ร่างสูง บุคลิกสุภาพ สุขุม พูดน้อย จึงทำให้เขาดูนิ่งในสายตาคนทั่วไป แต่หลังข่าวการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทีมงานนิตยสาร a day เมื่อ 2 ปีก่อน ชื่อ เอี่ยวศิวะภาค เจียรวนาลี เริ่มปรากฏตามสื่อมากมายในฐานะบรรณาธิการบริหารคนที่ 4 ของ a day ในจังหวะที่แบรนด์นี้ถูกจับตามองว่า จะไปได้อีกไกลแค่ไหนท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านและกระแสขาลงของสื่อสิ่งพิมพ์

ว่ากันตามจริง ศิวะภาคเป็นลูกหม้อของ a day มายาวนานถึง 10 ปี จากหนึ่งใน a team junior รุ่น 3 มาสู่การเป็นกองบรรณาธิการ บรรณาธิการบทความ และผู้ช่วยบรรณาธิการ ที่ทำงานร่วมกับอดีตบรรณาธิการบริหารทรงกลด บางยี่ขัน มาเนิ่นนาน รวมทั้งเป็นตัวหลักที่ร่วมปลูกปั้น ดูแลทั้งเทศกาลจักรยาน HUMAN RIDE พร้อมผลิตเนื้อหาในนิตยสารชื่อเดียวกันมานับสิบฉบับ

ศิวะภาครับตำแหน่งบรรณาธิการบริหาร a day ตั้งแต่ฉบับที่ 201 ในเดือนเมษายน 2560 เป็นต้นมา

a day ฉบับต่างๆ ภายใต้การนำทีมรุ่นเยาว์ของเขามีลีลาที่หลากหลาย ทั้งการกลับมาทดลองทำอะไรใหม่ๆ การหยิบยกเนื้อหาทางเลือกในกลุ่ม subculture ต่างๆ มานำเสนอ ฯลฯ รวมทั้งโครงการฝึกงาน a team junior ในยุคของเขาก็ต่างไปจากอดีต ที่เปิดรับตำแหน่งใหม่ๆ และมีจำนวนสมาชิกเพิ่มมากขึ้น เพื่อร่วมจัดทำทั้งนิตยสารและ content ต่างๆ ในสื่อดิจิทัลที่เป็นอีกหนึ่งช่องทางสำคัญของ a day

ก่อนจะครบ 2 ปีเต็มของการทำงานท่ามกลางความท้าทายนี้ ศิวะภาคก็ได้รับการโปรโมทสู่ตำแหน่ง Creative Director ของแผนก Creative Marketing นำทีมที่มุ่งสร้างโปรเจกต์ให้กับสื่อทุกแบรนด์ในเครือ daypoets และเตรียมส่งไม้ต่อให้ จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์ อดีตลูกหม้ออีกคนของ a day  ที่กลับมาร่วมงานกันอีกครั้งในฐานะบรรณาธิการบริหารคนที่ 5 ของ a day

นอกจากนี้ โครงการ a team junior ที่เป็นตัวนำร่องในการสร้างความเชื่อมโยงกับคนรุ่นใหม่ที่สนใจการทำสื่อ ก็ขยับขยายให้กว้างขึ้นสู่โครงการ ‘daypoets society’ โครงการฝึกงานที่ทุกสื่อในเครือ ได้แก่ a day, a day BULLETIN, a book และ The Momentum ผนึกกำลังกัน และเปิดรับคนเข้าร่วมทีม junior ในแต่ละแบรนด์ของตัวเอง

นับเป็นโปรเจ็กต์ประเดิมของ Creative Director คนใหม่คนนี้ ในยุคที่วงการสื่อยังต้องปรับตัวอย่างหนักและว่องไวให้เท่าทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลง

ปีนี้คุณทำงานที่ a day ภายใต้บริษัท daypoets เข้าปีที่ 11 แล้ว อะไรทำให้คุณเลือกอยู่ที่นี่นานขนาดนี้

ลมเพลมพัดเหมือนกัน ผมเลือกแต่ไม่ได้คาดหวัง ไม่ได้คิดว่าจากการฝึกงาน a team junior รุ่น 3 เมื่อสิบกว่าปีที่แล้วจะทำให้มายืนตรงนี้ได้ ผมแค่ใช้สัญชาตญาณในการตัดสินและเลือกที่จะเดินทางไปต่อ อย่างตอนเลือกว่าจะย้ายที่ทำงานหรือเป็นบรรณาธิการบริหารของ a day ต่อไปไหม มันมีปัจจัยให้คิดมากมาย แต่สุดท้าย 80% ของการตัดสินใจนั้นเกิดจากข้างใน จากสัญชาตญาณว่าทางนี้มันน่าจะใช่ น่าจะทำให้เรานอนหลับได้

นอนหลับได้หมายความว่าอย่างไร

ตอนนั้นไม่ใช่แค่บริษัทที่เจอความท้าทายอย่างเดียว จิตใจของทุกคนที่อยู่ที่นี่ก็เช่นเดียวกัน เวลานึกถึงเรื่องนี้ผมจะชอบนึกถึงเหตุการณ์ตอน สตีฟ จอบส์ ออกจาก Apple ครั้งแรกด้วยการถูกไล่ออกจากบอร์ดบริหาร เวลาดูสื่อ ทุกคนจะโฟกัสที่จอบส์ออกไปทำ NeXT ทำ Pixar แต่ไม่มีใครรู้เลยว่าใน Apple มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง เหตุการณ์นี้สอนผมหลายเรื่องเหมือนกันว่าเวลาเจอสถานการณ์แบบนี้ เราควรจะบริหารจัดการข้างในตัวเรายังไง

ผมคิดว่าเหตุการณ์ในบริษัทนี้เมื่อสองปีก่อนเป็นอุบัติเหตุ แต่ในเมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว เราก็แค่พยายามเดินไปข้างหน้าต่อ พอทำงานมาสักพัก เราจะเริ่มทำไปด้วยความเคยชิน แต่เหตุการณ์นั้นทำให้ผมคิดกับตัวเองเหมือนกันว่าเราทำสิ่งนี้ไปทำไม

