ผู้หญิงทั่วโลกจะไม่มีโอกาสอยู่ทันเห็นระบบที่ผู้หญิงจะมีโอกาสในการทำงานเท่าเทียมกับผู้ชาย จากการศึกษาชิ้นล่าสุดเรื่องความเท่าเทียมกันของ World Economic Forum (WEF) ประมาณการณ์ว่า ต้องใช้เวลาถึง 257 ปี ถึงจะอุดช่องว่างทางเศรษฐกิจระหว่างเพศได้ จำนวนปีดังกล่าวเพิ่มขึ้นจากปี 2018 ที่ประมาณไว้ 202 ปี

“จะไม่มีใครได้เห็นความเท่าเทียมระหว่างเพศในช่วงชีวิตของเรา และอาจรวมไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลานของเราด้วย” รายงานระบุ

รายงานดังกล่าววิเคราะห์ 153 ประเทศ จาก 4 หมวด คือ สุขภาพ การศึกษา เศรษฐกิจ และการเมือง โดย WEF ประมาณการณ์ภาพรวมช่องว่างระหว่างเพศทั้ง 4 หมวดว่า อาจต้องใช้เวลา 99.5 ปี ถึงจะปิดช่องว่างนี้ได้สนิท ซึ่งรายงานนี้ถูกจัดทำขึ้นทุกปีมาตั้งแต่ปี 2006

ช่องว่างทางเศรษฐกิจที่ถูกถ่างให้กว้างขึ้นปรากฏให้เห็นด้วยจำนวนของผู้หญิงในตำแหน่งผู้จัดการและผู้นำที่ต่ำ อัตราค่าแรงที่ไม่ขยับ ระดับรายได้ และการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงาน

จากการจัดอันดับประเทศที่มีความเท่าเทียมทางเพศ ไอซ์แลนด์เป็นแชมป์อันดับหนึ่งมาเป็นปีที่ 11 ตามมาด้วย นอร์เวย์ ฟินแลนด์ สวีเดน และนิคารากัว ส่วนอันดับสุดท้าย คือ เยเมน สำหรับสหรัฐอเมริกาอยู่ในอันดับที่ 53 ซึ่งตกมาสองอันดับจากปีที่แล้ว แม้ว่าจะมี 101 ประเทศได้คะแนนดีขึ้นกว่าปีที่แล้วก็ตาม

รายงานยังกล่าวด้วยว่า ปัจจัยที่ทำให้ช่องว่างด้านเศรษฐกิจระหว่างเพศเพิ่มมากขึ้น คือ ผู้หญิงมักได้รับมอบหมายงานที่ใช้เครื่องจักรเข้ามาแทนที่ได้ รวมถึงการค้าปลีก และมีผู้หญิงเข้าสู่วิชาชีพไม่เพียงพอ ซึ่งรวมถึงสายงานด้านเทคโนโลยี ซึ่งเป็นสายงานที่อัตราค่าแรงเติบโตอย่างโดดเด่นที่สุด

ยิ่งไปกว่านั้น ผู้หญิงใช้เวลาอย่างน้อยสองเท่ามากกว่าผู้ชายในงานด้านการดูแลและอาสาสมัคร และการขาดการเข้าถึงเงินทุน ทำให้ผู้หญิงไม่สามารถเข้าถึงโอกาสเป็นผู้ประกอบการและแรงงานอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม รายงานนี้ก็ยังมีเรื่องทางบวก คือ ช่องว่างด้านการศึกษาและสุขภาพทั่วโลกดูจะหดแคบเข้ามา ความไม่เท่าเทียมในด้านสุขภาพและการศึกษา กว่า 95% ถูกจัดการแล้ว

การเมืองเป็นหมวดที่มีช่องว่างความไม่เท่าเทียมกว้างที่สุด แม้ว่าจะมีผลที่ดีขึ้นจากปีที่แล้ว แต่ความเหลื่อมล้ำระหว่างเพศด้านการเมืองทั่วทั้งโลกถูกจัดการไป 24.7% เท่านั้น ปีนี้ทั่วโลกมีผู้หญิงเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 25.2% และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเพียง 21.2% เท่านั้น

 

ที่มา

 

ภาพ : Ann Wang/REUTERS

Tags: ,