“น้ำจะท่วมที่ดินทำกินของเราทั้งหมด หยุดสร้างเขื่อนปากแบง”
บนนถนนชนบทในตำบลม่วงยาย อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย คับคั่งไปด้วยชาวบ้านทั้งหญิงชายกำลังยืนถือป้ายผ้า แสดงข้อความคัดค้านโครงการเขื่อนปากแบง โดยมีฉากหลังเป็นแปลงเกษตรขนาดใหญ่ ที่เต็มไปด้วยโคลนสีแดงอิฐกับส้มโอยืนต้นตาย
‘เขื่อนปากแบง’ ที่ถูกเขียนอยู่บนป้ายผ้า คือชื่อโครงการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่กลางแม่น้ำโขงในเขตเมืองปากแบง แขวงอุดมไชย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เพื่อผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำส่งขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมถือหุ้นโดยรัฐวิสาหกิจของสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างบริษัท ไชน่า ต้าถัง โอเวอร์ซี อินเวสต์เมนต์ จำกัด ในสัดส่วนร้อยละ 51 และบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) บริษัทเอกชนสัญชาติไทย ในสัดส่วนร้อยละ 49
97 กิโลเมตรลงไปทางทิศใต้คือ ระยะห่างจากแก่งผาได อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย ลัดเลาะไปตามลำน้ำโขงจนถึงจุดที่จะสร้างเขื่อนปากแบง ขณะที่ทางทิศเหนือนับจากสามเหลี่ยมทองคำ อำเภอเชียงแสน ในจังหวัดเชียงรายขึ้นไปอีก 340 กิโลเมตร เป็นจุดที่ตั้งของเขื่อนจิ่งหง (Jinghong Dam) ในเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ประเทศจีน
ปัจจุบันเขื่อนจิ่งหงเป็นผู้ระบายน้ำเหนือเขื่อนลงสู่แม่น้ำโขง และหากเขื่อนปากแบงสร้างเสร็จและเริ่มใช้งานจะมีการกักเก็บน้ำได้ถึง 340 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง และมีจังหวัดเชียงรายตั้งอยู่ตรงกลางระหว่าง 2 เขื่อนนี้
ปี 2559 เขื่อนปากแบงเข้าสู่กระบวนการ ‘แจ้ง’ การปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง ท่ามกลางความพยายามจากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะชาวบ้านพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำโขงใน 8 จังหวัดและภาคประชาสังคม ที่ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่จะมาพร้อมกับโครงการ ทั้งกรณีน้ำเท้อท่วมพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของชาวบ้านอำเภอเวียงแก่น อำเภอเชียงของ และอำเภอเชียงแสน จากการกักเก็บน้ำเหนือเขื่อนปากแบง การสูญเสียดินแดนจากน้ำท่วม และระบบนิเวศริมแม่น้ำที่อาจเปลี่ยนแปลงไป จึงเรียกร้องให้บริษัทเจ้าของโครงการเขื่อนปากแบง ศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดนตลอด 2 ฝั่งแม่น้ำก่อนเดินหน้าโครงการ
ล่วงเลยมาแล้ว 8 ปี นับตั้งแต่โครงการเข้าสู่กระบวนการแจ้งปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง กับคำถามที่ว่า เชียงรายจะน้ำท่วมบริเวณไหน การก่อสร้างเขื่อนจะทำให้เสียดินแดนจริงหรือไม่ รวมทั้งข้อกังวลที่ว่าระบบนิเวศของแม่น้ำที่อาจพังทลายไป เหล่านี้ยังไม่ได้ข้อสรุปและคำตอบที่ชัดเจนจากเจ้าของโครงการ
อย่างไรก็ดี แม้ยังไม่มีข้อสรุปผลกระทบข้ามพรมแดนใดๆ แต่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้เดินหน้าลงนามบันทึกความเข้าใจ การรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนปากแบงเป็นเวลากว่า 29 ปี เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2566 ภายหลังบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เข้ามาถือหุ้นโครงการดังกล่าวเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2565 โดยเป็นสัญญาซื้อไฟฟ้าแบบ Take or Pay ที่แม้ชาวไทยไม่ได้ใช้ไฟฟ้า แต่รัฐยังคงต้องจ่ายค่าการผลิตไฟฟ้าให้แก่โรงงาน
หากโครงการปากแบงสร้างเสร็จ ปฏิเสธไม่ได้ว่า เชียงรายจะกลายเป็น ‘เมืองกลางเขื่อน’ ที่ถูกเขื่อนห้อมล้อมทั้งทางตอนเหนือและทางตอนใต้ของแม่น้ำโขง ในปัจจุบันชาวบ้านในพื้นที่ลุ่มนี้ยังคงจินตนาการไม่ออกว่า สิ่งที่พวกเขาจะต้องเผชิญหากการก่อสร้างเขื่อนรุดหน้าจนเปิดใช้งานมีอะไรรออยู่กันแน่ เพราะยังไร้ข้อเท็จจริงด้านผลกระทบจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับอภิมหาโปรเจกต์มาให้ข้อมูล
ส้มโอบนผืนดินรกร้าง
แดดร่มลมตกปลายเดือนกันยายน อาจทำให้ใครหลายคนรู้สึกเย็นสบายเมื่อมองออกไปนอกกระจกรถ ทว่าเมื่อเปิดประตูนำตัวสัมผัสบรรยากาศด้านนอกกลับร้อนผ่าวและอบอ้าว จนทำให้เหงื่อโชกตัวอย่างรวดเร็ว
ณ บ้านม่วงยาย ยังไร้วี่แววของกลุ่มเมฆฝนในวันนี้ นั่นจึงเป็นเวลาเหมาะสมที่เกษตรกรจะเข้าสวนส้มโอ ตรวจดูผลผลิตที่เพียรดูแลมานานหลายเดือน แต่ความจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น บน ถนนที่ห้อมล้อมด้วยสวนส้มโอนั้นเงียบเหงา ไร้ความเคลื่อนไหวของชาวสวน ขณะแปลงดินที่เคยเขียวขจีจากใบส้มโอกลับกลายเป็นผืนดินโคลนสีน้ำตาล มองดูแปลกตา
บริเวณท้ายถนนมี มาลี นาระต๊ะ เกษตรกรปลูกส้มโอวัย 54 ปี ยืนชิดไหล่ทาง ลงจากไหล่ถนนเป็นสวนส้มโอราว 13 ไร่ ซึ่งทราบในภายหลังว่า เธอเป็นเจ้าของสวน
“สวนส้มโอสวนนี้เป็นของเราเอง โดยปกติเราจะเก็บผลผลิตได้ปีละหน ปีหนึ่งน่าจะได้เงินสักแสนกว่าบาท แต่ปีนี้ก็เหมือนจะได้แสนเหมือนกันนะ แต่เป็นแสนสาหัส”
คำว่าแสนสาหัสที่มาลีพูด แม้เป็นเพียงการพูดหยอกล้อ แต่กลับซ่อนความจริงแสนเจ็บปวด เพราะหากกวาดตามองไปยังสวนของเธอจะพบว่า ส้มโอที่ปลูกเรียงแถวตอนลึกมีสภาพยืนต้นตายเกือบทั้งหมด ภายหลังจากน้ำในแม่น้ำโขงและลำน้ำงาวเอ่อเข้าท่วมสวนของเธอ ตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และกินเวลายาวนานนับเดือน
อันที่จริงแล้ว เกษตรกรสวนส้มโอในอำเภอเวียงแก่นมีความคุ้นชินกับน้ำท่วมเป็นอย่างดี เช่นเดียวกับมาลีที่สวนส้มโอของเธอมักเผชิญกับน้ำท่วมอยู่บ่อยครั้ง แต่มวลน้ำที่ไหลจากเขาลงสู่แม่น้ำงาวโดยปกติจะไหลลงสู่แม่น้ำโขงอย่างรวดเร็ว ดังนั้นจึงมีผลกระทบกับเรือกสวนไม่มาก
“ปกติน้ำจะท่วมสวนของเราไม่นาน พอมาปีนี้น้ำท่วมแช่นานที่สุดตั้งแต่เคยเจอมา แล้วก็ท่วมตั้ง 3 รอบ อย่างรอบล่าสุดนี้ท่วมนานถึง 2 สัปดาห์ ระดับน้ำสูงจนมิดยอดของต้นส้มโอเลย พอจังหวะแม่น้ำงาวกำลังจะลงแล้ว ก็มีน้ำก้อนใหม่ไหลเท้อกลับขึ้นมาอีก เพราะแม่น้ำโขงหนุนกลับเข้ามาที่สวนของเรา ตอนนี้น้ำก็ยังไหลออกจากสวนของเราไม่หมดเลย”
