ปังตอหนักแปดขีด

ข้าพเจ้ากรีดไปมาบนตัวเป็ด

ไร้กฎเกณฑ์และไร้กลเม็ด

เคล็ดลับเคยมี เป็นอดีต

แทบมิมีใดกำหนดในทรงจำ

ผลักกระทำตามภาวะของคมมีด

ซ้ายกระชาก ขณะขวาสับ, กรายกรีด

มีช่องขีดระยะหว่างสองมือ

ซ้ายไม่กระทบขวา ขวาไม่กระทบซ้าย

สองฝ่ายประสานประคองถือ

ล้วนได้จากกระทำและฝึกปรือ

นักทฤษฎีเพียงเห็นหรือจะเข้าใจ

ปังตอข้าพเจ้าหนักแปดขีด

เป็ดย่างทุกตัวสยบใต้

หลอมรุนแรงเข้ากับละมุนละไม

ปรากฏในทุกสับกรีด คมปังตอ.

เพลงปังตอ หนึ่งในบทกวีของ ไม้หนึ่ง ก.กุนที ที่ผมชื่นชอบมากที่สุด เพราะเป็นบทที่อ่านแล้วสะท้อน ‘ตัวตน’ ของไม้หนึ่งได้อย่างแจ่มชัด 

ภาพชายหนุ่มเหงื่อโซมกายยืนอยู่หน้าเขียง มือกระชับปังตอค่อยๆ บรรจงเฉือนคมมีดลงบนตัวเป็ดอย่างคล่องแคล่วพลิ้วไหว ประหนึ่งจอมยุทธ์ร่ายรำกวัดแกว่งกระบี่

รู้กันดีว่ากวีหนุ่มชาวอัมพวาผู้นี้ เคยเป็นพ่อค้าขายข้าวหน้าเป็ด ไม่ว่าจะร้านวันสตาร์ เป็ดย่างราชวัตร, Duck Poet’s Society ถนนพระอาทิตย์ หรือโรงอาหาร มหาวิทยาลัยศิลปากร ทับแก้ว เนิ่นนานเป็นเวลาหลายสิบปีที่ต้องตื่นแต่เช้ามืดมานั่งย่าง เลาะ สับเป็ด ยามว่างก็วางปังตอ หยิบปากกากระดาษมาเขียนบทกวี นี่คือโลกสองใบที่ซ้อนทับกันในวัยหนุ่มของเขา

‘กวีสัมมาอาชีวะ’ คือคำที่ไม้หนึ่งนิยามตัวเอง หมายถึงการเขียนบทกวีไปพร้อมๆ กับใช้แรงงานออกเหงื่อประกอบอาชีพขายเป็ดย่างไปด้วย เหมือนที่เขาเคยพูดหลายครั้งว่า การใช้สมองโดยไม่ออกแรง ไม่นับเป็นปัญญาชน

ก่อนหน้านี้ ไม้หนึ่ง ก.กุนที มีผลงานหนังสือรวมบทกวีนิพนธ์เพียง 3 เล่มเท่านั้น ได้แก่ บางเราในนคร (2541), รูปทรง มวลสาร พลังงาน และความรัก (2544), สถาบันสถาปนาประชาชน (2553) ทั้งที่ในความเป็นจริงเขามีผลงานมากกว่านั้นหลายเท่าเพียงแต่ไม่ได้รวบรวมจัดพิมพ์ 

กระทั่งปี 2562 เพื่อนสนิทอย่าง วรพจน์ พันธุ์พงศ์ และธิติ มีแต้ม ช่วยกันรื้อค้นผลงานเก่าๆ ในสมุดบันทึกตั้งแต่แรกเริ่มเขียนสมัยเรียนอยู่ทับแก้ว พลิกหาบทกวีที่เคยลงในมติชนสุดสัปดาห์ ซึ่งเขาเขียนต่อเนื่องมานานนับสิบปี รวมถึงอีกมากมายที่กระจัดกระจายอยู่ตามคลิปวิดีโอและเฟซบุ๊กซึ่งไม่เคยถูกตีพิมพ์มาก่อน เมื่อรวมกับผลงานทั้ง 3 เล่มข้างต้น จึงกลายมาเป็นหนังสือรวมบทกวีชื่อ กวีราษฎร (2562) ถือเป็นผลงานที่ใกล้เคียงกับคำว่า ‘สมบูรณ์ที่สุด’ ของไม้หนึ่งเลยก็ว่าได้

