1.
วินาทีนี้น่าจะสามารถเอ่ยได้เต็มปากแล้วว่ากระแส ‘บอลไทยฟีเวอร์’ กลับมาแล้วอย่างสมบูรณ์ เมื่อบัตรเข้าชมการแข่งขันระหว่างทีมช้างศึกกับทีมชาติเกาหลีใต้ ในการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกรอบสอง โซนเอเชีย นัดที่ 4 กลุ่ม C จำนวน 4.8 หมื่นใบถูกขายหมดเกลี้ยง จนถึงขั้นมี ‘ตั๋วผี’ มาจำหน่ายกันที่หน้าสนาม
แม้ผลการแข่งขันในวันนั้นจะไม่น่าอภิรมย์เสียเท่าไร หลังทีมนักฟุตบอลแดนโสมบุกมากำราบทีมชาติใต้ ภายใต้การกุมบังเหียนของกุนซือ มาซาทาดะ อิชิอิ (Masatada Ishii) ด้วยสกอร์ 0-3 แต่บรรยากาศของกองเชียร์โดยรวมยังคงคึกคัก ชวนยิ้มให้เหล่าแฟนฟุตบอลบอลชาวไทยยิ้มไม่หุบ ที่ได้เห็นศรัทธาบอลไทยกลับมาอีกครา
แต่ด้วยข้อดีที่ว่ากลับทำให้หลงลืมข้อเสียไปจนหมด โดยเฉพาะปัญหาของ ‘ราชมังคลากีฬาสถาน’ สังเวียนที่ใช้ดวลแข้งกันในวันนั้น แม้ภาพตามหน้าสื่อหรือที่ถ่ายทอดสดออกโทรทัศน์จะดูดี เพราะก่อนหน้าวันแข่งจริงราวสองอาทิตย์จะมีการปรับปรุงและดูแลพื้นหญ้าก็ตาม
เพราะรวมๆ แล้วระบบสาธารณูปโภคยังห่างจากคำว่า ‘ยอดเยี่ยม’ อยู่ไกลโข
2.
ว่ากันตั้งแต่ช่วง 15.00 น. แฟนบอลนับพันชีวิตต่างเข้ามาจับจองพื้นที่ในสนาม บ้างก็รวมกลุ่มกับกองเชียร์ขาประจำ ไม่ว่าจะเชียร์ไทยพาวเวอร์ ไทยแลนด์ฮาร์ดคอร์ และอุลตร้าไทยแลนด์ ที่ปักหลักประจำตามโซนต่างๆ เหตุผลส่วนใหญ่นอกเสียจากอยากเข้ามาซึมซับบรรยากาศ หรืออยากเข้ามาจับจองที่นั่งมุมดีในสนามก่อนคนอื่น ก็คงหนีไม่พ้นการหลีกเลี่ยงปัญหาจราจรติดขัด
ทว่าปัญหาแรกก็เกิดขึ้น เมื่อรอบๆ ของสนามราชมังฯ มีจุดพักคอยให้แฟนบอลไม่มากพอกับจำนวนคน ใครโชคดีมาก่อนอาจได้นั่งในเต็นท์ผ้าใบที่เจ้าหน้าที่ตั้งกางไว้ล่วงหน้า (แต่ก็ต้องนั่งพื้น) หรือดีหน่อยก็ได้พื้นที่นั่งบริเวณลานถ่ายทอดสดจอยักษ์หน้าสนาม ส่วนใครมาช้าก็ต้องกางร่มต้านแดดอุณหภูมิเกือบ 38 องศาเซลเซียส ที่ทำเอาเหงื่อแตก หน้ามืดไปตามๆ กัน
ทำให้ มาดามแป้ง-นวลพรรณ ล่ำซำ นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สั่งการเปิดช่องทางเข้าสนาม 15 ช่องทาง บริเวณ Main Entrance 2 ด้านสระว่ายน้ำ รวมถึงเพิ่มเจ้าหน้าที่ตรวจบัตรและสัมภาระ แฟนบอลจึงทยอยเข้าสนามได้ต่อเนื่องไม่ต้องยืนแออัดต่างจากที่ผ่านมา
3.
