ถ้าจู่ๆ เห็นชายแปลกหน้าแยกร่างเป็น 6 เสี่ยง เห็นผ้าเช็ดหน้าลอยขว้างอยู่กลางอากาศ หรือรูปทรงเรขาคณิตหลากสีเต้นเร่าบนผนัง คุณคงรู้ตัวว่ากำลังเห็นภาพหลอน และเกิดคำถามทันทีว่า ‘ฉันบ้าหรือไม่’ โอลิเวอร์ แซกส์ (Oliver Sacks) นักประสาทวิทยาชื่อดังผู้ล่วงลับมีคำตอบ และคำตอบของเขาคือสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ถึงเส้นแบ่งบางเบาที่เรียกว่า การฉวยคว้าและการผลักไส
โอลิเวอร์ แซกส์ เป็นนักประสาทวิทยาและนักเขียนชื่อดังชาวอังกฤษ ด้วยภาษาเขียนที่เรียบง่ายและอ่านสนุก เขาพาเราไปสัมผัสและเข้าใจการทำงานของสมอง การเห็น การได้ยิน ในมิติที่ไม่มีแพทย์หรือนักเขียนคนใดเคยทำได้มาก่อน งานเขียนที่โด่งดังของเขา ได้แก่ A Man Who Mistook His Wife For A Hat, Musicophilia, An Anthropologist on Mars, The Mind’s Eye เป็นต้น งานเขียนของเขาเรื่อง Awakening ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ในชื่อเดียวกัน โอลิเวอร์ แซกส์ ถึงแก่กรรมด้วยโรคมะเร็ง เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2015
ในหนังสือชื่อ Hallucinations แซกส์อธิบายว่าการเกิดภาพหลอน (Visual Hallucination) อาจเป็นผลจากความเจ็บป่วย การอดนอน ยาบางชนิด ความโศกเศร้า หรือแม้แต่ความเหนื่อยล้า ภาพที่เห็นเป็นได้ทั้งภาพเคลื่อนไหว ภาพเหนือจริงคล้ายภาพเขียนของมากริตต์ ศิลปินเซอร์เรียลิสต์ ภาพบิดเบี้ยวเห็นความจริงเป็นส่วนเสี้ยวแบบปีกัสโซ หรือภาพซ้ำเรียงต่อกันแบบผลงานบางชุดของแอนดี วอร์ฮอล
ในรายการ TED Talk เมื่อกลางปี 2009 ซึ่งแซกส์พูดเรื่อง ‘What hallucination reveals about our minds?’ เขาเกริ่นว่า “เราเห็นด้วยตา และก็เห็นด้วยสมองเช่นกัน เรามักเรียกการเห็นด้วยสมองว่าจินตนาการ แต่ก็มีการเห็นด้วยสมองที่เป็นภาพหลอนด้วย” เขาเล่าถึงหญิงชราชื่อโรสาลี ซึ่งเจ้าหน้าที่บ้านพักคนชราขอให้เขาไปตรวจอาการ เพราะแกเห็นภาพแปลกๆ เช่น ผู้คนนุ่งห่มแบบตะวันออกเดินขึ้นลงบันได ชายแปลกหน้าที่มีฟันซีกโตยื่นจากมุมปาก รูปทรงเรขาคณิตสีชมพูฟ้า เด็กๆ ในชุดสีเจิดจ้าเดินขึ้นลงบันได ฯลฯ จนพวกเขาห่วงว่าแกอาจเสียสติ หลอดเลือดสมองตีบ หรือเป็นอัลไซเมอร์ หลังตรวจโดยละเอียด แซกส์พบว่าแกปกติดีทุกอย่าง ไม่แม้แต่ขี้หลงขี้ลืม แต่สิ่งหนึ่งที่บรรดาพยาบาลไม่ได้บอกก็คือ แกตาบอดมาได้ 5 ปีแล้ว
