“ชาวบ้านหนองแซงไม่เอาคันดิน”

ข้อความขนาด 1 บรรทัดปรากฏอยู่ตามร้านค้าต่างๆ ภายในตลาดสดหนองแซง เนื้อหาแสดงถึงการคัดค้าน ‘คันดิน’ สิ่งก่อสร้างซึ่งเป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 (กรุงเทพฯ-นครราชสีมา) ที่ดำเนินการก่อสร้างไปแล้วร้อยละ 34 

ปัจจุบันเป็นปีที่ 8 แล้ว นับตั้งแต่โครงการนี้เริ่มต้น นอกจาก ‘ข้อขัดแย้ง’ ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และปัญหาอุโมงค์ถล่มไม่นานมานี้ที่จังหวัดนครราชสีมา อีกปัญหาหนึ่งปรากฏขึ้นที่ ‘หนองแซง’ สระบุรี 

ตลาดหนองแซง อำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี ตั้งอยู่ใกล้เขตการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 (กรุงเทพฯ-นครราชสีมา) ซึ่งบางส่วนของเส้นทางได้เริ่มดำเนินการภายหลังคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) รับหน้าที่ดำเนินโครงการ

รายละเอียดการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงในพื้นที่หนองแซง มีแผนการก่อสร้างในรูปแบบของคันทางระดับดิน ไม่ได้เป็นแบบทางยกระดับซึ่งเป็นรูปแบบที่ระยะทางส่วนใหญ่กำลังก่อสร้าง

องค์ประกอบสำคัญคือ กำแพงปูนหนาประมาณ 60 เซนติเมตร โอบรับด้วยคันดินเสริมความมั่นคงฐานกว้างประมาณ 24 เมตร พื้นที่ด้านบนคันดินส่วนที่รองรับรางรถไฟกว้างประมาณ 13 เมตร และมีความสูงกว่า 7 เมตร มีระยะทางดำเนินการก่อสร้างทางรูปแบบดังกล่าว เฉพาะในพื้นที่หนองแซง 7.02 กิโลเมตร 

แม้ว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2560 แต่จากการสอบถามชาวบ้านในพื้นที่พบว่า กรณีการก่อสร้างคันดินเป็นข้อมูลล่าสุดที่พวกเขารับทราบหลังจากได้เซ็นสัญญาดำเนินการก่อสร้างไปแล้วหลายจุด 

“เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2565 เมื่อการรถไฟมาประชุมกันที่อำเภอหนองแซงเพื่อชี้แจงโครงการว่า รางรถไฟความเร็วสูงมันจะอยู่ระนาบผิวดินปกติ เป็นครั้งแรกที่พวกเรารู้ว่า จะมีการสร้างคันดินที่ชุมชนของเรา เมื่อก่อนไม่มีใครรู้เลย” สมชาย ศาสตรา ชาวบ้านหนองแซง วัย 71 ปี ให้สัมภาษณ์และเสริมว่า การประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่การรถไฟก่อนหน้านี้ในปี 2563 ก็ไม่ได้ให้ข้อมูลกับคนในพื้นที่อย่างชัดเจนว่าจะมีการสร้างคันดินรองรับรถไฟความเร็วสูงที่ตำแหน่งใด จึงทำให้ชาวบ้านเข้าใจว่า ในพื้นที่หนองแซงยังคงเป็นการก่อสร้างแบบทางยกระดับเช่นเดียวกับหลายพื้นที่

“ตอนประชุมที่อำเภอวันนั้น พอการรถไฟบอกว่า จะทำคันดินที่อำเภอหนองแซง ผมก็แย้งทันทีว่า ทำแบบนี้มันไม่ถูก ผมคนหนึ่งที่ไม่ยอม ตอนนั้นมีการถกเถียงกันเยอะ” อย่างไรก็ตามเสียงคัดค้านของสมชายในห้องประชุม ไม่ถูกบันทึกในรายงานการประชุมครั้งนั้น 

สำหรับคันทางระดับดินที่กำลังจะมีการก่อสร้างในพื้นที่หนองแซง ประกอบด้วยกำแพงซีเมนต์หนาราว 60 เซนติเมตร เสริมความมั่นคงของกำแพงด้วยคันดินฐานกว้างประมาณ 24 เมตร และมีความสูงประมาณ 7 เมตร ระยะทางการก่อสร้าง 7.02 กิโลเมตรผ่ากลางชุมชนหนองแซงโดยมีผู้รับผิดชอบการก่อสร้างคือ บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น 

