จนถึงปีนี้มีผู้ให้ความสนใจหันมาต้มคราฟต์เบียร์กันเยอะมากหลายสิบยี่ห้อ หากใครยังไม่เคยชิมสักทีและไม่รู้ว่าจะต้องเริ่มจากตรงไหน The Momentum สรุปมาให้ 10 ยี่ห้อทีเด็ดที่ใครๆ ก็ไม่ควรพลาด พร้อมพิกัดร้านสำหรับตามไปชิม

Udomsuk

อุดมสุขเบียร์คือคราฟต์ไทยเบอร์แรกๆ ที่บุกเบิกวงการคราฟต์เบียร์ แต่อาจจะหาดื่มยากสักหน่อย เพราะมักจะเจอตามงาน หรือมีวางจำหน่ายค่อนข้างจำกัดมาก แต่อุดมสุขเป็นตัวแทนของรสชาติขมดุดันตามสไตล์อเมริกัน สไตล์ที่ต้องลองคือ IPA อย่าง West Coast IPA แต่ด้วยความที่อุดมสุขมักจะมีสไตล์ใหม่หมุนเวียนอยู่ตลอด เราแนะนำว่าอย่ายึดติด และลองสไตล์ที่ใกล้เคียงกับความชอบ รับรองไม่ผิดหวังแน่นอน
พิกัด: ร้าน Mad Moa และ Seven Spoons

Golden Coins

เป็นอีกหนึ่งตัวท็อปของวงการ ผู้เป็นทั้งกลุ่มคนบุกเบิกการทำคราฟต์เบียร์ และเปิดบาร์ที่เสิร์ฟเฉพาะไทยคราฟต์เบียร์เท่านั้นแห่งแรกในกรุงเทพฯ Golden Coins ทำเบียร์สไตล์มาตรฐานออกมาหลายตัวและคนชื่นชอบกันเยอะ ที่พลาดไม่ได้เลยคือ IPA ที่ค่อนข้างดื่มง่าย แต่ยังคงคาแรกเตอร์ขมลึกแบบต้นฉบับไว้
พิกัด: Let the Boy Die

Triple Pearl

หนึ่งในนักเรียนรุ่นแรกของ Chit Beer เกาะเกร็ด ที่ถนัดเบียร์สไตล์ Wheat Beer มากเป็นพิเศษ การันตีด้วยรางวัล Best Wheat Beer จากเวที Beer Camp: Fight Club เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
พิกัด: Craft ‘N Roll และ Where Do WE Go

Sandport

อีกหนึ่งเบียร์หายาก แต่มีชื่อเสียงเลื่องลือในรสชาติมาก โดยเฉพาะ Too Much Coffee Porter เบียร์เข้มหอมกลิ่นกาแฟ ที่ไม่ต้องเป็นคอกาแฟหรือชอบเบียร์ดำก็เข้าใจได้ง่ายๆ
พิกัด: Craft ‘N Roll และ Where Do WE Go

Devanom

เทพพนมเป็นเบียร์ชื่อใหม่แต่เก๋าในวงการเบียร์บ้านเรามาตั้งแต่เริ่มต้น ที่เป็นแบบนี้เพราะสองพี่น้องนักต้มใช้เวลาทั้งหมดฝึกฝนจนได้เบียร์ที่ได้รสชาติมาตรฐานตามที่ต้องการ และการันตีได้จากรางวัล Best IPA เวที Beer Camp: Fight Club ร่วมกับ Wheat Beer ของ Triple Pearl เป็นอีกหนึ่ง IPA ที่ต้องหามาชิมให้ได้ อยากรู้เรื่องราวเพิ่มเติมอ่านต่อ เบื้องหลังความสำเร็จของเบียร์เทพพนม และ Deva Farm ได้ที่นี่
พิกัด: Changwon Express

Mahanakorn Brewery

มหานคร เป็นเบียร์ที่เล่นกับวัตถุดิบไทยๆ อย่างชัดเจนในทุกตัวที่ผลิตออกมา รสชาติเน้นความสดชื่น บอดี้ไม่หนัก เหมาะกับอากาศบ้านเรา เช่น Simply Red Ale เป็นตัวที่ใช้ข้าวกล้องหอมมะลิเป็นส่วนประกอบ ให้กลิ่นหอมแบบ Roasty หน่อยๆ และขมจากฮอปส์ อีกตัวที่ให้คะแนนความสร้างสรรค์คือ เปียกปูนเบียร์ หรือ Siam Stout สเตาต์สไตล์ไทยๆ ผสมกาบมะพร้าวเผา (Coconut Charcoal) น้ำตาลมะพร้าว และใบเตย ครบสูตรที่เปียกปูนควรมีในรูปแบบพร้อมดื่ม
พิกัด: Let the Boy Die และ Where Do WE Go

