“มีใครก็ไม่รู้เคยกล่าวไว้ว่า ‘การกระทำสำคัญกว่าคำพูด’ แต่ในหลายเหตุการณ์ คำพูดสวยหรูก็มาให้เห็นก่อนการลงมือทำจริง”
ในการสัมภาษณ์งาน การพรีเซนต์โปรเจ็กต์ที่วางแผนจะทำ การลงสมัครตำแหน่งทางการเมือง หรือการให้คำมั่นสัญญาว่าจะเป็นคนที่ดีในความสัมพันธ์ สิ่งสำคัญที่มีร่วมกันของเรื่องเหล่านี้คือ ‘การพูด’ พูดอย่างไรให้ได้งาน พูดอย่างไรให้ลูกค้าเทใจซื้อโปรเจ็กต์ พูดอย่างไรก็ได้ที่ทำให้ประชาชนยอมรับและลงคะแนนเสียงให้ และพูดอย่างไรให้คนรักเชื่อใจ ทั้งหมดคือการสร้างความไว้วางใจจากการพูด
เป็นเรื่องปกติที่สังคมส่วนใหญ่จะต้องพรีเซนต์ก่อนว่าเราคือใคร เรามาจากไหน เรามีดีอะไร เราคิดจะทำอะไรหลังจากนี้ การพูดคือการเล่าเรื่องราวคร่าวๆ ถึงอดีตและแผนในอนาคต จึงทำให้เราได้เห็นคลาสสอนการพูดอย่างไรให้ภูมิฐาน พูดอย่างไรให้น่าเชื่อถือ พูดอย่างไรให้ดูพอดี แต่ในหลายครั้ง เรามักจะได้เห็นคนพูดเก่งที่พูดไปเรื่อยโดยที่อะไรก็เบรกเขาไว้ไม่อยู่เช่นกัน
อาการพูดไปเรื่อย พูดเกินจริง หรือการแสดงบางสิ่งเพื่อให้คนในสังคมไว้ใจให้การยอมรับ เกิดจากปัจจัยร่วมหลายอย่างด้วยกัน บางครั้งก็เกิดขึ้นจากความมั่นใจในตัวเอง ทว่าบางรายก็เกิดขึ้นเพราะไม่มั่นใจในความรู้ความสามารถของตัวเองได้เหมือนกัน และใน From The Desk ครั้งนี้ เราได้รวบรวมตัวอย่างอาการ ‘ความโม้’ ที่เกิดขึ้นในสังคม มาให้ทุกคนได้ร่วมพิจารณาว่าคนที่เรารู้จัก รวมถึงตัวเราเอง อาจเข้าข่ายอาการโอ้อวดแบบนี้ไม่มากก็น้อย
เพราะคิดว่ายิ่งใหญ่จึง ‘โอหังคลั่งอำนาจ’
งานวิจัยจำนวนมากของเหล่านักจิตวิทยา เคยจำแนกเรื่องการโอ้อวดไว้สองประเภทใหญ่ๆ คือ การหลงตัวเองแบบเปราะบาง (Vulnerable Narcissist) นิยามถึงบุคคลที่มีความกังวล อ่อนไหวกับคำวิจารณ์มากกว่าคนทั่วไป และพยายามหาวิธีปกป้องตัวเองด้วยการโอ้อวดสิ่งที่ตนมี (หรือไม่มีก็ได้) กับอีกประเภทหนึ่งคือ การโอ้อวดแบบยกตนข่มท่าน (Grandiose narcissist) นิยามถึงบุคคลที่มีความมั่นใจในตัวเองสูง ชื่นชมตัวเอง รู้สึกจริงๆ ว่าตนมีดีเหนือกว่าคนอื่นๆ ซึ่ง Grandiose Narcissist นั้นมีความคล้ายคลึงกับอาการ โอหังคลั่งอำนาจ (Hubris Syndrome) อยู่มากพอดู
เดวิด โอเวน (David Owen) นายแพทย์ผู้เป็นอดีตนักการเมืองชาวอังกฤษจากพรรคแรงงาน ที่ออกจากพรรคใหญ่มาตั้งพรรค Social Democratic (SDP) เป็นของตัวเอง เคยนิยามถึงความบ้าคลั่งในการใช้อำนาจของคนที่มีอำนาจว่ามีส่วนหล่อหลอมมาจากความหลงตัวจากอำนาจที่มีอยู่ในมือ ยิ่งอยู่ในอำนาจนานเท่าไร ความหลงตัวนี้ก็ทำให้เกิดความโอหังคลั่งอำนาจมากขึ้นเท่านั้น
