เรามักจะได้ยินคำกล่าวที่ว่า ‘เนื้อคู่มักหน้าคล้ายกัน’
แต่ในความเป็นจริงนั้น หลักจิตวิทยาสามารถอธิบายความเชื่อดังกล่าวได้ เพราะการใช้เวลาอยู่กับใครสักคนเป็นเวลานานอาจจะเปลี่ยนมุมมองความคิดและพฤติกรรมของคุณ จนบางครั้งคุณและคนรักอาจจะมีความคล้ายคลึงกันแบบที่ไม่ทันรู้ตัว
โจชัว วูล์ฟ เชงก์ (Joshua Wolf Shenk) นักเขียนผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเคยเขียนอธิบายเกี่ยวกับ ‘การมีความคิดร่วมกัน’ (shared mind) ในหนังสือ Power of Two ไว้ว่า “ความสัมพันธ์ใกล้ชิดอาจจะทำให้ความคิดหรือพฤติกรรมการกระทำของเราเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง”
นักจิตวิทยาได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างคู่รักที่มีความสัมพันธ์ระยะยาว โดยพวกเขาได้ชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่พวกคู่รักมีความเหมือนกัน
แล้วสิ่งไหนที่คุณและคู่ของคุณกำลังเป็นเหมือนกันบ้างล่ะ?
1. โค้ดลับที่เข้าใจกันอยู่สองคน
เคยได้รับข้อความจากแฟนที่ไม่ได้มีความหมายอะไร แต่คุณกลับเข้าใจและรู้สึกดีโดยที่คุณก็ไม่สามารถอธิบายได้เหมือนกันไหม?
เชงก์บอกว่า “ภาษาที่พวกคุณรู้กันอยู่สองคนนี่แหละ คือสัญญาณแรกที่กำลังสื่อว่าคุณสองคนเริ่มมีสิ่งที่เหมือนกันแล้ว”
นอกจากนี้งานวิจัยของ โรเบิร์ต ฮูเปอร์ (Robert Hooper) ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเทกซัสออสติน (University of Texas at Austin) ยังบอกอีกว่าการใช้ภาษาลับช่วยสร้างความสัมพันธ์, ความโรแมนติก หรือมิตรภาพที่ลึกซึ้ง อีกทั้งยังช่วยสร้างเอกลักษณ์ร่วมกันของพวกคุณสองด้วย
แครอล บรูส (Carol Bruess) นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยโอไฮโอสเตต เขียนในงานวิจัยเกี่ยวกับความโรแมนติกของคู่รักไว้ว่า “ภาษาลับที่พูดถึงมีความหมายครอบคลุมหลายๆ อย่าง ตั้งแต่มุกตลกไปจนถึงชื่อเล่นที่พวกเขาสองคนใช้เรียกกัน และยิ่งพวกเขาใช้ภาษาลับพวกนี้คุยกันมากเท่าไร พวกเขาก็จะยิ่งมีความสุขและพอใจในความสัมพันธ์เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น”
คู่ที่เริ่มใช้ภาษาคล้ายกัน ไม่ว่าจะเป็นการพูดหรือส่งข้อความ
มีแนวโน้มที่พวกเขาจะยังคงสานความสัมพันธ์ต่อไปอีก 3 เดือน
2. เป็นตัวของตัวเองเต็มที่เวลาอยู่ด้วยกัน
แน่นอนว่าเวลาที่เราคุยกับแฟนย่อมแตกต่างจากเวลาคุยกับคนแปลกหน้า คนรู้จัก หรือแม้กระทั่งเพื่อนสนิท เพราะคนส่วนใหญ่จะมี ‘กระบวนการการตรวจสอบตัวเอง’ (Self-Monitoring) หรือการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมด้วยการพยายามทำให้คนรอบข้างพึงพอใจ
เชงก์กล่าวไว้ว่า “แต่เมื่อเราสนิทหรือใกล้ชิดกับคู่ของเรา เราจะไม่พยายามทำอะไรเลยแต่กลับพูดคุยอย่างเป็นธรรมชาติและเป็นตัวเอง” หรือจะพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ “ถ้าเราหยุดตรวจสอบตัวเองก่อนที่จะพูด เราจะยิ่งเปิดเผยและตรงไปตรงมามากขึ้น”
เดเนียล คาห์เนมัน (Daniel Kahneman) นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ (University of California, Berkeley) บอกกับเชงก์ว่า “เราค่อนข้างระมัดระวังเรื่องการเปิดเผยความคิดหรือตัวตนที่แท้จริงเหมือนกับคนส่วนใหญ่” แต่หลังจากที่เขาใช้เวลา 2-3 ปี ในการศึกษางานวิจัยกับคู่หูนักจิตวิทยาอย่าง เอมอส ทเวอร์สกี (Amos Tversky) พวกเขาก็พบว่าความระมัดระวังดังกล่าวหายไปอย่างสิ้นเชิง
3. เรื่องบางเรื่องก็มีแค่พวกคุณเท่านั้นที่รู้
