ไม่สุภาพ
บริการไม่ได้มาตรฐาน
โขกราคา สมควรแล้วที่จะอวสาร
เพียงข้ามคืน หลังข้อความเปิดใจของโชเฟอร์รถแดงถูกเผยแพร่ในโซเชียล กระแสวิพากษ์วิจารณ์ก็ปะดังปะเดถมทับรถแดง หลายคนแนะนำตัวว่าเป็น ‘อดีต’ ผู้โดยสารรถแดงก่อนะจะพรั่งพรูประสบการณ์ย่ำแย่กับขนส่งคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดเชียงใหม่ บ้างว่าโดนโกง บ้างว่าขับอ้อมทำหัวเสีย บ้างก็ถูกขู่คุกคามจาก ‘โชเฟอร์’ จากความไม่พอใจ
ขณะที่หลายคน ‘สมน้ำหน้า’ ที่คนขับรถแดงจำนวนหนึ่งจะโอดครวญว่ารถสองแถวสี่ล้อแดงที่อยู่คู่กับเชียงใหม่มาเนิ่นนานจะถึงกาลสูญพันธุ์ ตามที่โชเฟอร์หลายคนโอดครวญ
เพราะหลายครั้งสิ่งที่กล่าวมานั้นก็สำทับมาด้วยหลักฐานทั้งภาพและวิดีโอที่แสดงให้เห็นพฤติกรรมบย่ำแย่ชัดเจนของเหล่าคนขับรถแดง และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ ‘รถแดง’ ตกเป็นจำเลยจากพฤติกรรมของโชเฟอร์ นำไปสู่ความเอือมระอาของผู้โดยสารให้หันหน้าหาตัวเลือกอื่น ด้วยเหตุผลทั้งด้านราคา ด้านความสะดวกสบาย และด้านความปลอดภัย
แต่คำถามก็คือบรรดาโชเฟอร์เหล่านี้คิดอย่างไรกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์?
“มันก็มีคนขับรถแดงบางคนที่เป็นอย่างที่เขาว่าจริงๆ เขาไม่ได้ทำงานพวกนี้ด้วยใจบริการเหมือนกับคนสมัยป้า ป้ารักอาชีพรถแดงมากนะ รักในการบริการ เวลาผู้โดยสารมาก็พูด ได้ค่ะ เวลาปฏิเสธก็บอก ไม่เป็นไรค่ะ”
ท่ามกลางเสียงก่นด่า เสียงสมน้ำหน้าคนขับรถแดง ‘ป้าจันทร์’ โชเฟอร์รถแดงวัย 68 ปี ยังคงขับรถอ้อมเมืองไปมาด้วยหวังจะได้รับการโบกมือจากลูกค้า แม้ว่าสถานการณ์ของรถแดงจะไม่สดใสนัก ก็ไม่ได้ทำให้เธอรู้สึกถอดใจจากพวงมาลัย เพราะเป็นอาชีพที่เธอรัก และทำมานาน
ปีนี้เป็นปีที่ 20 ที่ป้าจันทร์ขับรถแดง เธอเริ่มขับมาตั้งแต่อายุ 40 กว่า ตั้งแต่สมัยที่เชียงใหม่ยังไม่ได้มี ‘ทางเลือก’ อื่นในระบบขนส่งมวลชน พร้อมกับ ‘ลุงสม’ สามีของป้าจันทร์
ทั้งคู่เป็นโชเฟอร์รถแดงมามากกว่า 20 ปี หากจะเรียกว่า ‘ครอบครัวรถแดง’ ก็คงจะไม่ใช่เรื่องผิด และต่างคนต่างขับ จนสามารถไถ่ถอนรถแดงมาเป็นของตัวเองได้แล้ว
เหตุที่ผู้เขียนพูดคุยกับป้าจันทร์ เนื่องจากครั้งหนึ่งผู้เขียนมีประสบการณ์กับรถแดงของป้าจันทร์และลุงสมในฐานะ ‘ผู้โดยสาร’ ค่าโดยสารของทั้งสองนั้นย่อมเยาว์เป็นไปตามราคาโดยสารของรถแดงทั่วไป เสริมด้วยการบริการที่ยึดเอาลูกค้าเป็นสำคัญสวนทางกับกระแสที่เกิดขึ้นกับรถแดงขณะนี้ จึงเป็นเหตุผลของการสัมภาษณ์ป้าจันทร์ เพื่อสอบถามถึงประสบการณ์ และมุมมองต่ออาชีพ ‘โชเฟอร์รถแดง’ ในครั้งนี้