ปัญหาต่อมาที่เชื่อว่าคนดูในสนามหรือดูถ่ายทอดสดน่าจะต้องรู้สึก ‘เสียวไส้’ ไปตามๆ กัน นั่นคือจังหวะในนาทีที่ 41 เมื่อ นิโคลัส มิกเคลสัน (Nicholas Mickelson) นักฟุตบอลแบ็กขวาลูกครึ่งไทย-นอเวย์ เบียดแย่งบอลกับคิม มิน-แจ (Kim Min-jae) ผู้เล่นทีมเยือน กระทั่งเสียหลักตัวกระเด็นออกนอกสนาม ก่อนที่แขนขวาของมิกเคลสันจะไปขูดกับฝาตะแกรงท่อระบายน้ำข้างสนามจนเลือกตกยางออก
ย้อนกลับไปก่อนที่มิกเคลสันจะเจ็บตัวนั้น ในนาทีที่ 35 อี คัง-อิน (Lee Kang-in) ก็ได้รับบาดเจ็บจากฝาท่อที่ว่าในลักษณะคล้ายๆ กัน แต่โชคดีที่ซูเปอร์สตาร์จากทีมเปแอสเช (PSG: Paris Saint-Germain F.C.) จะไม่บาดเจ็บรุนแรงเท่ากรณีของมิกเคลสัน
หลังจบเกมมีการเปิดเผยว่า มิกเคลสันต้องเข้ารับการรักษาด้วยการเย็บแผลเก้าเข็ม แน่นอนว่าภาพที่ออกไปดูไม่ดีสักเท่าไรนัก ร้อนถึงมาดามแป้งต้องเร่งรีบหารือกับการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว
จริงอยู่ที่ก่อนเกมจะมีการทดสอบระบบระบายน้ำเป็นอย่างดี เพื่อไม่เกิดความเสียหายดังเกมอุ่นเครื่องระหว่างทีมทอตแนมฮอตสเปอร์ (Tottenham Hotspur) กับเลสเตอร์ ซิตี้ (Leicester City) ในปี 2566 ที่ต้องยกเลิกเนื่องจากฝนตกหนักจนน้ำท่วมสนาม และไม่อาจระบายน้ำทันเวลาแข่งขัน หรือการนำผ้าใบขนาดยักษ์มาปิดรอบๆ ลู่วิ่งในสนามราชมังฯ เพื่อให้ดูเป็นสนามฟุตบอลระดับโลกมากขึ้น เมื่อมองผ่านกล้องถ่ายทอดสด
ทว่าปัญหาอาการบาดเจ็บจากฝาท่อน่าจะพอสะท้อนได้ว่า นี่เป็นการแก้ปัญหาที่ยัง ‘ไม่มากพอ’ เพราะหากกวาดสายตาดูระบบระบายน้ำในสนามฟุตบอลระดับโลกล้วนเป็นระบบ ‘ระบายน้ำใต้พื้นสนาม’ และปรับพื้นข้างสนามให้มีความ ‘ลาดเอียง’ เพื่อลดแรงเสียดทานกรณีนักลื่นไถล
มาตรฐานสนามระดับนี้ไม่ต้องไปดูงานไกลถึงยุโรป เพราะเพื่อนบ้านอาเซียนอย่างมาเลเซียทำให้เห็นมาแล้ว กับสนามสุลต่าน อิบราฮิม สเตเดียม (Sultan Ibrahim Stadium) รังเหย้าของสโมสรยะโฮร์ ดารุล ทักซิม (Johor Darul Ta’zim)
4.
อีกปัญหาที่น่าอเนจอนาถใจไม่แพ้กัน คือ ‘ห้องน้ำ’ ที่สภาพไม่น่าใช้บริการอย่างยิ่ง ผู้เขียนเชื่อว่า ใครที่เคยไปดูการแข่งขันฟุตบอลหรือดูการแสดงคอนเสิร์ตน่าจะเคยประสบปัญห้องน้ำเจ้ากรรมนี้มาก่อน
พื้นกระเบื้องเต็มไปด้วยคราบดำ ชักโครกกดไม่ลง และอีกสารพัดปัญหาที่เอ่ยมาคงกินข้าวไม่ลง ถูกร้องเรียนเต็มหน้าโซเชียลฯ หลังจบการแข่งขันในวันนั้น
ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้อำนวยการกีฬาแห่งประเทศไทย ย้ำชัดว่าทราบถึงปัญหาด้านสุขภัณฑ์นี้เป็นอย่างดี ก่อนเกมมีการทำความสะอาดแล้ว แต่ในส่วนที่ชำรุดไม่สามารถใช้งานได้ จนแฟนบอลต้องยืนต่อคิวยาวเหยียดนับเป็นเหตุสุดวิสัย เพราะต้องรองบประมาณในส่วนนี้มาก่อน จึงมีการแก้ปัญหาด้วยนำรถห้องน้ำ 6 คันมาบริการ (ซึ่งก็ต้องเดินออกมาจากตัวสนามพอประมาณ)
เสริมอีกหน่อย คือจุดขายอาหารรองท้องและเครื่องดื่ม ที่ดูจะเป็นปัญหาชวนปวดหัวแทบทุกครั้ง โดยเฉพาะใครที่อยู่อัฒจันทร์ชั้นบน ที่ต้องเดินขาลากลงมาซื้ออาหารและต้องเดินกลับขึ้นไปอีก ซ้ำร้ายต้องมาเจอกับระบบจ่ายเงินออนไลน์ล่มเพราะผู้คนต่างยื้อแย่งสัญญาณอินเทอร์เน็ต
ที่สำคัญคือทางเดินขึ้นลง ไม่มีทางลาด ไม่มีลิฟต์ และถ้าหากแฟนบอลรายนั้นเป็นผู้พิการที่ใช้วีลแชร์จะทำอย่างไร
5.
