อย่างน้อยก็รู้สึกว่าชีวิตนี้ฉันยังมี ‘คู่ชก’
ซึ่งย่อมดีกว่าชีวิตอันเปล่าเปลี่ยวเงียบเหงา
ตราบที่หมัดของเรายังไม่ทำร้ายกันมากจนทนไม่ได้

ถึง คุณ, คู่ชกตลอดกาลของผม

ไม่น่าเชื่อว่าเราจะ (ทน) คบหาและใช้ชีวิตร่วมกันมาได้ยาวนานจนครบสิบปี ในสายตาเพื่อนฝูง เราเป็นคู่ประหลาดที่ทะเลาะกันด้วยเรื่องเดิมๆ ตลอดเวลาครั้งแล้วครั้งเล่า แล้วก็กลับมาคืนดีกันอีก หวานเหมือนไม่เคยมีการด่าทอ แล้วอีกไม่นานพวกเขาก็จะได้ข่าวว่าเรามีปากเสียงกันใหญ่โตอีกแล้ว ก่อนที่จะกลับไปคืนดีกันอีกหน หลายคนสงสัยว่าเราทนคบกันได้ยังไง ยิ่งคนที่ยึดครองทฤษฎีว่า ‘รักคือการทำให้อีกฝ่ายมีความสุข’ ก็ยิ่งงุนงงกับความสัมพันธ์ของคู่เรา ว่าจะรักกันไปทำไม เพราะดูเหมือนว่ารักทำให้เราทนทุกข์มากกว่าสุขสม แต่เมื่อเวลาผ่าน การทะเลาะครั้งที่ห้าร้อยเจ็ดสิบแปดผ่านไป เพื่อนพ้องเริ่มมองเห็นสัจธรรมแห่งการวนลูป และเริ่มมองว่า วงจรแห่งการทะเลาะเรื่องเดิมๆ ระหว่างเรานั้นเหมือนฤดูกาล เกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ผ่านไป แล้วก็กลับมาเกิดขึ้น วนเวียนไปเช่นนี้ เป็นธรรมชาติ เป็นธรรมดา แล้วพวกเขาก็เริ่มเป็นห่วงเราน้อยลง

อย่าว่าแต่เพื่อนฝูงเลย กระทั่งตัวเองผมยังสงสัยว่าผมทนคบคุณมาได้ยังไงตั้งนาน และคุณเองก็ทนคบกับผมมาได้ยังไงตั้งนาน การทะเลาะกันเรื่องเดิมๆ มันมีเสน่ห์ที่ตรงไหน แม้ไม่รู้ชัด แต่ผมสัมผัสรสหวานที่ปลายลิ้นของมันได้ ทุกครั้งที่เราฟาดฟันกันด้วยคำพูดรุนแรง มักมีความรู้สึกดีบางอย่างที่ผมอธิบายได้ไม่ชัดว่ามันคืออะไรเกิดขึ้นในห้วงยามนั้น ที่แปลกก็คือ ผมคิดว่าคุณก็รู้สึกไม่ต่างกัน

ใครบ้างเล่าที่สามารถกำหนดให้ตัวเองรักใครบางคน
เลิกรักใครบางคน หรืออยากรักคนนี้วันนี้ เลิกรักคนนั้นวันนั้น ไม่มีใครทำอะไรแบบนั้นได้