ในฐานะที่เป็นนักการเมือง เดวิด โอเวน ได้ยกตัวอย่างบุคคลที่มีบุคลิกโอหังคลั่งอำนาจเอาไว้คร่าวๆ เช่น เดวิด ลอยด์ จอร์จ (David Lloyd George) นายกรัฐมนตรีอังกฤษช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 มาร์กาเรต แทตเชอร์ (Margaret Thatcher) นายกฯ หญิงคนแรกของอังกฤษ หรือ โทนี แบลร์ (Tony Blair) นายกฯ อังกฤษระหว่างปี 1997-2007 รวมถึงเหล่าผู้นำของสหรัฐอเมริกา เช่น จอร์จ ดับเบิลยู. บุช (George W. Bush) ซึ่งจุดร่วมของคนเหล่านี้คือการเป็นผู้นำประเทศ เป็นผู้กุมอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ที่มีความมั่นใจในตัวเองสูงตามอำนาจที่มีอยู่ในมือ
ในวงการแพทย์ยังไม่ได้ระบุอาการโอหังคลั่งอำนาจไว้ในลิสต์อาการทางจิตอย่างเป็นทางการ แต่เมื่อพูดถึง Hubris Syndrome ในเวลานี้กลายเป็นภาพจำที่คนในแวดวงการแพทย์กับคนทั่วไปจะเห็นภาพร่วมกันว่ากำลังหมายถึงอะไร และ เดวิด โอเวน ยังกล่าวอีกว่า โรคโอหังคลั่งอำนาจในตัวบุคคลนั้นๆ จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับความเข้าอกเข้าใจผู้อื่นที่ลดน้อยลง ฟังความคิดเห็นคนอื่นน้อยลง เพราะมั่นใจในตัวเองมากกว่าจะรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น ปิดกั้นการรับรู้ข้อมูลมากขึ้น ก่อนตบท้ายว่าตัวเขาเองก็มีอาการของความโอหังคลั่งอำนาจอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน
ไม่ใช่ว่าผู้นำทุกคนที่โอ้อวดจะล้มเหลวเลวทรามไปเสียหมด จากรายชื่อผู้นำหลายคนที่ เดวิด โอเวน ได้ร่ายมา ส่วนใหญ่ก็มีผลงานรูปธรรมที่จับต้องได้จริง ในแง่ของผู้ที่ขึ้นสู่อำนาจ แต่ไม่มีความสามารถในการทำผลงานที่ดีเยี่ยมได้ ความโอหังคลั่งอำนาจจะทำคนที่อยู่ในตำแหน่งสูงๆ พยายามพิสูจน์ตัวเองว่าเหมาะสมและทำงานหนัก ทว่างานส่วนใหญ่ของบุคคลที่มีอาการโอหังคลั่งอำนาจและไม่ได้มีความสามารถที่แท้จริง มักสร้างปัญหามากกว่าสร้างคุณประโยชน์ให้บริษัทหรือส่วนร่วม
หากมองกลับมายังการเมืองไทย ในญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีรายบุคคลตามมาตรา 151 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ที่เกิดขึ้นในวันที่ 31 สิงหาคม ถึงวันที่ 3 กันยายน 2564 มีการระบุพฤติการณ์เรื่องที่จะอภิปรายฯ ไว้ว่า นายกฯ กับเหล่ารัฐมนตรีทั้ง 5 คน เข้าข่าย ‘โอหังคลั่งอำนาจ’
“เป็นบุคคลที่ไร้ภูมิปัญญา ไร้องค์ความรู้ ไร้จิตสำนึกรับผิดชอบ ไร้คุณธรรมจริยธรรมและไร้ความสามารถที่จะเป็นหัวหน้ารัฐบาล ผู้นำประเทศ ทำให้การบริหารราชการแผ่นดินเกิดความล้มเหลว ผิดพลาดบกพร่องเสียหายอย่างร้ายแรงทุกด้าน ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ทั้งในภาวะปกติและในภาวะวิกฤติ โดยเฉพาะในยามที่บ้านเมืองต้องประสบกับปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 …”
“พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และพวกพ้อง ไม่ยึดประโยชน์ของประเทศและประชาชนโดยส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ใจดำ ทรยศต่อความไว้วางใจของประชาชน ไม่เห็นใจในความทุกข์ยากของพี่น้องประชาชน จากความโอหังและการเสพติด ในอำนาจของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา จนทำให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ในสภาพของคนเป็นโรค โอหังคลั่งอำนาจ (Hubris Syndrome) ไม่อยู่ในภาวะที่จะเป็นผู้นำประเทศได้อีกต่อไป”