วันนั้นพูดกันตรงๆ แล้ว a day ล้มลงไปได้ง่ายๆ เลยถ้าไม่มีใครทำต่อ แต่ผมเชื่อลึกๆ ว่าสิ่งที่ a day พูดมาตลอดไม่ควรหายไป ไม่ควรไม่มีสื่อที่พูดถึงพลังของคน พลังของทางเลือกใหม่ๆ ในสังคม เพราะผมทำ a day ด้วยความรู้สึกอยากสร้างทางเลือก สร้างความหวังให้สังคม ด้วยการบอกให้เขาเห็นทางเลือกใหม่ๆ ในการดำเนินชีวิต เห็นไอเดียหรือความคิดสร้างสรรค์ที่ทำให้รู้สึกว่าโลกนี้ไม่ได้แย่จนเกินไป

พอตอบสิ่งนี้ได้ มันทำให้ผมนิ่งขึ้นและตัดสินใจง่ายขึ้นว่าจะอยู่ที่นี่ต่อด้วยเหตุผลนี้ นั่นละที่ทำให้ผมนอนหลับได้

แรกๆ หลายคนที่รู้จักคุณก็สงสัยนะว่า คุณตัดสินใจทำ a day ต่อไปด้วยความต้องการของคุณ หรือเพราะเป็นไฟต์บังคับ แต่พอคุณรับหน้าที่บรรณาธิการบริหาร a day จริงๆ หลายอย่างที่คุณทำ ดูจะมีความหวือหวา โลดโผน ผิดกับบุคลิกนิ่งๆ ของคุณเลย

(หัวเราะ) การทำ a day หล่อหลอมผมอย่างหนึ่ง คือมันทำให้ผมเกิดความรู้สึกอยากกระโจนลงไปในบ่อแห่งความไม่รู้ได้ตลอดเวลา a day พูดหลายเรื่อง การจะเล่าอะไรก็ตามเราต้องรู้จักมันมากขึ้น ถ้าเราตั้งกำแพงไว้หนาเกิน มันจะทำให้เราไม่เห็นโลกใหม่ๆ ไม่รู้เรื่องใหม่ๆ มันกลายเป็นแกนหลักข้อหนึ่งของผม เวลาเจออะไรที่รู้สึกสงสัยว่ามันเป็นยังไงนะ ถ้าเซนส์บอกว่าพอได้ ผมจะกระโดดลงไป

เวลาที่ต้องอยู่กับสิ่งที่ไม่รู้ คุณมีวิธีคิดหรือจัดการอย่างไร

ผมโอเคที่จะบอกว่าผมไม่รู้เรื่องนี้ สอนผมหน่อย ผมชอบดูหนังและรู้จักนักแสดงบางคนที่ชอบแสดงแบบ method acting มันไม่ใช่แค่จำบทแล้วท่อง แต่เป็นคนนั้นเท่าที่มนุษย์คนหนึ่งจะทำได้ พยายามอย่างถึงที่สุดที่จะเข้าใจมัน ผมชอบโพรเซสแบบนี้ พอมาทำงานนี้ก็รู้สึกว่างานเอื้อให้เกิดแรงบันดาลใจกับเราได้

ถ้าถามถึงความรู้สึกข้างในว่าผมตัดสินใจเพราะควรทำ หรือทำเพราะตัวเองต้องการ มันก็ครึ่งๆ นะ ผมแค่มองรอบๆ ด้วยว่าตอนนั้นสถานการณ์เป็นยังไง ผมเห็นความหดหู่บางอย่างของน้องๆ ที่ยังไม่รู้จะไปทางไหน ตอนนั้นคิดได้ข้อหนึ่งว่า ท่ามกลางคลื่นลม มันคงจะดีถ้ามีเสาหลักต้นหนึ่งที่แข็งแรงมั่นคงให้ยึดไว้ แม้มันจะเกิดการเปลี่ยนแปลงจนทุกคนมองว่าไม่น่าไปได้ดี แต่ผมรู้สึกว่าผมเป็นเสาหลักต้นนี้ได้ มันไม่ใช่ความรู้สึกโอ้อวดอะไร แค่เป็นความรู้สึกว่าเราน่าจะพอทำได้นะ

เวลาผมตอบแบบนี้ ผมจะโดนแซวว่ามึงนี่คนดีมาก แต่ลึกๆ เราก็อยากเลือกชอยซ์นี้เพราะน้องๆ และคนรอบข้างหล่อหลอมเราขึ้นมาแบบนี้ หล่อหลอมการทำงานของเรา เราก็อยากทำงานกับคนเหล่านี้ต่อ เรายังเชื่อในเรื่องเดียวกันอยู่ แล้วทำไมเราจะไม่ทำล่ะ

ทีม a day ยุคใหม่นี้ มีการรับเด็กรุ่นใหม่ๆ เข้ามามาก การทำงานกับน้องรุ่นนี้เป็นอย่างไรบ้าง

สนุกดี จะว่าใหม่เลยก็ไม่เชิง ทุกคนล้วนเชื่อมโยงกับ a day ในทางใดทางหนึ่ง ผมชอบเวลาที่คนใหม่ๆ มาเจอกัน วันแรกที่ประชุมกับน้องๆ ตอนเป็นบรรณาธิการบริหารแล้ว ผมบอกน้องๆ ว่าผมอยากเปิดประตูของ a day ให้กว้างขึ้น ถ้าเราจะเป็นสื่อที่สร้างความหวังให้สังคม ตัวคนทำก็ต้องเห็นด้วย ผมพยายามให้น้องๆ ทั้งที่ยังอยู่และเข้ามาใหม่ได้ทำอะไรที่ไม่เคยลองทำ ลองพูดถึงคนที่เราไม่เคยเสนอ เล่าถึงวงการที่เราไม่เคยเข้าไปดูแต่จริงๆ แล้วมีอะไรอีกเยอะแยะ

คุณมีวิธีฝึกน้องๆ ร่วมทีมของตัวเองแบบไหน

มันอาจไม่ใช่วิธีการสอนที่ดีก็ได้นะ (หัวเราะ) ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่าถ้าบางเรื่องคุณยังไม่เห็น คุณอาจยังไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้นบางอย่างผมจะกระตุ้นให้น้องลองทำเลย มันจะได้เห็นเองว่าทำแล้วเป็นยังไง นี่เป็นข้อดีของการทำสื่อยุคนี้ที่เรามีโอกาสลองง่ายขึ้น บางไอเดียที่น้องๆ ไม่มั่นใจ ผมจะเสนอว่าลองทำเลยไหม ทำให้อยู่ในสเกลที่เรารับได้ถ้ามันพลาด แต่อย่างน้อยเราก็ได้ลองสร้าง ลองทำ ได้เห็นฟีดแบ็กว่าเป็นยังไง