“แต่ก่อนขับรถแดงหาเงินง่ายนะ ตื่นเช้ามาขับรอบหนึ่งก็ได้เงินแล้ว ขับตอนบ่ายอีกก็ได้อีก คนใช้บริการเยอะ แค่ขับไปบนถนนเดี๋ยวคนก็เรียกแล้ว เรามั่นใจว่าเขาต้องเรียกเราแน่นอน”
หากย้อนกลับไปสักประมาณ 20 ปี ครั้งที่ป้าจันทร์ตั้งต้นเข้ามาเป็นโชเฟอร์รถแดง คนริมถนนคงโบกมือขานเรียกรถแดงกันอย่างคึกคัก เหตุเพราะทางเลือกการเดินทางในตัวเมืองเชียงใหม่ไม่ได้มีมากอย่างปัจจุบัน ที่สามารถเรียกรถผ่านแอพพลิเคชั่นการเดินทางบนโทรศัพท์มือถือได้ และความคึกคักในสมัยก่อนนี้เองที่ทำให้รายได้จากการขับรถแดงของป้าจันทร์ และลุงสม สามารถส่งลูกสาวคนเล็ก และลูกชายคนโตเรียนจบจนได้ใบปริญญา
“ป้าขับรถแดงส่งลูกคนเล็ก กับคนโตจนจบมหาวิทยาลัย คนหนึ่งจบมหิดลออกมาเป็นครูสอนเปียโน คนหนึ่งจบด้านคอมพิวเตอร์ อยู่กรุงเทพฯ ด้วยกันทั้งคู่นะ ตอนนี้ก็ทำงานกันหมดแล้ว”
แล้วป้าจันทร์ได้รายได้จากการขับรถแดงเท่าไร เราถาม
“โหย” ป้าจันทร์อุทาน ก่อนจะพูดต่อว่า “ออกไปเดือนหนึ่ง หมื่นหนึ่งต้องได้แล้ว” ป้าจันทร์พูดพลางหัวเราะเบาๆ สิ่งนี้เป็นเหตุผลอย่างหนึ่งที่ทำให้เธอตัดสินใจออกจากโรงงานทำไม้ในประเทศเมียนมาหอบข้าวของกลับเชียงใหม่เพื่อมาขับรถแดง
ทว่า “ตอนนี้เหรอ เดือนละหมื่นยังไม่ได้เลย”
ไม่แปลกที่ป้าจันทร์ จะหักมุมคำตอบถึงรายได้จากอาชีพของเธออย่างรวดเร็ว เพราะภาพความเงียบเหงาตาม ‘คิวรถ’ ก็น่าจะบ่งบอกได้ว่า รถแดงในวันนี้นับว่าซบเซากว่าแต่ก่อน และยังคงซบเซามากขึ้นเรื่อยๆ จากจำนวนรถแดงที่มีมากกว่าความต้องการของผู้ใช้งาน
ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาที่บรรดาผู้โดยสารบริภาษถึงบริการของ ‘รถแดง’ นั้น สร้างปัญหา สร้างผลกระทบให้กับระบบขนส่งมวลชนอันเป็นสัญลักษณ์ของเมืองเชียงใหม่จริง
นอกจากภาพความเหงาของรถแดง คำพูดของป้าจันทร์ก็ช่วยยืนยันกับเรา ว่าแต่ก่อนแกขับรถวนมุมไหนของเมืองก็เจอผู้โดยสาร ผิดกับปัจจุบันที่เธอขับวนทั้งเมืองก็อาจพบกับความว่างเปล่า ไร้เสียงเรียก โบกมือจากลูกค้าริมทาง ทั้งรายได้ของป้าจันทร์ที่ว่า “เอาทั้งวันได้แค่ 200 300 บางทีขับวันทั้งวันไม่ได้สักบาท ค่าน้ำมันก็ไม่เหลือ ทุกวันนี้เราขับแบบขาดทุนนะ” ก็นับว่าสะท้อนถึงความนิยมขนส่งโบราณที่เสื่อถอยลงทุกที
