หากใครเคยดูหนังผู้ใหญ่หรือหนังโป๊ (ซึ่งคิดว่าคนส่วนใหญ่น่าจะเคยดู) คงมีคำค้นหาประจำตัวที่สะท้อนถึงรสนิยมการรับชม และสำหรับคนที่ชอบดูหนังโป๊ที่นักแสดงไม่ได้มีแค่เพียง 2 คน ก็คงจะเคยใช้คำว่า แก๊งแบง (Gangbang) หรือออจี้ (Orgy) เป็นคำค้นหาหนังผู้ใหญ่กันอยู่บ่อยๆ
ไม่ว่าจะแก๊งแบง (การมีเพศสัมพันธ์แบบหมู่ โดยมักมีใครคนหนึ่งเป็นแกนกลางของกิจกรรม) หรือออจี้ (การมีเพศสัมพันธ์แบบกลุ่มตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป เน้นทำกิจกรรมกันอย่างทั่วถึงทุกคน) ทั้ง 2 คำ หมายถึงการมีเพศสัมพันธ์ที่มากกว่า 2 คนขึ้นไป โดยเฉพาะคำว่า ‘ออจี้’ ที่หมายถึงการมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยมีที่มามาจากคำว่า Orgia หมายถึง พิธีกรรมลึกลับตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ ที่มีการรวมตัวกันเพื่อประกอบพิธีในตอนค่ำ และถูกตีความจากชาวโรมันว่า มีความเกี่ยวข้องกับการมีเพศสัมพันธ์ โดยเชื่อว่าจะนำมาซึ่งความสมบูรณ์หรือนำไปสู่การบรรลุความสุขเพื่อเข้าถึงพระเจ้า
การมีเพศสัมพัมพันธ์แบบหลายคน กระทั่งแบบหมู่ เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ในทุกเพศ และเกิดขึ้นได้ในทุกวัฒนธรรมทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย นอกจากหนังผู้ใหญ่และเหล่าเซ็กซ์ครีเอเตอร์ยุคใหม่จะได้ร่วมกันเป็นกลุ่มใหญ่สร้างเนื้อหาเอาใจแฟนๆ กันหลายคน ในชีวิตจริงก็มีอยู่หลายครั้งที่เซ็กซ์หมู่หรือออจี้ ได้แบ่งปันความสุขสมให้กับหลายคนในคราวเดียว บนฐานของการยินยอมพร้อมใจ (Consent) ของผู้เข้าร่วม
อย่างไรก็ดี แม้เกิดขึ้นได้อย่างปกติ และอยู่บนพื้นฐานของความยินยอม แต่การมีเซ็กซ์หมู่หรือการรวมกลุ่มที่ถูกคนมองว่า อาจนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์แบบหลายคนนั้น กลับถูกมองเป็นเรื่องความสำส่อน เกิดการตีตรา กระทั่งการเหมารวมว่ารสนิยมแบบนี้เป็นของเพศใดเพศหนึ่ง เห็นได้จากกระแสข่าวการบุกจับกุมกลุ่มผู้มีรสนิยมชายรักชาย ในงานสังสรรค์เปลื้องผ้า เมื่อวันที่ 7 ธันวาคมที่ผ่านมา
The Momentum ชวนดูมุมมองเรื่องเพศสัมพันธ์ก้าวขยับจากการเป็นเรื่องของแค่คนสองคนสู่ ‘หลายคน’ และชวนดูว่า จากกระแสข่าวที่เกิดขึ้นนี้ เราควรพูดไปในทิศทางไหน เพื่อให้คุณค่าและการเรียนรู้แก่สังคม มากกว่าการก่นด่าเอาสนุกจนเกิดการกดทับทางเพศเกิดขึ้น พร้อมกับชวนพูดคุยในประเด็นการใช้ ‘ยาเสพติด’
