เว็บไซต์ The Telegraph ได้เผยข้อมูลที่น่าจะสร้างความสั่นสะเทือนต่อวงการอาหารและตารางโภชนาการในมือใครหลายคนว่า นักวิทยาศาสตร์ประเทศญี่ปุ่นค้นพบว่าการกินไอศกรีมในมื้อเช้าจะช่วยทำให้คุณตื่นตัวมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยในด้านของจิตใจอีกด้วย
เมื่อคลื่นอัลฟาเพิ่มขึ้น ระดับความตื่นตัวในร่างกายก็เพิ่มขึ้นตาม
โยชิฮิโกะ โคกะ (Yoshihiko Koga) ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเคียวริน (Kyorin) ได้ดำเนินการทดลองในหัวข้อว่า เหตุใดเราจึงจำเป็นที่จะต้องรับประทานไอศกรีมทันทีหลังจากที่ตื่นในตอนเช้า? โดยใช้แบบทดสอบจากการใช้งานคอมพิวเตอร์พบว่า กลุ่มอาสาสมัครของอาจารย์โคกะที่ได้กินไอศกรีมมีการตอบสนองต่อความสามารถในการประมวลผลข่าวสารได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพกว่า
จากการตรวจวัดคลื่นสมองของอาสาสมัครผู้ทดลองกินไอศกรีมในมื้อเช้ายังพบอีกด้วยว่า คลื่นความถี่อัลฟามีอัตราเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อการเพิ่มระดับของความตื่นตัว อีกทั้งช่วยลดความขุ่นเคืองทางใจได้อีกด้วย
เพื่อให้แน่ใจว่า ผลการทดสอบดังกล่าวไม่ได้เป็นผลมาจากการที่สมองถูกดึงให้ตื่นตัวจากการรับประทานของที่มีอุณหภูมิต่ำอย่างไอศกรีมเท่านั้น ศาสตราจารย์โคกะจึงทำการทดลองซ้ำกับกลุ่มตัวอย่างเดิม โดยเปลี่ยนจากไอศกรีมมาเป็นน้ำเย็นแทน
ผลสรุปหลังการดื่มน้ำเย็นก็พบว่า พวกเขาเหล่านั้นก็มีการตื่นตัวที่มากขึ้น เช่นเดียวกับอารมณ์ที่ดีขึ้นเช่นกัน แต่หากเปรียบเทียบในรายละเอียดกันแล้ว ศักยภาพโดยรวมของคนที่เริ่มต้นเช้าวันใหม่ด้วยการดื่มน้ำเปล่าก็ยังคงต่ำกว่าการกินไอศกรีมอยู่ดี
ไอศกรีมมีผลทางอารมณ์ คำลวงโลกหรือการค้นพบครั้งใหม่?
ศาสตราจารย์โยชิฮิโกะ โคกะ เป็นหนึ่งในผู้ชำนาญการด้านจิตสรีรวิทยา โดยผลการศึกษาของเขาส่วนใหญ่จะให้น้ำหนักไปที่เรื่องการเชื่อมโยงประเภทอาหารและการช่วยลดความเครียด นอกจากนี้โคกะยังศึกษาเรื่องอาหารหลากหลายที่ช่วยต่อต้านสารอนุมูลอิสระอีกด้วย
แม้จะยังไม่มีผลสรุปความเชื่อมโยงที่แน่ชัดระหว่างไอศกรีมและส่วนประกอบเฉพาะตัวที่มีผลต่อการเสริมประสิทธิภาพทางอารมณ์ ในขณะที่งานวิจัยอื่นๆ กล่าวว่าไอศกรีมช่วยปลดล็อกอารมณ์ในทางที่ดี และช่วยเพิ่มพลังให้ร่างกายได้ ก็ดูจะเป็นคำอธิบายที่โกหกมากกว่า ถึงอย่างนั้นโคกะก็ยังคงศึกษางานวิจัยของเขาต่อไป
อย่างไรก็ตาม โภชนากรจากสหราชอาณาจักรหลายรายต่างแสดงความคลางแคลงใจที่มีต่อการค้นพบของโคกะในครั้งนี้
เคที บาร์ฟุต (Katie Barfoot) นักวิจัยเอกจิตวิทยาโภชนาการจากมหาวิทยาลัยเรดดิ้ง (Reading University) กล่าวว่า
“คำอธิบายที่น่าจะเป็นไปได้ที่สุดสำหรับสาเหตุของความตื่นตัวและความกระฉับกระเฉงที่เพิ่มขึ้น น่าจะเป็นเรื่องการรับประทานอาหารเช้า และการไม่รับประทานอาหารเช้ามากกว่า เนื่องจากสมองของเราต้องการกลูโคสเพื่อใช้ในการทำงาน ดังนั้นอาหารที่มีปริมาณกลูโคสสูงก็จะช่วยในการบำบัดอารมณ์ได้เป็นอย่างดี เมื่อเปรียบเทียบกับสมองที่ขาดอาหาร
“อย่างไรก็ตาม มันก็ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องของการรับประทานของหวานในมื้อเช้าแต่อย่างใด เนื่องจากผลการศึกษาเน้นสำรวจและศึกษาไปที่ปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ระหว่างการรับประทานอาหารที่มีดัชนีน้ำตาลสูง (GI foods หรือ Glycemic Index) และอาหารที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำมากกว่า ขณะที่กลุ่มคนที่อดอาหารเช้าก็น่าจะมีความเข้าใจเป็นอย่างดีถึงประสิทธิภาพทางอารมณ์ที่เพิ่มขึ้น”
ไอศกรีมวานิลลาช่วยให้ ‘ฟิน’ เหมือนได้ฟังเพลงโปรด
เช่นเดียวกัน มีผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์บางแห่งที่เคยศึกษาว่า ทำไมไอศกรีมถึงส่งผลดีต่ออารมณ์ของผู้ที่ได้ลิ้มรสหวานเย็นฉ่ำของมัน
ในปี 2005 นักประสาทวิทยาจากสถาบันจิตเวชในกรุงลอนดอนได้ทำการสแกนสมองของผู้ที่กินไอศกรีมรสวานิลลาพบว่า การรับประทานไอศกรีมจะเป็นการช่วยเปิดระบบ ‘จุดแสนสุข’ ของสมองมนุษย์ให้สว่างวาบขึ้น ไม่ต่างจากเวลาที่คุณชนะการพนันหรือได้ฟังเพลงโปรดสักเพลง
“เป็นครั้งแรกที่เราสามารถเปิดเผยได้ว่า ไอศกรีมช่วยให้คุณมีความสุขได้ จากผลการทดลองที่บอกว่า แค่ไอศกรีมหนึ่งช้อนก็ช่วยเปิดแสงสว่างจุดแสนสุขของสมองคุณได้แล้ว” ดอน ดาร์ลิ่ง (Don Darling) โฆษกของบริษัท Unilever กล่าวในช่วงปี 2005
รู้อย่างนี้แล้ว หากคุณกำลังหงุดหงิดงุ่นง่าน ตกอยู่ในอาการหัวร้อน ไม่แน่ว่าลองเข้าร้านสะดวกซื้อ หยิบไอศกรีมหวานๆ เย็นๆ ชื่นใจมากินก็อาจจะช่วยได้นะครับ
แต่อย่าลืมจ่ายเงินก่อนเปิดก็แล้วกันล่ะ!