อย่างเช่น a day ฉบับธีม a night (ฉบับ 220 เดือนธันวาคม 2561) ซึ่งเป็นมุกที่เล่นกันในทีมมาตั้งนานแล้ว มันอาจเป็นตัวอย่างที่บ้ามาก แต่เราแค่อยากเป็น a day ที่เราเคยเป็น คือกล้าทำอะไรที่คนรู้สึกว่ามึงเอางี้จริงเหรอ ผมแค่คิดเล่นๆ ว่าถ้ามันเกิดขึ้นจริง ถ้าเราเล่าสิ่งนี้ด้วยสายตาของคนทำสื่อ เราจะเห็นอะไรบ้างจากหัวข้อนี้ มันอาจเป็น DNA ของพวกนิตยสารอิสระ มันอาจไม่ประสบความสำเร็จมากนักในแง่ยอดขาย แต่ก็เป็นสัญลักษณ์หนึ่งที่เราจะบอกว่าจริงๆ แล้ว a day เป็นอะไรก็ได้ ถ้าจะมีสื่อสักหัวที่กล้าทำอะไรแบบนี้ มันต้องเป็น a day เราไม่ควรอยู่ในเซฟโซนไปตลอดชีวิต เราควรกล้าทำอะไรที่รู้สึกว่าน่าลองดูบ้าง ที่จริง a day เป็นแบบนี้มานานแล้ว เราแค่ชวนให้เห็นอีกรอบว่าเราทำแบบนี้ได้

คนรุ่นใหม่ที่เข้ามาร่วมทีม a day กับคุณ ทำให้คุณมองเห็นอะไรในตัว ‘เด็กสมัยนี้’ บ้าง

ก็มีส่วนที่ทำให้ผมมองเห็นความหวังนะ แต่ผมไม่ได้คิดว่ามันต้องเป็นเด็กวัยรุ่นอายุ 18-25 ปีเท่านั้นที่เราจะมองเห็นความหวังได้ ถ้าเราเจอคนใหม่ๆ แม้คนนั้นจะอายุ 60 เราก็รู้สึกมีความหวังได้เหมือนกัน เพียงแต่คนกลุ่มวัยรุ่นมีเยอะและมวลบรรยากาศของเด็กรุ่นใหม่มันดูมีเสน่ห์ดี

เวลาผมไปพูดบรรยายแล้วเจอเด็กมัธยมฯ ผมชอบถามว่าสนใจเรื่องอะไรกัน ดูหนังไหม ฟังเพลงอะไร อยากรู้มากๆ ว่าพวกเขาอยู่ในสังคมแบบไหน แล้วมันจะเซอร์ไพรส์ทุกทีว่า อ๋อ มันเป็นแบบนี้นี่เอง สิ่งที่เราคิดมันไม่ใช่นะ เคยไปคุยกับน้องๆ มัธยมฯ ปลาย ทุกคนพูดเรื่อง LGBT กันเป็นเรื่องปกติ สิ่งนี้มันอยู่มานานแล้ว แต่พอเห็นน้องๆ กล้าพูดออกมา ก็รู้สึกว่ามันเป็นโมเมนต์ที่ดี

ผมชอบเชื่อว่า เวลาเรามองหาความหวังไม่เจอ ให้มองกลับไปยังคนที่กำลังตามมา เพราะนั่นคือคนใหม่ๆ ที่เพิ่งเกิดและเพิ่งจะเห็นโลก เวลาเรารู้สึกสิ้นหวังเหตุผลหนึ่งอาจเป็นเพราะเราอยู่กับโลกนี้มานาน นานเสียจนรู้สึกว่าทางนี้ก็แย่ ทางนั้นก็ไม่ดี แต่กับเด็กรุ่นใหม่ๆ ที่เพิ่งเห็นโลก เขาจะคิดอะไรใหม่ๆ ด้วยความไร้เดียงสา บางคนอาจจะมองในทางลบ แต่ผมมองเห็นพลังในทางบวกว่าถ้าเราใช้สิ่งนี้ให้เป็น ใช้ให้ดี มันน่าจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอะไรใหม่ๆ ได้เหมือนกัน

นี่เป็นหลักคิดของโครงการฝึกงาน a team junior ที่อยู่มานานถึง 15 ปีด้วยหรือเปล่า

a team junior เป็นโครงการที่สร้างคนรุ่นใหม่เข้ามาในวงการสร้างสรรค์ แต่มันอาจไม่ใช่การสร้างคนในความหมายที่เป็นทางการนักหรอก เพราะเราไม่ใช่เจ้าของชีวิตใคร ไม่ได้สร้างเขาขึ้นมาแต่แรก ตัวเด็กเองมีฝีมืออยู่แล้ว เราเป็นคนให้โอกาส การให้โอกาสไม่ได้มีอะไรซับซ้อน มันแค่เห็นว่าเด็กเหล่านี้เจ๋งดีว่ะ มีฝีมือ อยากให้พวกเขาทำอะไรที่น่าสนใจและใหญ่ขึ้นกว่าตัวมัน นี่คือที่มาของ a team junior ตั้งแต่แรกเริ่ม

ปีนี้โจทย์ของโครงการคือเราอยากต่อยอด a team junior ให้ใหญ่ขึ้น กว้างขึ้น กลายเป็น daypoets society อธิบายอย่างกว้างมันคือการเอา a team junior มาขยายให้ทุกสื่อในเครือมีทีมจูเนียร์ของตัวเอง ทั้ง a day BULLETIN, a book, The Momentum ซึ่งในทางปฏิบัติจริง เราไม่ได้เปลี่ยนอะไรมากมาย เราแค่อยากให้น้องๆ ได้ลองทำสื่อใหม่ๆ ที่หลากหลายยิ่งขึ้น

อย่าง a day เองเราก็ไม่ได้อยากแค่ให้น้องมาทำนิตยสารอย่างเดียว เราให้เลือกว่าจะทำอะไร น้องจะทำสิ่งพิมพ์ก็ได้ ทำเว็บฯ ก็ได้ ทำนิทรรศการก็ได้ ทำหนังสั้นยังได้ แล้วพี่ๆ จะหาทางเผยแพร่มันออกมา แนวคิดก็ไม่ต่างจากตอนที่ผมทำ a day คือผมอยากเปิดประตูของบริษัทนี้ให้กว้างขึ้น ให้เจออะไรใหม่ๆ มากขึ้น

