เราอยู่ในยุคขยะพลาสติกล้นโลก นอกจากจะมีจำนวนมหาศาลที่สร้างความไม่น่ามอง ความเหนียวทนทานซึ่งเป็นคุณสมบัติเด่นในขณะใช้งาน ก็กลับกลายร้ายกาจเมื่อมันโดนทิ้งขว้างสู่สิ่งแวดล้อม แถมยังมีบางส่วนแตกสลายเป็นละอองจิ๋ว ‘ไมโครพลาสติก’ ที่สร้างความสั่นสะเทือนห่วงโซ่อาหารด้วย
สังคมรับรู้วิกฤตนี้ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ จึงเกิดกระแสรณรงค์ลดใช้พลาสติกและลดสร้างขยะพลาสติกหลากหลายแนวทางในหมู่ผู้บริโภค ขณะที่ฝั่งผู้ผลิตผู้ประกอบการรายใหญ่ๆ ก็เริ่มขยับปรับเปลี่ยนมาใช้หีบห่อ บรรจุภัณฑ์ ถุง หลอด อุปกรณ์กินดื่ม ฯลฯ ที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติหรือพลาสติกชีวภาพกันบ้างแล้ว ทั้งโดยสมัครใจเต็มใจ โดยข้อบังคับทางกฎหมาย และโดยเจตนาฉวยประโยชน์จากกระแสรักษ์โลก
แม้ตัวเลือกจากธรรมชาติล้วนๆ จะตอบโจทย์การย่อยสลายได้อยู่หมัด แต่ไม่สามารถทดแทนคุณสมบัติของพลาสติกแบบดั้งเดิมได้ทั้งหมด และมักมีข้อจำกัดเรื่องการผลิตคราวละมากๆ ต่างจาก ‘พลาสติกชีวภาพ’ (bioplastic) ซึ่งมีลักษณะและคุณสมบัติใกล้เคียงพลาสติกดั้งเดิม แถมยังรองรับการใช้งานของผู้ผลิตผู้ประกอบการในระบบอุตสาหกรรมได้มากกว่า จึงได้รับความนิยมมากกว่าตามไปด้วย
ดังเห็นได้จากปริมาณการใช้ไบโอพลาสติกเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตลอดช่วงเกือบสิบปีที่ผ่านมา มียุโรปเป็นตลาดใหญ่สุด รองลงมาเป็นอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันแล้วคิดเป็นมากกว่าร้อยละ 80 ของความต้องการใช้งานทั่วโลก เรียกได้ว่าตลาดของพลาสติกเจเนอเรชั่นใหม่นี้เติบโตดีและดูจะมีอนาคตสดใสไม่น้อย เนื่องด้วยราคาที่ค่อยๆ ลดลงมาจนพอจะกล้อมแกล้มสู้ได้กับพลาสติกทั่วไป โดยมีนโยบายยับยั้งการใช้พลาสติกแบบดั้งเดิมในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วเป็นปัจจัยสนับสนุน
แต่สิ่งที่มี ‘bio’ นำหน้า ก็ใช่ว่าจะกรีนหมดจดทุกแง่มุม อย่างไบโอพลาสติกที่บางคนยกให้เป็นพระเอก เอาเข้าจริงมันไม่ใช่ตัวเลือกสารพัดนึกหรอก ทั้งยังมีแนวโน้มสื่อไปในทางที่จะทำให้คนทั่วไปเข้าใจคลาดเคลื่อนหรือรู้สึกเป็นบวกกับมันมากเกินไปด้วยซ้ำ
ตามนิยามสากล พลาสติกชีวภาพใช้เรียกพลาสติกสองกลุ่มใหญ่ๆ
กลุ่มแรกคือ ‘พลาสติกฐานชีวภาพ’ (bio-based plastic) ที่ผลิตโดยมีส่วนประกอบจากพืช สัตว์ หรือชีวมวลอื่นๆ ผสมรวมกับไฮโดรคาร์บอนจากการกลั่นปิโตรเลียมในสัดส่วนแตกต่างกัน เช่น Bio-PET ซึ่งส่วนประกอบร้อยละ 30-35 เป็นเอธานอลหมักจากชีวมวล จุดเด่นของพลาสติกกลุ่มนี้จึงเป็นเรื่องของการลดใช้ปิโตรเลียม ซึ่งเป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป
กลุ่มที่สองคือ ‘พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ’ (biodegradable plastic) ซึ่งมีโครงสร้างโมเลกุลที่จุลินทรีย์ตามธรรมชาติสามารถย่อยสลายได้อย่างสมบูรณ์ โดยเปลี่ยนรูปเป็นน้ำ คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และชีวมวล ในสภาวะที่ความชื้น อุณหภูมิ และปริมาณออกซิเจนเหมาะสม คุณสมบัตินี้แหละที่พอจะช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกได้
ทั้งนี้ พลาสติกฐานชีวภาพไม่จำเป็นต้องย่อยสลายได้ทางชีวภาพเสมอไป อย่าง Bio-PET นั่นก็คงกะพันไม่แพ้ขวด PET ซึ่งเป็นพลาสติกฐานปิโตรเลียมเลย ขณะที่พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพก็ไม่จำเป็นต้องมีส่วนประกอบจากพืช สัตว์ และชีวมวลเช่นกัน
ทว่าไบโอพลาสติกบางชนิด เช่น PLA หรือโพลิแลกติกแอซิด (polylactic acid) ก็ควบรวมคุณสมบัติของพลาสติกทั้งสองกลุ่มเข้าไว้ได้
จึงเป็นความกำกวมเชิงนิยามที่ทำให้ต้องฉุกคิดครั้งที่หนึ่ง…ไม่ใช่พลาสติกชีวภาพทุกชนิดหรอกนะที่จะช่วยบรรเทาปัญหาขยะพลาสติกได้
และในกลุ่มพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพเองก็ต้องคำนึงถึงสภาวะเหมาะสมต่อการย่อยสลายด้วย มีเพียงส่วนน้อยนิดที่ใช้การหมักระดับครัวเรือนหรือฝังกลบลงดินก็ย่อยหมดในเวลาประมาณ 6-12 เดือน ขณะที่ส่วนใหญ่ต้องการระบบหมักแบบอุตสาหกรรมที่ควบคุมปัจจัยต่างๆ ได้ เพราะหากความชื้น อุณหภูมิ และปริมาณออกซิเจนไม่เป็นไปตามเงื่อนไข มันย่อมไม่สามารถย่อยสลายได้หมดตามระยะเวลาที่กำหนด หรือไม่เกิดการย่อยสลายอย่างควรจะเป็น
ทำให้ต้องฉุกคิดครั้งที่สอง…ผู้บริโภคแบบเราๆ จะรู้ได้อย่างไร พลาสติกชีวภาพชิ้นที่รับมาสามารถย่อยสลายได้ในเงื่อนไขใด ควรส่งไปยังปลายทางแบบใด
เพราะถ้าทิ้งรวมกับขยะทั่วไป มันอาจเดินทางสู่ภูเขาขยะหรือไหลลงท้องทะเล ซึ่งจะคงสภาพยาวนานไม่ต่างจากพลาสติกแบบเดิมๆ ครั้นจะส่งเข้ากระบวนการรีไซเคิลก็ไม่ได้ เพราะมันรีไซเคิลไม่ได้ ถ้าหลงทางรวมไปกับพลาสติกเดิมๆ ที่รีไซเคิลได้ ก็จะสร้างปัญหาปนเปื้อนให้เกิดความเสียหายอีก ปลายทางของมันในตอนนี้ดูจะตีบตันพอสมควร
กระนั้นก็ยังมีผู้ผลิตบางรายใช้ความกำกวมเชิงนิยามของพลาสติกชีวภาพนี่แหละในการกล่าวอ้าง ‘เพื่อสิ่งแวดล้อม’ หรือแปะป้าย ‘กรีน’ ให้กับสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ของตัวเอง ฟากฝั่งผู้บริโภคจึงต้องขวนขวายทำความรู้จักและรับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อประโยชน์ในการตัดสินใจเลือกเชื่อหรือไม่เชื่อด้วยตนเอง
หากมีผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการรายใดบอกว่าใช้พลาสติกชีวภาพซึ่งเป็นมิตรกับสัตว์ทะเล เราต้องรู้ให้ทันด้วยว่า ข้อความนี้เป็นจริงเฉพาะกรณีที่พลาสติกนั้นไม่ได้ลงไปลอยเท้งเต้งอยู่ในทะเลเท่านั้น
บางรายเลี่ยงคำว่าไบโอพลาสติก ด้วยการเรียก ‘ขวดน้ำที่ผลิตจากพืช’ ซึ่งก็ง่ายที่จะทำให้ผู้บริโภคเข้าใจคลาดเคลื่อนไปเองว่า มันผลิตจากพืชร้อยเปอร์เซ็นต์ บางคนอาจเผลอไผลคิดต่อว่ามันจะย่อยสลายได้ง่ายเหมือนวัตถุดิบต้นทางด้วยสิ ทั้งที่ความจริงมันอาจเป็น Bio-PET ดังได้กล่าวไปแล้วข้างต้น
อย่างร้านเครื่องดื่มที่ประกาศใช้แก้วพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ใช้หลอดซึ่งพิมพ์ข้อความ ‘biodegradable’ ในทางหนึ่งคือการโปรโมทภาพลักษณ์ใส่ใจสิ่งแวดล้อมของตัวเอง ซึ่งผู้บริโภคควรสอบถามเพิ่มเติมถึงเงื่อนไขการย่อยสลายของแก้วและหลอดเหล่านั้น หากได้คำตอบว่า ย่อยสลายได้แค่ฝังกลบลงดิน ยิ่งง่ายที่จะลองพิสูจน์ด้วยตนเองว่ามันจริงหรือไม่ และจะย่อยสลายหมดภายในกี่เดือน
แต่ในอีกทางหนึ่งมันก็มีส่วนกระตุ้นให้ลูกค้าใช้ข้าวของพลาสติกเหล่านี้และโยนทิ้งอย่างสบายใจขึ้น เผลอๆ จะใช้เยอะกว่าตอนที่เป็นพลาสติกเดิมๆ ด้วยซ้ำ ทั้งที่การพกกระติกหรือแก้วส่วนตัวไปซื้อเครื่องดื่ม รวมถึงการปฏิเสธหลอดหรือใช้หลอดที่ล้างทำความสะอาดได้เป็นตัวเลือกของการลดสร้างขยะพลาสติกที่ดีกว่าและเห็นผลแน่นอนกว่า
พลาสติกชีวภาพ รวมทั้งถ้อยคำข้างเคียงอื่นๆ จึงมีแนวโน้มจะทำให้เรารับรู้ถึงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเกินจริง กล่าวได้ว่า…มันตอบโจทย์ด้านความรู้สึกมากกว่าที่จะช่วยแก้ปัญหา
ในขณะที่คนส่วนใหญ่ยังสับสนกับความซับซ้อนของพลาสติกชีวภาพประเภทต่างๆ ผู้ผลิตและผู้ประกอบการก็เลือกใช้มันเป็นตัวช่วยเสริมภาพลักษณ์สีเขียวกันไปแล้ว ทั้งโดยเจตนาและโดยขาดข้อมูลความรู้ หากเราโฟกัสไปยังกลุ่มที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ มันก็เป็นทางเลือกที่ตอบไม่ตรงโจทย์ปัญหาขยะพลาสติกเท่าใดนัก ด้วยเหตุผลว่า บ้านเรายังขาดแคลนกระบวนการคัดแยก รวบรวม และส่งถึงปลายทางซึ่งจะพาพวกมันไปสู่สภาวะของการย่อยสลายได้จริงๆ นั่นเอง
Tags: พลาสติกชีวภาพ, ไบโอพลาสติก, bio-plastic, พลาสติกฐานชีวภาพ, bio-based plastic