ท่าทีล่าสุดของทูตอเมริกันยืนยันอีกครั้งว่า ถ้อยแถลงของรัฐบาลทหาร ที่มักกล่าวอ้างว่านานาชาติเข้าใจว่าทำไมไทยต้องเลื่อนเลือกตั้ง ดูจะไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง

เอกอักรราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย กลิน เดวีส์ หยิบยกประเด็นการเมืองของไทยขึ้นมาพูดอีกครั้งเมื่อวันที่ 8 ก.พ. แสดงท่าทีต่อแนวโน้มที่รัฐบาลทหารอาจเลื่อนกำหนดจัดการเลือกตั้งออกไปเป็นปี 2562

ก่อนหน้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติจะพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแค่วันเดียว เอกอัครราชทูตของสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย เปียร์กา ตาปิโอลา ออกมาพูดเมื่อที่ 24 ม.ค. ทักท้วงการเลื่อนเลือกตั้ง เช่นเดียวกัน

ทั้งสองแสดงปฏิกิริยาต่อถ้อยแถลงของรัฐมนตรีต่างประเทศของไทย นายดอน ปรมัตถ์วินัย ที่ว่า กฎหมายเลือกตั้งส.ส.ที่สนช.กำลังแปรญัติ ซึ่งอาจทำให้ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ในปี 2561 เป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติ ต่างชาติเข้าใจไทย

อีกเมื่อไรถึงจะมีเลือกตั้ง

นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยประกาศโรดแมปคืนสู่ประชาธิปไตยหลายครั้ง ครั้งหลังสุดบอกว่า การเลือกตั้งจะมีขึ้นในปี 2561 กรอบเวลาที่ว่านี้ หัวหน้าฝ่ายบริหารพูดไว้ชัดเจน ทั้งในบ้านและนอกบ้าน

ตอนไปเยือนทำเนียบขาวเมื่อ 2 ตุลาคม 2560 ผู้นำไทยบอกกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ว่า ไทยจะจัดการเลือกตั้งในปีนี้

การให้คำมั่นดังกล่าว ปรากฏในคำแถลงร่วมของทั้งสองฝ่าย บันทึกไว้ในข้อ 8 ขอยกเป็นภาษาอังกฤษมาให้ดู

“President Trump welcomed Thailand’ commitment to the Roadmap, which upon completion of relevant organic laws as stipulated by the Constitution, will lead toward free and fair election in 2018…” (กระทรวงการต่างประเทศ, 3 ตุลาคม 2560 ; U.S Embassy & Consulate in Thailand, 2 October 2017

หลังกลับถึงเมืองไทย พล.อ.ประยุทธ์ประกาศอีกครั้งในวันที่ 10 ตุลาคม ที่ทำเนียบรัฐบาลว่า เราจะมีเลือกตั้งใหญ่ในปี 2561 โดยบอกว่ากำหนดวันที่ชัดเจน จะประกาศในเดือนมิถุนายน แล้วจัดการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2561 (Reuters, 10 October 2017)

อียูฟื้นการติดต่อรบ.ทหารไทย

ไม่เพียงผู้นำทำเนียบขาวเท่านั้นที่ขานรับคำมั่นของไทย สหภาพยุโรปแสดงท่าทีในทางบวกเช่นกัน

คณะรัฐมนตรีต่างประเทศของอียูสรุปผลการประชุมเมื่อ 11 ธันวาคม 2560 ว่า ยุโรปจะหันหน้ากลับมาติดต่อทางการเมืองกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยทุกระดับ หลังจากระงับการพูดจาและเยี่ยมเยือนระหว่างกันตั้งแต่ทหารไทยยึดอำนาจเมื่อปี 2557