ข้อมูลอุทกวิทยาแม่น้ำโขง กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชี้ว่า เขื่อนจิ่งหงในมณฑลยูนนาน มีการระบายน้ำเหนือเขื่อนลงสู่แม่น้ำโขงโดยขยับการระบายน้ำจาก 1,320 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2567 เป็น 2,460 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2567 ซึ่งเป็นระดับการระบายน้ำสูงสุดของเขื่อนในช่วงเวลานั้น และเป็นช่วงเวลาเดียวกันที่สวนส้มโอของมาลีเผชิญกับอุทกภัยจากน้ำงาว
เมื่อแม่น้ำโขงมีระดับสูงขึ้นแตะ 10 เมตร มวลน้ำบางส่วนจึงเริ่มล้นตลิ่ง ขณะที่น้ำจากลำน้ำสาขาที่ไหลลงสู่แม่น้ำโขงทั้ง ลำน้ำกก ลำน้ำอิง และลำน้ำงาว ถูกมวลน้ำจากแม่น้ำโขงดันน้ำจากลำน้ำสาขาไหลกลับไปตามเส้นทางเดิม และเอ่อท่วมที่ลุ่มตลอด 2 ฝั่งลำน้ำ หากแม่น้ำโขงลดลง ปริมาณน้ำจากลำน้ำสาขาอย่างแม่น้ำอิง แม่น้ำกก และแม่น้ำงาวก็จะลดลงตามไปด้วย
ทว่าความเป็นจริงแม่น้ำโขงกลับสูงต่อเนื่องและลดปริมาณลงอย่างช้าๆ จากการปล่อยน้ำจากเขื่อนจิ่งหงอย่างต่อเนื่องในปริมาณมากตั้งแต่วันที่ 13-24 สิงหาคมที่ผ่านมา ทำให้น้ำที่เอ่อท่วมตามที่ลุ่มของลำน้ำสาขาลดลงช้า จนท่วมขังแช่พืชผลที่เป็นแหล่งรายได้หลักของชาวบ้านในอำเภอเวียงแก่น
“เมื่อก่อนเวียงแก่นก็มีน้ำท่วมแต่พืชผลก็ไม่ได้เสียหายเท่าปีนี้ พอมาเจอน้ำของปีนี้แล้วหนักเลยตั้งแต่เคยเจอมา น้ำที่ท่วมมันไหลมาจากแม่น้ำโขงที่หนุนมาตามลำน้ำงาวเข้ามาท่วมสวนเรา ซึ่งปกติน้ำจะไม่ท่วมนานหรือท่วมแช่แบบนี้ เพราะเมื่อน้ำหลากลงแม่น้ำงาวมันก็ไหลไปลงแม่น้ำโขงได้เร็วไม่ย้อนกลับขึ้นมาท่วมแบบนี้ ดูสิ ตอนนี้น้ำก็ยังลงไม่หมดสวนเลย”
ผู้เขียนขอมาลีเดินลงไปดูสวนของเธอที่อยู่ลึกลงไปด้านล่างถนน เธอใช้เวลาคิดสักเล็กน้อย ก่อนจะยินยอมพาผู้เขียนกับช่างภาพเดินชม การเดินทางเป็นไปอย่างทุลักทุเล เท้าทั้ง 2 ข้างไม่สามารถเหยียบลงพื้นได้นานเพราะจะจมลงโคลน ดังนั้นจึงต้องยกเท้าให้ถี่ รอบตัวคือต้นส้มโอเรียงแถวดูเป็นระเบียบ ทั้งหมดมีสภาพเหมือนกันคือไร้ผล เนื่องจากตกลงมาเน่าเสียอยู่ที่โคนต้นทั้งหมดแล้ว
“ตอนเห็นน้ำท่วม เราเสียใจมาก พูดไม่ออก คิดว่า คงไม่ลงส้มโออีกรอบแล้ว เพราะเดี๋ยวเขาจะสร้างเขื่อนมาอีก ปลูกส้มโอมันต้องใช้เวลา กว่าจะเก็บผลผลิตได้นะ อย่างต่ำก็ใช้เวลา 4-5 ปี เราเจอแบบนี้ก็เข็ดแล้วจริงๆ” มาลีพูด สายตามองดูแปลงสวนจากน้ำพักน้ำแรงด้วยสีหน้าเศร้าสร้อย เธอแย้มบอกว่า นี่เป็นสวนส้มโอที่เธอเพียรดูแลมากว่า 20 ปี นี่เป็นผืนดินที่หล่อเลี้ยงเธอที่เหลืออยู่
ใครจะรู้ว่า ผลกระทบจากเขื่อนที่อยู่ห่างจากแปลงสวนของมาลีราว 340 กิโลเมตร เพียงเขื่อนเดียว จะทำให้เกษตรกรอย่างมาลีหมดเนื้อหมดตัวได้ถึงเพียงนี้ และหากมีเขื่อนปากแบงสร้างกั้นแม่น้ำโขงทางตอนล่างอีกหนึ่งแห่ง ความเสียหายของเธอและคนอื่นๆ ในเวียงแก่นจะสาหัสขนาดไหนยังไม่มีใครรู้