‘เซ็กซ์หมู่’ ผิดตรงไหน
“ต้องถามกลับว่า หากจะพูดว่าผิด แล้วผิดเรื่องอะไร ผิดศีลธรรม ผิดขนบธรรมเนียมประเพณีหรือมองจากการให้คุณค่าเรื่องนี้ของสังคมไทยทั่วไป ซึ่งหากมองในแง่นี้ก็อาจจะเป็นเรื่องผิดสำหรับเขา”
ในแง่ของมุมมองทางสังคมกับการมีเพศสัมพันธ์มีส่วนอย่างมากในการมองว่า ‘เซ็กซ์หมู่’ ผิดหรือไม่ผิดในมุมมองของ แพทย์หญิงนิตยา ภานุภาค จากสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) กระนั้นหากตัดเรื่องขนบธรรมเนียมเก่าๆ และมองผิดถูกบนฐานแนวคิดสมัยใหม่อย่างเรื่อง ‘สิทธิในการเลือก’ และ ‘สิทธิในเนื้อตัวร่างกาย’ การมีเพศสัมพันธ์กับหลายคนในครั้งเดียวไม่ใช่เรื่องผิดที่ไม่สามารถทำได้
“แต่ละคนมีสิทธิ์ที่จะเลือกใช้ชีวิต หากเป็นการพูดถึงประเด็นอื่นๆ นอกเหนือจากจำนวนคนที่เข้าไปมีเพศสัมพันธ์ เช่น จะใช้หรือไม่ใช้ถุงยางอนามัย จะมีเพศสัมพันธ์กันผ่านอวัยวะส่วนไหน หรือมีกับใคร เขาเลือกได้นะ
“สิ่งที่เราควรให้ความสนใจก็คือ การที่เขาเหล่านั้นมีเพศสัมพันธ์กันมันก่อให้เกิดอันตรายกับตัวเขาหรือคนอื่นไหม และเราควรจะมองด้วยว่า หากเขาเลือกที่จะมีเพศสัมพันธ์กันมากขนาดนั้น เขาก็ต้องมีข้อมูลที่รอบด้านแล้วที่จะทำ เพื่อให้ลดโอกาสที่เกิดอันตรายให้ได้มากที่สุด”
ในมุมมองของแพทย์หญิงที่เชี่ยวชาญในรสนิยมทางเพศชี้ว่า คำตอบที่ว่า ถูกหรือผิดกับการเซ็กซ์หมู่ ต้องดูว่าใครกันเป็นคนฟันธงคำตอบ เป็นบุคลากรในศาสนา ผู้บังคับใช้กฎหมาย หรือพ่อและแม่ของเราที่อาจมีมุมมองแตกต่างกัน อยู่ที่พวกเขายึดอะไรเป็นฐานคิดในการตัดสินเรื่องนี้ ซึ่งแน่นอนว่า คำตอบก็ย่อมแตกต่างกันไปตามแต่ละมุมมองด้วย
“เราทุกคนมีเซ็กซ์เพราะว่าเราต้องการความรื่นรมย์ เริ่มจากการมีความพึงพอใจทางเพศ คนจะมีเพศสัมพันธ์ได้เขาต้องมีความสุขทั้งทางกายทางใจ ทางอารมณ์ รู้สึกว่าตัวเองปลอดภัย มีความเป็นส่วนตัว สิ่งที่เขาเลือกนั้นเขาเลือกเอง ในขณะเดียวกันก็สามารถสื่อสารเพื่อต่อรองกับคนที่จะร่วมทำกิจกรรมด้วยได้ มันจึงเป็นเรื่องของการตัดสินของแต่ละคน”
เซ็กซ์หมู่ ไม่ได้มีแค่เกย์
สืบเนื่องการบุกจับกลุ่มอัตลักษณ์เกย์ภายในโรงแรมแห่งหนึ่ง รสนิยมการมีเพศสัมพันธ์แบบหลายคนในคราวเดียวถูกยกขึ้นมากล่าวถึง บางส่วนมองว่า รสนิยมนี้เกิดจากความส่ำส่อนทางเพศในกลุ่มอัตลักษณ์ทางเพศอื่นๆ นอกเหนือจากเพศชายและเพศหญิง ครั้นมองว่าไม่ใช่เรื่องปกติที่สามารถจะทำได้ในการมีเพศสัมพันธ์