ความท้าทายของโครงการนี้คืออะไร

ด้วยความที่สื่อแต่ละแบรนด์ในเครือของเรามีธรรมชาติต่างกัน มันก็ค่อนข้างท้าทาย เหมือนจับปูใส่กระด้ง แต่มันก็สนุกดีที่ทีมบรรณาธิการบริหารจะช่วยกันคิดว่ามันไปทางไหนได้บ้าง ความท้าทายอีกอย่างคือทำยังไงให้โครงการนี้ไม่ใช่แค่งานภายใน แต่เป็นสิ่งที่เราต้องการบอกกับโลกภายนอกว่า ความหวังทั้งมวลในสังคมมันอยู่กับเด็กเหล่านี้แหละ อยู่กับเด็กสมัยนี้ที่คนชอบพูดถึงในทางลบกัน แต่ในความเชื่อของผม ถ้าเราให้โอกาส ให้พื้นที่ และให้เวลาที่เหมาะสมกับเขา มันจะทำให้พวกเขาแสดงความสามารถออกมาได้ และผมไม่อยากให้สิ่งนี้หยุดอยู่แค่ที่ a day น้องๆ จะได้มีโอกาสมากขึ้นที่จะเลือกว่าอยากทำสื่อไหน มันน่าสนุกที่สื่อจะได้ collab ร่วมกันด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ในยุคที่สถานะของสื่อกระแสหลักลดความสำคัญลงไปมาก คนมีทางเลือกหลากหลายมากมายขึ้น ทีมบรรณาธิการของ daypoets คิดว่าการขยายโครงการนี้ จะได้รับการตอบรับที่ดีมากน้อยแค่ไหน

มันอาจเป็นความเชื่อลึกๆ ของพวกเรามั้งว่า ไม่ว่าสถานะสื่อจะเป็นยังไง เรายังต้องการเพื่อนอยู่ เราไม่ได้เป็นพระเจ้าหรือพหูสูตที่ชี้นำสังคมได้เหมือนเดิมทั้งหมด ทุกคนเป็นสื่อได้ แต่ผมคิดว่าในการที่คนจะสื่อสารอะไรออกไป เราในฐานะคนที่ทำมาก่อนก็น่าจะมีความเชี่ยวชาญ ความเข้าใจที่จะแนะนำน้องๆ ในฐานะพี่ได้ว่า กับประเด็นแบบนี้ ทำแบบนี้สิแล้วมันจะอิมแพ็กต์กับสังคมวงกว้างมากกว่า

โปรเจกต์นี้เหมือนปรัชญาการทำ a day ของผมที่เราอยากถาง อยากสร้างทางเลือกใหม่ เราเชื่อว่ามันยังมีคนใหม่ๆที่น่าส่งเสริมอยู่ เรารู้สึกว่าบริษัทเราเด่นเรื่องการสร้างคนใหม่ๆ เข้ามาในวงการ และความรู้สึกที่ได้เห็นงานใหม่ๆ จากคนใหม่ๆ มันก็เติมเต็มเรา

เติมเต็มอย่างไร

ทุกครั้งที่ผมทำ a team junior ไม่ว่าเหนื่อยยากยังไง สิ่งนี้มันทำให้ผมมีพลังในการทำงานอีกครั้งหนึ่งเหมือนกันนะ ถ้าเล่าให้คนนอกฟังก็คือ เวลาน้องจะได้เห็นเล่มที่ตัวเองทำ ถ้ารู้ว่านิตยสารจะส่งถึงออฟฟิศวันไหน พวกเขาจะโทรนัดกันเข้ามาดูเล่มจริง ถ่ายรูปอวดชาวบ้าน บอกครอบครัว แล้วพอวางแผงจริง ทุกคนจะไปหลบมุมตามแผงหนังสือ ดูว่ามีคนซื้อไหม สิ่งนี้ไม่เคยเกิดขึ้นกับคนทำนิตยสารมานานๆ เพราะเป็นงานของเรา เราชิน แต่พอเห็นอะไรแบบนี้ ผมรู้สึกว่าสิ่งนี้ที่เราทำอยู่ทุกวัน มันมีพลังและมีคุณค่า

นอกจากเรื่องความหวังกับคนรุ่นใหม่ที่พูดไปแล้ว ผมรู้สึกว่าสิ่งที่สังคมมีน้อยลงคือความสามารถในการมองเห็นคุณค่าของตัวเอง มีหลายคนที่ผมรู้จักที่เขารู้สึกว่าฉันไร้ค่าจัง ฉันไม่มีคุณค่าอะไรกับคนอื่นๆ หรือตัวเองอีกต่อไปแล้ว พอเราได้เห็นเด็กใหม่ๆ เข้ามาฝึกงาน ได้สร้างพื้นที่ใหม่ๆ ให้เขาได้เผยแพร่ เล่าเรื่องสิ่งที่เขาเชื่อ ไม่ว่าจะในนิตยสารหรือสื่อออนไลน์ มันทำให้ผมรู้สึกว่าเราก็มีคุณค่าเช่นเดียวกัน และมันก็ทำให้น้องๆ รู้สึกว่าตัวเองไม่ใช่เด็กที่เกิดมาแล้วต้องมาอยู่ในระบบอีกต่อไป เขาสามารถทำสิ่งที่เขาเชื่อให้คนเห็นในวงกว้างได้

บรรยากาศประมาณนี้ทำให้ผมยังอยากทำโปรเจกต์ลักษณะนี้ไปเรื่อยๆ เราไม่ได้เห็นความล้มเหลวอยู่ข้างหน้า แต่เราเห็นความเป็นไปได้ ถ้าเกิดว่าน้องๆ ได้เข้าร่วมสิ่งนี้แล้วจะได้ทำอะไรต่อไปในอนาคต หรือมีที่ทางใหม่ๆ ของตัวเอง แค่เสี้ยวหนึ่งหรือคนหนึ่ง ก็ดีใจแล้ว