คันดินถูกออกแบบให้สูงกว่าระดับพื้นดินปกติ ชาวบ้านในพื้นที่จึงเกิดความกังวลว่า การใช้ชีวิตในพื้นที่อาจยากมากยิ่งขึ้น ทั้งการเดินทาง การค้าขาย และการเข้าถึงหน่วยงานราชการและบริการสาธารณสุขซึ่งอยู่อีกฟากของคันดิน ที่ต้องเดินทางอ้อมไปอีกหลายกิโลเมตร

ทมลวรรณ โทเดช แม่ค้าผักภายในตลาดหนองแซง ให้สัมภาษณ์ว่า เธอมีความกังวลเกี่ยวกับการสัญจรข้ามฟากคันดินในยามฉุกเฉิน เช่น เดินทางไปโรงพยาบาล เนื่องจากจุดข้ามฟากหรือสะพานยกระดับอยู่ห่างจากชุมชนของเธอไปประมาณ 6 กิโลเมตร แปลว่าเธอต้องเดินทางในระยะไกลมากยิ่งขึ้น 

“เรากังวลว่าจะไปหาหมอไม่สะดวก ปกติเราขับรถข้ามไปฝั่งนู้นโดยไม่ต้องเดินทางไกล พอคันดินมามันก็ข้ามฝั่งแถวๆ นี้ไม่ได้แล้ว อาจทำให้การไปโรงพยาบาลมันลำบากมากยิ่งขึ้น หรือหากจะไปติดต่อราชการอย่างอำเภอหรือเทศบาลก็อยู่ฝั่งโน้นทั้งหมด ก็คงลำบากขึ้นอีก”

เช่นเดียวกับ ศรีเวียง ภูรีเลิศวาณิชย์ พนักงานรักษาความปลอดภัย ที่ระบุว่า อาจทำให้เขาเสียเวลาในการเดินทางเพิ่มขึ้น และอาจมีความยากลำบากในการไปติดต่อหน่วยงานราชการ ซึ่งส่วนมากอยู่อีกฟากของทางรถไฟ 

ภายหลังทราบรูปแบบการก่อสร้างเส้นทางรถไฟแล้ว ได้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อเจรจาระหว่างผู้อยู่อาศัยในพื้นที่กับ รฟท. โดยชุมชนเสนอแนะให้ รฟท.ปรับเปลี่ยนรูปแบบการก่อสร้าง จากเดิมเป็นคันทางระดับดินระยะทาง 7.02 กิโลเมตรผ่านชุมชนหนองแซง ให้เป็นทางยกระดับผ่านชุมชนหนองแซงระยะทาง 2 กิโลเมตร 

จากคำบอกเล่าของชาวบ้านระบุว่า รฟท.แนะวิธีแก้ปัญหา 4 รูปแบบ ในรูปแบบแรกคือ การก่อสร้างช่องลอดใต้คันดิน 400 เมตร รูปแบบที่ 2-3 คือ ยกระดับรางรถไฟโดยใช้ตอม่อเตี้ย  และรูปแบบที่ 4 เป็นการก่อสร้างแบบยกระดับรางรถไฟด้วยตอม่อเตี้ยสูงประมาณ 7 เมตร ซึ่งชาวบ้านเห็นด้วยกับรูปแบบสุดท้าย 

อย่างไรก็ตาม เมื่อชาวบ้านสอบถามความคืบหน้าการเสนอปรับเปลี่ยนรูปแบบการก่อสร้างของ รฟท. คำตอบที่ได้รับคือ หน่วยงานยังไม่ได้เสนอการปรับเปลี่ยนรูปแบบ และอ้างว่าไม่สามารถเสนอรูปแบบการก่อสร้างทั้งช่องลอดใต้คันดิน และการก่อสร้างแบบตอม่อเตี้ยสูง 7 เมตรพร้อมกันได้ 

เป็นสาเหตุที่ทำให้ชาวบ้านหนองแซงยังต้องติดธง-ติดป้ายคัดค้าน ท่ามกลางโครงการรถไฟความเร็วสูงที่เดินหน้าต่ออย่างค่อยเป็นค่อยไป

*ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการลงพื้นที่ทำข่าว สนับสนุนโดยชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

Tags: , , , , , ,