อียูให้เหตุผลในการปรับท่าทีหลังจากลดระดับความสัมพันธ์กับประเทศไทยเป็นเวลาร่วม 3 ปี ว่า เป็นเพราะไทยมีความคืบหน้าในการจัดทำกฎหมายที่จะนำไปสู่การเลือกตั้ง และผู้นำทหารประกาศแล้วว่าไทยจะจัดการเลือกตั้งในปี 2561

การฟื้นคืนการติดต่อทางการเมืองกับไทยที่ว่านี้ อียูยังขยักไว้ว่า จะทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ระหว่างนี้ อียูยังคงสถานะ ‘ทบทวนความสัมพันธ์’ ต่อไป เพราะยังมีข้อห่วงกังวลสามเรื่อง คือ เสรีภาพในการแสดงออก การจัดการเลือกตั้งที่ไม่กีดกันฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และการได้เข้ารับตำแหน่งของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

แถมอียูยังกั๊กไว้ด้วยว่า ข้อตกลงสำคัญสองฉบับระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป นั่นคือ ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือและความเป็นหุ้นส่วน (พีซีเอ) และข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) จะมีการลงนามและเจรจากันต่อเมื่อไทยมีรัฐบาลประชาธิปไตยแล้วเท่านั้น (Council of the European Union, 11 December 2017)

การฟื้นคืนการติดต่อทางการเมืองกับไทยที่ว่านี้ อียูยังขยักไว้ว่า จะทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ระหว่างนี้ อียูยังคงสถานะ ‘ทบทวนความสัมพันธ์’ ต่อไป เพราะยังมีข้อห่วงกังวลสามเรื่อง คือ เสรีภาพในการแสดงออก การจัดการเลือกตั้งที่ไม่กีดกันฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และการได้เข้ารับตำแหน่งของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

ผลประโยชน์ของพี่เบิ้ม

ทำไมสหรัฐฯ เปิดทำเนียบขาวต้อนรับผู้นำทหารไทย ทำไมอียูผ่อนคลายท่าที เรื่องนี้อธิบายได้ด้วยเหตุปัจจัยทางเศรษฐกิจ และผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์

ท่าทีต่อไทยในยุคทรัมป์นั้น ตั้งอยู่บนนโยบายต่างประเทศที่ชูคำขวัญ ‘อเมริกาต้องมาก่อน’ ผู้นำมหาเศรษฐีอเมริกันประกาศชัดว่าสหรัฐต้องยิ่งใหญ่อีกครั้ง แน่นอนว่าความเป็นมหาอำนาจต้องหนุนด้วยกำลังทางเศรษฐกิจของประเทศ นโยบายการค้าจึงเป็นเรื่องที่ทรัมป์ให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น

ทรัมป์บอกกับพล.อ.ประยุทธ์เมื่อเดือนตุลาคมว่า อเมริกาต้องการลดการขาดดุลการค้ากับไทย

ผู้นำสหรัฐฯ แถลงหลังพบหารือกับนายกรัฐมนตรีไทย ว่า “ความสัมพันธ์ของเราในด้านการค้ามีความสำคัญยิ่งขึ้น ไทยเป็นประเทศที่น่าค้าขายด้วยเป็นอย่างมาก ผมคิดว่าเราจะพยายามขายของให้ท่านมากขึ้นอีกหน่อยถ้าเป็นไปได้” (Reuters, 2 October 2017)

ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับไทยมาโดยตลอด ตัวเลขเมื่อปี 2559 ระบุว่า สหรัฐฯ ค้าขายขาดดุลกับไทย 18,900 ล้านดอลลาร์ฯ ไทยนับเป็นคู่ค้าที่สหรัฐฯเสียดุลเป็นลำดับที่ 11

นอกจากการแก้ไขดุลการค้า สหรัฐฯ ยังต้องการความร่วมมือจากไทยในด้านความมั่นคงของภูมิภาคด้วย อาทิ ปมปัญหาการพัฒนานิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ ข้อพิพาทเขตแดนในทะเลจีนใต้