แค่นั้นก็พอจริงหรือ นี่คุณไม่ได้พูดเอาหล่อใช่ไหม

ผมคิดอย่างนั้นจริงๆ เพราะโดยธรรมชาติมันไม่มีทางหรือเป็นไปได้น้อยมากที่ทุกคนจะกลายเป็น เต๋อนวพล (a team junior รุ่น 2) ถ้าคุณประสบความสำเร็จจากโครงการไปได้เราก็ดีใจ แต่ถ้าคุณจบแล้วอาจจะได้รู้ประสบการณ์ใหม่แล้วไปทำงานสายอื่นก็ไม่เป็นไร คุณค่าที่แท้จริงคือเราได้มาเจอกันและเรียนรู้แลกเปลี่ยนกันแล้ว

คอร์สของสื่อแต่ละแบรนด์ในเครือ มีไฮไลต์อะไรที่แตกต่างกันบ้าง

แต่ละแบรนด์จะมีธรรมชาติงานไม่เหมือนกัน อย่าง The Momentum ก็มีศาสตร์นักข่าว เขาอยากให้น้องๆ มารู้จักหลักการนี้มากขึ้น ในยุคที่เรามีข่าวเต็มไปหมดแต่ไม่รู้ว่าเรื่องจริงคืออะไร เขาจะเล่าให้น้องฟังว่าหลักการสื่อสารยุคนี้ต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง หรือ a day BULLETIN ก็อยากจะทำให้มันเกิดบทสนทนาใหม่ๆ ระหว่างเด็กรุ่นใหม่กับคนในสังคมหรือคนในแวดวงต่างๆ ที่น่าสนใจ หรือกับ a book เอง การทำหนังสือเล่มก็เป็นศาสตร์ที่ต้องใช้เวลาและมีหลักการ เป็นคราฟต์แบบหนึ่ง ที่ยังรวมถึงเรื่องการตลาดเข้าไว้ด้วย

เด็กที่กำลังเรียนมหาลัยนี่เขาอยู่ในยุคที่มีสื่อหลากหลายมากๆ อยู่แล้ว แต่เราอยากเห็น combination ใหม่ๆ ว่าถ้าพวกเขาเข้ามาลองเป็นคนผลิตสื่อต่างๆ เองแล้ว มันจะออกมาเป็นยังไง อันนี้รวมทักษะด้านชีวิตและการเรียนรู้ต่างๆ ที่เขาจะได้ฟังจากบรรดา expert ในหลายๆ วงการที่มีอยู่ในโครงการนี้ด้วย

คุณมองหาเด็กแบบไหนที่จะมาร่วมในโครงการ daypoets society

เด็กที่อยากทำ เด็กที่สนใจอยากลองอะไรใหม่ๆ เราไม่ได้รับแต่เด็กนิเทศฯ หรือวารสารฯ เรียนสาขาอะไรก็ได้ทั้งนั้น และไม่ได้รับแค่คนที่เป็นนักศึกษา เรียกว่าเราแค่ต้องการคนที่สนใจอยากลอง อยากทำ อยากเรียนรู้

ยังต้องเป็นคนที่สนใจอยากเป็นสื่ออีกไหมในยุคนี้

(นิ่งคิด) ไม่จำเป็น ทำสื่อคืออะไรในยุคนี้เดี๋ยวนี้มันกว้างมากเลย จริงๆ ทุกคนก็เป็นสื่อตามช่องทางส่วนตัวของตัวเองอยู่แล้ว แต่สิ่งที่มันอาจจะต่างกันไป คือคุณจะเล่าเรื่องที่ดีและทรงพลังไปสู่วงกว้างได้ยังไง เรารู้ว่าน้องๆ ที่เข้ามาหลายรุ่นก่อนหน้าอาจมีคนที่อยากเจอคนดัง ได้สัมภาษณ์คนนั้นคนนี้ ซึ่งเราเข้าใจ มันก็ดีที่เราเป็นคนพาน้องๆ ไปเจอคนใหม่ๆ แล้วสามารถกระตุ้นให้เขาได้มีชีวิตใหม่ๆ ของตัวเอง เด็กหลายคนที่มาเข้าโครงการไม่รู้ว่าอยากทำอะไร แต่เรารับเขามาเพราะเราเห็นอะไรบางอย่างในตัวเขา พอทำไปมาผมว่ามันดีมากเลยที่ได้เห็นหลายคนเจอทางของตัวเอง ได้รู้ว่าฉันทำสิ่งนี้ได้ และทำสิ่งนั้นต่อไปในชีวิต หล่อหลอมตัวตนเขาต่อไปได้ ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องมาลองเพื่อจะไปเป็นสื่ออย่างเดียว

สำหรับคุณ ความยากของการสร้างคนคืออะไร

ความยากคือการรอ เวลาเราพูดว่างานสร้างคน เราคาดหวังไว้แล้วล่ะว่าด้วยวิธีการที่เราใส่เข้าไปเขาต้องเติบโต ออกดอกออกผลเป็นคนที่มีความสามารถ แต่นั่นคือหุ่นยนต์ ไม่ใช่คน คนแต่ละคนมีธรรมชาติของตัวเอง มีความรู้สึกมีอารมณ์ไม่เหมือนกัน มีเส้นทางไม่เหมือนกัน การสร้างคนที่ดีคือการ push ให้เขาโตได้ด้วยตัวเอง โดยเราดูอยู่ห่างๆ

เราอยากให้เวลากับคน ผมรู้สึกว่าความสามารถในการให้เวลาและให้โอกาสกับคนมันมีน้อยเกินไป ทุกคนอยากได้อะไรที่สำเร็จรูป ใช้งานได้เลย ซึ่งมันไม่ผิด แต่ในความเป็นจริงมันไม่ได้เป็นแบบนั้นได้ทุกคน ถ้าเกิดเราตัดโอกาสเด็กบางคนไปเลยมันก็น่าเสียดาย

ผมชอบการ์ตูนเกี่ยวกับอาหารเรื่องหนึ่งที่เขาเปรียบว่า เวลาเราเห็นพัฒนาการของคน มันก็เหมือนการดองผัก เขาบอกว่าผักแต่ละชนิดใช้เวลาดองไม่เท่ากัน แต่ไม่ได้แปลว่ามันอร่อยต่างกัน เราแค่เป็นคนละแบบกันเท่านั้นเอง เวลาสร้างคนผมจะคิดถึงสิ่งนี้อยู่เสมอ ธรรมชาติน้องแต่ละคนเป็นแบบนี้ วิธีการกระตุ้นเขาขึ้นมามันก็ไม่เหมือนกัน ใช้เวลาไม่เท่ากัน บางเรื่องเราต้องรอ บางเรื่องเราต้องให้โอกาสน้องอีกหน่อย บางเรื่องต้องให้เขาได้พลาดบ้าง แล้วมันจะทำให้เขาเติบโต

