คุณเคยมีความหวังฝังหัวใจไหม ?

คุณเคยติดอยู่กับความคิดอะไรบางอย่าง จนยากจะสลัดมันออกบ้างไหม ?

หรือคุณเคยมีความทรงจำที่สีของมันไม่เคยจืดจางลงไปบ้างเลยไหม ?

ผมมี …มันชื่อ ‘กัตลัง’

‘กัตลัง’ เป็นชื่อของหมู่บ้านเล็กๆ บนความสูง 7,400 ฟิต ตั้งอยู่ที่ประเทศเนปาล ดินแดนที่ไม่มีใครเคยกล่าวถึง มันซ่อนตัวเองไว้ภายใต้พื้นที่ลับตาสุดขอบน่านฟ้าของโลก สิ่งที่ได้ยินก่อนหน้านั้น คืออาญาเขตที่ซุกตัวห่างออกไปจากสายตาผู้คน มันถูกปกคลุมด้วยม่านหมอกสีขาวลอยกรุ่นบางเบาปกคลุมไปทั่วสารทิศ สายตาเท่านั้นที่จะสัมผัสความจริงนี้ได้ ที่แห่งนั้นส่งเสียงเรียกให้เราไปเยือน

ด้วยระยะเวลา 12 ชั่วโมงหรืออาจจะมากกว่า จากกาฐมาณฑุถึงกัตลัง ถนนเต็มไปด้วยหินหลากขนาดและฝุ่นสีเทา เส้นทางทุรกันดานขรุขระไม่ต่างอะไรกับพื้นผิวดวงจันทร์ ขณะอยู่บนรถจี๊บที่ไม่มีเครื่องปรับอากาศ ซึ่งไม่สามารถนอนหลับได้เพราะหัวจะกระเด้งกระดอนไปตามจังหวะรถ อ่านหนังสือยิ่งไม่ได้เพราะโคลงเคลงเกินกว่าที่สายตาจะเพ่งตัวอักษร ทำได้อย่างเดียวคือ นั่งนิ่งๆ และหลับตา ครั้นมองข้างทางเพลินๆ จู่ๆ รถดันตกหล่มโคลน นานทีเดียวกว่าจะขึ้นมาจากปลักนั้นได้

 

เวลาผ่านไป เมื่อไต่ไปยังความสูงที่เพิ่มขึ้น อากาศเริ่มเย็น แม้หูจะเริ่มอื้อ แต่พลันสายตามองขึ้นไปยังด้านบนของภูเขา เห็นเป็นสายหมอกบางๆ ที่ล้อมแนวเขาเอาไว้ มันสวยงามจับจิต เป็นภาพที่เคยเห็นแต่ในโปสการ์ด  ‘สายหมอก’ ที่เห็นเมื่อรถไต่ระดับ เหมือนม่านบางเบา ไอน้ำละเอียดกระจายอยู่เต็มละอองอณูอากาศ จนมารู้ทีหลังว่า มันไม่ใช่สายหมอกอย่างที่เข้าใจ หากแต่เป็น ‘เมฆ’

ตั้งแต่วินาทีที่ผมรู้เรื่องหมู่บ้านแห่งนี้จากอีเมล์เพื่อนชาวเยอรมัน ก็เป็นเวลาปริ่มๆ สองปีกับการค้นหาในสิ่งที่คาดหวัง แต่แล้วสิ่งที่ค้นพบกลับงดงามเกินความคาดหมาย “กัตลัง (สมญา หมูบ้านสีดำ)” ประจันหน้ากับเทือกเขาอย่างทระนง หมู่บ้านยังคงสภาพเดิมไว้เกือบทั้งหมด ถึงแม้จะมีการซ่อมแซมต่อเติมหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ แต่ถึงอย่างไรก็ยังเป็นบ้านหินหลังคาสีดำในแบบชาวทามังแท้ๆ ชาวบ้านสวมเสื้อผ้าท้องถิ่น หมวกผ้าสาน ตุ้มหูพวงระย้า ชุดสอดทับคลุมถึงข้อเท้า บางคนใส่เสื้อผ้าสามชิ้นสีดำแบบธิเบต ผู้หญิงสวมผ้าซิ่นสีสด พวกเขาต่อสู้กับความแร้นแค้นและโหดร้ายจากธรรมชาติชนิดตาต่อตา ฟันต่อฟัน ขณะเดียวกันก็พึ่งพากันแบบสมดุล

