ถ้าอยากเห็น ฟ่านปิงปิง แสดงหนังในเวอร์ชั่นหน้าไม่สวย แนะนำให้ตีตั๋วมาดู I Am Not Madame Bovary หรือที่ใช้ชื่อจีนแมนดารินว่า Wo Bushi Pan Jinlian ผลงานการแสดงแนวเสียดสีสังคมเรื่องล่าสุดของเธอที่โดนผู้กำกับ เฝิงเสี่ยวกัง จับแปลงโฉมจากสาวสวยสุดปัง กลายมาเป็นสาวบ้านนอกลุคป้าหน้าไม่แต่งผมไม่เซ็ต แถมนิสัยยังออกแนวดื้อด้านดึงดันแบบหัวชนฝา เชื่อมั่นในความถูกต้องจากมุมมองของตัวเองอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู

มองเผินๆ จากตัวอย่างและหน้าหนังที่ใช้ในการโปรโมต I Am Not Madame Bovary ค่อนข้างเอียงไปในแนวทางหนังผัวๆ เมียๆ ประมาณว่าสามีสวมเขาและภรรยาคบชู้อะไรทำนองนี้ เพราะเล่นหยิบเอาสองตัวละครที่ได้รับการกล่าวว่าเป็น ‘หญิงแพศยา’ อย่าง มาดามโบวารี จากนวนิยายฝรั่งเศสเรื่อง Madame Bovary กับ พันจินเหลียน จากนวนิยายจีนในสมัยราชวงศ์หมิงเรื่อง Jin Ping Mei (The Plum in the Golden Vase) มาใส่ไว้ในชื่อเรื่องทั้งภาษาจีนและอังกฤษ

แต่เอาเข้าจริง I Am Not Madame Bovary กลับกลายเป็นหนังที่หยิบประเด็นเล็กๆ ในมุ้งอย่างการฟ้องหย่าของสาวบ้านนอกคนหนึ่ง มาขยี้เสียดสีสังคมและแวดวงข้าราชการได้อย่างแสบสันมากจริงๆ

I Am Not Madame Bovary สร้างจากนวนิยายเรื่อง Wo Bushi Pan Jinlian หรือ I am Not Pan Jinlian ของนักเขียนชาวจีน หลิวเซียนหยุน เล่าถึง หลี่ซือเหลียน สาวน้อยจากหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งในย่านชนบทของจีนช่วงปลายยุค 1970 ที่วันหนึ่งโดนหลอกให้เซ็นใบหย่าแบบหลอกๆ แล้วค่อยกลับมาจดทะเบียนสมรสกันใหม่ เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันบางอย่าง แต่เรื่องราวมันดันไม่ได้เป็นไปอย่างที่คิด เมื่อสามีของเธอไม่ยอมจดทะเบียนสมรสใหม่ แถมยังไปได้ภรรยาคนใหม่มาอีก เธอเลยตัดสินใจไปฟ้องร้องให้การหย่าครั้งนั้นเป็นโมฆะ เพราะมันคือการหย่าแบบหลอกๆ ที่ก่อให้เกิดความแค้นอดีตสามีจนเกือบจะฆ่าจะแกงกันให้รู้แล้วรู้รอด

แน่นอนว่าศาลย่อมตัดสินไปตามหลักฐานที่มีอยู่ นั่นก็คือใบหย่าที่เซ็นกันเรียบร้อยถูกต้องทุกขั้นตอน ทำให้การฟ้องร้องของหลีซือเหลียนโดนตีตกไปอย่างง่ายดาย ซึ่งผลของมันทำให้เธอรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงตัดสินใจพาตัวเองออกจากหมู่บ้านในชนบทไปถึงปักกิ่ง เพื่อดักร้องเรียนบรรดาข้าราชการแห่งพรรคคอมมิวนิสต์ทั้งระดับกลางค่อนไปทางสูง ให้ช่วยจัดการคดีโดนหลอกให้เซ็นใบหย่าอย่างเป็นธรรมกับเธอที่สุด แต่ส่วนใหญ่กลับไม่ค่อยสนใจปัญหาหรือหาทางเยียวยาเธอสักเท่าไหร่ เพราะมองว่ามันเป็นเรื่องหยุมหยิมเล็กน้อยเกินไป

กระทั่งหลีซือเหลียนหาทางร้องเรียนผู้บริหารระดับสูงแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้สำเร็จ สายตาของข้าราชการที่ก่อนหน้านี้ไม่สนใจเธอมากนักก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เพราะถึงแม้การเข้าพบคนใหญ่คนโตในระบบข้าราชการจีนอย่างดึงดันจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงผลลัพธ์ในคดีหย่าร้างของเธอให้ดีขึ้น แต่อย่างน้อยก็ทำให้คนในวงข้าราชการหันมาสนใจปัญหาคนชาวบ้านตัวเล็กตัวน้อยบ้าง ไม่ใช่สักแต่จะคอยอวยเจ้านายให้ได้เลื่อนขั้น หรือคอยหมกปัญหาไว้ใต้พรมแบบผักชีโรยหน้า เพื่อรักษาเก้าอี้ให้อยู่กับตัวเอาไว้นานๆ

นอกจากการขยี้ความฟอนเฟะของระบบข้าราชการแล้ว I Am Not Madame Bovary ยังขยับไปวิพากษ์นโยบายลูกคนเดียวของรัฐบาลคอมมิวนิสต์ที่ประกาศใช้มาตั้งแต่ปลายยุค 1970 ที่เพิ่งถูกยกเลิกไปเมื่อปี 2016 ที่ผ่านมา ว่าเป็นบ่อเกิดของปัญหาทุกอย่างในเรื่อง (ส่วนเพราะอะไรนั้นต้องไปดูกันในโรง) ซึ่งในโลกแห่งความเป็นจริง นโยบายดังกล่าวก็สร้างความบิดเบี้ยวในสังคมจีนอย่างรุนแรงในช่วง 1970-1990 ไม่ว่าจะทั้งจากการบังคับทำแท้งลูกคนที่สอง การขายเด็กชาย หรือการฆ่าเด็กหญิงที่เป็นลูกคนแรก

ถึงแม้จะบอกว่า I Am Not Madame Bovary เป็นหนังเสียดสีสังคมและแวดวงข้าราชการ แต่สารที่ถูกสอดแทรกอยู่ตลอดเรื่องคือความดีงามของผู้บริหารระดับสูงแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งเป็นผู้ขับเคลื่อนนโยบายดีๆ รวมไปถึงการพัฒนาประเทศในทุกระดับ จะเห็นได้ว่าปัญหาเรื่องการไม่ใส่ใจชาวบ้านในเรื่องเกิดจากข้าราชการชั้นผู้น้อยที่ต้องการเลื่อนขั้นและรักษาตำแหน่ง ต่างจากผู้บริหารระดับสูงของพรรคที่เป็นผู้เข้ามา Take Action แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ร่ำไป

จะบอกว่าเป็นการอวยพรรคคอมมิวนิสต์ผ่านการเสียดสีสังคมก็คงไม่ผิดนัก

Tags: , , , ,