ด้วยโลเกชั่นที่เป็นเนินสูงซึ่งอยู่ระหว่างภูเขาเชินมาซานและภูเขาอามิ มองจากหมู่บ้านลงไปเห็นอ่าวปูซานกว้างสุดลูกหูลูกตา และหากมองย้อนกลับมาจากฝั่งอ่าว จะเห็นหมู่บ้านบนเนินหลากสีสันวางตัวสลับสีไล่กันอยู่บนเนินเขา ทำให้ที่นี่ได้รับการขนานนามว่าเป็นซานโตรินีแห่งเกาหลี บ้างก็ถูกเรียกว่าเป็นมาชูปิกชูแห่งปูซาน ดังการขนานนามตามประวัติของหมู่บ้านที่ได้รับการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวของรัฐบาลเกาหลีใต้ ซึ่งจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ทางเข้าหมู่บ้านคัมชอน สถานที่ยอดนิยมอีกแห่งที่นักท่องเที่ยวหรือแม้แต่คนเกาหลีใต้เองมักเดินทางไปเยือน
แต่กว่าหมู่บ้านคัมชอนจะได้รับการพัฒนาจนกลายเป็นหมู่บ้านศิลปวัฒนธรรม เพื่อหลีกหนีจากการเป็นพื้นที่เสื่อมโทรมที่ใครๆ ต่างเบือนหน้าหนีในอดีต ก็ใช้เวลาอยู่นานเพื่อทำความเข้าใจกับชาวบ้าน ซึ่งไม่ได้เปิดรับการมาถึงของนักท่องเที่ยวตั้งแต่แรก
ย้อนกลับไปในอดีต หมู่บ้านแห่งนี้เคยเป็นที่พักพิงของผู้ลี้ภัยจากสงครามเกาหลี จากเดิมที่มีบ้านเรือนอยู่เพียง 20 หลัง เมื่อเกิดสงครามเกาหลีที่เริ่มต้นในปี 1950 ผู้ลี้ภัยที่มีฐานะยากจนจากทั่วประเทศได้อพยพเข้ามายังปูซานเพื่อความปลอดภัย โดยในปี 1951 นั้น มีจำนวนผู้ลี้ภัยเกือบครึ่งล้านที่เข้ามาอยู่รวมกับชาวปูซานซึ่งมีอยู่ราว 882,000 คน โดยผู้คนเหล่านั้นเดินทางมาพร้อมทรัพย์สินที่มีติดตัวเท่าที่จะเอามาได้ และปักหลักอยู่ในย่านโบซูดง ใกล้กับตลาดจากัลชิ ซึ่งเป็นตลาดปลาอันเลื่องชื่อของปูซานในปัจจุบัน จนทำให้พื้นที่บริเวณนั้นแออัดอย่างรวดเร็ว
ส่วนหมู่บ้านคัมชอนซึ่งอยู่ห่างจากย่านนั้นเพียงไม่กี่กิโลเมตร และยังเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ ก็ได้กลายเป็นแหล่งลี้ภัยตามไปด้วย เพิงผู้ลี้ภัยจำนวน 800 หลัง ถูกสร้างขึ้นในชั่วเวลาเพียงข้ามคืน มีลักษณะเป็นเพิงไม้ที่ยึดติดกับเนินเขา สร้างจากสังกะสี ไม้อัดและไม้กระดานเก่าๆ ใช้ก้อนหินทับไว้บนหลังคาสังกะสีเพื่อกันลมพัดหลังคาปลิว
การเปลี่ยนแปลงของหมู่บ้านแห่งนี้เกิดขึ้นโดยโชโชลแจ ผู้นำศาสนาแทกุกโด ศาสนาซึ่งแยกมาจากศาสนาจุงซานเมื่อปี 1981 และเคยเป็นศาสนาที่ถูกปราบปรามจากการยึดครองของญี่ปุ่นระหว่างปี 1910-1945 โชย้ายสำนักงานใหญ่ของแทกุกโดมาที่โบซูดงในปี 1948 และเริ่มต้นสอนศาสนาอีกครั้งที่นี่โดยมีชาวบ้านประมาณสามพันหลังคาเรือนเป็นสมาชิก เมื่อเกิดสงครามเกาหลี ผู้ลี้ภัยปักหลักอยู่ในพื้นที่โดยรอบของที่ตั้งสำนักงาน โชและลูกศิษย์ชักชวนผู้ลี้ภัยเข้านับถือศาสนาด้วยการบอกว่าจะแบ่งลูกอมและแปรงสีฟันหรือข้าวให้ ประจวบกับที่ผู้ลี้ภัยเองก็ต้องการสิ่งยึดเหนี่ยว ทำให้เพียงไม่นาน ศาสนาแทกุกโดมีผู้เข้าร่วมมากถึงร้อยละเก้าสิบของประชากรในคัมชอน และเขาได้ย้ายที่ตั้งสำนักงานมายังหมู่บ้านคัมชอนในปี 1995 และหมู่บ้านนี้ก็เป็นที่รู้จักในอีกชื่อหนึ่งว่าหมู่บ้านแทกุกโด