เราต่างสัมผัสได้ถึงรสหวานของความสัมพันธ์ขมๆ

รสหวานของการทะเลาะเบาะแว้ง

หากบางคนจะอธิบายปรากฏการณ์นี้ง่ายๆ เขาอาจอธิบายว่า พวกคุณรู้สึกดีที่อย่างน้อยก็ยังมีคนให้ทะเลาะด้วย เหมือนนักมวยที่มีคู่ชก เมื่อนักมวยมีคู่ชก เขาจึงยังเป็นนักมวยต่อไปได้ เขายังนิยามตัวเองได้ว่ากำลังทำสิ่งใดอยู่ เช่นกันกับคู่รัก (คู่กัด) แบบเรา การที่ผมมีคุณอยู่ก็เท่ากับว่าผมยังมี ‘คนข้างๆ’ ผมยังนิยามตัวเองได้ว่า ‘ผมเป็นแฟนคุณ’ แทนที่จะเป็น nobody หรือคนไร้ความหมาย การออกหมัดใส่กันคือสิ่งที่ทำให้ ‘ความหมาย’ นี้ดำรงอยู่ต่อเนื่องไป (แม้จะเป็นแบบซาดิสม์-มาโซคิสม์สักหน่อย)

เราใช้ ‘หมัด’ ที่ปล่อยออกมากระแทกกันเพื่อสานต่อความสัมพันธ์ระหว่างเรา เราจึงไม่หยุดต่อย เพราะอย่างน้อยก็รู้สึกว่าชีวิตนี้ฉันยังมี ‘คู่ชก’ ซึ่งย่อมดีกว่าชีวิตอันเปล่าเปลี่ยวเงียบเหงา ตราบที่หมัดของเรายังไม่ทำร้ายกันมากจนทนไม่ได้

ร้ายไปกว่านั้น, เมื่อเวลาผ่านนานวันเข้า กลับกลายเป็น ‘หมัด’ ที่ประเคนใส่กันนี้เองที่ทำให้เราเสพติด และไม่กล้าแยกทาง เพราะหมัดระหว่างความสัมพันธ์ของเราได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเราไปเสียแล้ว

เราเสพติดความเลวร้ายของอีกฝ่ายหนึ่งที่มีให้กัน

เราเสพติดการทะเลาะกันในแบบเดิมๆ

เราอยากแก้ไข แต่เราก็ไม่อยากแก้ไข

คุณว่าอะไรทำให้เราถูกสาปมาให้เป็นแบบนี้

ที่รัก, คุณคิดว่ากลางอากาศระหว่างเราจะมีเทพซนๆ ที่มีชื่อว่า Cupid วิ่งวนไปมาอยู่หรือเปล่า ชื่อเดิมตามภาษากรีกของเทพเด็กน้อยชอบเล่นธนูองค์นี้คือ Eros ซึ่งแปลว่า ‘ปรารถนา’ คุณเคยสงสัยไหมว่าทำไมกามเทพจะต้องเป็นเด็ก เหตุใดจึงไม่เป็นสาวแก่ หนุ่มใหญ่ หรือลุงใจดี ที่จะมาคอยแผลงศรความรักใส่คู่รักทั้งหลาย อาจเป็นเพราะ ‘ความปรารถนา’ นั้นเหมือนเด็กน้อย มันไม่เชื่อฟังคำพูดของเรา มันเอาแต่ใจ และมันจะวิ่งเข้าหาสิ่งที่มันหลงใหล สนใจ อยากเล่นด้วยเสมอ

ใครบ้างเล่าที่สามารถกำหนดให้ตัวเองรักใครบางคน เลิกรักใครบางคน หรืออยากรักคนนี้วันนี้ เลิกรักคนนั้นวันนั้น ไม่มีใครทำอะไรแบบนั้นได้ เหมือนที่ไม่มีใครสั่งซ้ายหัน-ขวาหันกับเด็กน้อยซนๆ ได้

กามเทพจึงเป็นภาพเสมือนที่ถูกวาดขึ้นมาเพื่อจะปลอบประโลมมนุษย์ว่า ความรักที่เกิดขึ้นระหว่างคนสองคนนั้นไร้เหตุผลพอสมควร จู่ๆ เราก็หันไปสบตากัน ลูกศรปักอก แล้วก็รักกันเสียอย่างนั้น

