เฟซบุ๊กพยายามกอบกู้ชื่อเสียงจากผู้ใช้ โดยสัปดาห์นี้มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นหลายอย่าง ทั้งเรื่องการออกมาตรฐานชุมชนใหม่ การเปิดตัวเครื่องมือเพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้เฟซบุ๊ก ขณะเดียวกันก็ออกฟังก์ชั่นใหม่ ชิงตลาดแอปหาคู่ด้วย

ต้องบอกว่า 14 ปีหลังจากเฟซบุ๊กเริ่มเปิดให้บริการมา ช่วงเวลานี้น่าจะหนักหน่วงที่สุด หลังเกิดกรณีอื้อฉาวเคมบริดจ์แอนะลีติกา ที่พบว่า ข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้เฟซบุ๊กหลายสิบล้านคนรั่วไหล และถูกนำไปใช้ในการวางยุทธศาสตร์หาเสียงในการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกา เรื่องนี้ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์เฟซบุ๊กว่าไม่ได้พยายามมากพอในการปกป้องข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ จนทำให้แพลตฟอร์มถูกใช้เป็นเครื่องมือต่างๆ รวมถึงการสร้างข่าวปลอม

และเมื่อวานนี้เอง (1 พ.ค.) ยาน คุม (Jan Koum) ซีอีโอผู้ร่วมก่อตั้งวอตส์แอป (WhatsApp) แอปพลิเคชั่นสำหรับส่งข้อความ (ที่ปัจจุบันเป็นของเฟซบุ๊กไปแล้ว) เพิ่งประกาศลาออก วอชิงตันโพสต์ตั้งข้อสังเกตว่า การลาออกครั้งนี้เป็นผลมาจากความขัดแย้งกับกลยุทธ์ด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนตัวของเฟซบุ๊ก ซึ่ง ไบรอัน แอคตัน (Brian Acton) หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งวอตส์แอปอีกคนหนึ่งลาออกไปเมื่อเดือนที่แล้ว และยังร่วมโพสต์แฮชแท็ก #DeleteFacebook ด้วย

ตอนนี้ เฟซบุ๊กจึงแสดงออกถึงความพยายามรับผิดชอบ เช่น การออกมาตรการใหม่ๆ มาแก้ไขข้อกังวลของผู้ใช้ ทั้งเรื่องข้อมูลส่วนตัวและเรื่องข่าวปลอม

เริ่มตั้งแต่การเปิดเผยมาตรฐานชุมชนใหม่  (25 เม.ย. 61) ให้ผู้ใช้รู้ว่าหลักเกณฑ์ที่เฟซบุ๊กใช้พิจารณาว่าเนื้อหาลักษณะใดที่ห้ามโพสต์บนเฟซบุ๊ก เช่น ภาพโป๊เปลือยของเด็ก แม้พ่อแม่จะเป็นผู้โพสต์ การซื้อขายยาเสพติด การปลุกระดมสร้างความรุนแรง ข้อมูลส่วนตัวที่ทำให้ระบุตัวตนได้ เช่น เลขประจำตัวประชาชน หมายเลขหนังสือเดินทาง การข่มขู่คุกคาม เป็นต้น

ในงานประชุมประจำปีของนักพัฒนาของเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 61 มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์กกล่าวสุนทรพจน์ บอกว่า “มันเป็นปีที่โหดมาก” และยอมรับว่าเขาไม่ได้ตอบคำถาม “ชัดเจนพอ” เกี่ยวกับการควบคุมข้อมูล ตอนที่ให้การกับสภาคองเกรส และประกาศเปิดตัวเครื่องมือเพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้เฟซบุ๊ก โดยมีฟังก์ชั่น ‘Clear History’ เพื่อล้างประวัติการใช้งานอินเทอร์เน็ต เขาอธิบายว่า “จะช่วยให้ควบคุมและล้างประวัติการเข้าเว็บบนเฟซบุ๊กได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่คุณเพิ่งคลิก เว็บไซต์ที่เพิ่งเข้าดู และอื่นๆ”

แต่ซัคเคอร์เบิร์กก็เตือนผู้ใช้ว่าการลบข้อมูลคุกกี้ (cookies) ในเว็บบราวเซอร์อาจจะไม่ใช่วิธีที่ดี โดยบอกว่า “เฟซบุ๊กของคุณอาจทำงานไม่ดี เมื่อมันต้องเรียนรู้เกี่ยวกับตัวคุณใหม่”