Pheebok

หนึ่งเบียร์หาตัวจับยากที่เจอที่ไหนเราขอเตือนว่าไม่ควรพลาด เบียร์ที่มาในอาร์ตเวิร์กการ์ตูนผีสามบาท และ copywriting skill ในเฟซบุ๊กที่ชวนหลอนจนพลอยให้คิดไปได้ว่าผู้ต้มเป็นเจ้าอาวาสจริงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม Haunting Style Pale Ale เป็นรุ่นมาตรฐานที่เราแนะนำ ด้วยเนื้อสัมผัสกลาง ไม่บางจนเกินไป ผสมกับกลิ่นฮอปส์ฟุ้งๆ แต่ไม่ขมหนักเกินไปในสไตล์ Pale Ale ย้ำว่าในลิสต์นี้สามารถหาเบียร์ยี่ห้อต่างๆ ได้จากหลายๆ ร้านสลับกัน แต่ 99% ของเบียร์ผีบอกมีที่เดียว
พิกัด: Junker & Bar

Full Moon Brewworks (Chalawan Pale Ale)

เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 2010 ในฐานะ Microbrewery ที่จังหวัดภูเก็ต (และปัจจุบันก็ยังเปิดให้บริการอยู่) ก่อนจะดำเนินการผลิตบรรจุขวดครั้งแรก เมื่อกลางปี 2015 ที่ผ่านมาในชื่อ Chalawan Pale Ale ที่พัฒนามาจากสูตรที่เคยขายแบบสดที่ร้าน โดยไปผลิตกันที่โรงเบียร์ในออสเตรเลีย และนำเข้ามาแบบถูกกฎหมายเป็นเจ้าแรกๆ นับว่าเป็นคลื่นใต้น้ำแห่งวงการก็ใช่ เพราะชาละวันเป็นเบียร์ที่มานิ่งๆ ทำอย่างถูกกฏหมาย และรสชาติที่โดดเด่น หอมติดกลิ่นลิ้นจี่ขวดนี้ได้รับรางวัลเหรียญทองจากเวทีโลกอย่าง World Beer Awards 2016 อีกด้วย อยากรู้เรื่องราวเพิ่มเติมอ่านต่อ เบื้องหลังความสำเร็จของชาละวันเบียร์ได้ที่นี่
พิกัด: Wishbeer, บาร์ และร้านอาหารรอบกรุงเทพฯ

Chiang Mai Beer

แก๊งต้มเบียร์จากเชียงใหม่กลุ่มนี้เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ค่อยๆ ต้มกันเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2015 รู้ตัวอีกที เชียงใหม่เบียร์ยกทีมกันไปผลิตที่โรงเบียร์ในประเทศลาว บรรจุขวด และนำกลับเข้ามาแบบถูกกฎหมายเป็นที่เรียบร้อย แก๊งนี้มีสองตัวหลักยืนพื้น คือ Red Truck IPA หอมกลิ่นซิตรัส และ Chiang Mai Weizen นุ่มลื่นสำหรับคนไม่ถนัดขม
พิกัด: WishbeerTeens of Thailand และ Bricks & Bone

Stone Head

ในวงการคราฟต์เบียร์บ้านเรา Stone Head ถือว่าเป็นน้องใหม่มาแรงอีกยี่ห้อหนึ่ง ที่เปิดให้เราได้รู้จักชื่อมาสักพักจากการพรีออร์เดอร์เบียร์รุ่นแรกในเว็บไซต์จำหน่ายเบียร์อย่าง Wishbeer.com ซึ่งช่วงต้นปีที่ผ่านมา ในขณะที่ทีมผู้จัดทำนั้นซุ่มเงียบเปิดโรงงานอย่างเป็นทางการไกลถึงเกาะกง และนั่นก็ทำให้ Stone Head ถือว่าเป็นเบียร์ยี่ห้อล่าสุด (หลังจากชาละวัน และเชียงใหม่เบียร์) ที่จำหน่ายในประเทศของเราแบบถูกกฎหมาย เราแนะนำให้เริ่มจาก Seven Days Witbier สไตล์เบลเยียม หอมนุ่มกำลังดี
พิกัด: Let the Boy DieChangwon Express และ Where Do We Go

 

ใครยังไม่จุใจ สามารถสำรวจ 7 ลายแทงบาร์เบียร์สำหรับคอ ‘คราฟต์เบียร์ไทย’ ได้ที่นี่

Tags: , , ,