี้กล่าวว่า ไม่เคยเจอฝนที่ตกแบบนี้มาก่อนเลย “ความถี่ของภัยพิบัติที่เกิดจากฝนตกหนักมากๆ กำลังเพิ่มขึ้น และเรากำลังเผชิญกับโลกที่ประสบการณ์เดิมไม่สามารถใช้ได้อีกแล้ว” โอโนะกล่าว

นักวิทยาศาสตร์เตือนว่า ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนทำให้มีภัยพิบัติที่เกี่ยวกับฝนมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ตอนนี้ประชาชนควรจะอพยพออกจากพื้นที่ก่อนที่จะมีคำสั่ง เมื่อมีพยากรณ์อากาศว่าจะมีฝนตกหนักมากๆ

ซูสุมะ นากาโน หัวหน้าศูนยวิจัยเพื่อการจัดการภัยพิบัติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยโทคุชิมากล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบกับแผ่นดินไหว มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหายังไม่มากพอ จำเป็นต้องใช้ความพยายามมากขึ้นที่จะคาดการณ์ว่าอาจจะเกิดน้ำท่วม”

 

ที่มาภาพ: REUTERS/Issei Kato

ที่มา:

Tags: , ,