ตอนนี้โลกที่เราอยู่ยากและท้าทายขึ้นเรื่อยๆ คนรุ่นใหม่ต้องโตขึ้นมาแก้ปัญหาสิ่งต่างๆ ต่อไป คุณคิดว่าในโครงการมีอะไรที่ตอบโจทย์ตรงนี้ได้ไหม อย่างน้อยก็ในแง่การทำงาน

เวลาทำโปรเจกต์ประมาณนี้ มันไม่ใช่แค่การมาฝึกงานหรือมาทำงาน แต่มันคือการใช้ชีวิตร่วมกัน มันก็จะได้ซึมซับแลกเปลี่ยนกันและกันทั้งเราและน้อง ผมว่าสิ่งนี้มันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างอยู่แล้ว ผมเชื่อเรื่องการเจอคน เชื่อเรื่องการพบหน้า เชื่อเรื่องการคุยกัน ผมรู้สึกว่ามันดีถ้าเราได้เจอคนที่แตกต่าง

เราตอบไม่ได้หรอกว่าเด็กที่ผ่านจากเราไป เขาจะไปสร้างอะไรที่ดีกับสังคมไหม เราเองก็ไม่ได้คาดหวังมากขนาดนั้น เราแค่ทำหน้าที่ของเราให้ดี เราให้น้องไปเจอคนใหม่ๆ และแลกเปลี่ยนความเห็นกัน มันน่าจะดีถ้าน้องได้เอาสิ่งนี้ไปใช้ต่อ ผมเคยอ่านข่าวเรื่องเด็กผู้หญิงคนหนึ่งจากสวีเดนที่พูดเรื่องโลกร้อน เขาพูดว่า ตอนนี้เด็กไม่ต้องการให้ทุกคนเห็นความหวังหรอก แต่เด็กอยากให้ทุกคนตื่นตระหนก

ผมคิดว่าเอาจริงๆ แล้วข้อความนี้ก็เป็นความหวังข้อหนึ่ง เพราะถ้าไม่มีเขาพูดขึ้นมา เราอาจจะรู้สึกว่า ใช้ชีวิตอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ แล้วกัน เราจะไม่เห็นทางในการทำให้มันดีขึ้นเลย แต่ถ้าเกิดมีใครสักคนมากระตุกว่า เฮ้ย มันดีกว่านี้ได้ แต่มึงต้องจริงจังกับมันหน่อย ผมว่าสิ่งนี้คือความหวัง พอสิ่งนี้มันเกิดขึ้นจากเด็ก มันก็ยิ่งตอกย้ำความเชื่อว่าเราชอบให้น้องได้โต ได้เห็นโอกาสใหม่ๆ เราไม่อยากให้สื่อในเครือบริษัท  daypoets เป็นสื่อที่อยู่ไปนานๆ แล้วพูดแต่เรื่องเดิมๆ

คุณดูเป็นคนเชื่อในมนุษย์ เชื่อในสิ่งที่อยู่ข้างหน้า ความเชื่อนี้มาจากไหน

มันอาจมาจากประสบการณ์ส่วนตัว มันไม่ได้แปลว่าผมเจอคนดี๊ดีมาตลอดชีวิต ผมก็เจอคนหลากหลายแหละ แต่ทุกครั้งจะมีบางเหตุการณ์ที่ทำให้รู้สึกว่า ต่อให้เป็นคนที่คนอื่นมองว่าแย่ที่สุด เขาก็มีด้านที่มีความหมายกับบางคน สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ผมเชื่อ เวลาคุยกับคนแล้วเราพูดว่าเราเชื่อในความหวัง มันดูอี๋มากเลยนะ แต่ถ้าเรามองถอยออกมาไกลกว่าตัวเราเอง มันมีคนอื่นอีกมากมายที่สามารถทำให้สิ่งดีๆ เกิดขึ้นได้

มันหล่อหลอมผมเหมือนกันว่า ในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด ผมเชื่อว่ามันจะมีสักเส้นทางหนึ่งที่มีความหวังเสมอ แม้ว่ามันจะริบหรี่และมืดมนก็ตาม และสิ่งที่มีค่าที่มนุษย์สามารถให้กันได้ก็คือความเชื่อ ความเชื่อในตัวมนุษย์อีกคนหนึ่งว่าเขาทำได้ ความเชื่อว่าคุณสามารถสร้างความหวังใหม่ๆ ให้โลกนี้ได้ การที่เราให้ความเชื่อกับคนๆ หนึ่ง ผมว่ามันเป็นคุณค่านะ เพราะถ้าเกิดเราไม่เชื่อในใครเลย ก็ไม่รู้จะอยู่ไปทำไม

เช่นภายใต้เนื้อหา a day ที่มักพูดถึงคาเฟ่ ศิลปิน การเดินทาง ฯลฯ อ่านดีๆ จะเห็นว่าทุกคนเชื่อไม่เหมือนคนอื่น ทุกคนมีสิ่งที่รู้สึกลึกๆ ว่ากูน่าทำสิ่งนี้ แม้ว่ามันจะเป็นสิ่งที่คนอื่นบอกว่ามึงอย่าทำเลย

ตอนแจ้งทีมว่าคุณได้รับการโปรโมทไปรับตำแหน่งใหม่ คุณทิ้งท้ายอะไรกับน้องๆ ในทีมบ้าง

ผมบอกว่าพี่เชื่อน้องครับ พี่เชื่อว่าน้องๆ ทุกคนทำได้โดยไม่มีพี่ มันเหมือนพ่อแม่สอนลูกขี่จักรยานที่เราจะจูงเขาตลอดไปไม่ได้ วันหนึ่งก็ต้องปล่อยมือให้เขาได้ลองออกแรงขา สร้างสมดุลให้ตัวเอง แล้วผมก็เชื่อลึกๆ ว่า การที่ผู้ใหญ่เลือกเบลล์ (จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์) มารับหน้าที่บรรณาธิการบริหารต่อจากผม เบลล์ก็จะสามารถพาน้องๆ ไปได้ไกลกว่านั้นอีก มันเป็นความรู้สึกเดียวกันกับที่ผมบอกน้องๆ ว่าผมเชื่อในตัวพวกเขา และมองเห็นความหวัง