“ส้มโอที่เราปลูกคงไม่ฟื้นกลับมาแล้ว ผลมันร่วงลงมาใต้ต้นหมดแล้ว ในตอนนี้เราไม่หวังอะไร ทำได้เพียงแค่รอน้ำบนแปลงดินแห้งไป ถึงอยากจะขายทิ้งก็คงไม่มีใครซื้อ เขาเห็นแล้วไงว่า น้ำท่วมที่ดินตรงนี้” มาลีทิ้งท้าย
เขื่อนปากแบง
97 กิโลเมตร เป็นระยะห่างตั้งแต่แก่งผาได อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย ไปถึงแขวงอุดมไซ เป็นจุดที่ตั้งของเขื่อนปากแบงในประเทศลาว
เขื่อนปากแบง เรียกชื่อตามตำแหน่งที่ตั้งซึ่งใกล้กับเมืองปากแบง ถูกระบุว่า เป็นเขื่อนแบบน้ำไหลผ่าน (Run-of-River) ตั้งอยู่กลางแม่น้ำโขงด้วยความคาดหวังให้เป็นแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้า 912 เมกะวัตต์
“ในทางเทคนิค ทำไมเขื่อนปากแบงถึงสร้างปัญหาให้กับไทยที่อำเภอเชียงของ อำเภอเชียงแสน และอำเภอเวียงแก่น เป็นเพราะการออกแบบตัวเขื่อนที่ต้องการกักน้ำในระดับสูงเฉลี่ยประมาณ 340 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลางจึงจะเกิดการปั่นไฟ เราต้องเข้าใจก่อนว่า เขื่อนปากแบงเป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ ซึ่งจะมีกังหันเพื่อทำการปั่นไฟ ถ้าระดับน้ำไม่สูงระดับที่ว่า กังหันจะไม่มีพลังสำหรับปั่นไฟ เพื่อผลิตไฟฟ้าได้ตามการออกแบบ”
สมนึก จงมีวศิน ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม กลั่นกรองข้อมูลในหัวจากการติดตามความเคลื่อนไหวโครงการเขื่อนปากแบงมานับ 10 ปี พูดออกมาด้วยน้ำเสียงแข็งขันว่า เขื่อนปากแบงจะเป็นปัญหาต่อชาวริมโขงฝั่งไทยแน่นอน
“พูดได้เลยว่า โครงการเขื่อนปากแบงไม่ควรจะเกิด เพราะสิ่งที่โครงการกำลังทำจะสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างหนักมาก โดยเฉพาะตอนนี้ที่เราอยู่ในภาวะโลกรวน เชียงรายเพิ่งน้ำท่วมไป ไม่มีเขื่อนปากแบงยังมีผลกระทบขนาดนี้แล้ว ถ้าเกิดสร้างเขื่อนขึ้นมาอีกจะสร้างความเสียหายจะหนักขนาดไหน”
หลายคนอาจตั้งคำถามว่า เหตุใดสมนึกจึงกล้ายืนยันผลกระทบของโครงการเช่นนั้น ในขณะที่เขื่อนปากแบงยังไม่แล้วเสร็จและเปิดใช้งาน เขาให้คำตอบว่า “แม่น้ำโขงทางตอนเหนือของเชียงรายลึกเข้าไปยังประเทศจีนมีเขื่อนจิ่งหงตั้งอยู่ หากว่าทางใต้จะมีเขื่อนปากแบงสร้างมากั้นน้ำโขงเอาไว้อีก ปัญหาที่จะเกิดขึ้นคือน้ำเท้อ การเก็บน้ำของเขื่อนปากแบงจะทำให้ระดับน้ำของแม่น้ำโขงเพิ่มสูง และไม่ใช่แค่เชียงรายที่จะได้รับผลกระทบแต่จะกระทบเข้าไปในลาวด้วย”
จากระดับการกักเก็บน้ำเหนือเขื่อนกว่า 340 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ปฏิเสธไม่ได้ว่า มวลน้ำจากแม่น้ำโขงที่โดยปกติจะไหลอย่างไร้สิ่งใดขวางกั้น จะสะสมและยกระดับสูงขึ้นและไหลย้อนกลับขึ้นมาทางตอนบนตามลำน้ำ
ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมยังเสริมว่า มีการประมาณการของบริษัท ต้าถังลาวปากแบงพาวเวอร์ จำกัด ว่า แม่น้ำโขงจะสูงขึ้นกระทบพื้นที่เหนือเขื่อนระยะ 97 ตารางกิโลเมตร ทว่าสำหรับนักวิชาการผู้ติดตามโครงการดังกล่าวจนคร่ำหวอดทางข้อมูลมองว่า ผลกระทบจากน้ำเท้ออาจจะเดินทางจากเขื่อนปากแบงมาถึงเชียงราย และอาจกระทบลึกเข้าไปตามลำน้ำโขงอีกกว่า 285 กิโลเมตรโดยประมาณ