สุดท้ายหลายคนน่าจะเดาออกกับปัญหาระดับชาติ กับปัญหา ‘การจราจร’ ที่ไปไกลกว่าคำว่าติด แต่น่าจะใช้คำว่า ‘นรกแตก’ เสียมากกว่า
อย่างที่รู้กันว่าการเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวมายังสนามราชมังฯ แทบจะเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น ทางออกที่ดีที่สุด คือ ‘ขนส่งสาธารณะ’
แต่ภาพที่ปรากฏออกมาตลอดหลาย 10 ปีนับครั้งไม่ถ้วน ทั้งที่เคยประสบเองและแชร์ต่อๆ กันมา คือปัญหารถติดหน้าสนามชนิดกว่าจะระบายแฟนบอลออกมาจนคนสุดท้าย ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ชั่วโมง
ขณะเดียวกัน ระบบขนส่งสาธารณะทั้งแอร์พอร์ตเรลลิงก์และรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (สถานีหัวหมากและสถานีรามคำแหง) ยังอยู่ห่างไกลจากตัวสนามหลายกิโลเมตร ทำให้ตัวเลือกลำดับต้นๆ หลังออกจากสนามจึงหนีไม่พ้นวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง รถตุ๊กตุ๊ก และรถตู้ ที่ผู้ประกอบการฉวยโอกาสขึ้นค่าบริการไม่ต่ำกว่าสองถึงสามเท่า หรือต่อให้เรียกรถบริการผ่านแอปพลิเคชันก็ไม่ต่างจากการชิงเก้าอี้ดนตรี
แวะกลับมาที่ระบบขนส่งสาธารณะยิ่งน่าปวดใจ เพราะความจริงแล้วรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งสร้างเสร็จแล้ว 100% ตั้งอยู่หน้าสนามราชมังฯ ทนโท่ แต่กลับใช้งานไม่ได้เพราะติดปัญหากรณีการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ถูกฟ้องร้องหลังเปลี่ยนเกณฑ์การประมูล ส่งผลให้การประมูลเดินรถยังไม่เกิดขึ้น และประชาชนอาจต้องรอใช้งานจริงในปี 2568
6.
ยังมีสารพันปัญหาอีกมากมายที่เกี่ยวโยงกับสนามราชมังฯ สนามที่ได้รับการยอมรับว่า ‘ดี’ และ ‘ใหญ่’ ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งเริ่มสร้างปี 2531 และเสร็จฉิวเฉียดในปี 2541 เพื่อใช้จัดการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 ที่กรุงเทพฯ เป็นเจ้าภาพ
จากวันนั้นจนถึงวันนี้ รวมแล้วเกือบ 30 ปี ที่สนามราชมังฯ ถูกใช้งาน ขณะที่การกีฬาแห่งประเทศไทยได้รับงบบำรุงสนามปีละไม่ต่ำกว่า 1,000-2,000 ล้านบาท ทว่าสภาพสนามอันดับหนึ่งของประเทศกลับไม่เป็นไปตามควร
เท่าที่ทราบมา การกีฬาแห่งประเทศไทยน่าจะได้งบประมาณ 5,000 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงสนามราชมังฯ รวมถึงพื้นที่โดยรอบที่มีอยู่ 250 ไร่เป็นการครั้งใหญ่ เพื่อเตรียมตัวเป็นเจ้าภาพการแข่งขันซี เกมส์ ที่จะมีขึ้นในปี 2568
หวังว่าการเปลี่ยนแปลงที่ว่า จะทำให้สนามราชมังฯ ยกระดับมาตรฐานตามที่ควรจะเป็น เพราะหากพิจารณาดูแปลนสนามดั้งเดิมดูจะไม่เอื้อต่อความต้องการของคนยุคปัจจุบัน ทั้งในแง่ของการจัดการแข่งขันกีฬาหรือการจัดคอนเสิร์ตระดับโลกก็ตาม
ไม่เช่นนั้น ราชมังฯ คงได้แต่ถูกปรับปรุงตามอัตภาพ หรือถ้าว่ากันตามตรงคือดูแลกันไปแบบ ‘ผักชีโรยหน้า’
Tags: Game On, ฟุตบอลทีมชาติไทย, Rajamangala National Stadium, ราชมังคลากีฬาสถาน, สนามกีฬา