ในยามแรกรัก ผู้คนจึงบอกว่าอย่าได้ถามหาเหตุผล มันเกิดขึ้นของมันเอง โดยที่เราไม่รู้ตัว ไม่มีใครสั่งให้มันเกิดขึ้นหรือหยุดลงได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไป หลังช่วงโรแมนติกคลี่คลาย เรามักได้ยินหลายคนเรียกร้องหาเหตุผลให้ความรัก โดยเฉพาะคำกล่าวว่า “แกไปรักมันได้ยังไง คนแบบนี้” แต่เชื่อไหม แม้พยายามมีเหตุผล แต่ลึกๆ ในใจเรายังเต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกที่อธิบายไม่ได้ว่าทำไมยังรัก ทั้งที่เจ็บปวดจากความรักนั้น—เหมือนกันกับเราสองคน

นักจิตวิทยาชาวอเมริกันชื่อ เอ็ดมุนด์ เบิร์กเลอร์ ผู้เขียนหนังสือว่าด้วยชีวิตสมรสและการหย่าร้าง ตั้งสมมติฐานไว้น่าสนใจว่า เรามักตกหลุมรักใครสักคนเพื่อจะได้มีโอกาสย้อนกลับไปสู่วัยเยาว์ของตนเอง

เรามักรักคนบางคนที่ช่วยให้เราได้จัดการกับแผลเป็นบางอย่างในชีวิต

มันไม่ได้ชัดเจนเหมือนคำพูดที่บอกว่า “เมื่อรักใคร เราจะกลายเป็นเด็กอีกครั้ง” เปล่านะ คนละอารมณ์กัน เขากำลังพูดถึงการกลับไปเป็นเด็กที่มืดดำและลงลึกไปกว่าแค่ความสดใสเวลาเราอยู่กับคนรัก นี่คือด้านหม่นของความสัมพันธ์

เขาเล่าเรื่องผู้ป่วยรายหนึ่ง เธอเป็นนักเปียโนผู้ประสบความสำเร็จ แต่สามีกลับไม่ชอบใจที่ภรรยาต้องออกงานแสดงคอนเสิร์ต จึงรบเร้าให้เธอเลิกอาชีพนี้ เธอเองก็รู้ก่อนแต่งงานแล้วว่าเขาไม่ชอบ แต่ทำไมเธอจึงตกหลุมรักเขาแทนที่จะเป็นชายคนอื่นที่ชื่นชมยกย่องและสนับสนุนเธอ เรื่องของเรื่องก็คือ เธอมีแววด้านดนตรีมาตั้งแต่เด็ก แต่โดนแม่สั่งห้ามไม่ให้ออกแสดงในที่สาธารณะ หาว่าเป็นอาชีพเต้นกินรำกิน ในสายตาของเธอ แม่คือจอมเผด็จการผู้ชอบขัดใจลูกสาวสุดที่รัก ตรงนี้เองแหละที่บิงโก! เบิร์กเลอร์บอกว่า สำหรับนักเปียโนสาวคนนี้ ทัศนคติที่มีต่อแม่และสามีเป็นไปในทางเดียวกัน และด้วยกระบวนการที่มองไม่เห็นเช่นนี้แหละจึงทำให้เธอตกหลุมรักผู้ชายคนนี้

เรื่องมิได้เรียบง่ายเพียงแค่เพราะผู้ชายคนนี้ทำให้เธอหวนคิดถึงแม่ หรือความรู้สึกที่แม่เคยมอบให้ (การสั่งห้ามเล่นเปียโนที่เธอชอบ) แต่การถูกสั่งห้ามจากสามีทำให้เธอได้กลับไปอยู่ในสถานการณ์บางอย่างในอดีตที่เธอทั้งเจ็บปวดและสุขสมอีกครั้ง

ในสถานการณ์ที่มนุษย์ไม่สามารถหลีกเลี่ยงความเจ็บปวดได้ เช่น เมื่อถูกผู้ปกครองบังคับโดยมิอาจต้านทาน ทางออกในจิตใต้สำนึกของเด็กๆ ก็คือ สร้างความพึงพอใจกับข้อห้ามและการขัดใจนั้นขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว

ในเมื่อหนีไม่ได้ ก็หาวิธีจัดการให้ข้อห้ามนั้นเป็นที่มาของความสุข

วิธีที่ว่านั้นซับซ้อน เด็กจะเริ่มจากการคิดว่าตนเองเป็นฝ่ายถูก วางตัวเองในฐานะของผู้มีศีลธรรมซึ่งถูกกระทำโดยคนที่โหดร้ายทารุณ วางตัวเองในฐานะของคนที่เจตนาดีแต่ถูกอีกฝ่ายเข้าใจผิดแล้วกระทำย่ำยี วิธีจัดการความคิดความรู้สึกเช่นนี้ ช่วยพลิกความรู้สึกที่มีต่อเหตุการณ์อันน่าผิดหวังให้กลายเป็นความรู้สึกที่ดีต่อตัวเอง คือฉันเป็นฝ่ายถูก ฉันถูกกลั่นแกล้ง ฉันถูกกระทำ ความรู้สึกนี้จะสร้างความพึงพอใจ สะใจ และตามใจตัวเองให้เด็กคนนั้น

จากที่รู้สึกแย่ เด็กคนนั้นจะค่อยๆ รู้สึกดีกับเหตุการณ์เดียวกันนั้น เพราะเขามีวิธีอธิบายกับตัวเองแล้วว่าแม่ผิดอย่างไร และตัวเขาเองถูกอย่างไร คราวนี้ความเจ็บปวดจากการถูกบังคับก็จะค่อยๆ ผสมกลมกลืนเข้าเป็นเนื้อเดียวกับความรู้สึกพึงพอใจที่ได้เป็นฝ่ายถูก และมีสิทธิอย่างชอบธรรมที่จะโกรธหรือเจ็บใจ

กระบวนการเช่นนี้ทำให้เราพอใจที่จะถูกกระทำ พอใจที่จะเจ็บปวดโดยรู้สึกว่าเราเป็นฝ่ายถูก พอใจที่เหตุการณ์ร้ายเกิดขึ้น เราจะได้โกรธได้อย่างไม่ผิดบาป ก็เพราะอีกฝ่ายหนึ่งเลวหรือผิด ฉันจึงบริสุทธิ์ผุดผ่องและเป็นคนดีคนถูกเสมอ

รากลึกของบางความสัมพันธ์เป็นเช่นนี้ เรารู้สึกดีที่ได้ทะเลาะ เพราะมันเชื่อมโยงเรากลับไปสู่อดีตที่ทุกข์ทนและสุขสมไปพร้อมกันของเรา

เรารู้สึกดีที่บางวันได้สัมผัสความเลวของคนใกล้ตัว (ซึ่งเราพิพากษาเขาเอง) เพื่อจะได้รู้สึกดีกับตัวเองขึ้นมาบ้าง

เราติดใจคนที่ช่วยสร้างความพึงพอใจกับตัวเราเองผ่านเรื่องร้ายที่มอบให้กัน

เราจึงไม่ต้องการ ‘คนดี’ หรือคนที่จะอยู่ด้วยกันโดยเออออห่อหมกทุกสิ่งอย่างโดยไม่มีการทะเลาะเบาะแว้งใดๆ เลย เราต้องการคนเลว (สำหรับเรา) ในบางเรื่องเพื่อทำให้รู้สึกดีกับตัวเองขึ้นมาบ้างในบางวัน

แน่ล่ะ, ไม่ใช่ทุกความสัมพันธ์จะเป็นเช่นนี้ แต่อย่าแปลกใจที่บางความสัมพันธ์ก็เป็นเช่นนี้ เพราะอดีตของคนเราไม่เหมือนกัน