“ข้อสำคัญคือ จากที่ผมได้คำนวณ หากเขาต้องการกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เขาจะต้องเพิ่มความสูงของการกักเก็บน้ำขึ้นอีก แปลว่า 340 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลางเป็นเพียงตัวเลขโดยประมาณ และเขาสามารถเพิ่มความสูงของระดับน้ำไปได้ถึง 347 เมตร และหากเขาต้องการมากกว่านั้นเขื่อนก็สามารถรับน้ำได้
“แต่ปัญหาคือ ระดับน้ำที่เพิ่มขึ้นแต่ละเมตรจะท่วมไปยังพื้นที่ทางการเกษตรและบ้านเรือนไม่เพียงแต่ฝั่งไทย แต่ฝั่งลาวก็จะโดนด้วยเช่นกัน ที่เขามีการบอกว่า คนลาวจะเดือดร้อน 4,000-5,000 คนนั้นไม่เป็นความจริง คนจะเดือดร้อนจะมีมากกว่านั้น ตั้งแต่เขื่อนปากแบงมาถึงเรา และหลังเขื่อนปากแบงไปถึงหลวงพระบาง” สมนึกระบุ
ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความและผู้จัดการมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน กล่าวเสริมว่า การทำผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนของโครงการเขื่อนปากแบงพบว่า ไม่ได้สำรวจผลกระทบกับชาวบ้านริมโขงตั้งแต่แรก ทั้งคนเดินเรือบนผืนน้ำ ชาวบ้านผู้เพาะปลูกพืชผลริมแม่น้ำ กระทั่งครอบครัวที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมโขงเหล่านี้ ล้วนไม่รับรู้และไม่มีส่วนร่วมในสิ่งที่พวกเขากำลังจะเผชิญ
“เรามีคณะกรรมการแม่น้ำโขง เรามีข้อตกลงแม่โขง ปัญหาสำคัญคือ ข้อตกลงแม่น้ำโขงกำหนดหลักการแจ้งการหารือล่วงหน้าและข้อตกลง กระบวนการนี้ไม่ใช่ว่าทำกันเฉพาะประเทศที่เป็นจุดทำโครงการ แต่จะต้องทำกระบวนการรับฟังความคิดเห็นในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโครงการด้วย อย่างประเทศไทยมีตัวอย่างกรณีเขื่อนไซยะบุรีซึ่งเราได้ฟ้องร้อง
การรับฟังความคิดเห็น เป็นที่มาของการจัดการรับฟังความคิดเห็นในไทย
“แต่ปัญหาของเขื่อนปากแบงหากเราย้อนดูก่อนหน้านี้ การรับฟังความคิดเห็นของโครงการก็ไม่ได้ดำเนินการได้ดีไปกว่าเขื่อนไซยะบุรีเลย การรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในโครงการนี้ไม่เกิดขึ้นอย่างใน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง กระทั่งชุมชนที่จะได้รับผลกระทบทุกชุมชน ตรงนี้ยืนยันไม่มีแน่นอน”
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ลงนามสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนปากแบงเป็นเวลากว่า 29 ปี หลังจากการเข้าถือหุ้นของบริษัท กัฟล์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) 51% ในขณะที่โครงการนี้ยังไม่มีผลการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดนในลุ่มน้ำโขง พร้อมกับข้อสงสัยของชาวบ้านริมแม่น้ำโขงเพียงบางส่วน ที่ได้รับข่าวจากกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในพื้นที่ว่า พวกเขาจะได้รับผลกระทบหรือไม่ จะเกิดน้ำท่วมบริเวณใดและลึกขนาดไหน ทว่าคำตอบนี้กลับไม่เคยมีการศึกษาอย่างเป็นทางการ นับตั้งแต่การเดินหน้าโครงการเมื่อปี 2560
“เรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนกฎหมายของประเทศลาวก็กำหนดว่า ต้องทำ คำถามคือ ที่ว่าทำคือทำแค่ไหนกัน เคยมีการมาศึกษาผลกระทบในประเทศไทยด้วยหรือไม่ อย่างวันนี้เราไปลงพื้นที่เวียงแก่นเราเห็นเลยว่า สมมุติถ้าเขื่อนปากแบงสร้างขึ้น ชาวบ้านเวียงแก่นจะสูญเสียพื้นที่ดินทำกิน ยังไม่พูดรวมถึงพื้นที่อยู่อาศัยว่าจะเสียไปเท่าไร สวนส้มโอที่เขามีอยู่และเป็นพืชเศรษฐกิจของเวียงแก่นจะสูญเสียอย่างไร เศรษฐกิจตรงนั้นจะเป็นอย่างไร และปัญหาก็คือ ในประเทศลาวมันเกิดอะไรขึ้น ซึ่งตรงนี้เราไม่รู้เลยว่า ผลกระทบที่ลาวจะเป็นอย่างไรบ้าง” รัตนมณีกล่าว
ในห้วงเวลาไฟฟ้าสำรองของประเทศไทยมีอยู่กว่าร้อยละ 50 ทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องเสียค่าพร้อมจ่าย ให้กับโรงงานผลิตไฟฟ้าที่ไม่เดินเครื่องหลายหมื่นล้านบาทต่อปี คำถามสำคัญคือ มีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหนที่ต้องซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนลุ่มน้ำโขงเพิ่ม ยังไม่นับรวมข้อกังวลของชาวบ้านริมโขงที่ไม่ได้รับการคลี่คลายว่า พวกเขาจะต้องเผชิญสิ่งใดต่อจากนี้
จะมีเหตุผลสำคัญใดที่หนักแน่นมากพอ ให้ต้องพึ่งพาโครงการที่สร้างผลกระทบทั้งทางตรง-ทางอ้อมเช่นนี้หรือ
สูญสิ้น
ยานพาหนะนำคณะเดินทางมาถึงหมู่บ้านศรีดอนชัย ในอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย พร้อมกับบรรยากาศครึ้มฝน
ที่นี่เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่คาดว่า จะได้รับผลกระทบจากการเท้อของน้ำในแม่น้ำโขง หากเขื่อนปากแบงแล้วเสร็จและเริ่มดำเนินการใช้งาน โดยมีพื้นที่เพาะปลูกหลังหมู่บ้าน ซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของชาวบ้านนับสิบครัวเรือนเป็นพื้นที่รับน้ำ
แม้จะยังไม่มีเขื่อนปากแบงเกิดขึ้นในขณะนี้ แต่พื้นที่เพาะปลูกที่ว่าก็ได้รับผลกระทบจากเขื่อนจิ่งหง จนวันนี้เหลือกลายเป็นแอ่งน้ำเน่าเสีย ไร้คราบความเป็นสวนที่เคยอุดมไปด้วยพืชผลที่ชาวบ้านมาปลูกกัน
“ถ้าน้ำอิงกับน้ำโขงไม่ลด เราก็ไม่รู้จะไปทำอาชีพอะไร ส่วนอาชีพอื่นก็คงไม่มีให้ทำแล้ว บ้านเราเขาทำไร่ทำนากันแค่นั้น ต้องรอน้ำที่ท่วมในสวนแห้งก่อนถึงจะได้ปลูก” สร้อยสุวรรณ วงศ์ไชย เกษตรกรไร่ข้าวโพด วัย 62 ปี พูดอย่างมีความหวังเล็กน้อยว่า หากสถานการณ์อุทกภัยในสวนของเธอดีขึ้น สร้อยสุวรรณต้องการจะปลูกพริกเพื่อเป็นอาหารและรายได้หลังน้ำลด
“สวนข้าวโพดของเราอยู่ตรงโน้น” เธอชี้ไปกลางแปลงสวนที่ปัจจุบันคือแอ่งน้ำขนาดใหญ่เริ่มส่งกลิ่นเน่าเหม็น ขณะเดียวกันก็มีต้นข้าวโพดแห้งเหี่ยวยืนต้นคล้ายตอไม้สำหรับแขวนเชือกยึดเรืออยู่กลางแอ่งน้ำ “ตอนนี้ยังมีน้ำท่วมอยู่ เรามีที่ดินแค่ประมาณงานกว่าๆ แต่ยังไม่ได้ประเมินความเสียหายว่า มีมูลค่าเท่าไร”
ข้างต้นก็เป็นที่มาของแอ่งน้ำขนาดใหญ่หลังหมู่บ้านศรีดอนชัย แอ่งน้ำซึ่งมีต้นข้าวโพดจมอยู่กลางน้ำ โดยมีพืชผลรอบๆ กำลังยืนต้นตายขัดกับนิยามของความเป็นแอ่งน้ำธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ ขณะที่สีน้ำขุ่นดำส่งกลิ่นเหม็นทั่วบริเวณ กระนั้นรอบๆ แอ่งกลับเต็มไปด้วยชาวบ้านพร้อมอุปกรณ์หาปลาคนละชุดเรียงรายตลอดแนว