นอกจากการแก้ไขดุลการค้า สหรัฐฯ ยังต้องการความร่วมมือจากไทยในด้านความมั่นคงของภูมิภาคด้วย อาทิ ปมปัญหาการพัฒนานิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ ข้อพิพาทเขตแดนในทะเลจีนใต้

ไม่แต่เท่านั้น การที่รัฐบาลทหารไทยหันไปใกล้ชิดกับจีนมากยิ่งขึ้น ตั้งแต่เรื่องเศรษฐกิจ อย่างเช่น รถไฟความเร็วสูง โครงการหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road) จนถึงเรื่องการทหาร อย่างเช่น รถถังจีน เรือดำน้ำจีน ทำให้สหรัฐฯ ตระหนักว่า ยิ่งเรียกร้องกดดันในประเด็นประชาธิปไตย ไทยจะยิ่งหันไปซบจีน คู่แข่งของอเมริกา

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. และนายกรัฐมนตรี จับมือประธานาธิบดี สี จิ้นผิง
ในการประชุม BRICS ที่เซี่ยเหมิน ประเทศจีน (ภาพถ่ายโดย REUTERS/Kenzaburo Fukuhara)

ทางอีกฟากของแอตแลนติก ยุโรปขาดดุลการค้ากับไทยเช่นกัน ตามตัวเลขปี 2558 อียูนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยเป็นมูลค่า ประมาณ 764,000 ล้านบาท ไทยนำเข้าสินค้าจากอียูเป็นมูลค่าประมาณ 523,000 ล้านบาท เราเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับสามของอียูในกลุ่มชาติอาเซียน และอียูเป็นคู่ค้าอันดับสามของไทยรองจากจีนและญี่ปุ่น (European Commission, 22 February 2017)

ตั้งแต่รัฐประหารเป็นต้นมา การค้าไทย-อียูขยายตัวในอัตราที่ลดลง (ASEAN Today, 29 December 2017) ทั้งสองฝ่ายเคยตั้งเป้าที่จะเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันด้วยข้อตกลงการค้าเสรี แต่การยึดอำนาจในไทยทำให้อียูระงับทั้งการลงนามข้อตกลงพีซีเอและการเจรจาเอฟทีเอ

การฟื้นการติดต่อกับไทยจึงเป็นขั้นตอนหนึ่ง ที่จะปูทางไปสู่ข้อตกลงที่เอื้อประโยชน์ทางเศรษฐกิจแก่อียู

สหรัฐฯ-ยุโรป เล่นไม่แรง

ในเมื่อพี่เบิ้มต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของตัวควบคู่กับหลักประชาธิปไตย น้ำเสียงที่มีต่อแนวโน้มเลื่อนเลือกตั้งของไทยจึงไม่ขึงขังนัก ไม่มีมาตรการกดดัน ไม่มีการใช้ภาษาการทูตอย่าง ‘วิตกกังวล’ หรือ ‘ขอเรียกร้อง’

แม้กระนั้น ถ้าจะสรุปว่า ฝรั่งไม่แคร์ ก็ดูจะพูดเกินไป

นับแต่คณะกรรมาธิการวิสามัญร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.เสนอขอแก้ไขร่างกฎหมายให้มีผลบังคับใช้ถัดไปอีก 90 วันภายหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งอาจทำให้จัดการเลือกตั้งไม่ทันในปี 2561 ผู้แทนของสหรัฐฯ กับสหภาพยุโรปต่างแสดงท่าทีต่อความเคลื่อนไหวดังกล่าว

ปฏิกิริยารอบนี้เกิดขึ้นตามมาภายหลังคำให้สัมภาษณ์ของรัฐมนตรีต่างประเทศของไทย ที่บอกว่า ทางอียูน่าจะเข้าใจถ้าสนช.มีมติที่ส่งผลให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไป เพราะกฎหมายนี้ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติ ถือเป็นคนละส่วนกับรัฐบาลซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร (ข่าวสด, 23 มกราคม 2561)