ทว่า ในปี 1995 The Worlds Biggest Gang Bang (1995) หนังผู้ใหญ่ที่วางบทบาทของตัวละครให้ผู้หญิงในเรื่องมีเพศสัมพันธ์กับชายจำนวนกว่า 300 คน เพื่อทำลายสถิติโลกภายในรอบเดียว ก็พบว่าไม่ได้เป็นการมีเพศสัมพันธ์แบบชาย-ชายแต่อย่างใด หรือหากย้อนการปรากฏของเซ็กซ์หมู่ในหนังผู้ใหญ่ให้เก่ากว่านั้น ในทศวรรษ 1980 อุตสาหกรรมหนังผู้ใหญ่ของประเทศญี่ปุ่นก็เริ่มมีการนำนักแสดงที่มากกว่า 2 คน มารับบทบาทพร้อมกันในคราวเดียว ตั้งแต่ช่วงกลายถึงช่วงปลายทศวรรษ 1980 ซึ่งนักแสดงก็ยังคงเป็นผู้หญิงกับผู้ชายเช่นเดียวกัน
“สำหรับคนที่ชอบการมีเพศสัมพันธ์แนวนี้ ไม่ว่าจะเป็นสเตรทชายหรือสเตรทหญิง เกย์ หรืออัตลักษณ์อื่นๆ เราสามารถจะทำกิจกรรมเซ็กซ์หมู่กันได้ แต่ที่มันยังถูกมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่ดีเพราะสังคมไทยมักมีมุมมองว่า เรื่องเซ็กซ์เป็นเรื่องของคนสองคนเท่านั้น”
ชานันท์ ยอดหงษ์ นักประวัติศาสตร์และนักเคลื่อนไหวเพื่อความหลากหลายทางเพศ เสริมว่า ทุกเพศ ทุกสังคม และทุกวัฒนธรรมนับตั้งแต่สมัยประวัติศาสตร์มีรสนิยมการมีเพศสัมพันธ์แบบกลุ่มปรากฏอยู่ แต่เนื่องจากการเข้ามาของแนวคิดแบบ ‘ผัวเดียว-เมียเดียว’ ในสังคม การมองเรื่องเซ็กซ์จึงกลายเป็นเรื่องของคนสองคน
“เซ็กซ์หมู่มีอยู่ทั่วโลก ในหลายๆ วัฒนธรรมเองก็มีเซ็กซ์หมู่อยู่เหมือนกัน สำหรับเรา รสนิยมแบบนี้อยู่คู่กับมนุษย์มายาวนานแล้ว หากไปดูหลักฐานทางโบราณคดี จิตรกรรมบนหม้อไหในยุคกรีกหรือโรมัน หรือในวัฒนธรรมอินเดียและเอเชียใต้ จะเห็นว่า การมีเพศสัมพันธ์แบบกลุ่มมันเกิดขึ้นมาอย่างยาวนานแล้ว มีทั้งชาย-หญิง และชาย-ชายด้วยกัน”
‘ยา’ ทางสองแพร่งระหว่างผิดกฎหมาย-สิทธิ์ในการเลือก
ไม่ใช่ทุกครั้งและไม่ใช่ทุกคนในกิจกรรมเซ็กซ์หมู่จะมีการใช้ยา เพื่อเพิ่มอรรถรสในการมีเพศสัมพันธ์ ทว่า กรณีปาร์ตี้เกย์ที่ถูกตำรวจเข้าจับกุมเมื่อวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา พบว่ามีการใช้สารเสพติดให้โทษประเภท 1 (ยาอี) และวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 2 (ยาเคหรือคีตามีน) ในกิจกรรมดังกล่าว หากพูดถึงกรณีการใช้ยาในฐานผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์และทางเพศ แพทย์หญิงนิตยาได้ให้มุมมองการแก้ปัญหาไว้อย่างน่าสนใจว่า