“หากปล่อยให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา บริหารราชการแผ่นดินต่อไปจะทำให้ประชาชนติดเชื้อและเสียชีวิตมากยิ่งขึ้นจนไม่สามารถที่จะหาสถานที่ฌาปนกิจได้ทันและเพียงพอ ไม่มีหนทางที่จะหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ ประชาชนจะต้องทนทุกข์ทรมาน ทั้งจากโรคและการดำรงชีวิต บ้านเมืองจะไร้ซึ่งความสงบสุขร่มเย็น อันจะนำมาซึ่งความหายนะ ของประเทศชาติอย่างแท้จริงตามที่มีการกล่าวกันว่า ‘ผู้นำโง่ เราจะตายกันหมด’ เพราะคนโง่ คือ ภัยอันตรายร้ายแรงเมื่อได้กลายเป็นผู้มีอำนาจ”
การอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้ของฝ่ายค้าน ทำให้คนไทยจำนวนมากรู้จักถึงนิยามของคำว่า ‘โอหังคลั่งอำนาจ’ ได้ชัดเจนยิ่งขึ้นกว่าเก่า แม้จะรู้สึกว่าเราอยู่กับความคลั่งนี้มานานกว่า 7 ปีแล้วก็ตาม
เพราะอยากมั่นใจ โหยหาการยอมรับ เลยโอ้อวดประกาศศักดา?
อีกหนึ่งความโอ้อวดที่พบบ่อยนอกจากอาการโอหังคลั่งอำนาจหรือโอ้อวดแบบยกตนข่มท่านคือ การอวดภูมิ อวดความสามารถ อวดความมั่งคั่งร่ำรวย เพื่อให้ทุกคนได้รับรู้ว่าเรานั้นมีดีอย่างไร การอวดที่ว่ามีทั้งการอวดตรงๆ เหมือนกับอาการโอหังคลั่งอำนาจ กับอวดแบบอ้อมๆ ทั้งในชีวิตจริงและการโพสต์ในโซเชียลมีเดีย
การโอ้อวดแบบตรงๆ นับว่ามีความหมายตรงตัวและเข้าใจง่ายที่สุดแล้ว บางรายอวดสิ่งที่ตัวเองมี (สิ่งที่ตัวเองไม่มีแต่หลอกตัวเองว่ามีก็ได้) เช่น การอวดฐานะทางสังคม การอวดการศึกษา การอวดปณิธานที่ตัวเองยึดมั่นเชื่อถือ การอวดอ้างว่าตนเป็นญาติกับบุคคลที่มีความสำคัญในระดับบริษัท ระดับประเทศ หรือระดับโลก การอวดพวกนี้จะสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้พูด เพราะบุคคลนั้นๆ จะคิดว่าสิ่งที่เอ่ยออกไปนั้นสร้างความน่าเชื่อถือ ยกระดับตัวเองในสายตาของผู้ฟังได้ไม่มากก็น้อย
นอกจากการอวยฐานะ ความรู้ ความร่ำรวย ในสังคมไทยและสังคมโลกยังมีการอวดอ้าง ‘ความดี’ ที่ยากจะจับต้องหรือตัดสินได้อย่างเด็ดขาด เช่น ป้าข้างบ้านของใครสักคนมักบอกตัวเองว่าชื่นชอบการเข้าวัดเข้าวา ชอบทำบุญ พยายามฝึกจิตให้ใจสะอาด ขณะเดียวกันป้าข้างบ้านคนนั้นอาจเป็นนายหน้าค้ามนุษย์ คลุกคลีอยู่ในวงการผิดกฎหมาย บางคนแจ้งความจับคนอื่นที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยไม่ผิดกฎหมาย และอ้างว่าทำเพราะความดี บางเหตุการณ์เกิดการทุบตีคนอื่นโดยชี้แจงว่าทำเพราะความจงรักภักดี การอวดอ้างความดีเหล่านี้มีส่วนเพื่อต้องการยืนยันว่าตัวเองนั้นเป็นแบบอย่างที่ดีของสังคม
ส่วนการโอ้อวดแบบอ้อมๆ มักเรียกกันว่า ‘Humblebrag’ เป็นการผสมคำว่า humble (ถ่อมตน) กับ brag (โอ้อวด) จึงกลายเป็นการนิยามถึงบุคคลที่พูด ‘อวดให้เหมือนไม่อวด’ คล้ายกับการแสร้งถ่อมตน แต่ทุกคำพูดอัดแน่นด้วยการบอกว่าตัวเองนั้นมีดีมากแค่ไหน