ในโพสต์ที่เขาประกาศเรื่องเครื่องมือใหม่นี้ ซัคเคอร์เบิร์กเขียนว่า “สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากประสบการณ์การถูกไต่สวนจากสภาครองเกรสคือ ผมไม่ได้ให้คำตอบที่ชัดเจนมากพอต่อคำถามที่เกี่ยวกับข้อมูล เรากำลังทำงานเพื่อให้แน่ใจว่าการควบคุมนี้ชัดเจน และยังมีอีกหลายอย่างตามออกมา”

แต่นอกจากการเล่นบทขอโทษ เฟซบุ๊กก็เดินหน้าเปิดตัวลูกเล่นใหม่ แน่นอนว่าเป็นลูกเล่นที่อาศัยข้อมูลส่วนบุคคลเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก นั่นก็คือ เฟซบุ๊กกำลังจะออกฟีเจอร์หาคู่

ฟีเจอร์หาคู่ที่เน้นไปที่ ‘ความสัมพันธ์ที่มีความหมาย’ จะเป็นคู่แข่งกับทินเดอร์โดยตรง แต่มีเป้าหมายเพื่อสร้างความสัมพันธ์ระยะยาว “เราต้องการให้เฟซบุ๊กเป็นที่ซึ่งคุณเริ่มความสัมพันธ์ที่มีความหมาย เราออกแบบระบบด้วยการคำนึงถึงความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยตั้งแต่แรก”

วิธีการทำงานของฟีเจอร์นี้คือ คุณจะได้รับการแนะนำจากคนที่ไม่ใช่เพื่อนเท่านั้น และเลือกได้ว่าจะกดใช้ฟังก์ชั่นนี้หรือไม่ โปรไฟล์สำหรับแอปหาคู่นี้จะใช้เฉพาะชื่อ และจะไม่มีเนื้อหาใดๆ ปรากฏในนิวส์ฟีดเลย ผู้ใช้สามารถค้นหากลุ่มหรืออีเวนต์ที่สนใจเพื่อหาคนที่มีความสนใจแบบเดียวกันได้ คุณ ‘ปลดล็อก’ อีเวนต์โดยการคลิกที่หน้าอีเวนต์นั้น แล้วค้นหาคนที่จะไปงานนั้นหรืออยู่ที่นั่นได้ เมื่อเจอเขาแล้ว ติดต่อกับเขาด้วยการส่งข้อความที่ไม่ผูกติดกับวอตส์แอปหรือเมสเซนเจอร์

นอกจากนี้ ในวันเดียวกันนี้ จู่ๆ ผู้ใช้เฟซบุ๊กก็พบว่า มีปุ่มใหม่เกิดขึ้นท้ายเนื้อหาทุกโพสต์บนหน้าฟีดเฟซบุ๊กถามว่าต้องการรายงานว่ามันเป็นเฮทสปีชไหม “คุณคิดว่าโพสต์นี้มีเนื้อหาที่เป็นเฮทสปีชหรือไม่” กด ใช่/ไม่ใช่ ปุ่มนี้อยู่ไม่นาน แค่สองชั่วโมงก็หายไป โฆษกของเฟซบุ๊กออกแถลงการณ์ว่าเป็นความผิดพลาดจากการทดสอบที่ทำให้มันออกสู่สาธารณะ “นี่เป็นการทดสอบระบบภายในบริษัทที่กำลังพยายามทำความเข้าใจความแตกต่างของเฮทสปีชแบบต่างๆ รวมทั้งข้อความที่เราคิดว่าไม่ใช่เฮทสปีชด้วย”

“เราต้องออกแบบเทคโนโลยีที่ช่วยให้คนใกล้ชิดกันมากขึ้น ถ้าเราไม่ทำ โลกจะไม่หมุนไปในทิศทางนี้ด้วยตัวมันเอง” สุนทรพจน์ครั้งนี้ของซัคเคอร์เบิร์กแตกต่างจากปีที่แล้ว ซึ่งเน้นที่อนาคตของเทคโนโลยี AR (augmented reality)

ที่มาภาพ: REUTERS/Stephen Lam

ที่มา:

Tags: , , , , , ,