“ตอนนี้ทั่วโลกเราขยับมามองประเด็นการใช้ยาต่างจากอดีต เพราะการมองการใช้ยาเป็นสิ่งที่ผิด ทั้งศีลธรรมและกฎหมายด้วย มันไม่ช่วยให้สถานการณ์ของการใช้ยาดีขึ้น มีแต่ทำให้แย่ลง หากถามว่าการใช้ยามันมีปัญหาหรือ เราถึงจะต้องไปยุ่งกับมัน เรื่องนี้เราก็คงจะต้องย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ว่า ใครเป็นคนมาบอกว่า ยาตัวไหนเป็นยาที่ใช้แล้วผิด ยาตัวไหนเป็นยาที่ใช้แล้วถูก”
แพทย์หญิงเปรียบเทียบการใช้ยากับการสูบบุหรี่และการดื่มสุราที่ไม่ได้ผิดกฎหมายไทย ในขณะที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพทั้งต่อตัวเองและคนรอบข้าง อย่างไรก็ดี การแก้ปัญหาการใช้สารเสพติดนั้นเธอมองว่า ต้องมีการตรวจสอบวิธีการทางกฎหมายที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบันว่า ได้ประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใดในการลดการใช้ ซึ่งหากการใช้ยายังคงเพิ่มสูง ก็หมายความว่า วิธีการแก้ปัญหาที่มองสารเสพติดบางประเภทเป็นตัวร้าย อาจไม่ใช่หนทางแก้ปัญหาที่สำเร็จได้
“เพราะฉะนั้นถ้าเราลองมองเรื่องของเหล้า อย่างไรเราก็รู้ว่าเหล้าไม่ได้ผิดกฎหมาย แล้วเราก็ไม่สามารถหยุดไม่ให้คนดื่มเหล้าได้ เมื่อคนดื่มเหล้าแล้วจะมีวิธีการดื่มอย่างไรให้ปลอดภัย มันก็มีวิธีอยู่ เช่น ดื่มแล้วอย่าขับ เวลาที่ดื่มแล้วต้องระวังไม่ไปดื่มร่วมกันอะไรอย่างนั้น มันก็เป็นสิ่งที่ยกขึ้นมาพูดกันได้อย่างตรงๆ เป็นโอกาสในการที่จะให้คนได้เลือกว่าจะดื่มหรือไม่ดื่ม แล้วเมื่อเขาดื่มแล้วเขาจะมีวิธีป้องกันอันตรายให้ตัวเอง หรือป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับคนอื่นได้หรือเปล่า”
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอของแพทย์หญิงนิตยาคือ การทำให้แก้ปัญหายาเสพติดโดยการลดอันตรายลงหรือ Harm Reduction ซึ่งส่วนตัวเธอมองว่า การใช้นำเอาสารเสพติดบางประเภทออกจากการเป็นสารเสพติดผิดกฎหมายที่มีโทษสูง จะนำไปสู่การเข้าถึงวิธีการใช้งานอย่างปลอดภัยมากยิ่งขึ้น แต่สำหรับประเทศไทยในห้วงเวลานี้ ยังคงเป็นเรื่องยากที่วิธีการดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้
การนำเสนอของสื่อมีอิทธิพลต่อมุมมอง ‘ทางลบ’ เรื่องรสนิยมทางเพศ