“ผมถามแกว่ามันคล้ายกับฝันไปไหม แกบอกไม่ เหมือนดูหนังมากกว่า แต่เป็นหนังใบ้ที่ไม่มีเสียง บทจะมาก็มา บทจะไปก็ไป แกควบคุมอะไรไม่ได้ แกรู้ว่าเป็นภาพหลอน แต่ก็ตกใจ และกลัวว่าตัวเองเสียสติไปแล้ว” แซกส์เล่า เขาบอกให้แกคลายใจว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความผิดปกติทางสมองหรือจิตใจ แต่เป็นภาวะเกิดภาพหลอนชนิดพิเศษ พบในคนที่การมองเห็นแย่ลงหรือตาบอด มีการบันทึกไว้ตั้งแต่ปี 1760 โดย ชาร์ลส์ บอนเน่ (Charles Bonnet) และเรียกกันว่า ‘ชาร์สส์บอนเน่ซินโดรม’
ได้ฟังอย่างนั้น คุณยายโรสาลีก็โล่งใจ และบอกแซกส์ด้วยท่าทีภาคภูมิใจว่า “หมอบอกพวกพยาบาลด้วยนะ ว่าฉันเป็นชาร์ลส์บอนเน่ซินโดรม ฉันไม่ได้บ้า”
แซกส์อธิบายว่าภาวะนี้เกิดขึ้นเพราะดวงตาสูญเสียการมองเห็น สมองส่วนการมองเห็นจึงไม่ได้รับสัญญาณใดๆ แต่เกิดทำงานมากขึ้น ตื่นตัว แล้วเริ่มประมวลผลและส่งสัญญาณขึ้นมาเอง ทำให้สมองเห็นเป็นภาพขึ้นมา และเป็นภาวะที่อยู่เหนือการควบคุม คนที่มีปัญหาทางสายตาหรือตาบอด มักมีภาวะเช่นนี้ราว 10% แต่คนแวดล้อมที่เข้าใจเรื่องนี้มีอยู่เพียง 1% เขาจึงพยายามเล่าสู่คนในวงกว้าง เพื่อไม่ให้เกิดการเข้าใจผิด วินิจฉัยโรคผิด หรือคิดว่าเขาเหล่านี้บ้า เพราะการเกิดภาพหลอนที่ถือว่าบ้านั้นต่างไปโดยสิ้นเชิง
ภาวะหลอนของคนวิกลจริต ภาพหรือเสียงที่หลอนขึ้นจะพูดหรือพุ่งเป้ามาที่คนคนนั้น และเขาจะตอบโต้กับมัน ขณะที่ภาวะหลอนแบบคุณยายโรสาลี ไม่ได้พุ่งเป้ามาที่แก มันแวบขึ้นมา แล้วก็แวบหายไป เหมือนคลิป autoplay ที่แกไม่ได้เป็นคนเซ็ตอัลกอริทึม
การเห็นภาพหลอนแล้วถือว่าบ้าหรือไม่ ดูจะเป็นเรื่องเดียวกับการฉวยคว้าและการผลักไสในพุทธศาสนา สิ่งต่างๆ เกิดขึ้นด้วยเหตุปัจจัย เห็นแล้ว รู้สึกแล้ว ก็ให้รู้ตัวและวางมันเสีย ไม่ไปฉวยว่านี่คือสุข ยึดไว้ไม่อยากปล่อย หรือมองว่าเป็นทุกข์ ตีฟูเป็นอารมณ์และพยายามผลักไส ถ้าเราเป็นได้อย่างยายโรสาลี เห็นคลิปอะไรแวบมา ก็ปล่อยให้แวบไป รู้ว่าเป็นกลไกเกินควบคุมของเซลล์สมอง เราก็โล่งใจได้ว่าตัวไม่บ้า เป็นการรู้อยู่แบบที่ท่านพุทธทาสเรียกว่า ‘เหมือนลิ้นงูในปากงู’
แต่ถ้าดูหนังดูคลิปแล้วกระโจนเข้าไปเล่นตะพึดตะพือ อ่านสเตตัสอะไรก็ต้องมีคอมเมนต์ไปเสียทุกเรื่องทุกประเด็น หรือถึงขั้นคิดว่าสเตตัสนั้น ทวีตข้อความนี้ เขาหมายถึงฉัน จนตามบล็อกหรือรีทวีต ก็ต้องระวัง หากถือหลักของโอลิเวอร์ แซกส์ การเกาะติดกระแสโซเชียลไม่ถือว่าบ้า แต่เมื่อไรที่เอาสิ่งนั้นมาเป็นอารมณ์ ปะทะ ตอบโต้ เสมือนเป็นโลกจริงตรงหน้า — เราคงก้าวใกล้ความบ้าเข้าไปทุกที
Tags: ชาร์ลส์บอนเนซินโดรม, การเกิดภาพหลอน, Visual Hallucination, ชาร์ลส์ บอนเน, การฉวยคว้าและการผลักไส, โอลิเวอร์ แซกส์