หนังสือสีขาวสะอาด หนากว่าห้าร้อยหน้า บนปกเป็นภาพลายเส้นของไม้หนึ่งที่ดูเคร่งขรึมคลาสสิก ฝีมือการวาดของสุมาลี เอกชนนิยม พร้อมประทับตัวอักษร ‘กวีราษฎร’ ไว้อย่างโดดเด่น ภายใต้การออกแบบของ Wrongdesign ได้นักเขียนรุ่นพี่จากแดนไกลอย่าง วัฒน์ วรรลยางกูร มาเขียนคำนิยมให้ และกิตติพงศ์ สนธิสัมพันธ์ ทำหน้าที่พิสูจน์อักษร

ความรู้สึกขณะอ่าน ‘กวีราษฎร’ ไม่ต่างจากย้อนเวลากลับไปสำรวจดูช่วงชีวิตแต่ละช่วงของไม้หนึ่ง ก.กุนที เริ่มตั้งแต่บทกวีที่เขาเขียนสมัยเรียนอยู่ทับแก้ว ว่าด้วยชีวิตคนหนุ่ม หญิงสาว ความรักความเสน่หา ธรรมชาติ จนถึงปรัชญาความคิดอันตกผลึกจากสภาวะภายใน-ภายนอก ขออนุญาตหยิบบทกวีบทหนึ่งที่ผมชอบมาให้ชม

วิญญาณที่เยาว์วัย

อ่อนไหวต่อทุกโลกสัมผัส

ยึดมั่นในความไม่แจ่มชัด

กอดกระหวัดอยู่กับรักและชัง

อุบัติช้ากว่าหลายชีวะ

แสวงรู้สัจจะในกรงขัง

ดื่มกินโลกเพื่อสะสมพลัง

บ้างเสาะประตูกรงเพื่อพังทลาย

ระหว่างทางเปิดประตูโลก

เราเปียกโชกท่องท่ามธารแสนสาย

มิถึงพุทธิภาวะอย่างเดียวดาย

ก็จะว่ายอีกมิรู้กี่สายธาร

ต่อกันด้วย บางเราในนคร รวมบทกวีนิพนธ์เล่มแรกที่สร้างชื่อเสียงให้กับไม้หนึ่ง เขาปลดปล่อยตัวตนออกมาอย่างไม่ออมมือ สด ห้าว พลุ่งพล่านร้อนแรง ขณะเดียวกันก็เท่ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนใคร บทที่ผมประทับใจมีชื่อว่า ในคะเน

 

มากกว่าที่เธอคิด

เพราะชีวิตช่างลี้ลับ

แค่อารมณ์ที่เกิดดับ

ก็ยากนับและจดจ่อ

 

มากกว่าที่เธอคิด

ความศักดิ์สิทธิ์ เสียงหัวร่อ

เถิดลองเฝ้านิ่งรอ

ดักจับได้จะรู้ขลัง

 

มากกว่าที่เธอคิด

ความเป็นมิตรและความหวัง

ท่ามกลางการผุพัง

เค้า คือบางดอกไม้บาน

 

มากกว่าที่เธอคิด

ในชีวิตที่กรำกร้าน

ดิ่งไปกับการงาน

นั่นแหละ บ้านของชีวี

 

มากกว่าที่เธอคิด

หลาก ลึก ของชีวิตนี้

ไม่ง่ายนะ ที่เดือนปี

จะกระทบให้บุบสลาย

ขณะที่ รูปทรง มวลสาร พลังงาน และความรัก ไม้หนึ่งได้แรงบันดาลใจจากหนังสือที่อ่าน เพลงที่ฟัง หนังที่ดู เกร็ดน่ารู้ของหลากหลายบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ และนี่คือบทที่ชื่อ Boy Don’t Cry

