หลังจากที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2016 เฟซบุ๊กถูกใช้เป็นพื้นที่ปล่อยข้อมูลเท็จ แพร่กระจายข่าวปลอม รวมทั้งเชื่อมโยงกับการแทรกแซงจากรัสเซีย การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งต่อไปในปี 2020 นี้ เฟซบุ๊กเตรียมรับมือโดยประกาศเมื่อวันที่ 28 สิงหาคมว่า ตั้งแต่เดือนกันยายนนี้ ผู้ที่ซื้อโฆษณาทางการเมืองจะต้องพิสูจน์ตัวตน และให้ข้อมูลด้วยว่าใครจ่ายเงินค่าโฆษณา

การจ่ายเงินโฆษณาให้เฟซบุ๊กกลายเป็นเครื่องมือหลักสำหรับการทำแคมเปญทางการเมือง เพื่อเจาะจงส่งสารไปถึงผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เป็นเป้าหมาย สำหรับการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงนี้ ทรัมป์่ใช้เงินโฆษณาในเฟซบุ๊กไปแล้ว 9.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนเฟซบุ๊กก็พยายามทำให้การโฆษณาเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองโปร่งใสมากขึ้น โดยใช้วิธีต่างๆ ผสมผสานกัน และเริ่มใช้ “คลังโฆษณา” ซึ่งเป็นฐานข้อมูลการโฆษณาเกี่ยวกับประเด็นทางสังคม การเลือกตั้ง และการเมืองเมื่อสองปีก่อน

ทั้งนี้ ตามข้อบังคับใหม่ของเฟซบุ๊กที่เพิ่งประกาศออกมานี้ ผู้ซื้อโฆษณาต้องให้ข้อมูลส่วนบุคคลเพิ่ม เช่น ที่อยู่ หมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษี หรือเลขประจำตัวที่ลงทะเบียนไว้กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง อีเมลขององค์กร เนื้อหาที่ผ่านการตรวจสอบแล้วจะได้รับการประทับว่า ‘จ่ายโดย’ (Paid for by)  เฟซบุ๊กจะติดป้ายว่าเป็น ‘องค์กรที่ได้รับการยืนยันแล้ว’ ในคลังข้อมูลโฆษณาของเฟซบุ๊ก

ภายในกลางเดือนตุลาคม ถ้าผู้ลงโฆษณารายใดไม่ให้ช้อมูลเหล่านี้ ก็จะถูกระงับชั่วคราว แต่สำหรับองค์กรไม่แสวงหากำไรหรือนักกิจกรรม ไม่ต้องส่งข้อมูลรายละเอียดของผู้บริจาค

เคที ฮาร์บาร์ธ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายสาธารณะของเฟซบุ๊กกล่าวว่า อาจจะยากสำหรับบริษัทในการตรวจสอบข้อมูลนี้ เพราะว่าไม่มีอำนาจใดๆ ภายใต้กฎหมาย เหตุที่เฟซบุ๊กทำแบบนี้เพราะรัฐบาลพยายามเข้ามากำกับดูแลพื้นที่นี้มากขึ้น 

นอกจากนี้เฟซบุ๊กจะเปลี่ยนนโยบายโฆษณาสำหรับประเด็นร้อน เช่น ผู้อพยพเข้าเมือง การควบคุมอาวุธปืน และสภาวะโลกร้อน แต่ยังไม่ชัดเจนว่าเฟซบุ๊กจะทำอย่างไร

เฟซบุ๊กจะเฝ้าติดตามอย่างเข้มข้น โดยปลดโฆษณามีเนื้อหาให้ยับยั้งการลงคะแนน แม้ว่าตอนเลือกตั้งกลางเทอมเมื่อปีที่แล้ว เฟซบุ๊กได้ดำเนินการนำเนื้อหาบางส่วนออกไป แต่ฮาร์บาร์ธก็บอกว่า จนถึงตอนนี้ บริษัทยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนต่อเรื่องนี้

ที่มา:

ภาพ: REUTERS/Dado Ruvic

Tags: