“เชิญทุกท่านนั่งลง”

หลังคำประกาศเชิงคำสั่งจากศาลสิ้นสุดลง ทุกคนในห้องพิจารณาคดีหมายเลข 811 ต่างนั่งลงกับที่ด้วยท่านั่งสุภาพ ห้ามกอดอกหรือนั่งไขว่ห้าง หลังยืนตัวตรงเพื่อให้เกียรติแด่ศาลที่ ‘เคารพ’ และแด่ศาลผู้มี ‘อำนาจ’

ใช่ ผู้มีอำนาจที่สามารถชี้เป็นชี้ตายชีวิตของใครสักคน อำนาจที่แสดงให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียม ยศถาบรรดาศักดิ์ที่ปรากฏในรูปลักษณ์ของการใส่สูท สวมรองเท้าคัตชูขัดมัน และข้อกำหนดบังคับอีกร้อยแปด

อำนาจที่เข้ามายุ่มย่ามแม้กระทั่งอากัปกิริยาการนั่ง การวางมือ ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงเชื่ออย่างสุดหัวใจว่า พื้นที่ของศาลเป็นสถานที่ไร้ซึ่ง ‘สิทธิมนุษยชน’ อย่างแท้จริง 

ที่ซึ่งถูกกำหนดชี้นิ้วด้วยคำสั่งหรือข้อกำหนดจาก ‘เบื้องบน’ ที่ซึ่งทุกคนต้องปฏิบัติตามด้วยเหตุผลเพียงไม่กี่ข้อ นั่นคือ ‘ห้ามละเมิดอำนาจศาล’ และเราย่อมรู้อยู่แก่ใจว่า ‘อำนาจของปลายปากกาอยู่ที่ใคร’

“ศาลทุกแห่งทั่วประเทศ ไม่เคยใส่กลอนประตูห้องพิจารณา การเข้าไปดูการพิจารณาคดีเป็นเสรีภาพของประชาชน” 

ข้อความนี้ไม่เป็นจริง 

ในการฟังคำพิพากษาคดีคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กรณีปราศรัยใหญ่ในการชุมนุม #ม็อบ14ตุลา ของทนายอานนท์ นำภา มีการลงกลอนประตู

แรกเริ่มมีการใส่กลอนประตูห้องพิจารณา ต่อมามีการคัดกรองประชาชนในการเข้าห้องพิจารณาคดี (แม้ท้ายที่สุดจะยอมเปิดห้องเพื่อถ่ายทอดบรรยากาศ) ข้าแด่ศาลที่เคารพ ใยข้อกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ ถึงมีข้อยกเว้นแด่ท่านผู้มิอาจละเมิดได้?

วันที่ 26 กันยายน 2566 เวลา 10.00 น. คือวันฟังคำพิพากษา เวลาล่วงเลยจากเวลานัดไป 1 ชั่วโมง ศาลจึงเดินทางมาถึงห้องพิจารณาคดี ที่เต็มไปด้วยจำเลย-ทนายอานนท์ ภรรยา ขาล (ลูกชายอายุ 10 เดือน) ครอบครัว ผู้เกี่ยวข้อง ผู้ที่เดินทางมาให้กำลังใจและรอฟังคำพิพากษาอย่างคับคั่ง

ไม่เป็นไรท่าน เรารอได้ 

เพราะจะทำอย่างไรได้เล่า ในเมื่อรู้อยู่แก่ใจว่าอำนาจล้นบัลลังก์อยู่ที่พวกท่าน แน่นอนว่าข้าพเจ้าพูดคำว่า ‘ท่าน’ โดยตระหนักรู้อยู่เต็มอกว่า คำว่า ‘ท่าน’ ของข้าพเจ้า และของท่านนั้นแสดงถึงอำนาจความเป็นคนที่ไม่เท่ากัน

ท่ามกลางการอ่านคำพิพากษาที่ยาวเหยียด ซึ่งถูกขีดเขียนด้วยภาษาที่แสนจะดึกดำบรรพ์ยากจะเข้าใจได้ง่าย ที่สะท้อนภาพความไม่ยอมเปลี่ยนแปลงตามเข็มนาฬิกาของพวกเขา ข้าพเจ้ารู้สึกเบื่อและคิดว่า ศาลที่เคารพท่านไม่เหนื่อยหรือ ที่ต้องสวมบทบาทหัวโขนพูดยืดยาวใช้ศัพท์แสงยากเกินเหตุเช่นนี้

“อุแว้ๆ” 