 

พลังงานของชายหนุ่ม

บรรจุคุมในรูปทรงของหญิงสาว

เขาอยู่อย่างปวดร้าว

เหน็บหนาวกว่าธรรมดา

ความเคยชินที่คับแคบ

ก่อทารุณโหดร้ายในขั้นกว่า

แค่ไม่คุ้นก็ถูกฆ่า

อยู่บนโลกที่เป็นหยาง

ร้องไห้เถิดไอ้หนุ่ม

หลั่งน้ำตาเปียกชุ่มเอ่อชะล้าง

ซึมชื้นมวลธาตุกระด้าง

ไม่เปื่อยยุ่ยเพียงอ่อนโยน

ร้องไห้เถิดไอ้หนุ่ม

ปรับความนุ่มให้แก่โลกสักหน

เตือนผู้คนเหลียวไปค้น

ธาตุเคมีที่ซ่อนในน้ำตา

ส่วน ลูกชาย เป็นช่วงที่สัมผัสได้ถึงความอ่อนโยน หวานละมุน นิ่งขึ้น สงบขึ้น เป็นผู้ใหญ่ขึ้น ยามบรรยายถึงความสัมพันธ์อันอบอุ่นงดงามของเขากับลูกชายคนแรกที่เพิ่งลืมตาดูโลก ดังบทที่ชื่อว่า คิ้วขมวดในรอยยิ้ม

 

จะกอดมันยังไงให้สมรัก

ตัวยังน้อยนักไอ้เนื้่อหอม

หัวค่ำนี้ยุงริ้นไรจะไต่ตอม

ต้องโอบไว้ในอ้อมอกป้องกัน

จะเลี้ยงมันยังไงให้สมคิด

ค่อยเติบโตทีละนิดแต่ละขั้น

เข็มกิโลกระดิกขีดแต่ละวัน

บางครั้งใจพ่อแม่นั้นก็กังวล

จะรักมันยังไงให้สมเหตุ

ไม่ให้เกินขอบเขตขัดแย้งผล

เกรงว่าตามใจเกินจะเสียคน

เพราะอาจเผลอเปรอปรนมากเกินไป

จะสอนมันยังไงให้สมตัว

ระหว่างดีและชั่วรู้เคลื่อนไหว

ในแข็งกร้าว และอ่อนนุ่มละมุนละไม

รู้จักโลกธรรมเป็นไปใช้ชีวิต

เอาอีกบทแล้วกัน บทนี้ชื่อว่า ‘เซนบทน้อย’

 

ลูกยิ้มให้เป็นอะไรที่…

สิ่งดีดีอันมิอาจบรรยายได้

ภาษาเสียงและอักษรอ่อนละลาย

ตาถึงใจ ไม่ต้องแปลความหมายพลัน

ลูกยิ้มให้เป็นอะไรที่…

ยืนยันมี การคงอยู่ของสวรรค์

สมบัติทิพย์ประจักษ์โดยปัจจุบัน

ชั่วขณะ… ดับทุกข์อันตรธาน

ลูกยิ้มให้เป็นอะไรที่…

เศษเสี้ยววินาทีมหาศาล

ความรวดเร็วเป็นหนึ่งเดียวกับเนิ่นนาน

จักรวาลเล็กและใหญ่… เช่นนี้เอง

ลูกยิ้มให้เป็นอะไรที่…

พระรังสีนิรนามฉานฉายเปล่ง

ในความเงียบก็สามารถยินเสียงเพลง

ใสบรรเลงล่องลอยจากรอยยิ้ม

ส่วนสุดท้ายของหนังสือคือ สถาปนาสถาบันประชาชน รวมบทกวีที่ถูกผลิตขึ้นในห้วงยามที่ไม้หนึ่งต้องลี้ภัยการเมืองไปทัศนศึกษายังต่างประเทศ 