การรับตำแหน่ง Creative Director ในแผนก Creative Marketing คุณมีแนวทางการทำงานอย่างไร ต้องปรับตัวมากน้อยแค่ไหน

ผมชอบคิดถึงเวลาปีนเขา พอไปถึงเขาที่สูงมากๆ เราต้องหยุดตรงตำแหน่งนั้นสักพักหนึ่งให้ร่างกายได้ปรับตัวกับอากาศที่เปลี่ยนไป ผมว่าทุกคนที่ขึ้นมาในตำแหน่งประมาณนี้ต้องการเวลาในการปรับอากาศ ปรับตัวให้เข้ากับพื้นที่ ฉะนั้นเราแค่รู้สึกว่าไม่ว่าจะยังไงก็ตาม จะบวกจะลบ จะดีหรือร้าย เราก็แค่เชื่อ และเดินหน้าต่อไป

ส่วนหน้าที่ใหม่นี้มาจากนโยบายที่บริษัทอยากสร้างโปรเจกต์ใหม่ๆ ที่ไม่ใช่แค่การทำงานปกติกับทุกๆ สื่อในเครือ สำหรับ a day เราชัดมานานแล้วว่าไม่ได้ทำแค่เนื้อหา เรามีทั้งอีเวนต์ โปรเจกต์ต่างๆ งานวิ่ง งานจักรยาน งานทอล์ก ทริปเดินทาง ฯลฯ ซึ่งเป็นการแตกยอดออกมาจากเนื้อหาอีกที ทีนี้เราก็อยากเห็นสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นกับสื่อแบรนด์อื่นๆ ในเครือด้วย เลยต้องการคนที่จะมาคอยกระตุ้นหรือเป็น facilitator ชงให้เรื่องนี้เกิดขึ้นตามพื้นที่ต่างๆ ในบริษัท และผู้ใหญ่ก็มอบหมายให้ผมมารับผิดชอบในส่วนนี้ เหมือนเป็นเซ็นเตอร์ของบริษัทระหว่างแบรนด์ต่างๆ

อันดับแรก ผมอยากดูภาพกว้างก่อนว่า ในตอนนี้ แต่ละแบรนด์ให้อะไรกับสังคมบ้าง พูดเรื่องอะไรอยู่บ้าง ผมสนใจเรื่องเหล่านี้ และจะทำงานร่วมกับบรรณาธิการบริหารแต่ละหัวว่า ถ้าเราพูดเรื่องนี้ ทำยังไงให้มันปัง ให้มันดี จริงๆ มันเป็นแค่การชวนให้บรรณาธิการมองดูว่าทำแบบนี้ได้นะ นี่เป็นแค่งานส่วนหนึ่ง แต่ก็จะมีส่วนอื่นๆ อีกมากในแง่ Co-Creation กับแบรนด์อื่นๆ นอกเครือที่ไม่ใช่สื่อ รวมถึงงานของลูกค้าด้วย มันไม่ใช่แค่การผลิตสื่อในรูปแบบต่างๆ แต่เป็นการมอบประสบการณ์ให้กับกลุ่มเป้าหมายของเราไปพร้อมกับคอนเทนต์ด้วย

การมอบประสบการณ์ไปพร้อมกับคอนเทนต์ที่คุณว่า สำคัญอย่างไร

ผมว่ามันสำคัญสองด้าน ข้อแรกในแง่หน้าที่ของสื่ออย่างเรา ถ้าเราให้ประสบการณ์ด้วย มันจะทำให้คอนเทนต์ที่เรามีอยู่ไปได้ไกลขึ้น ทำให้คนรู้สึกกับมันมากขึ้น ข้อสองคือผมเชื่อว่าประสบการณ์ทำให้มนุษย์รู้สึกเป็นมนุษย์อีกครั้งหนึ่ง เวลาเราจะมีประสบการณ์กับบางเรื่อง มันต้องออกจากบ้าน ต้องเดินทางไปเจอ ต้องไปปะทะด้วยตัวเอง การได้ออกมาแบบนี้มันทำให้เราตื่นเต้น บางทีก็หวาดกลัว ไม่กล้า ไม่มั่นใจ แต่มันทำให้เรามีความรู้สึก และนั่นคือสิ่งที่ทำให้เราเป็นมนุษย์ ถ้าเราพาตัวเองไปเจออะไรใหม่ๆ ข้างนอก ผมเชื่อว่าจะเกิดอะไรที่ดีขึ้นเสมอ มันอาจไม่ดีบ้างก็ได้ แต่อย่างน้อยก็ทำให้เราได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ

ผมอาจเสพติดความรู้สึกนี้ด้วยมั้ง แฮปปี้มากที่จะได้เจอสิ่งใหม่ๆ คนใหม่ๆ ได้รู้ว่าเขาเป็นคนยังไง เมื่อก่อนตอนเป็นกองบรรณาธิการ ผมก็ไปงานปาร์ตี้คนเดียวทั้งที่ไม่รู้จักใครเลย อยากเห็นมากกว่าว่ามันเป็นยังไง

อยากรู้ว่าคุณนิยามคำว่า ‘ครีเอทีฟ’ ว่าอย่างไร

ความสามารถที่จะเห็นอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้นได้อยู่เสมอ ผมว่าในแง่เวลาคุยกัน ถ้ามีไอเดียอะไรน่าทำ สิ่งที่วัดว่ามันครีเอทีฟไหมหรือสร้างการเปลี่ยนแปลงไหม คือคำถามว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นรึเปล่า คำว่าครีเอทีฟในยุคนี้อาจไม่ใช่แค่การคิดเก่งหรือแตกต่าง แต่มันคือการทำให้เกิดขึ้นจริงด้วย ความครีเอทีฟไม่ได้พึ่งการคิดอย่างเดียว แต่พึ่งการทำและการมองให้รอบด้วย ผมรู้สึกว่ามันน่าจะเป็นสิ่งที่จำเป็นในยุคนี้เหมือนกัน ทุกคนก็คิดอะไรได้แตกต่างอยู่แล้ว เพียงแต่กล้าทำหรือเปล่า ลองเริ่มเดินแล้วหรือยัง

คุณคิดว่าสื่อในยุคนี้ยังมีความหมายต่อสังคมมากน้อยแค่ไหน

ผมว่าสื่อคือคนที่สร้างความหวังให้สังคมได้ ตอบแบบนี้มันเหมือนกลับมาเรื่องเดิม แต่เวลาพูดถึงคนธรรมดากับสื่อที่เรามองว่าเท่ากันแล้ว ในแง่การทำงาน ผมมองว่าจากเมื่อก่อนที่เราทำเนื้อหาบทความอยู่ฝ่ายเดียว ตอนนี้คนธรรมดาที่อาจจะอยู่ในอาชีพอื่นก็ทำสิ่งนี้ได้เช่นเดียวกัน แต่นั่นคือรูปแบบของผลงานและตัวเนื้อหาของผลงาน

แต่สิ่งที่สื่อทำได้มากกว่านั้นคือการเชื่อมโยงเนื้อหานี้ไปสู่องค์กรอื่นๆ เพราะด้วยพื้นที่ของเรา เราเจอคนเยอะกว่าคนอื่น หน้าที่ของเราคือการพบปะผู้คน ผมชอบคำที่ Tyler Brule แห่ง Monocle บอกว่า งานที่เขาทำคือ ‘human business’ มันคือธุรกิจแห่งการเจอผู้คน มันแปลความได้หลายอย่าง ผมรู้สึกว่าการเจอคนแวดวงหลากหลาย ทำให้เราเอาเนื้อหามาแตกไปเป็นสิ่งอื่นได้ไกลกว่าให้คนธรรมดาเขียนหรือทำอย่างเดียว พอทำให้เกิดการเชื่อมโยงใหม่ๆ มันก็ทำให้เห็นทางใหม่ๆ ขึ้นมาได้เสมอเช่นเดียวกัน

ในตำแหน่งใหม่ที่คุณเริ่มแล้วและกำลังจะทำอย่างเต็มตัวในต้นเดือนเมษายนนี้ ‘ความหวัง’ ยังถือเป็น key word หรือหัวใจสำคัญในตัวของคุณอยู่ไหม

ถ้าให้เลือกคำเดียวก็คงเป็นคำนี้แหละ มันดู cliche แต่ผมรู้สึกว่ามันเป็นทั้งตัวตนของผมและ DNA ของบริษัทนี้ เมื่อก่อนที่เราถูกมองว่าโลกสวย มองโลกในแง่ดี พูดเรื่องความฝัน สุดท้ายมันก็คือเราเชื่อว่ามันมีวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่าอยู่ แม้มันจะเหลือแค่วันเดียวก็ตาม ฉะนั้นเราก็แค่โชว์ให้เห็นว่ามันมี

เวลาเจอเรื่องยากๆ ไม่ว่าด้านไหนของชีวิต ทั้งในแง่ความสัมพันธ์ การงาน หรือการตัดสินใจยากๆ บางอย่าง ผมจะพยายามนิ่ง ดูสถานการณ์ และเสนอวิธีแก้ไขหรือทางเลือกใหม่ๆ ผมเคยเป็นคนที่ไม่เชื่อในความหวังนะ เคยเป็นคนมองโลกในแง่ร้ายมากๆ มาก่อน จนถึงจุดหนึ่งผมรู้สึกว่า ความหวังมันมีอยู่จริง แม้ในปัญหาที่แย่มากๆ ก็ตาม เช่นเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องการเมือง เราจะเห็นว่ามันมีมนุษย์อย่างน้อยคนหนึ่งที่กล้าทำอะไรที่แตกต่าง ทำอะไรที่มันดี อิมแพ็กต์อาจยังไม่เยอะ แต่อย่างน้อยมันก็มี แปลว่าเราก็เล่าเรื่องคนนี้และต่อยอดจากสิ่งที่เขาทำได้เหมือนกัน

เห็นภาพตัวเองในอีก 5 ปีข้างหน้าไหมว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป

ไม่รู้เลย เหตุการณ์ที่ผ่านมาสอนผมว่าไม่ต้องรอ 5 ปีหรอก แค่ในอีกครึ่งชั่วโมงนี้ยังยากเลย แต่บางเรื่องน่ะ ไม่ชัดก็สนุกดีนะ หรือต่อให้มันชัดก็ไม่ได้แปลว่ามันจะเป็นอย่างนั้นเสมอไป และจะไม่เปลี่ยนแปลงอีกแล้ว

เพราะฉะนั้นคุณจงเอนจอยโมเมนต์เถอะ อย่าไปเอนจอยความถาวรและยึดติดกับมัน เพราะมันไม่มีจริง

ช่างภาพ : สรรพัชญ์ วัฒนสิงห์

Fact Box

เอี่ยวศิวะภาค เจียรวนาลี จบการศึกษาจากโรงเรียนสตรีสมุทรปราการ ศึกษาต่อที่คณะศิลปศาสตร์ เอกภาษาจีน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ฝึกงานในตำแหน่งกองบรรณาธิการในโครงการ a team junior รุ่นที่ 3 ก่อนเข้าทำงานที่นิตยสาร a day ในปี 2550 a day ฉบับแรกที่เขาได้มีส่วนร่วมในฐานะกองบรรณาธิการ คือฉบับ 91 ธีม ทรงศีล ทิวสมบุญ

ตั้งแต่ปี 2555 เอี่ยวสั่งสมประสบการณ์ในฐานะผู้ช่วยบรรณาธิการบริหารและบรรณาธิการบทความ ก่อนขึ้นสู่ตำแหน่งบรรณาธิการบริหารของนิตยสาร a day ในเดือนเมษายนปี 2560 ประเดิมด้วยฉบับ 201 ‘Glass Issue’

ต้นเดือนเมษายนนี้ เขาจะรับบทบาทใหม่ในตำแหน่ง Creative Director แผนก Creative Marketing บริษัท day poets จำกัด

 

daypoets society

โครงการฝึกอบรมจูเนียร์ของเครือเดย์โพเอทส์ เปิดรับนักศึกษาและบุคคลทั่วไปให้เข้ามาฝึกงานกับสื่อในเครือ อันได้แก่ a day magazine, a day BULLETIN, สำนักพิมพ์ a book และเว็บไซต์ The Momentum ภายใต้คอนเซ็ปต์ Skills that Shape the Future อ่านรายละเอียดและกรอกใบสมัครได้ที่ https://bit.ly/2MMC4yl ตั้งแต่วันนี้จนถึง 31 มีนาคม 2019

Tags: , , , ,