คำกล่าวที่ว่า มีแต่เศรษฐีที่เอาเศษเงินมาถลุงเล่นกับทีวีดิจิทัลเห็นจะเป็นจริง ยิ่งในสมัยที่มีผู้ประกอบการล้นตลาดถึงกว่า 22 ช่อง จึงทำให้ตลอด 5 ปีที่ผ่านมามีทีวีดิจิทัลหลายช่องเจ็บหนัก และยังไม่นับว่าคนรุ่นใหม่เริ่มหันไปเสพสื่อผ่านช่องทางอื่นๆ และดูทีวีน้อยลงไปเรื่อยๆ

ภาวะกำไรที่ร่อแร่ของทีวีดิจิทัลหลายต่อหลายช่อง ทำให้ตลอดปีที่ผ่านมามีกระแสข่าวต่อเนื่องเรียกร้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจพิเศษ พลิกเปลี่ยนกฎหมายให้มาช่วยอุ้มผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล

กระทั่งในที่สุด เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา คสช. ก็ใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2562 ออกมาตรการมาเยียวยาผู้ประกอบการ โดยงดเว้นไม่ต้องจ่ายเงินประมูลงวดที่ 5 และงวดที่ 6 ซึ่งเป็นสองงวดสุดท้าย อีกทั้งยังไม่ต้องจ่ายเงินค่าเช่าโครงข่าย (MUX) และยังให้สามารถคืนคลื่นทีวีดิจิทัลได้ แถมยังจะให้เงินชดเชยเยียวยาด้วย โดยกำหนดว่า ผู้ประกอบการที่ต้องการคืนใบอนุญาต จะต้องคืนภายในเวลา 16.30 น. ของวันที่ 10 พฤษภาคม 2562 นี้

สูตรคำนวณเงินชดเชย กำไรในอดีตก็เอามาหักออก

กสทช.กำหนดวิธีคำนวณค่าชดเชยเอาไว้ โดยให้นำค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่ชำระไปแล้ว (จนถึงงวดที่ 4 ของปีนี้) คูณด้วยอายุใบอนุญาตในส่วนที่ไม่ได้ใช้งานคลื่นความถี่ หารด้วยอายุใบอนุญาตทั้งหมด (15 ปี) จากนั้นนำมาหักลบผลประโยชน์ที่จะได้รับในระหว่างประกอบกิจการ ได้แก่ เงินสนับสนุนค่าเช่าโครงข่าย (MUX) ที่ กสทช.จ่ายให้ตามคำสั่ง คสช. 9/2561 และค่าใช้จ่ายในการส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมตามเกณฑ์ Must Carry ตามคำสั่ง คสช. ที่ 76/2559 ตั้งแต่วันที่ได้รับการสนับสนุน จนถึงวันยุติการให้บริการ

ที่สำคัญคือ ในกรณีที่ได้กำไรแล้วแต่ก็ยังต้องการจะคืนคลื่น ก็ต้องหักลบผลประกอบการที่ได้กำไรตั้งแต่เปิดให้บริการจนถึง 11 เมษายน 2562 ด้วย เหลือเท่าไรก็จะเป็นเงินเหลือสุทธิที่ กสทช. จะจ่ายคืนให้ภายใน 60 วันนับแต่วันยุติการให้บริการ ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ว่าจากสูตรคำนวณนี้ ผู้ให้บริการจำนวนหนึ่งอาจจะต้องจ่ายเพิ่มด้วย

ย้อนดูรายได้-กำไร ทีวีดิจิทัล

ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ที่เปิดเผยงบการเงินปี 2560 พบว่า ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่ปัจจุบันมีเหลืออยู่ 22 ช่องนั้น มีจำนวน 5 ช่องที่ได้กำไร นั่นคือ เวิร์คพอยท์ เอ็นเตอร์เทนเมนต์ ที่ได้กำไร 1.7 พันล้าน ตามมาด้วยช่อง 7 ที่จำนวน 1.5 พันล้าน และช่องโมโน 29 ซึ่งได้กำไร 90 ล้าน และเครือแกรมมี่ที่มีดิจิทัลทีวีอยู่ 2 ช่อง ได้กำไร 66 ล้านบาท