ทั้งแพทย์หญิงนิตยาและชานันท์ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ในเหตุการณ์การบุกจับผู้มีรสนิยมแบบชายรักชายครั้งที่ผ่านมา สื่อคือตัวการสำคัญในการชักนำมุมมองของผู้คนในสังคมให้มีทิศทางที่มีอคิติต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ ไล่ตั้งแต่รสนิยม การเหมารวม และตีตราอัตลักษณ์ทางเพศ กระทั่งการมีแนวคิดลิดรอนสิทธิที่ควรได้รับอย่างสมรสเท่าเทียม
“สื่อควรแยกการนำเสนอว่า เหตุการณ์บุกจับครั้งนี้มันสะท้อนอะไรบ้าง เรื่องแรกคือ การมีเพศสัมพันธ์แบบหมู่ ไม่ได้มีเพียงเกย์เท่านั้นที่จะทำกิจกรรมนี้ จะชายหรือหญิงก็สามารถทำได้ และการจัดปาร์ตี้หมู่แบบนี้มันเกิดขึ้นสม่ำเสมอในสังคมไทย และอาจจะรวมถึงสังคมโลกด้วยซ้ำ สิ่งที่เราต้องพูดคุยกันต่อคือ จะทำอย่างไรให้เกิดการแก้ปัญหาการใช้สารเสพติดด้วยการลดอันตราย (Harm Reduction) คุยไปจนถึงบิวตี้พริวิลเลจของกลุ่มคนที่ถูกจับกุม เอาสิ่งที่เกิดขึ้นคลี่ออกแล้วแยกเป็นประเด็น หากนำเสนอแบบนี้ได้ คนในสังคมก็จะคลี่คลายได้ในระดับหนึ่ง แล้วมองเห็นเหตุการณ์นี้เป็นปรากฏการณ์ หรือเป็นผลผลิตของสังคมบางอย่าง มากกว่าการจะเอาไปตีตราโดยไม่รู้ข้อมูลอะไรเลย” ชานันท์ระบุ
สอดคล้องกับแพทย์หญิงนิตยาซึ่งเปิดเผยว่า การนำเสนอเนื้อหาของสื่อไทยในประเด็นที่เกิดขึ้นมีความบกพร่องสูง ทั้งการไม่เคารพความเป็นส่วนตัวของผู้ถูกจับกุม ซึ่งยังไม่ถูกตัดสินว่าผิดในทันที รวมถึงบางส่วนที่มีการนำภาพและข้อมูลบางส่วนจากสื่อสาธารณะตามหาตัวของผู้อยู่ภายในงานดังกล่าว เกิดเป็นกระแสการล่าแม่มดที่ไม่มีใครสามารถยืนยันได้เลยว่า ข้อมูลที่ได้รับมานั้นจริงหรือเท็จอย่างไร
“การถ่ายรูปคนในนั้นแล้วนำมาลง เรียกว่าผิดจรรยาบรรณได้ไหม ถ้าสื่อหนึ่งไม่ทำสื่ออื่นๆ ก็คงไม่ทำ และไม่เฉพาะของกรณีนี้ด้วยที่มีการเปิดเผยเนื้อตัว ข้อมูลส่วนตัวอย่างชื่อ เราสงสัยว่ามันทำได้อย่างไร
“ที่สำคัญคือ การพาดหัวข่าวเพื่อดึงดูดความสนใจ ใช้คำว่า นมกล้ามโต ฟังดูแล้วเหมือนเป็นการพยายามด้อยค่าคนกลุ่มหนึ่ง มันควรจะเลิกใช้ได้แล้ว แล้วก็น่าจะต้องมีการพัฒนาคำใหม่ๆ ในแวดวงสื่อในการที่จะเสนอได้อย่างตรงไปตรงมา แบบที่ไม่ต้องแย่งกันใช้คำที่มันดึงดูดไปในเชิงลบ” แพทย์หญิงนิตยาทิ้งท้าย
Tags: Gender, เพศศึกษา, เซ็กซ์หมู่, Orgy, Harm Reduction