สำหรับสร้อยสุวรรณในวันนี้กำลังนั่งอยู่ริมแอ่งน้ำหลังหมู่บ้าน โดยปกติพื้นที่ตรงนี้จะเป็นสวนข้าวโพดของเธอ ถังสีขาวและเบ็ดตกปลากลายเป็นอุปกรณ์ทำมาหากินของเธอในเวลานี้แทนอุปกรณ์สำหรับเก็บเกี่ยวข้าวโพด และเมื่อถึงจังหวะหนึ่ง ป้าสร้อยก็กระตุกเบ็ดดึงปลาขึ้นจากแอ่งน้ำใส่ในถังเอาไว้
“ได้ปลากดมา ไม่ได้เอาไปขายหรอก เอาไว้กินเฉยๆ ลดค่าใช้จ่ายช่วงไม่มีรายได้” ป้าสร้อยเล่า เธอชี้ว่า ปลาที่หามาได้ในวันนี้จะนำไปประกอบอาหารหลายอย่าง ทั้งปิ้งหรือปลานึ่งใบตอง
“เราเป็นชาวสวนข้าวโพด สวนของเราอยู่ตรงโน้น ตรงที่มีน้ำท่วมอยู่ จริงๆ เดือนนี้เราจะต้องเก็บเกี่ยวข้าวโพดที่ปลูกเอาไว้แล้ว แต่น้ำดันมาท่วมก่อน พอไม่ได้ปลูกข้าวโพดเลยไม่มีรายได้อะไรเลยในช่วงนี้”
สวนข้าวโพดจำนวน 1-2 ไร่ของป้าสร้อยเป็นที่ดินจัดสรรโดยรัฐ เธอจึงไม่มีโฉนดที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ทว่าตอนนี้ที่ดินที่มีอยู่ไม่กี่ไร่ของป้าสร้อยยังจมอยู่ใต้น้ำ ทำให้ขาดรายได้ ต้องเพิ่งพาเงินเก็บและอาศัยลูกที่ทำงานรับจ้างหาเลี้ยงครอบครัว
“ตอนที่น้ำยังไม่ท่วม รายได้ของเราก็พออยู่พอกินนะ หักค่าปุ๋ย ค่ายา และค่าใช้จ่ายอื่นๆ เราก็ยังพอเหลือเก็บ แต่ตอนนี้เราไม่ได้อะไรเลย สวนมะม่วงเราที่อยู่ตรงนั้นก็โดนน้ำท่วมด้วยเหมือนกัน ตอนนี้ยืนต้นตายหมดแล้ว”
ความผันผวนของแม่น้ำโขงที่ขึ้นลงไม่เป็นไปตามธรรมชาติ แต่เป็นไปตามลิขิตของเขื่อนผลิตไฟฟ้าและการเดินเรือพาณิชย์กว่า 12 แห่งตลอดลำน้ำ ทำให้ระดับน้ำในลำน้ำสาขาที่ไหลลงสู่แม่น้ำโขงขึ้น-ลงผิดปกติตามกันไป ซึ่งชาวบ้านตำบลศรีดอนชัยต่างก็สัมผัสได้ถึงความไม่ปกติของธรรมชาติเช่นเดียวกับ บุญธรรม วงศ์ชัย เกษตรกรวัย 60 ปี ที่อธิบายอย่างเข้าใจว่าเหตุที่พืชผลยืนต้นตายนี้เป็นเพราะสิ่งใด
“เพราะแม่น้ำโขงขึ้น มันเลยดันแม่น้ำอิงเข้ามาท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำมากขึ้นกว่าเดิม ผมเองก็ยังไม่ได้เก็บเกี่ยวข้าวโพดเลย ตอนนี้พืชผลที่ปลูกไว้ตายหมด แล้วที่มันตายก็เพราะน้ำท่วมขังอยู่แบบนี้ ผมก็ไม่มีสวนที่อื่นแล้ว มีแค่ที่นี่ที่เดียวเป็นที่ดินของหลวง จริงๆ ถ้าน้ำไม่ท่วมผมก็จะเก็บเกี่ยวได้ในเดือนนี้ แต่ตอนนี้ทั้งข้าวโพด ทั้งพริก ตายหมด
“ผมยังคิดอยู่เหมือนกันว่า ถ้าน้ำยังท่วมอยู่แบบนี้ เดือนหน้าผมจะได้ปลูกข้าวโพดอยู่ไหม หรือถ้าดินมันแห้งจนเกินไป เราจะปลูกข้าวโพดได้อย่างไร ก็คงต้องรอถึงเดือนพฤศจิกายนนู้นอาจจะมีโอกาสได้กลับมาปลูก แต่ถ้าน้ำมันไม่ยอมแห้งเราก็ไม่รู้จะไปทำอะไร หรือหาอะไรกินแล้ว” บุญธรรมทิ้งท้าย
คนหาปลา
เป็นครั้งแรกของการลงเรือล่องแม่น้ำโขง สายน้ำที่เกิดจากการละลายของน้ำแข็งบนเทือกเขาหิมาลัยไหลลงมาระยะทาง 4,900 กิโลเมตร บรรยากาศริม 2 ฝั่งสงบร่มรื่น ไม่สงบก็แต่เสียงเครื่องยนต์ของเรือที่ดังขึ้นตามจังหวะเร่ง
