ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหลายคนเสียชีวิตก่อนที่จะเข้ารับการผ่าตัด เนื่องจากระยะเวลาที่ต้องรอคอยบริจาคหัวใจ รวมถึงหลายครั้ง หัวใจที่ได้รับบริจาคก็ไม่เข้ากับร่างกายของผู้ป่วย
เมื่อวันที่ 26 มกราคม มีรายงานว่านักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการใช้สเต็มเซลล์ หรือเซลล์ต้นกำเนิดที่แยกจากตัวอ่อน (iPS cell) รักษาผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดสำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก
ทีมวิจัยนำโดย โยชิกิ ซาวะ ศาสตราจารย์จากศูนย์ผ่าตัดหัวใจ มหาวิทยาลัยโอซากาได้เพาะเซลล์ขึ้นมาจากเซลล์ต้นกำเนิดตัวอ่อน ซึ่งนำมาอีกทีจากเซลล์ที่สมบูรณ์อื่น เช่น ผิวหนังหรือเลือด ก่อนที่จะวางเซลล์ดังกล่าวลงบนแผ่นที่ย่อยสลายได้และใส่กลับเข้าไปในร่างกายของผู้ป่วยบริเวณหัวใจส่วนที่ได้รับความเสียหาย หรือที่เรียกว่า ‘กระบวนการเซลล์ย้อนกลับ (cellular reprogramming)’ โดยหวังว่าเซลล์จะเติบโตและปล่อยโปรตีนที่ช่วยฟื้นฟูหลอดเลือดหัวใจ และกระตุ้นระบบการทำงานของหัวใจผู้ป่วย
ทั้งนี้ นักวิจัยจะติดตามอาการของผู้ป่วยรายนี้ต่อไปจนถึงปีหน้า ซึ่งถ้าผลออกมาเป็นบวก กระบวนการนี้ก็จะกลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือกนอกเหนือจากการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ ซึ่งการคัดเลือกสเต็มเซลล์ที่แยกจากตัวอ่อนสะดวกกว่าการหาผู้บริจาคอวัยวะ อีกทั้ง ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายสามารถปรับตัวต่อเซลล์ได้ง่ายกว่าอวัยวะใหม่
ซาวะกล่าวระหว่างการแถลงข่าวว่า เขาหวังว่า นี่จะกลายเป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ช่วยชีวิตผู้คนได้อีกมากมาย
อย่างไรก็ตาม นักวิจัยยังมีแผนที่จะทดสอบวิธีการดังกล่าวกับผู้ป่วยอีก 9 ราย ในระยะเวลา 3 ปี เพื่อพิสูจน์ว่าสเต็มเซลล์ที่แยกจากตัวอ่อนจะสามารถใช้รักษาผู้ป่วยได้อย่างปลอดภัย
ที่มา:
https://futurism.com/neoscope/researchers-transplant-lab-grown-heart-muscle-cells-patient
รูป /mainichi.jp
Tags: เสต็มเซลล์, โรคหัวใจ, สุขภาพ, การแพทย์