วันที่หนังสือวางแผง กวีผู้นี้ไม่ได้อยู่ชื่นชมผลงานของตัวเองด้วยซ้ำ ไม่เหมือนกับกวีคนอื่นๆ ที่สามารถเดินสายแจกลายเซ็นให้กับคนอ่านได้ 

ที่น่าตลกร้ายกว่านั้นคือ หนังสือเล่มนี้ขายไม่ได้อยู่นาน 3 ปี สุดท้ายกลายเป็นหนังสือแจกเป็นที่ระลึกในงานศพของตัวเขาเอง จำนวน 1,000 เล่ม หมดเกลี้ยงในเวลาอันรวดเร็ว

ธิติ มีแต้ม บรรณาธิการเล่ม อธิบายว่า สถาปนาสถาบันประชาชน เป็นผลงานของไม้หนึ่งหลังจากออกมาเปิดเผยตัวชัดเจนในฐานะ ‘กวีเสื้อแดง’ โดยรวบรวมบทกวีที่เขาเขียนขึ้นตั้งแต่รัฐประหาร ปี 2549 เรื่อยมาถึงเหตุการณ์ล้อมปราบคนเสื้อแเดงช่วงเดือนพฤษภาคม ปี 2553 ว่าด้วยการต่อสู้ทางชนชั้น การเรียกร้องประชาธิปไตยของคนเสื้อแดง และเป้าหมายสูงสุดของสามัญชน นั่นคือทำให้คนเท่ากัน เรียกได้ว่าเข้มข้น ราวกับต้องการจะประกาศแนวคิดทางการเมืองผ่านบทกวี 

ขอยกตัวอย่างบทที่ชื่อ หญ้าแพรกอมตะ

 

บูชาครูเสรีชน

คนเช่น จิ้น กรรมาชน

และพี่น้องมวลประชา

ทุกผู้กล้า ใส่เสื้อแดง

 

บูชาการลุกตื่น

เงยหน้าขึ้นเผชิญแสง

ฟ้าพิษเทพเสแสร้ง

สูบน้ำแล้ง ดินยากจน

 

บูชาคนธรรมดา

ก้าวหน้าเดินเต็มถนน

กองทัพของผู้ทุกข์ทน

สู้ปิ่นโจรปล้นแผ่นดิน

 

บูชาพันธุ์หญ้าแพรก

ช้างเหยียบแหลกไม่เคยสิ้น

ขยายคลุมธรณินทร์

เกิดและกินอย่างซื่อตรง

 

บูชาคนตาสว่าง

แจ้งกระจ่าง เลิกลุ่มหลง

รู้สิทธิ์ คนมั่นคง

ไม่ใช่ผงใต้ฝ่าตีน

 

รบเถิดสามัญชน

ไม่จำนนผู้โหดหีน

ปราสาทสูงร่วมกันปีน

หักยอดปิ่นมงกุฎโจร !!!

23 เมษายน 2557 หรือวันนี้เมื่อ 7 ปีที่แล้ว ไม้หนึ่ง ก.กุนที ถูกยิงตายอย่างอุกอาจกลางลานจอดรถร้านครกไม้ไทยลาว ย่านลาดปลาเค้า กรุงเทพฯ

แม้จะเกิดขึ้นกลางวันแสกๆ มีกล้องวงจรปิดแทบทุกตรอกซอกซอย รูปพรรณสัณฐานคนร้าย รายละเอียดของรถที่ใช้ก่อเหตุก็มีมากพอให้ตำรวจสืบสวนแกะรอยได้ไม่ยาก 

แต่ถึงวันนี้ คดียังไม่มีความคืบหน้าแม้แต่น้อย ฆาตกรยังคงลอยนวล ความอยุติธรรมของบ้านเมืองนี้ยังคงทำหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยม และเชื่อว่าอาจเป็นเช่นนี้ไปจนหมดอายุความ

Fact Box

ผู้ที่สนใจหนังสือรวมบทกวีนิพนธ์ กวีราษฎร ของ ไม้หนึ่ง ก.กุนที สามารถสั่งซื้อได้ที่เฟซบุ๊ก กวีราษฎร 

Tags: , ,