การรวมตัวของชาวบ้านทำให้การกินอยู่ของพวกเขาดีขึ้นในส่วนหนึ่ง จากเพิงที่พักเริ่มเปลี่ยนหน้าตามาเป็นบ้านสองชั้นในช่วงปลายทศวรรษ 1990 แต่แม้จะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในบางส่วน ก็ยังยากที่จะเรียกได้ว่าพวกเขาหลุดพ้นจากความยากจน และคัมชอนก็ยังเปรียบได้กับการเป็นหมู่บ้านสลัมบนเนินเขา และไม่มีใครอยากมาอาศัยอยู่ที่นี่
ด้วยภูมิประเทศที่เหมาะแก่การพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว ทำให้กระทรวงวัฒนธรรม การกีฬา และการท่องเที่ยวของเกาหลีใต้ มองเห็นโอกาสในการบูรณะหมู่บ้านคัมชอน รัฐบาลเปิดตัวโครงการ ‘Dreaming of Busan Machu Picchu’ เมื่อปี 2009 วางเป้าหมายที่จะพัฒนาหมู่บ้านนี้เป็นชุมชนสร้างสรรค์ที่ดำเนินการโดยชาวบ้านในหมู่บ้าน ศิลปิน และสำนักปกครองส่วนท้องถิ่น ว่าจ้างศิลปินมาวาดภาพบนกำแพง และโครงการที่สองที่ชื่อว่า ‘Miro Miro’ ก็เริ่มขึ้นอีกไม่นานหลังจากนั้น บ้านจำนวนหกหลัง และอีกหกตรอกซอกซอย ถูกเปลี่ยนเป็นแกลเลอรีขนาดย่อม วาดลูกศรบนกำแพงบ้านเป็นไกด์นำทางเดินให้กับนักท่องเที่ยว ที่จะต้องเดินลัดเลาะเหมือนอยู่ในเขาวงกต เพื่อนำทางไปสู่แกลเลอรีและจุดสำคัญต่างๆ ที่วางเอาไว้ ปัจจุบันสร้างกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวได้มีส่วนร่วม ด้วยการตามล่าตราประทับให้ครบตามจุดประทับตราที่กำหนด แม้จะต้องเดินขึ้นลงเนินที่บางช่วงเป็นเพียงทางเดินแคบๆ แต่นั่นก็เป็นการท้าทายและล่อใจให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับคัมชอนได้อย่างใกล้ชิดแทบจะทุกซอกมุม
ในช่วงต้นนั้นชาวบ้านยังไม่ให้การยอมรับไอเดียนี้ เพราะยังมองไม่เห็นภาพและยังไม่เข้าใจเหตุผลและความหมายของการเป็นหมู่บ้านศิลปะ พวกเขาบอกว่าคัมชอนไม่มีอะไรให้นักท่องเที่ยวดู และพวกเขาก็ไม่อยากเป็นเหมือนสัตว์ในสวนสัตว์ ที่มีคนเข้ามาถ่ายรูป