เสียงร้องของ ‘ขาล’ เป็นเสียงเดียวที่ทำให้เลือดในตัวของข้าพเจ้าสูบฉีด เสียงที่มีชีวิตร้องขัดขึ้นมาระหว่างที่ศาลร่ายยาว สถานที่ซึ่งไม่มีใครจะกล้าเอื้อนเอ่ย นั่งไขว่ห้าง หรือแม้แต่จะดื่มน้ำก็ต้องก้มหน้าให้ต่ำและอย่าให้ท่านเห็น

เสียง ‘อุแว้’ ของลูกชายทนายอานนท์ เป็นเพียงเสียงเดียวที่กล้าดังขัดระหว่างการอ่านคำพิพากษา ที่แม้แต่ศาลก็มิอาจใช้อำนาจเด็ดขาดที่อยู่ในมือสั่งให้หยุดร้อง หรือสั่งให้เงียบเสียงลงได้ ข้าพเจ้ารู้อยู่แก่ใจว่า การกระทำของเด็กน้อยอายุ 10 เดือน มิใช่การแสดงการขัดขืนต่อคำพิพากษาศาลที่มีต่อพ่อของเขาไม่ แต่ข้าพเจ้ามั่นใจว่า เสียงที่ร้องออกมาคือการแสดงความต้องการ แสดงความรู้สึกที่แม้แต่ผู้พิพากษาก็มิอาจพรากไปจากเขาได้ 

ขาลอาจจะร้องไห้เพราะหิวนมแม่ ปวดอึ ปวดฉี่ ง่วงนอน หรือจริงๆ เขาอาจจะเบื่อบรรยากาศทึนทึกแสนอึดอัดคล้ายกับข้าพเจ้าก็ได้ และแน่นอนว่าสิ่งนี้แหละคือ ‘สิทธิมนุษยชน’ เพียงหนึ่งเดียวในห้องพิจารณาหมายเลข 811 ที่ข้าพเจ้าเห็น

จริงๆ แล้ว สิ่งที่ทุกคนต้องการไม่ใช่อะไรมาก แต่คือสิ่งที่เรามีติดตัวมาตั้งแต่เกิด อย่างที่ขาลมี แต่สิ่งเหล่านี้กลับถูกลิดรอนไปตั้งแต่ตอนไหน? 

ทนายอานนท์ให้สัมภาษณ์ก่อนฟังคำพิพากษาว่า “ผมเชื่อว่าคนทั้งประเทศเชื่อในสิทธิเสรีภาพ ในความเสมอภาค และพร้อมที่จะเปลี่ยนประเทศให้เป็นอารยะ เราเห็นการเปลี่ยนแปลงในทุกรูปแบบทั้งในโซเชียลฯ ทั้งบนท้องถนน รวมทั้งผลการเลือกตั้งที่ผ่านมาก็ชัดเจนอยู่แล้วว่า แต่เดิมหลายพื้นที่ไม่ได้สนับสนุนประชาธิปไตย ก็กลับมาสนับสนุนฝ่ายประชาธิปไตย และคนรุ่นใหม่ที่เติบโตขึ้นมา ก็เติบโตบนพื้นฐานที่เชื่อมั่นในสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียม ถือเป็นการต่อสู้ที่คุ้มค่ามาก”

ใช่, เขาเพียงเชื่อในเสรีภาพ ความเสมอภาค และเรียกร้องสิ่งที่ติดตัวพวกเรามาตั้งแต่เกิด

ท้ายที่สุด ศาลตัดสินพิพากษาจำคุกทนายอานนท์เป็นเวลา 4 ปี ปรับ 2 หมื่นบาท โดยไม่รอลงอาญา ด้วยเหตุผลทำให้พระมหากษัตริย์เสื่อมเสีย ถูกเกลียดชัง

หลังทราบชะตาชีวิตหลังจากนี้ ทนายอานนท์เดินกลับมาที่เก้าอี้ ถอดสร้อยพระคล้องคอขาล พร้อมเดินมากอดลูกเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนถูกศาลควบคุมตัวส่งเข้าเรือนจำ และต้องรอศาลอุทธรณ์พิจารณ์ คาดใช้เวลา 2-3 วัน หลังยื่นเงินสด 2 แสน ประกันขอปล่อยตัวชั่วคราว 

และใช่, วินาทีหลังจากฟังคำพิพากษา สิทธิมนุษยชนในตัวของทนายอานนท์ก็ถูกลิดรอนอีกครั้ง อีกครั้ง และอีกครั้ง แม้กระทั่งเสรีภาพในการกอดลูกของเขาก็มลายหายไปด้วย

Tags: , , , , , , ,