โอวัล เซซาส (Ovul Sezer) นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา เคยเขียนบทความเรื่องการแสดงถ่อมตนเพื่อโอ้อวดลงวารสาร Harvard Business Review ที่ถือเป็นการพูดรูปแบบหนึ่งที่มักมาพร้อมกับการบ่น บ่นชีวิต บ่นงาน บ่นถึงความสัมพันธ์ บอกเล่าชีวิตที่ตัวเองคิดว่าดีผ่านวาทศิลป์ที่แสดงถึงความต้อยต่ำ
ในคลาสเรียนวิชาหนึ่งของนักศึกษาคนหนึ่ง มีเพื่อนที่ตอบคำถามอาจารย์ได้ตลอด ควิซทีไรก็ได้คะแนนสูงที่สุดตลอด และเมื่อถึงการสอบปลายภาค เพื่อนคนนั้นจะบอกกับทุกคนว่าตนอ่านหนังสือได้ไม่ครบ บ้างก็บอกว่าแทบจะไม่ได้อ่าน เขียนข้อสอบได้ไม่ดีแน่ๆ แต่สุดท้ายก็ได้คะแนนสูงทุกครั้ง และเมื่อคะแนนออกก็จะบอกกับทุกคนว่าเป็นเพราะโชคช่วยเสียมากกว่า แบบนี้ก็เข้าข่ายการแสร้งถ่อมตน
อาการที่ว่ามาทั้งหมดนี้ถือเป็น Humblebrag ในขั้นพอรับได้ ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ใคร สร้างแต่เพียงความรู้สึกแปลกๆ สร้างความรำคาญใจให้กับผู้ฟังเท่านั้น ซึ่งการพยายามโอ้อวดด้วยการแสร้งถ่อมตนนั้นส่งผลเสียกับผู้พูดมากกว่าผลดี คล้ายกับทฤษฎีบูมเมอแรง ที่คำพูดแสดงความต้อยต่ำหรือการบ่นแบบเสแสร้งจะย้อนกลับมาสู่ตัวเอง และการโอ้อวดไม่ว่าจะในรูปแบบไหน ควรให้คนอื่นเป็นคนเอ่ยชมน่าจะดีที่สุด ไม่ใช่การชิงอวดตัวเองก่อน
ทำไมมนุษย์ถึงชอบโอ้อวด?
ในบทความ ทำไมเราชอบอวดชีวิตในโซเชียล? มีการกล่าวถึงวัฒนธรรมการอวดของมนุษย์ที่มีมาอย่างยาวนานก่อนจะมีโซเชียลมีเดีย
“การอวด คือ การแสดงให้เห็นว่าตัวเองดีกว่าผู้อื่น เช่น การแสดงให้เห็นถึงพละกำลัง เป็นกลยุทธ์อย่างหนึ่งของสัตว์สังคมเพื่อส่งสัญญาณบอกสมาชิกตัวอื่นในกลุ่มว่าตนเองมีของดี คู่ควรต่อการได้เลื่อนชั้นไปสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น ได้เป็นจ่าฝูงในกลุ่ม เพราะตำแหน่งที่ทรงอิทธิพลนี้ มาพร้อมกับรางวัลชีวิต 2 อย่างที่เป็นเป้าหมายของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด คือ อาหาร กับ การสืบพันธุ์
“ถอยกลับไป 300 ปีก่อน ในยุคที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ต ในประเทศฝรั่งเศส ช็อกโกแลตถือเป็นขนมหายาก ราคาแพง เป็นของสำหรับชนชั้นสูง ดังนั้นคนจึงนิยมเสิร์ฟและรับประทานช็อกโกแลตในงานสังคม เพื่อแสดงให้แขกเห็นถึงความมั่งมีของตน
“ตัวอย่างเหล่านี้เป็นหลักฐานชัดเจนว่า ‘การอวด’ ไม่ใช่พฤติกรรมแปลกใหม่ที่พึ่งเกิดขึ้นมาในยุคโซเชียลมีเดีย แต่เป็นอุปนิสัยโดยธรรมชาติของสัตว์สังคม ทำให้นักวิทยาศาสตร์ตั้งข้อสังเกตว่า พฤติกรรมรักการอวดน่าจะต้องมีความสำคัญและประโยชน์อะไรบางอย่าง จึงได้ถูกคัดเลือกมาเป็นกลไกที่ฝังอยู่ในสมองของสัตว์สังคม”
