หลังสภาร่างกฎหมายแห่งชาติของสาธารณรัฐประชาชนจีน (National People Congress) ผ่านกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฮ่องกงอย่างเป็นเอกฉันท์ในวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา หนังสือของฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยในฮ่องกงเริ่มถูกถอดจากห้องสมุดสาธารณะและระบบค้นหาออนไลน์ ส่งผลให้ชาวฮ่องกงออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่ากฎหมายดังกล่าวลิดรอนสิทธิเสรีภาพในฮ่องกงรุนแรงขึ้นอีกครั้ง

รายงานชี้ว่า มีหนังสืออย่างน้อย 9 เล่มที่ถูกถอดออกจากระบบห้องสมุดสาธารณะในฮ่องกง รวมไปถึงหนังสือของโจชัว หว่อง (Joshua Wong) นักเคลื่อนไหวและแกนนำเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงชื่อดัง และ ทันยา ชาน (Tanya Chan) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสายสนับสนุนประชาธิปไตย โดยระบบระบุว่าหนังสือดังกล่าว “อยู่ระหว่างการพิจารณา” ว่ามีเนื้อหาละเมิดกฎหมายฉบับนี้หรือไม่ ซึ่งครอบคลุมเนื้อหามุ่งแบ่งแยกดินแดน การก่อความไม่สงบ การกระทำที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐบาล และการแทรกแซงจากต่างชาติ โดยมีโทษสูงสุด คือ จำคุกตลอดชีวิต 

กฎหมายดังกล่าว ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงที่สุดของการเป็นเขตปกครองพิเศษของฮ่องกง ภายใต้นโยบายรัฐบาลจีน “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ที่ถูกใช้มาตั้งแต่สิ้นสุดการเป็นหนึ่งในอาณานิคมสหราชอาณาจักรและมีพิธีส่งมอบฮ่องกงคืนให้แก่จีนอย่างเป็นทางการในปี 1997 

โจชัว หว่อง โจมตีการกระทำดังกล่าวของรัฐบาลลงในทวิตเตอร์ของเขาว่า “เป็นการนำเอาระบบเซนเซอร์ในจีนแผ่นดินใหญ่” มาบังคับใช้ในฮ่องกง และเป็นก้าวสำคัญก่อนที่จะรัฐบาลอาจจะบังคับ “แบน” หนังสือจริง ส่วนด้าน ทันยา ชาน ระบุว่า เธอกำลังสับสนว่าเหตุใดหนังสือของเธอ ‘My Journeys for Food and Justice’ ที่ตีพิมพ์ในปี 2014 อยู่ระหว่างการพิจารณาร่วมกับหนังสือเล่มอื่น ๆ เนื่องจากรัฐบาลออกมาระบุก่อนหน้านี้แล้วว่า กฎหมายดังกล่าวจะไม่มีผลย้อนหลัง เธอจึงเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาชี้แจงนโยบายและขั้นตอนพิจารณาเนื้อหาอย่างละเอียด 

ทั้งนี้ทางการจีนระบุว่า กฎหมายดังกล่าวจะช่วยฟื้นฟูเสถียรภาพในฮ่องกงอีกครั้ง หลังการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยที่ยาวนานกว่าหลายปี และไม่ได้หมายจะริดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพียงแต่จะมุ่งจัดการแค่ “กลุ่มคนเล็ก ๆ”  เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม การประกาศใช้กฎหมายฉบับใหม่และการถอดหนังสือจากห้องสมุดในฮ่องกง ส่งผลให้เกิดความกังวลต่อเสรีภาพทางวิชาการว่าจะยังคงมีอยู่หรือไม่ เนื่องจากฮ่องกงเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในเอเชียหลายแห่งและมีการเรียนการสอนในหัวข้อที่เป็น “เรื่องต้องห้าม” ในจีนแผ่นดินใหญ่ 

แต่ดูเหมือนว่า รัฐบาลจีนชัดเจนว่าต้องการให้ระบบการศึกษาในฮ่องกงมีความ “ชาตินิยมแผ่นดินใหญ่” มากขึ้น โดยเฉพาะหลังการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงที่นำด้วยเยาวชนคนรุ่นใหม่ เริ่มขยายตัวและรุนแรงมากขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา 

.

ที่มา:

https://www.theguardian.com/world/2020/jul/05/hong-kong-books-by-pro-democracy-activists-disappear-from-library-shelves

https://www.bbc.com/news/world-asia-china-53296810

https://www.scmp.com/news/hong-kong/politics/article/3091842/national-security-law-hong-libraries-pull-books-some

ภาพ: ISAAC LAWRENCE / AFP

Tags: