สองพี่น้องกัลลาเกอร์กลับมาทัวร์คอนเสิร์ตในนาม Oasis

คนไทยมีโอกาสได้ดูวงอิเล็กทรอนิกส์อย่าง AIR สดๆ ในกรุงเทพฯ

หรือในฟากฝั่งไทยเองก็มีเพลงจากค่าย Bakery Music ถูกนำมาเรียบเรียงใหม่ใน Back To The Bakery Vol.2

จากทั้ง 3 เหตุการณ์ จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ความโหยหาดนตรีในอดีตกำลังเป็นที่นิยมอีกครั้ง ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะกลุ่มผู้ฟังที่โตมากับเพลงจากยุคเหล่านี้ ปัจจุบันล้วนอายุปาเข้าไปเลขหลัก 3 มีความมั่นคงในชีวิตและกำลังทรัพย์ จึงให้ความสนใจและพร้อมจ่ายทุกครั้ง หากมีศิลปินที่โตมาด้วยกันตัดสินใจรียูเนียน 

ความน่าสนใจของเรื่องนี้คือ แม้ปัจจุบันเราจะมีวงดนตรีคุณภาพหน้าใหม่มากมายเกิดขึ้นมา แต่กลุ่มที่อายุ 30 ปีขึ้นไป กลับไม่ได้ให้ความสนใจเท่าที่ควรนัก 

ตัวผู้เขียนเองนั้นก็อยู่ในวัยที่เตรียมตัวเข้าเลข 30 เช่นกัน ซึ่งเมื่อสำรวจเรื่องการฟังเพลงตัวเอง ก็ยังได้ผลลัพธ์ตามสมมติฐานที่ตั้งเอาไว้ว่า ตัวเองนั้นไม่ได้สนใจหรือเสาะหาวงดนตรีใหม่ๆ ฟังแล้ว อีกทั้งยังมักจะเลือกฟังเพลงที่โตมาด้วยกันในช่วงวัยรุ่นเสียเป็นส่วนใหญ่ (18-24 ปี)

ภูมิจิต, Desktop Error, Whal & Dolph ไล่มาจนถึง Hyukoh, Boy Pablo และ Adoy เหล่านี้เป็นวงที่โตมากับผู้เขียนในช่วงเวลาก่อนหน้า ซึ่งในปัจจุบันแม้ผู้เขียนจะไม่ได้โหยหาการไปดูคอนเสิร์ต หรือตามฟังเพลงใหม่ๆ เท่าไรนัก แต่ก็ยังคงรู้สึกตื่นเต้นทุกครั้ง หากวงเหล่านี้ปล่อยเพลงใหม่ หรือประกาศทัวร์คอนเสิร์ตอีกครั้ง 

แม้รสนิยมจะเป็นเรื่องนานาจิตตัง แต่เรื่องนี้กลับมาวิจัยที่ระบุแล้วว่า คนส่วนใหญ่มักจะเลิกฟังเพลงใหม่ๆ เมื่อเข้าช่วงอายุ 30 ปีจริงๆ ซึ่งการสำรวจพฤติกรรมของผู้ใช้งาน Spotify ในปี 2015 ที่อ้างอิงใน New York Times ระบุว่า ส่วนใหญ่แล้วเพลงที่เราฟังในช่วงอายุระหว่าง 13-16 ปี มีความสำคัญต่อรสนิยมทางดนตรีของเราในอนาคต อีกทั้งเมื่อถึงอายุ 24 ปีเป็นต้นไป การค้นหาดนตรีใหม่ๆ ของผู้ฟังจะลดลง และจะหมดความสนใจในดนตรีใหม่ๆ ในช่วงอายุ 30 ปีต้นๆ จนกลายเป็นคนที่ชอบฟังเพลงเก่าๆ ไปโดยปริยาย 

อีกทั้งบริษัทด้านการวิจัย อย่าง YouGov ยังเผยว่า ในการสำรวจความคิดเห็นกับผู้ฟังชาวอังกฤษ มักจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เพลงที่พวกเขาเติบโตมาด้วยในช่วงวัยรุ่นนั้น มักจะดีกว่าเพลงในปัจจุบันอยู่เสมอ