ในแง่การอวดว่าตนนั้นมีดีอย่างไร มีนักจิตวิทยาบางรายมองว่าความอวดนั้นมีข้อดีอยู่เช่นกัน งานวิจัยจากมหาวิทยาลัย Free University of Bozen-Bolzano ในประเทศอิตาลี โดย ด็อกเตอร์ เปาลา โรเวลลี (Paola Rovelli) และ ด็อกเตอร์ คามิลลา เคอร์นิส (Camilla Curnis) ที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Leadership Quarterly ระบุว่า บุคคลที่มีบุคลิกหลงตัวเองอย่างเห็นได้ชัด มักมีแนวโน้มก้าวหน้าทางอาชีพมากกว่าเพื่อนร่วมงานในระดับเดียวกัน
ผลการวิจัยดังกล่าวอ้างอิงจากการศึกษาบุคลิกของผู้บริหารระดับสูง ประธานบริษัทและเจ้าขององค์กรในอิตาลีกว่า 172 คน พบว่าบุคคลเหล่านี้มีบุคลิกร่วมกัน 5 อย่าง คือ การนับถือตัวเอง ความมั่นใจที่มากล้น ความกระตือรือร้นในการเข้าสังคม การวางตัวเหนือกว่า และความคิดที่เป็นเผด็จการ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มักแสดงออกมาในระหว่างการทำงาน ความมั่นใจ การมีอัตตา ทำให้ผู้ใหญ่หรือบอร์ดบริหารมักมองว่าบุคคลที่มีบุคลิกเหล่านี้จะสามารถทำงานที่รับมอบหมายได้อย่างดีเยี่ยม ซึ่งบุคลิกที่ออกมานั้นไม่สามารถการันตีได้เลยว่า บุคคลเหล่านั้นจะมีความสามารถจริงตามที่คิดหรือไม่
นักวิจัยทั้งสองคนได้แสดงความกังวลต่อผลงานวิจัยของตัวเองเช่นกัน พวกเขามองว่าบุคลิกการหลงตัวเองไม่ใช่เรื่องดี ยิ่งบริษัทใดมีผู้บริหารหรือผู้อยู่ในตำแหน่งระดับสูงที่หลงตัวเองมากๆ จะส่งผลลบให้แก่องค์กรนั้นมากขึ้นไปอีก ความมั่นใจอาจทำให้ผู้ที่อยู่ในตำแหน่งสูงกล้าจะทำเรื่องที่เลวร้าย เช่น การใช้อำนาจโดยมิชอบกับผู้ใต้บังคับบัญชา การยักยอกเงิน การคอร์รัปชัน หรือการกระทำใดๆ ที่ผิดกฎหมายเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน เพราะคนที่มั่นใจจะคิดว่าคงไม่มีใครจับได้ไล่ทัน
รายการ TED ในปี 2019 ของ โจเซฟ กอร์ดอน-เลวิตต์ (Joseph Gordon-Levitt) เคยพูดเรื่อง ‘ความกระหายการเป็นที่สนใจ ทำให้ความคิดสร้างสรรค์ลดลง’ โจเซฟมองว่า เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ คือส่วนสำคัญทำให้การได้รับความสนใจทรงพลังยิ่งขึ้น การเสพติดแสงสีที่ได้รับ อาจอนุมานได้ว่าเหมือนกับคนที่ติดบุหรี่ ติดเหล้า หรือเสพติดสิ่งอื่นๆ เพราะการเสพติดหมายถึงการต้องการสิ่งนั้นมากขึ้น
การเป็นจุดสนใจย่อมมีสิ่งที่ต้องแลก เพราะยิ่งไล่ตามแสงสปอตไลต์ที่สาดส่องมากเท่าไร ยิ่งมีความสุขมากขึ้นเมื่อได้รับความสนใจ จะเริ่มรู้สึกกระหายแสงที่ว่ามากขึ้น และจะสติแตกหากไม่ได้รับความสนใจที่มากพอ
อ้างอิง
คำกล่าวเปิดญัตติ โดย ผู้นำฝ่ายค้านสภาผู้แทนราษฎร ขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมาตรีเป็นรายบุคคล
https://themomentum.co/happy-self-help-socialmedia-show/
http://www.daedalustrust.com/about-hubris/the-14-symptoms-in-full/
https://www.sciencedirect.com/journal/the-leadership-quarterly/vol/32/issue/3
Tags: ตรีนุช อิงคุทานนท์, From The Desk, โรคโอหังคลั่งอำนาจ, ความขี้อวด