 

บ้านหินปลูกหลั่นไปตามแนวสันเขา มีทางเดินเชื่อมถึงกันทั้งหมู่บ้าน ภูเขารูปหัวใจผ่าซีกโอบกอดหมู่บ้านทั้งหมดไว้ในอ้อมแขน สันเขาตั้งอยู่ทิศเหนือ ยามเช้าแสงแดดส่องเป็นประกาย เทือกเขาตระหง่านเด่นทางด้านขวา ขณะที่ด้านซ้ายเป็นแนวเขาพาดยาวสุดสายตา ในวันที่อากาศเป็นใจ เราจะเห็นยอดหิมาลัยสีขาวโพลนสะท้อนเป็นสีส้มยามกระทบกับแสงแดดอุ่นๆ ยามเช้า

หมู่บ้านแห่งนี้เปรียบเสมือนสังคมน้อยๆ ในแบบ symbiosis ที่คนพึ่งพากัน อยู่ร่วมกันโดยดูแลความเป็นอยู่กันเอง ไม่มีทหาร ตำรวจ หน่วยงานราชการ ไม่มีบาร์ ร้านกาแฟ ไม่ต้องพูดถึงร้านอาหารหรือร้านสะดวกซื้อ ฟังดูเผินๆ เหมือนจะเป็นดินแดนในฝัน หากแต่พวกเขาไม่คิดเช่นนั้น คนกัตลังยอมรับอย่างหน้าชื่นตาบานว่าพวกเขามีความทุกข์ มีอุปสรรคชีวิต หากแต่ยืดอกรับมันอย่างทระนง เพราะหากคนเรายึดมั่นในศักดิ์ศรีของความเป็นคน เมื่อนั้นคำว่ายอมแพ้ย่อมสะกดได้อย่างยากเย็น

มองไปตามบ้านเรือน เนื้อสัตว์ถูกแล่เป็นชิ้นและตากบนราวหน้าบ้านเหมือนคนกรุงเทพฯ ตากผ้าบนคอนโด จากบ้านหนึ่งสู่อีกหลัง เห็นข้าวโพดแขวนแซมประปราย เราเดินสำรวจรอบหมู่บ้าน ซากแห่งความไร้ปราณีจากแผ่นดินไหวยังคงมีเป็นระยะๆ ความยากจนทำให้พวกเขาไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากซ่อมแซมบ้านด้วยหินที่กระเทาะด้วยมือ บ้านบางหลังยังหาประตูไม่ได้ มีเพียงไม้แผ่นกั้นทางเข้า รัฐบาลช่วยเหลือโดยโยนเงินให้ประมาณหลังละ 500 เหรียญ โดยมีข้อแม้ว่าต้องสร้างบ้านตามแบบมาตรฐานของรัฐบาลเท่านั้น ซึ่งสร้างปัญหาให้กับทั้งคนและสัตว์ ทางรอดเดียวคือการต่อสู้ด้วยจิตวิญญานอันเด็ดเดี่ยวและเลือดบ้าที่ข้นได้ระดับของชนเผ่าทามัง

พวกเขาปลูกพืชหมุนเวียนเป็นอาชีพหลัก ข้าว ข้าวโพด กะหล่ำ มันฝรั่ง สลับกันไปตามฤดูกาล ชาวบ้านบางคนเลี้ยงควายยัครีดนมเพื่อเอาไปทำชีส ซึ่งรสชาติดีอย่างเหลือเชื่อ หลังหกโมงยามเย็นพระอาทิตย์อำลาขอบฟ้า เสกให้ทั้งหมู่บ้านกลับเยือกเย็นและหนาวเหน็บในห้วงวินาทีเดียวกัน มีเพียงไฟฟ้าที่ปั่นกันเองติดๆ ดับๆ ฮีตเตอร์สังกะสีที่แผ่ความร้อนจากฟืนคือที่พึ่งเดียวที่จะบรรเทาความหนาวเย็นนอกเหนือไปจากเสื้อผ้ามากชิ้น

การทำลายความเงียบด้วยการพูดคุยกับชาวบ้านโดยมีชานมอุ่นๆ ในมือ กลายเป็นสิ่งที่น่าจดจำ มันมากกว่าแค่ปลิดเวลาทิ้ง เพราะทุกประโยคจากหลายชีวิตหลากเรื่องราว แม้จะเคลือบฉาบไปด้วยความยากลำบากต่างๆ นาๆ หากแต่มันย้อนกลับมาเฉลยถึงคุณค่าที่เราละเลย ความเรียบง่ายคือสิ่งที่เราหลงลืม และมันกลับมาเตือนสติอย่างไม่คาดฝัน

ผมเพียรเฝ้าถามตัวเองขณะนั่งหัวโคลงเคลงในรถขากลับ ขณะพยายามจะเผาเวลา 12 ชั่วโมงให้ผ่านไปว่า ‘กัตลัง’ หากจะเปรียบ มันจะเหมือนอะไร? ผมคิดอยู่นานจนได้คำตอบกับตัวเองว่า มันคงเหมือน ‘สวรรค์’ หากแต่ไม่ใช่สวรรค์ในความหมายของวิมานในอากาศหรือจินตนาการลมๆ แล้ง ๆ มันเหมือนสวรรค์ตรงที่ ‘หากไปกันง่าย คงไปกันได้ทุกคน’

เส้นทางนี้เริ่มต้นด้วยการค้นหา ก่อนจบลงด้วยการค้นพบแก่นแท้ของชีวิตว่าจะต้องทำอย่างไรถึงจะยอมรับเงื่อนไขและมีความสุขอยู่ไปกันมันเท่าที่ขีดจำกัดจะอนุญาต ก่อนหน้านั้น ผมคิดเสมอว่า ชีวิตคือการตามหาบางสิ่งที่ขาดเพื่อเติมให้เต็ม มันอาจฟังดูสะเหร่อ ดัดจริตและเกร่อในคราวเดียวกัน แต่มันโคตรจะจริงในตอนขามา ผมเคยคิดแบบนั้น แต่เมื่อได้ใช้ชีวิตท่ามกลางชาวบ้านและสภาพแวดล้อมในหมู่บ้านเล็กๆ แห่งนี้ ผมพบว่าสิ่งที่ตัวเองเคยคิดล้วนแล้วแต่เหลวไหลสิ้นดี คนเราไม่มีทางเติมเต็มได้หมด แม้ในสิ่งที่เราคิดว่าเรามีพร้อม หากแต่ในความเพียบพร้อมนั้นก็ยังคงมีสิ่งที่ขาดเสมอ ป่วยการค้นหาในสิ่งที่เราไม่มีวันเจอ ความพอใจในชีวิตกลับเป็นด้านตรงกันข้าม เพียงแค่เรามองกลับไปยังตัวเองและเริ่มค้นหาในสิ่งที่เรามีเกิน เผื่อแผ่สิ่งนั้นให้กับคนอื่น

สำหรับชาวบ้านกัตลัง สิ่งที่พวกเขาขาด มันมากจนเกินกว่าจะนับ หากแต่พวกเขากลับแบ่งปันส่วนที่เกินแก่พวกเรา แก่คนเมืองที่มาตามหาวาทกรรมเท่ๆ ฉลาดๆ สะเหร่อๆ เพียงเพราะเชื่อว่ามันจะสร้างความสุขใจ

ภาพถ่ายผลงานของ Clemens Kunze

Fact Box

Gatlang : Happiness, hardship and other stories | กัตลัง : ชะตาชีวิตต้องลิขิตเอง
ภาพยนตร์สารคดีลำดับสอง ของสองผู้กำกับ เป็นเอก รัตนเรือง  และ ภาสกร ประมูลวงศ์
เข้าโรงฉายในประเทศไทย วันที่ 29 พฤศจิกายน 2018 เป็นต้นไป

Tags: , ,