หากเหตุผลนี้จะทำให้โครงการเปลี่ยนหมู่บ้านเป็นเมืองศิลปะไม่ได้ไปต่อ คัมชอนอาจยังไม่มีชื่อเป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยว ข่าวการเป็นหมู่บ้านศิลปะบนเนินเขาที่มีวิวทะเลและหมู่บ้านสลับสีเป็นข้อได้เปรียบ เริ่มแพร่กระจายออกไปยังสื่อต่างๆ เสน่ห์ของหมู่บ้านคัมชอนดึงดูดให้ผู้คนเข้ามามากขึ้น รวมถึงกองถ่ายภาพยนตร์ เครื่องมือสร้างเศรษฐกิจชาติของเกาหลีใต้ ที่ใช้โลเกชั่นในหมู่บ้านเป็นฉาก ทั้งเรื่อง ‘Hero’, ‘Geu-nyo-ay-gae’, ‘Superstar Kam Sa-young’ และ ‘Camelia’ คือจุดถ่ายรูปของแฟนหนังที่คลั่งไคล้ ขณะที่จำนวนแกลเลอรีและผลงานของศิลปินก็มีเพิ่มมากขึ้นจากเดิมทั้งติดตั้งถาวรและหมุนเวียน และยังมีศิลปินในพำนักที่เปิดบ้านให้ผู้มาเยือนได้ร่วมทำเวิร์กช็อปในบางคราว
เมื่อเดินเข้าไปยังหมู่บ้านนี้ตามเส้นทางทั้งสามเส้นที่กำหนดให้นักท่องเที่ยวเดิน จะเห็นได้ว่าบ้านแต่ละหลังไม่ได้มีการสร้างใหม่หรือตกแต่งให้ทันสมัย แต่ในความเก่าคร่าของสีบนตัวบ้านที่เรียงตัวกันเป็นบล็อกเลโก้ กลับเป็นเสน่ห์ที่ไม่มีที่ไหนในเกาหลีใต้มีเหมือน เพราะแนวทางการพัฒนาไม่ได้มุ่งให้สร้างใหม่ แต่เลือกที่จะฟื้นฟูและรักษาเสน่ห์เหล่านี้เอาไว้มากกว่า
ร้านกาแฟสองชั้นที่มีจุดชมวิวสวยสุดบนดาดฟ้า ดูแลกิจการโดยคุณป้าวัยกว่าหกสิบที่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้แต่ก็พยายามที่จะสื่อสาร ร้านอาหารท้องถิ่นที่เราต้องผ่านบันไดทางขึ้นแคบๆ ซึ่งวางตุ๊กตาประดับเพื่อไปบ้านหลังที่เปิดเป็นร้านอาหารซึ่งอยู่ด้านบน ผลงานของศิลปินหมุนเวียนที่อยู่ในแกลเลอรีซึ่งแทรกตัวอยู่ในหมู่บ้าน ระหว่างทางเดินเส้นหลักจะเห็นประติมากรรมเจ้าชายน้อยกับสุนัขจิ้งจอกจากวรรณกรรมของอองตวน เดอ แซงแตก-ซูเปรี ซึ่งนั่งเหม่อมองไปยังอ่าวเบื้องหน้า โดยมีแถวยาวเหยียดของนักท่องเที่ยวที่ต่อคิวรอเพื่อถ่ายรูปคู่ ก่อนจะแยกย้ายกันออกเดินไปตามหมู่บ้านเขาวงกตเพื่อพิชิตภารกิจตามล่าตราประทับบนสามเส้นทาง เหล่านี้เป็นเพียงส่วนเสี้ยวเล็กๆ ของหมู่บ้านที่สะท้อนความร่วมสมัยที่แทรกอยู่กลางความดั้งเดิม
ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวที่มากขึ้นและสร้างตัวเลขทางเศรษฐกิจให้หมู่บ้านแห่งนี้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยไม่เข้าไปรื้อลบประวัติศาสตร์ของหมู่บ้านออกไป ทำให้หมู่บ้านคัมชอน หรือ Gamcheon Culture Village ได้รับรางวัล ‘UN-HABITAT Asian Townscape Award’ จากองค์การสหประชาชาติ ในปี 2012 และยังได้รับรางวัล ‘Culture Excellence Award’ จากกระทรวงวัฒนธรรม การกีฬา และการท่องเที่ยว ของประเทศเกาหลีใต้ในปีเดียวกัน ล่าสุดในปี 2018 หมู่บ้านศิลปะแห่งนี้ยังได้รับรางวัล ‘International Award UCLG – Mexico City – Culture 21’ รางวัลระดับนานาชาติที่มอบให้กับบุคคลหรือเมืองที่มีส่วนในการสนับสนุนวัฒนธรรมและความยั่งยืนด้วย
Tags: เกาหลีใต้, หมู่บ้านคัมชอน