​กามเทพที่เรามองไม่เห็น ไม่ได้วิ่งซุกซนอยู่แถวนั้นในวันที่เราเจอกันครั้งแรก เด็กน้อยผู้ชอบแผลงศรออกวิ่งเล่นและแอบสังเกตชีวิตของเราตั้งแต่ตอนยังเยาว์วัย เรามาเจอกันได้เพราะบาดแผลในวัยเด็กของเราที่เติมเต็มกันและกัน วิธีจัดการความสัมพันธ์กับคนใกล้ตัวในวัยเด็กหล่อหลอมให้เรามีพฤติกรรมที่เหมาะสมกันในวันนี้

เรามักรักคนบางคนที่ช่วยให้เราได้จัดการกับแผลเป็นบางอย่างในชีวิต อดีตของเรายุ่งเหยิงเกินกว่าที่เราจะเข้าใจ จึงไม่แปลกที่บางครั้งเราก็ไม่เข้าใจว่าทำไมจึงรักคนคนนี้ ทำไมจึงเลือกคนคนนี้ ทำไมจึงทนคบกับคนคนนี้ ทั้งที่เจ็บปวดแต่ก็มีความสุขบางอย่างอยู่ในความสัมพันธ์นั้น

ผมไม่ชอบคุณในเรื่องที่เราทะเลาะกันมาห้าร้อยกว่าครั้งนั่น
แต่ผมชอบที่มีคุณคอยทะเลาะด้วย

​ในสายตาคนขี้ตัดสินชีวิตชาวบ้าน ในสายตาผู้พิพากษาเต็มบ้านเต็มเมือง เขาอาจมองความสัมพันธ์ในวังวนแห่งการทะเลาะ ผิดใจ มีปากเสียง คืนดี ของเราสองคนว่าเป็นความสัมพันธ์ประหลาด เป็นความสัมพันธ์ที่ไม่ดีต่อใจ เป็นความสัมพันธ์ที่ควรเลิกมากกว่าจะถูลู่ถูกังกันไป

แต่นั่นมันก็เป็นสายตาชาวบ้าน-ผู้รู้ดี หวังดี ปรารถนาดี แต่ไม่มีทางเข้าใจในสิ่งที่เราเป็นมากไปกว่าเรา

เราไม่ได้เลือกที่จะเป็นแบบนี้ ผมไม่ได้เลือกที่จะเป็นแบบนี้ คุณก็ไม่ได้เลือกที่จะเป็นแบบนี้ แต่ชีวิตขึ้นรูปให้เรากลายมาเป็นแบบนี้ มันอาจไม่เหมือน ‘ความสัมพันธ์ที่ดี’ แบบที่นิยายสวยงามหวานซึ้งเขาเขียนกัน แต่มันก็เป็นความสัมพันธ์แบบหนึ่งที่มีอยู่จริงบนโลกใบนี้ และมันก็ดีในแบบของเรา ดีร้ายปะปนในแบบที่เราโอเคกับมัน และโอเคต่อกันและกัน นั่นอาจจะพอแล้ว

​ขอบคุณที่เป็นคู่ชกที่ดีมาเสมอ ผมไม่รู้ว่าเราจะออกหมัดใส่กันไปอีกนานเท่าไร จะมีบ้างไหมที่บางหมัดแรงเสียจนเราเลิกราโบกมือลาสังเวียน ผมไม่รู้ คุณไม่รู้ ไม่มีใครรู้ เหมือนที่ผมไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่า เหตุผลที่ผมเสพติดหมัดของเราสองคนมันช่างยุ่งเหยิงเกินกว่าจะเข้าใจง่ายๆ

บอกได้เลยว่า ผมไม่ชอบคุณในเรื่องที่เราทะเลาะกันมาห้าร้อยกว่าครั้งนั่น

แต่ผมชอบที่มีคุณคอยทะเลาะด้วย

พวกเราเป็นคู่รักประหลาด แต่เราไม่ใช่คู่เดียวบนโลกนี้หรอก

หนังสือประกอบการเขียน:

Conditions of Love: The Philosophy of Intimacy โดย John Armstrong

ภาพประกอบ: Suminkgy

Tags: , ,