ลองคิดดูเล่นๆ ว่าหากวันนี้ ป้าจันทร์ยังมีภาระที่ต้องส่งลูกทั้งสองเรียนต่อ รายได้เพียงวันละ 300 บาทจะเพียงพอส่งลูกหัวแก้วหัวแหวนจบสูงได้สักเพียงใด
“ส่วนหนึ่งที่รายได้หายไปก็เพราะแกร็บน่ะแหละ ค่าโดยสารของเขาถูกกว่าเรา เดี๋ยวนี้คนก็ใช้โทรศัพท์เรียกรถเยอะ ของรถแดงจริงๆ ก็มีที่ใช้โทรศัพท์เรียกนะ แต่ก็บางคนที่เก่งๆ เท่านั้นแหละ”
คำว่า ‘เก่ง’ ของป้าจันทร์ หมายถึง ผู้ที่ใช้โทรศัพท์มือถือ และเข้าร่วมแอปพลิเคชันการเดินทาง เพื่อให้ผู้โดยสารเรียกรถแดงผ่านแอปพลิเคชันได้ แต่สำหรับป้าจันทร์โชเฟอร์ขับรถแดงในวัยเกษียณ การใช้นวัตกรรมนี้โทรหาใครต่อใครได้ และใช้ไลน์ก็นับว่าเกินพอแล้วที่เธอจะทำได้
“คนขับรถแดงอายุมาก รถเก่าๆ เขาไม่มีกันหรอก ยิ่งคนแก่ๆ แบบป้าจันทร์ยิ่งไม่มี”
“เราขับรถแดงอย่างเดียวก็หากินลำบากมากนะ รถแดงไม่มีลูกค้า เราก็ไม่มีรายได้”
นับว่าโชคดี ที่ป้าจันทร์กับลุงสมผู้เป็นสามีทำงานอย่างหนักในยุครุ่งเรืองของรถแดง เพื่อส่งรถและมีรถแดงเป็นของตัวเอง ภาระการใช้จ่ายจึงพอบรรเทาไปบ้าง เหลือเพียงภาระปากท้องในแต่ละวัน แต่หากมองกลับไปยังโชเฟอร์ร่วมชะตากรรมคนอื่นๆ ที่ยังต้องส่งเงินผ่อนเช่ารถแดงหารายได้ ก็ไม่วายต้องพบกับปัญหารายได้ไม่พอจ่ายพัลวัน
“คนขับรถแดงไปด้วยผ่อนรถไปด้วยมีเยอะนะลูก”
“ผ่อนไม่หมดลำบากแน่นอน โอกาสโดนยึดรถก็สูง ป้าเห็นบางคนขับรถแดงเสร็จก็ไปทำงานเสริม วันไหนขับรถแดงไม่ได้สักบาทก็ออกไปวิ่งส่งของ บ้างก็ไปทำงานก่อสร้าง หรือใครที่หนุ่มๆ หน่อยก็ไปรับจ้างขึ้นต้นลำไยกัน”
“เราสงสารเขานะ แต่เราก็ไม่รู้จะทำอย่างไรเหมือนกัน เราเองก็ต้องประหยัดมากๆ พยายามประคองชีวิตให้อยู่ได้”
สำหรับป้าจันทร์ การอยู่กินโดยมีฐานเป็นอาชีพขับรถแดงมีแต่คำว่าประหยัด สะท้อนชัดระหว่างสัมภาษณ์ที่ป้าจันทร์พูดอยู่หลายช่วงตอนว่าตัวเองต้องประหยัดทั้งเรื่องกิน และการใช้ชีวิต นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเธอถึงมีโอกาสได้รับประทานอาหารดีๆ ได้เพียงเดือนละมื้อ คือมื้อสเต๊กราคาไม่เกินร้อยบาทต่อจาน
“แต่เราก็ไม่เคยรบกวนลูกเราเลยนะ เขามีครอบครัวแล้ว เราก็ปล่อยให้เขาอยู่ดูแลครอบครัว เว้นแต่ว่าจะเหลืออดจริงๆ เราถึงจะขอให้ลูกช่วย” ป้าจันทร์บอกกับเรา