แต่สถานการณ์ในภาพรวมของอีก 17 ช่องนั้น ส่วนใหญ่ขาดทุนในหลักร้อยล้าน นั่นคือ อสมท ซึ่งมีทีวีดิจิทัล 2 ช่อง ขาดทุนไป 2.5 พันล้านบาท ช่องพีพีทีวีขาดทุนไป 2 พันล้านบาท และช่อง NOW ของเครือเนชั่นก็ขาดทุนไป 1.2 พันล้านบาท

เมื่อดูรายได้ที่เข้ามาในทีวีดิจิทัลแต่ละช่อง ก็พบว่า กลุ่มฟรีทีวีดั้งเดิม สามารถหารายได้ได้สูงกว่าผู้เล่นรายใหม่ โดยช่องที่ทำรายได้ได้มากที่สุดคือช่อง 7 ที่มีรายได้ถึง 5.7 พันล้านบาท ตามมาด้วยช่อง อสมท ที่มีรายได้ 2.7 พันล้านบาท และช่อง 3 ซึ่งมีทีวีดิจิทัลรวม 3 ช่องสามารถทำรายได้ไป 2.4 ล้านบาท

จับตาตลาดดิจิทัลทีวี หรือระบบนิเวศสื่อทีวีจะเปลี่ยนอีกครั้ง

ขณะที่บทเรียนของการประมูลคลื่นทีวีดิจิทัล ที่ทั้ง กสทช. และผู้ประกอบการดูจะประเมินสถานการณ์ในช่วงแรกกันผิดไป จึงทำให้มีจำนวนช่องมากเกินกว่าความต้องการของคนดู อีกทั้งยังส่งผลให้ราคาประมูลพุ่งสูงสุดที่ 3.5 พันล้านบาทต่อหนึ่งช่อง จนเมื่อ คสช.เปิดให้ทีวีดิจิทัลช่องต่างๆ สามารถคืนคลื่นได้ ก็มีความเป็นไปได้ว่าอาจมีช่องทีวีราว 3 – 7 ช่องที่กำลังตัดสินใจทบทวนเรื่องนี้

แต่ก็มีหลายช่องยังลังเล เพราะการที่ กสทช. งดเว้นให้ไม่ต้องจ่ายเงินประมูลอีกสองงวดที่เหลือ ก็เท่ากับว่าตัดต้นทุนก้อนโตของการประกอบกิจการ อีกทั้งในขวบปีที่ 5 นี้ ทีวีหลายช่องก็ประกอบกิจการจนถึงจุดคุ้มทุนแล้วด้วย

สำหรับเงินประมูลทีวีดิจิทัลที่งดเว้นไปสองงวดนั้น จะทำให้รัฐสูญรายได้ไป 13,622 ล้านบาท และเงินค่า MUX ที่ยกเว้นการเก็บค่าเช่าโครงข่ายจากผู้ประกอบการ โดย กสทช.จะจ่ายให้กองทัพบกและ อสมท แทนนั้น คิดรวมเป็นเงินปีละ 1,960 ล้านบาท

เมื่อดูที่ตัวเลขการใช้งบโฆษณาลงไปที่สื่อต่างๆ ในประเทศไทยนั้น ปรากฏว่าสื่อทีวีเป็นสื่อที่กินส่วนแบ่งตลาดเม็ดเงินโฆษณาไปถึง 64.97% หรือคิดเป็นปีละ 1.5 หมื่นล้านบาท ทิ้งช่วงห่างจากสื่อลำดับรองลงมา อย่างภาพยนตร์ และสื่อเอาท์ดอร์ ที่มีเม็ดเงินโฆษณาประเภทละ 1.6 พันล้านบาท ตามมาด้วยหนังสือพิมพ์และวิทยุที่มีเม็ดเงินโฆษณาปีละ 1 พันล้านบาท ขณะที่สื่อออนไลน์มีเม็ดเงินที่ราว 350 ล้านบาท (ข้อมูลจากสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย)

Tags: , , , ,