ผลงานวิจัยพบว่าคู่รักมีแนวโน้มจะเลียนแบบท่าทางของอีกฝ่าย ทำให้ทั้งคู่เริ่มมีท่าทางเหมือนกัน ที่เป็นแบบนี้เพราะว่าทั้งคู่กำลังทำตามสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้จากกันและกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ทั้งคู่ยอมเปิดเผยต่อกันเท่านั้น รวมไปถึงประสบการณ์และความทรงจำต่างๆ ที่ทั้งคู่มีร่วมกันด้วย บางเรื่องจึงมีแค่พวกเขาสองคนเท่านั้นที่เข้าใจ
ยกตัวอย่างจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานตาครูซ (University of California, Santa Cruz) ในปี 2007 ที่ศึกษาเกี่ยวกับศิลปะของการสื่อสารพบว่า “คนเรามักจะรีบหันมามองหน้ากัน หากพวกเขาได้ยินเรื่องที่พวกเขารู้ ก่อนที่จะเริ่มพูดคุยกัน”
ทั้งคู่เกิดความรู้สึกเหมือนๆ กันไม่ว่าจะดีใจ โกรธ หรือเสียใจ
กล้ามเนื้อบนใบหน้าจึงทำงานคล้ายกันจนอาจจะเกิดเป็นริ้วรอยในตำแหน่งเดียวกัน
และดูราวกับว่าพวกเขามีใบหน้าคล้ายกันนั่นเอง
4. วิธีในการพูดและการสื่อสารไม่ต่างกัน
นอกจากการมีภาษาลับเฉพาะคู่แล้ว เชงก์ยังเขียนอธิบายไว้อีกด้วยว่า “คู่ที่มีความสัมพันธ์ระยะยาวจะเริ่มมีวิธีการพูดและน้ำเสียงที่คล้ายกัน”
นักจิตวิทยาบอกว่าส่วนหนึ่งที่เป็นแบบนั้นเนื่องจาก ‘การระบาดทางอารมณ์’ (emotional contagion) หรือความรู้สึกที่กระตุ้นซึ่งกันและกันมีระดับรุนแรงจนส่งอิทธิพลเป็นวงกว้าง เพราะโดยปกติแล้วคนที่ใช้เวลาร่วมกันมากพอ พวกเขามักจะเลียนแบบหรือปรับวิธีการพูดให้เข้ากัน โดยจะเลียนแบบทุกอย่าง ตั้งแต่วิธีการพูดของอีกฝ่ายหรือแม้กระทั่งจังหวะการหยุดระหว่างคำหรือประโยค
จากงานวิจัยปี 2010 เกี่ยวกับภาษาที่ใช้ระหว่างคู่รัก โดยศึกษาจากข้อความที่พวกเขาใช้คุยกันแสดงให้เห็นว่า การเปลี่ยนวิธีการพูดอาจจะชี้ให้เห็นถึงระยะเวลาที่ทั้งคู่จะอยู่ด้วยกันได้ เพราะจากตัวอย่างพบว่า “คู่ที่เริ่มใช้ภาษาคล้ายกัน ไม่ว่าจะเป็นการพูดหรือส่งข้อความ มีแนวโน้มที่พวกเขาจะยังคงสานความสัมพันธ์ต่อไปอีก 3 เดือน”
5. เริ่มมีคนทักว่าพวกคุณมีใบหน้าคล้ายกัน
จากงานวิจัยที่ศึกษาในหัวข้อ ‘คู่สามีภรรยาที่แต่งงานมานานจะเริ่มมีลักษณะคล้ายกัน’ ของนักจิตวิทยาที่มีชื่อเสียงในปี 1987 ‘โรเบิร์ต ซาจอนก์ (Robert Zajonc)’ พบว่า มีหลายเหตุผลที่ยืนยันว่าคู่รักที่แต่งงานแล้วจะเริ่มดูคล้ายกันมากขึ้น นั่นเพราะพวกเขามักจะเคลื่อนไหวเหมือนๆ กัน ใช้กล้ามเนื้อส่วนเดียวกัน จ้องมองสิ่งต่างๆ หรือกระทั่งมีอากัปกิริยาและสำนวนการพูดจาคล้ายกัน (ตามหลักจิตวิทยาเรียกว่า ‘shared coordinative structure’)
นอกจากนี้การที่พวกเขามักเผชิญสถานการณ์ร่วมกันบ่อยๆ จึงทำให้ทั้งคู่เกิดความรู้สึกเหมือนๆ กันไม่ว่าจะดีใจ โกรธ หรือเสียใจ กล้ามเนื้อบนใบหน้าจึงทำงานคล้ายกันจนอาจจะเกิดเป็นริ้วรอยในตำแหน่งเดียวกัน และดูราวกับว่าพวกเขามีใบหน้าคล้ายกันนั่นเอง
อย่าเพิ่งโกรธหรือเสียใจไป ถ้าคุณและคนรักไม่มีคุณสมบัติเบื้องต้นที่กล่าวมาเลย เพราะหากพวกคุณทั้งคู่ได้ใช้เวลาด้วยกันในทุกๆ วันแล้วมีความสุขแบบสุดๆ ทฤษฎีและตำราบทไหนก็คงมาทลายความรักที่ยั่งยืนของพวกคุณไม่ได้หรอก
จริงไหม?
ภาพประกอบ: Karin Foxx
อ้างอิง:
- www.businessinsider.com/how-to-know-youre-in-a-long-term-relationship-2017-2/#you-and-your-partner-develop-your-own-private-language-1
- www.communicationcache.com/uploads/1/0/8/8/10887248/self-monitoring-_appraisal_and_reappraisal.pdf
- www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/17576280
- www.lessicom.it/wp-content/uploads/2011/12/Emotional-contagion1.pdf
- www.baanjomyut.com/library/social_sciences/36.html
- www.shenk.net/bio
- www.nytimes.com/1987/08/11/science/long-married-couples-do-look-alike-study-finds.html