เธอกล่าวเสริม ว่าโชเฟอร์ที่มีพฤติกรรมย่ำแย่จนทำให้อาชีพของเธอกลายเป็นจำเลยสังคมอยู่บ่อยครั้ง เป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้มีใจรักในอาชีพขับรถแดงจริงๆ
แน่นอน ว่าพฤติกรรมของ ‘คนอื่น’ ที่ขับรถแดงเช่นเดียวกับเธอ มีผลกับความนิยม และรายได้ของโชเฟอร์รถแดงอย่างป้าจันทร์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเธอยอมรับว่าต้องปรับตัวทั้งคนขับ และรถอยู่บ่อยครั้ง โดยการพยายามแช่แข็งค่าโดยสาร การบริการที่ดีกว่าเดิม และการทำให้รถของเธอสะอาดอยู่เสมอ แต่หากมีการเข้ามาของทางเลือกด้านการเดินทางอื่นๆ มากขึ้น ชะตากรรมของเธอกับอาชีพโชเฟอร์รถแดงก็คงยืนอยู่บนความไม่มั่นคงด้วยเช่นกัน
“แต่หากขัดขวางการเข้ามาของสิ่งใหม่ ก็เท่ากับขัดขวางความเจริญของเมืองหรือไม่” เรายกคำถามจากโซเชียลมาถามกับป้าจันทร์
“คนขับรถแดงไม่ได้ขัดขวางความเจริญนะ เราบริการลูกค้า คนแก่ นักศึกษา ทำไมเราจะขัดขวางความเจริญของเชียงใหม่ล่ะ เราเป็นแค่ผู้ให้บริการ”
“ขนส่งอื่นๆ หากจะเข้ามาในเชียงใหม่ เข้ามาได้เลยนะ เพียงแต่ขอให้เข้ามาอย่างถูกต้องตามระบบขนส่งบริการสาธารณะ” เธอพูดอย่างชัดถ้อยชัดคำ
จริงอยู่ ที่คำตอบของป้าจันทร์จะบอกว่า ‘ไม่ขัดขวาง’ แต่จะปฏิเสธได้อย่างไรว่าการเข้ามาของทางเลือกการเดินทางใหม่ๆ ในอนาคตที่สะดวกกว่า สบายกว่า หรือปลอดภัยกว่าจะไม่แย่งส่วนแบ่งทางการตลาดขนส่งในเมืองของรถแดง และในที่สุด ขนส่งมวลชนแบบ ‘รถแดง’ จะหลงเหลือเพียงการเป็น ‘สัญลักษณ์’ เป็น ‘ประวัติศาสตร์’ มากกว่าจะเป็นระบบขนส่งมวลชนที่ใช้งานได้จริง เพราะการกระทำแย่ๆ ของคนขับรถแดงบางกลุ่ม บางคน
ป้าจันทร์ยังหวังลึกๆ ว่า การเข้ามาของทางเลือกใหม่ด้านการเดินทางที่ว่าจะไม่ทำให้อาชีพที่เธอทำอยู่ต้องสูญหายกลายเป็นประวัติศาสตร์ไร้ลมหายใจ ไม่ใช่แค่รถแดงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงโชเฟอร์วัย 68 ปีอย่างเธอด้วย
“เราก็ยังจะขับรถแดงต่อไปแบบนี้ เอาจนกว่าแขนจะจับพวงมาลัยไม่ไหว เพราะก็ไม่รู้จะไปทำอะไร แล้วเราก็รัก รักในอาชีพนี้ เราอยากจะให้รถแดงอยู่คู่กับเชียงใหม่ไปเรื่อยๆ”
“หากเชียงใหม่ไม่มีรถแดง มันก็คงจะขาดอะไรแดงๆ วิ่งบนถนน คนเฒ่าคนแก่ที่ใช้แอปไม่เป็นเขาก็คงลำบากน่าดู”
“สำหรับป้าในตอนนี้ รถแดงคงเป็นความหวังเดียวที่จะทำให้เราได้ใช้ชีวิตล่ะ” ป้าจันทร์ทิ้งท้าย
Tags: เชียงใหม่, รถแดง, ขนส่งเชียงใหม่, สี่ล้อแดง