สตูล เป็นจังหวัดที่อยู่ใต้สุดของประเทศไทยทางชายฝั่งทะเลอันดามัน เป็นหนึ่งในสี่จังหวัดของประเทศไทยที่มีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ที่นี่จึงมีทะเลที่งดงาม อุดมไปด้วยพื้นที่ป่าชายเลน ป่าแสม และป่าโกงกาง รวมถึงชีวิตของชาวไทยเชื้อสายมลายูที่ดำเนินไปพร้อมกับกลิ่นอายของท้องทะเลใต้ฝั่งตะวันออก
เช่นเดียวกับจังหวัดอื่นๆ ในประเทศไทย สตูลมี ‘เพชรเม็ดงาม’ ทั้งในแง่ของ ‘ทรัพยากรธรรมชาติ’, ‘ชุมชน’ และ ‘ผู้คน’ ที่เฝ้ารอการค้นพบ โดยเฉพาะกับ ‘คนรุ่นใหม่’ ที่ต้องการขับเคลื่อนทั้งชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นของดีของจังหวัดผ่านการท่องเที่ยว เพื่อสร้างรายได้กลับมาสู่ผู้คนในพื้นที่
แน่นอนว่า คนรุ่นใหม่ในจังหวัดเล็กๆ เหล่านี้ล้วนต้องการการมองเห็นและการสนับสนุนเพื่อพัฒนาต่อยอดทักษะที่มี ไม่ต่างจากเด็กในเมืองใหญ่ ในการนำทักษะเหล่านั้นมาประกอบใช้ในการทำงานและการใช้ชีวิต เพื่อปรับตัวสู่โลกยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
‘Learn To Earn’ เรียนรู้เพื่ออยู่รอด จากมูลนิธิเอสซีจี เป็นแนวคิดที่ต้องการให้เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ เรียนรู้ ปรับตัว พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ที่รวดเร็ว โดยเชื่อว่าการศึกษาปัจจุบันเป็นการเน้นรูปแบบ ‘การเรียนรู้ตลอดชีวิต’ ทั้งทักษะวิชาชีพ (Hard Skill) และทักษะด้านอารมณ์หรือการเข้าสังคม (Soft Skill) ซึ่งจำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตและการทำงานในปัจจุบัน
The Momentum มีโอกาสได้ลงพื้นที่ไปยังจังหวัดสตูล ที่อำเภอละงู พร้อมกับทีมมูลนิธิเอสซีจี ในกิจกรรม Learn To Earn ‘ทางเลือก ทางรอด ของชุมชน’ เพื่อค้นพบ ‘ของดี’ มากมายที่ซุกซ่อนอยู่ ในพื้นที่แห่งนี้ อาทิ แหล่งเรียนรู้เชิงนิเวศน์ชุมชนหลอมปืน ซึ่งมีฐานทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญในบริเวณที่เรียกว่า ‘อ่าวทุ่งนุ้ย’ เป็นท่าเทียบเรือขนาดเล็กของชาวประมง ที่ถูกพัฒนาพื้นที่เป็นแหล่งเรียนรู้เชิงนิเวศน์แก่คนภายในชุมชนและภายนอก เพื่อสร้างรายได้ และเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรของชุมชน
ที่อำเภอละงูยังมีเรื่องราวของ ‘ปันหยาบาติก’ บ้านผ้ามัดย้อมสกัดสีดิน ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2545 จากกลุ่มสตรีในชุมชน ผ่านช่วงเวลาของการซบเซา จนกระทั่งได้คนรุ่นใหม่อย่าง กอบกุล โชติกุล กลับมาช่วยพัฒนา จนกลายเป็นบ้านผ้าบาติกที่ใช้สีจากดิน ‘เทอราโรซ่า’ ที่พบในเขตพื้นที่อุทยานธรณีโลก จังหวัดสตูล เท่านั้น มาผ่านกระบวนการทำมือด้วยลวดลายฟอสซิลอันมีเอกลักษณ์
นอกจากนี้ เรายังมีโอกาสเดินทางไปยัง ‘เกาะลิดี’ เกาะคู่แฝดในบริเวณอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ที่อุดมสมบูรณ์ พร้อมทำกิจกรรมภายเรือคายัคท่ามกลางแมกไม้ป่าชายเลน รวมถึง ‘สะพานข้ามกาลเวลา’ เส้นทางศึกษาธรรมชาติที่มีลักษณะเป็นหน้าผาริมทะเลสูงชัน ยิ่งใหญ่ และแสดงถึงพลังของธรรมชาติ โดยช่วงหนึ่งของหน้าผามีสีสันของชั้นหิน ที่แตกต่างมีการพบรอยสัมผัสของหินสองยุค ราวกับกำลังเดินอยู่ในอดีต
ทั้งหมดนี้ผ่านการบรรยายของคุณเป็ด ประธานการท่องเที่ยวชุมชน ลูกหลานชาวประมงที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังที่ถ่ายออกมาผ่านเรื่องเล่า และเป็นผู้พัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ในการร่วมกับคนในชุมชนสร้างโปรแกรมการท่องเที่ยวตามเส้นทางต่างๆ ถึง 4 เส้นทาง โดยยึดแนวทางการจัดการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ โดยคำนึงถึง 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม วัฒนธรรม และด้านเศรษฐกิจชุมชน
ทริปนี้ยังเปิดโอกาสให้ได้ชิมอาหารตามฤดูกาลในแบบวิถีชายฝั่งทะเล ทั้งประเภทแกง ต้ม ยำ เช่น แกงปูดาสับปะรด แกงปูม้าสับปะรด แกงกุ้งแชบ๊วย แกงส้มปลา แกงส้มกุ้ง แกงส้ม หอยลอกัน แกงตุมมิ (สไตล์สตูล) ซึ่งแต่ละจานล้วนมีเอกลักษณ์ วัตถุดิบสด และผ่านการปรุงอย่างพิถีพิถัน
แน่นอนว่าการสนับสนุนคนรุ่นใหม่ตามแนวทางของ ‘Learn To Earn’ ส่งผลต่อเหล่า ‘ต้นกล้า’ หรือคนรุ่นใหม่ในชุมชนที่ได้พัฒนาทักษะของตนเองเพื่อประกอบอาชีพ สร้างรายได้แก่ตนเอง ครอบครัว และชุมชน เช่น เรื่องของ ‘ต้นกล้าเอิร์ธ’ ที่เปิดโรงตีเหล็กที่บ้าน โดยนำผลิตภัณฑ์ที่เลิกใช้แล้วมาแปรรูปเป็นเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น มีด จอบ เสียม มีดจักตอก คลาด และอีกหลากหลายชนิด
อาจกล่าวได้ว่ากิจกรรม ‘Learn To Earn’ เรียนรู้เพื่ออยู่รอด จากมูลนิธิเอสซีจี ที่พาเราล่องใต้ไปสตูลในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการเปิดโลกให้ได้เห็นกลุ่มคนเล็กๆ ที่มีพลังจะส่งต่อของดีของตนเองและชุมชนสู่โลกภายนอกแล้ว ยังเป็นการตอกย้ำความเชื่อที่ว่า หากมีการสนับสนุนที่ดีและเพียงพอ ต้นกล้าเล็กๆ ก็จะสามารถเติบโตอย่างยั่งยืนและแข็งแรงเป็นไม้ใหญ่ที่แผ่ร่มเงาต่อไปได้ไม่สิ้นสุด
Tags: การท่องเที่ยวชุมชน, เกาะลิดี, ละงู, SCGF, มูลนิธิเอสซีจี, LearnToEarn, สตูล