แม่น้ำโขงตอนบ่ายแก่ๆ มีแสงแดดอาบทั่วผืนน้ำแดงอิฐ ช่วงนี้น้ำลดระดับลงแล้ว แต่ยังทิ้งร่องรอยความสูญไว้ริมตลิ่งสูงชัน หรือตามไม้ใหญ่ ความเสียหายกับบ้านเรือนก็มีให้เห็น หลายชีวิตที่หลับนอนริมโขงเริ่มโยกย้ายกลับขึ้นฝั่ง เนื่องจากความไม่ปกติของน้ำที่มีผลจากการทำงานของเขื่อน
เรือค่อยๆ เทียบท่าเรือเชียงของอย่างโคลงเคลง ขณะเดียวกันสายตาผู้เขียนก็หันไปเห็น รุ่งอรุณ วิฑูรย์ อายุ 47 ปี กำลังก้มๆ เงยๆ อยู่ริมน้ำโขง
“ทำอะไรอยู่” ผู้เขียนเอ่ยถาม
“หาปลาอยู่ กำลังวางลอกจับปลา เดี๋ยวพรุ่งนี้ค่อยมายกดูว่า ได้ปลาเท่าไร”
เมื่อกล่าวทัก บทสนทนาก็ลื่นไหล วิฑูรย์เล่าต่อถึงสถานการณ์การหาปลาลุ่มน้ำโขงตอนนี้ว่าเป็นเช่นไร
“ปกติเราไม่ได้มาวางรอบแบบนี้ แต่จะไหลมองจะนั่งเรือไปอยู่บริเวณกลางน้ำ แต่เพราะว่าน้ำขึ้นและมีน้ำเยอะ ตอไม้ที่จะไหลมาจะติดกับมอง ปกติเวลาไหลมองก็จะได้ปลาเล็กปลาขาว เมื่อก่อนหาปลาเอาไว้ขายเป็นหลัก
“ระดับน้ำโขงก็เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา เมื่อก่อนปลาก็มีเยอะมากและมีราคาถูก แต่ตอนนี้ปลาไม่ค่อยมีราคาก็สูงขึ้น ปลาก็ค่อยๆ หายไป ปีนี้เราอาจจะได้ปลาเท่านี้ แต่ปีหน้าจำนวนปลาที่เราได้ก็อาจจะลดลงไป”
รุ่งอรุณชอบกินปลาแกง เขาเล่าว่า เป็นปลาที่มีรสชาติดี เป็นวัตถุดิบทำได้หลากหลายเมนู เช่น ลาบปลาแกง เมนูที่เขาชื่นชอบ ทว่าช่วงนี้เขาไม่ได้กินปลาแกงมาสักระยะแล้ว
“ปลาที่เมื่อก่อนเราเจอแต่ตอนนี้ไม่เจอแล้วคือปลาแกง เราไม่เจอมาหลายปีแล้ว แต่เมื่อก่อนปลาแกงมีเยอะมาก ตอนนี้ก็อาจจะมีนะเพียงแต่เราจะไม่ค่อยได้ ปกติเราจะได้ปลาแกงทุกวัน แต่ตอนนี้มันไม่มีแบบนั้นแล้ว ปลาฝาไม (ปลากระเบนน้ำโขง) ก็หายด้วย
“10 ปีที่แล้วน้ำโขงยังคงขึ้นลงตามฤดูกาล ไม่ใช่อยากจะขึ้นก็ขึ้นอยากจะลงก็ลง มันไม่ได้เป็นแบบนี้ แต่ตอนนี้อยู่ๆ น้ำก็ขึ้น หากว่าเขื่อนจีนปล่อยน้ำมา ผมเองก็ไม่รู้ข่าวสารว่า จีนจะปล่อยน้ำ เราก็ไม่รู้ บางครั้งน้ำขึ้นเราเก็บอะไรแทบไม่ทัน ของของเราไหลลอยไปกับน้ำบ้างก็มี ไม่เคยมีการประกาศเตือนว่า จะมีการปล่อยน้ำจากเขื่อน
“เราก็ไม่รู้หรอกว่า ปลามันหายไปเพราะเขื่อนหรือเปล่า เราเองก็พิสูจน์ไม่ได้ เขื่อนข้างล่างที่กั้นแม่น้ำโขงไว้ก็ทำให้ปลาว่ายน้ำไม่สามารถขึ้นมาข้างบนได้ พื้นที่ของเราก็เป็นเหมือนคล้ายสระ เพราะข้างล่างก็มีเขื่อน ข้างบนก็มีเขื่อน ก็เป็นเหมือนอ่างเก็บน้ำไป เวลาคนหาปลากันเยอะ”
เป็นเรื่องดีที่อย่างน้อยๆ รุ่งอรุณยังทราบว่า กำลังจะมีอภิมหาโครงการใหญ่เกิดขึ้นในแม่น้ำที่เขาหาปลา ทว่าเป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่รับรู้ และตระหนักถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในลุ่มน้ำโขง
วันนี้มีรุ่งอรุณ มาลี และสร้อยสุวรรณ ได้รับผลกระทบจากสิ่งก่อสร้างที่ถูกมองว่า เป็นความเจริญในลุ่มน้ำโขงแล้ว หากวันหน้าเขื่อนปากแบงเกิดขึ้น คงเกินจินตนาการของผู้เขียนว่า คนริมโขงในวันนี้จะต้องพบกับสิ่งใดอีก
Tags: เชียงราย, เขื่อนปากแบง, เขื่อนจิ่งหง, แม่น้ำโขง, น้ำท่วมเชียงราย, Mekong, ลุ่มน้ำโขง, จีน, ริมโขง, ไทย, ลาว, อุทกภัย, เขื่อน