เรื่องนี้ แดเนียล พารีส (Daniel Parris) ที่ปรึกษาด้านข้อมูล (Data Analytics Consulting) อธิบายถึงเรื่องนี้เอาไว้ว่า สาเหตุที่ผู้คนมักจะเลิกฟังเพลงใหม่ๆ เมื่อเข้าสู่ช่วงอายุ 30 ปีหรือวัยผู้ใหญ่นั้น เหตุผลที่สำคัญที่สุดคือ ดนตรีไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุดในชีวิตอีกต่อไป

ในอดีตรสนิยมการฟังเพลงเป็นเหมือนสิ่งที่ช่วยระบุตัวตน เป็นเครื่องมือในการเข้าสังคมของกลุ่มวัยรุ่นที่มองหาคนที่มีความชอบคล้ายคลึงกัน แต่เมื่ออายุมากขึ้น กลุ่มสังคมรอบตัวจึงได้เปลี่ยนไป จากความชอบทางดนตรี อาจกลายเป็นเรื่องหน้าที่การงาน หรือเป้าหมายอื่นๆ ด้านความมั่นคงของชีวิตมากกว่า 

จึงทำให้กลุ่มคนในช่วงวัยกลางคนนั้น จึงไม่มีเหตุผลที่จะเสาะหาเพลงใหม่ๆ อีกต่อไป ในเมื่อบทเพลงที่เขาเติบโตมาก็ยังเป็น ‘เซฟโซน’ เป็นพื้นที่ฮีลใจ คอยเยียวยาในวันที่เขาโหยหาเสียงดนตรีได้ 

จากคำอธิบายของแดเนียล แม้จะฟังดูเป็นเรื่องน่าใจหาย เมื่อสิ่งที่เคยสำคัญกับชีวิตวัยรุ่นอย่างดนตรีมากๆ วันหนึ่งเป็นเพียงแค่ส่วนประกอบเล็กๆ ของชีวิตไม่ได้มีสลักสำคัญอะไรขนาดนั้น 

แต่อย่างไรก็ตามในวันนี้ผู้เขียนก็ยังเชื่อว่า ดนตรีมันก็ยังมีหน้าที่ต่อจิตวิญญาณของมนุษย์อยู่ ถึงแม้เราวันนี้จะไม่ได้รู้สึกอินไปกับเพลงใหม่ๆ ของวงดนตรีรุ่นน้อง รุ่นลูกอีกต่อไป แต่ทุกครั้งที่เราเกิดความรู้สึกต่างๆ ทั้งสุข เศร้า เหงา ทุกข์ เพลงในอดีตที่เราเคยรัก ก็สามารถเป็นเพื่อนคู่ใจได้อยู่เสมอ ไม่ว่าจะอายุ 20 30 40 หรือ 50 ปีก็ตาม 

‘เพราะในเพลงที่เรารัก มักจะบันทึกความเป็นส่วนตัวบางอย่างของเราไว้เสมอ’ ผู้เขียนมองว่าเรื่องนี้ทำให้สิ่งที่เรียกว่า ดนตรี มีความเป็นอมตะ ที่แม้จะผ่านมาแล้วกี่สิบปี ทุกครั้งที่เราย้อนกลับไปฟังเพลงเหล่านี้ ก็จะชวนให้นึกถึงบรรยากาศของ พ.ศ. นั้นว่า เราเป็นใคร รู้สึกอย่างไรอยู่ กลายเป็นความนอสตาเจีย (Nostalgia) ที่หลายคนเสพติด จนต้องหวนกลับไปฟังเพลงในอดีตอยู่บ่อยครั้ง 

ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์นี้ หากไม่ได้มีกิจกรรมอันเร่งรีบใดๆ ผู้เขียนอยากชวนผู้อ่านกลับรำลึกถึงเพลงเรารักในวัยคะนอง จำได้ไหมว่า ใครที่เป็นศิลปินหรือไอดอลคนแรกในดวงใจ เพลงไหนที่ใช้จีบคนที่รัก หรือเพลงเศร้าใดที่อยู่เป็นเพื่อนในวันที่เปลี่ยวเหงา 

ลองเริ่มเปิดฟังกันดู นับตั้งแต่ตอนนี้เลย

ที่มา:

https://www.hypebot.com/hypebot/2023/03/study-shows-why-we-stop-discovering-new-music-as-we-get-older

https://www.theguardian.com/music/2022/aug/16/bring-that-beat-back-why-are-people-in-their-30s-giving-up-on-music

Tags: , , , , , ,