เมื่อสื่อสังคมออนไลน์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของคนในชีวิตประจำวัน จึงไม่น่าแปลกใจเท่าไรที่เรามักจะเลือกสนทนากันผ่านแพลตฟอร์มใหม่ที่เปรียบดั่งโลกเสมือนจริง และช่วยให้เราได้มีความสัมพันธ์กับคนใหม่ๆ มากหน้าหลายตา

แต่ทว่าเมื่อหมกมุ่นอยู่กับความรู้สึกที่แสดงออกผ่านโลกออนไลน์ เรากลับกลายเป็นคนเก็บตัว ไม่สุงสิงกับโลกภายนอก จนกลายเป็นคนขี้เหงา หรืออาจถึงขั้นซึมเศร้าโดยไม่รู้ตัว

ปัจจุบันมีนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากที่พูดถึงกรณีนี้ โดยงานศึกษาของ ดร.เอลิซาเบท มิลเลอร์ (Elizabeth Miller) ศาสตราจารย์กุมารเวชศาสตร์ วิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยพิตต์สเบิร์ก และทีมผู้วิจัย ระบุว่า การใช้สื่อสังคมออนไลน์เชื่อมโยงเข้ากับความรู้สึกเหงาและความหดหู่โดยตรง

งานวิจัยชิ้นนี้ได้รับการเผยแพร่ใน American Journal of Preventive Medicine ระบุว่าการที่คนหนุ่มสาวเล่นโซเชียลมีเดียมากขึ้นเป็นเพราะความรู้สึกโดดเดี่ยว และยังพบว่าการใช้โซเชียลมีเดียสัมพันธ์กับอาการซึมเศร้าในวัยรุ่นอย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติ

นอกจากนี้ งานวิจัย ‘การใช้โซเชียลมีเดียและการรับรู้ความโดดเดี่ยวทางสังคมของวัยรุ่นในอเมริกา’ โดย ดร.ไบรอัน เอ. พรีมัก (Brian A. Primack) ซึ่งมี ดร.เอลิซาเบท มิลเลอร์ เป็นหนึ่งในทีมวิจัย ได้ทำการสำรวจตั้งแต่ปี 2014 ระบุว่า ถ้าใช้เวลากับโซเชียลเน็ตเวิร์กมากกว่า 2 ชั่วโมงต่อวัน มีโอกาสที่จะรู้สึกเหงามากกว่าปกติถึงสองเท่า

โดยทีมวิจัยทำแบบสอบถามประชาชนชาวอเมริกัน จำนวน 1,787 ราย ที่มีอายุตั้งแต่ 19-32 ปี เกี่ยวกับการใช้งานโซเชียลมีเดียในแพลตฟอร์มต่างๆ ได้แก่ Facebook, YouTube, Twitter, Google Plus, Instagram, Snapchat, Reddit, Tumblr, Pinterest, Vine และ LinkedIn โดยให้เขียนรายละเอียดการใช้งานของแต่ละคน ซึ่งคำตอบของผู้ใช้งานจะได้รับการประเมินโดยเครื่องมือประเมินภาวะซึมเศร้า ผลสรุปที่ได้คือคนที่ติดการใช้งานโซเชียลมีเดียเกิน 58 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มีโอกาสที่จะเกิดความรู้สึกโดดเดี่ยวมากถึง 3 ครั้ง (ต่อสัปดาห์)

ถึงแม้ว่าการใช้สื่อสังคมออนไลน์จะมีส่วนช่วยให้ผู้ใช้งานตามเทรนด์ของโลกได้ทัน ไม่เป็นคนประเภทกลัวตกกระแส หรือที่เรียกว่า FOMO (Fear of Missing Out) แต่การศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าอาการเสพติดโซเชียลมีเดีย กลัวไม่ตกกระแส อาจทำให้คนหมกมุ่นกับความเหงาที่รุนแรง จนถึงขั้นที่ ดร.เอลิซาเบท มิลเลอร์ระบุว่า

“เป็นไปได้ว่าคนหนุ่มสาวที่รู้สึกโดดเดี่ยวทางสังคมเริ่มหันมาใช้โซเชียล มีเดีย หรืออาจเป็นไปได้ว่าการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของพวกเขา ทำให้เกิดความรู้สึกโดดเดี่ยวไปจากโลกแห่งความเป็นจริง

“เรายังไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ ระหว่างการใช้สื่อสังคมออนไลน์หรือการถูกแยกออกจากสังคม”

ทั้งหมดล้วนเป็นการสำรวจผ่านงานวิจัยที่ระบุว่า หากเราเลือกใช้งานโซเชียลมีเดียมากเกินไปโดยไม่สนใจสิ่งรอบข้าง อาจเป็นสาเหตุให้เราเป็นโรคซึมเศร้าได้โดยไม่รู้ตัว

อ้างอิง:

Tags: ,