วันรุ่งขึ้น สหรัฐฯและอียูออกมาแสดงท่าทีพร้อมกัน

ท่านทูตเดวีส์ รุดเข้าพบประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ นายพรเพชร วิชิตชลชัย สอบถามเรื่องร่างกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. โฆษกสถานทูตสหรัฐฯ บอกว่า จุดยืนของสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับการเลือกตั้งในประเทศไทยยังไม่เปลี่ยนแปลง “เรายินดีที่นายกรัฐมนตรีได้แสดงพันธกรณีต่อสาธารณชนในการที่จะจัดการเลือกตั้งส.ส.ขึ้นไม่เกินเดือนพฤศจิกายน 2561” (ไทยโพสต์, 24 มกราคม 2561)

ทางด้านท่านทูตตาปิโอลา บอกว่า “เราเข้าใจว่ายังเป็นไปได้ที่จะจัดการเลือกตั้งภายในเดือนพฤศจิกายน 2561 และขอสนับสนุนให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายเคารพโรดแมปคืนสู่ประชาธิปไตยที่ได้ประกาศไว้

ผู้แทนอียูยังพูดนิ่มๆ ด้วยว่า “อียูเข้าใจดีว่า ฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติเป็นคนละส่วนกัน ทั้งสองส่วนไม่ขึ้นต่อกัน และมีความสำคัญอย่างขาดเสียมิได้ในประเทศประชาธิปไตย นั่นคือเหตุผลที่อียูสนับสนุนอย่างแข็งขันที่ประเทศไทยจะคืนสู่การเลือกตั้งอย่างเป็นประชาธิปไตยในโอกาสแรก” (บางกอกโพสต์, 25 January 2018)

เราเข้าใจว่ายังเป็นไปได้ที่จะจัดการเลือกตั้งภายในเดือนพฤศจิกายน 2561 และขอสนับสนุนให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายเคารพโรดแมปคืนสู่ประชาธิปไตยที่ได้ประกาศไว้

ล่าสุด สหรัฐฯแสดงท่าทีอีกครั้งหลังจากรัฐมนตรีต่างประเทศของไทยให้ข่าวกับสื่อมวลชนกรณีท่านทูตเดวีส์ไปพบประธานสภานิติบัญญัติ นายดอนบอกนักข่าวที่ทำเนียบรัฐบาลว่า “คิดว่าทูตสหรัฐฯ เข้าใจสถานการณ์ของประเทศไทยดี” และว่า “สหรัฐฯ ไม่ได้มีความเป็นห่วงต่อการเลื่อนเลือกตั้งออกไป 90 วัน” (มติชนออนไลน์, 30 มกราคม 2561)

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (8 ก.พ.) ระหว่างการแถลงข่าวการจัดนิทรรศการเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ 200 ปี ไทย-สหรัฐฯ ท่านทูตเดวีส์พูดในตอนหนึ่งว่า การยึดมั่นในค่านิยมประชาธิปไตยจะเสริมสร้างความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่าย

“นโยบายสหรัฐฯ ในหลักใหญ่ยังคงเดิม เราเชื่อว่าประชาธิปไตยเป็นหนทางดีเยี่ยมในการร่วมงานกัน…รัฐบาลอเมริกันแต่ละชุดอาจมีประเด็นเน้นหนักแตกต่างกัน แต่ผมคิดว่าโดยส่วนใหญ่แล้ว ความสัมพันธ์และการดำเนินนโยบายในเรื่องสำคัญๆจะเป็นไปบนความสมดุลระหว่างผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์กับหลักการต่างๆ ที่เรายึดถือ ไม่ว่าภายใต้รัฐบาลชุดไหน” (The Nation, 9 February 2018)

ถึงวันนี้แล้ว คำกล่าวอ้างในทำนอง เลื่อนเลือกตั้ง ฝรั่งเข้าใจ ยังรับฟังได้ จริงละหรือ?