ทุกวันนี้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (Climate Change) ได้กลายเป็นปรากฏการณ์วาระเร่งด่วนระดับโลกที่ไม่มีประเทศไหนไม่พูดถึง ในขณะที่เทรนด์สีเขียวกำลังค่อยๆ ทวีความสำคัญมากขึ้นทุกวัน ทุกบริษัทต่างพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อโฆษณาให้ผู้บริโภคได้รู้ว่า ตนเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนไปสู่ ‘อนาคตคาร์บอนต่ำ’
แน่นอนว่า อุตสาหกรรมภาคส่วนที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด ย่อมหนีไม่พ้นอุตสาหกรรมอาหาร จึงเกิดแนวคิดอาหารคาร์บอนต่ำ (Low-Carbon Diet) ขึ้น แนวปฏิบัติหลักคือการลดการบริโภคเนื้อสัตว์ หันมาบริโภคอาหารที่สร้างรอยเท้าคาร์บอน (Carbon Footprint) น้อยที่สุดอย่างอาหารจำพวกพืช ไม่ว่าจะเป็นผัก ผลไม้ ธัญพืช หรือพืชตระกูลถั่วต่างๆ
สิ่งที่เราอาจไม่รู้ คือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นชามข้าวแห่งเอเชีย (Rice Bowl of Asia) ที่คำว่า ‘ข้าว’ สามารถสื่อแทนความหมายเดียวกันกับคำว่า ‘อาหาร’ ได้นั้น อุตสาหกรรมธัญพืชอย่างข้าว ที่ดูเผินๆ เหมือนไม่น่าจะส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมสักเท่าไร กลับมีส่วนในการปล่อยก๊าซมีเทน (Methane) สู่บรรยากาศมากถึง 10% ของโลก หรือ 25-33% ของภูมิภาค โดยเฉพาะในไทยที่นิยมบริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก และ 55% ของปริมาณก๊าซมีเทนทั้งหมดที่มาจากการทำเกษตรกรรมในประเทศไทย ล้วนมีที่มาจากการปลูกข้าว
ดังนั้นที่ผ่านมา กว่าจะได้ข้าวมาแต่ละถ้วย เราทุกคนต่างก็มีส่วนไม่มากก็น้อย ในการสร้างรอยเท้าคาร์บอนจำนวนมากในกระบวนการผลิต
ถ้าอย่างนั้นต้องทำอย่างไร ประเทศไทยจึงจะสามารถผลิต ‘ข้าวคาร์บอนต่ำ’ ให้คนไทยสามารถเลือกบริโภคได้?
คำตอบที่อาจฟังดูซับซ้อน แต่แท้จริงแล้วกลับเรียบง่ายกว่าที่หลายคนคาดคิด คือวิธีการปลูกข้าว ‘แบบเปียกสลับแห้ง’ (Alternate Wet and Dry: AWD) ที่ WAVE BCG ธุรกิจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม (ดำเนินการภายใต้บริษัทแม่ Wave Entertainment) และ Spiro Carbon องค์กรที่ดำเนินการเรื่องคาร์บอนเครดิตให้กับชาวนาและเกษตรกร กำลังร่วมมือกันผลักดัน
การปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง เป็นการปลูกข้าวแนวใหม่ที่เว้นช่วงเปียกและช่วงแห้งให้กับข้าว ผนวกกับการลดการใช้ปุ๋ยและลดการขังน้ำบนผืนนา เราอาจมีภาพจำว่าข้าวเป็นพืชที่ต้องปลูกในที่น้ำขัง ทำให้คนส่วนมากอนุมานเอาว่าหากเอาน้ำออกจากนา ข้าวจะต้องแห้งเหี่ยวหรือตาย
แต่นอกจากจะไม่ตายแล้ว ยังเป็นการเพิ่มคุณภาพข้าว ทำให้ได้ปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นอีก 20-30% ลดปริมาณน้ำที่ใช้ในการเพาะปลูกน้อยลงไปครึ่งหนึ่ง ลดพลังงานที่ใช้ในการสูบน้ำเข้าออกจากนา ที่สำคัญคือสามารถลดก๊าซมีเทนไปได้ถึง 70% และยังได้คาร์บอนเครดิตที่สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรรายย่อย
สิ่งที่สังคมไทยจะต้องทำความเข้าใจและ ‘Unlearn’ เสียใหม่ หากจะสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบการปลูกข้าวที่ยั่งยืนขึ้น คือ ‘ข้าวไม่ใช่พืชน้ำ แค่เป็นพืชที่ทนน้ำได้เท่านั้น’ วัตถุประสงค์หลักของการปล่อยน้ำขังไว้ในแปลงนาตลอดเวลา จึงไม่ใช่เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมอุดมคติในการเจริญเติบโตให้กับต้นข้าว แต่เป็นเพียงการป้องกันวัชพืชวิธีหนึ่ง ซึ่งภายหลังพบว่ามีข้อเสียมากกว่าข้อดีหลายประการ เช่น
1. ทำให้ต้นข้าวอ่อนแอ ขี้โรค ไม่แตกกอ ลดความสามารถในการเพิ่มผลผลิต
2. มีปัญหานาหล่ม เครื่องจักรเสียหายจากการทำนาต่อเนื่อง ไม่มีการพักนา
3. เกิดการหมักในแปลงนา นำไปสู่การปล่อยก๊าซมีเทนปริมาณมาก นอกจากจะส่งผลร้ายต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว หากรากข้าวดูดเข้าไป ต้นข้าวก็จะอ่อนแอ ล่อโรคและแมลงมาทำลาย
4. มีต้นทุนในการสูบน้ำเข้าออกจากนาสูง ทำให้เกิดปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรน้ำกันในชุมชน
5. ต้นทุนการผลิตสูง มีการใช้ปุ๋ยและสารเคมีโดยไม่จำเป็น เสี่ยงต่อภาวะขาดทุน และยังส่งผลให้สมดุลระบบนิเวศในแปลงนาเสื่อมโทรม สุขภาพชาวนาย่ำแย่ เกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ถึงผู้บริโภคข้าว
การก้าวสู่ระบบการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง ควบคู่ไปกับการเรียนรู้วิธีการกำจัดวัชพืชแบบครบวงจร โดยไม่ต้องพึ่งการสูบน้ำเข้ามาขังในนา จึงเป็นคำตอบที่ดีที่สุด ที่จะทำให้ประเทศไทยสามารถผลิตข้าวคาร์บอนต่ำบริโภคเองได้
หนึ่งในประเทศอาเซียนที่ล่วงหน้าไปก่อนไทยแล้วในเส้นทางนี้คือเวียดนาม เกษตรกรผู้ผลิตข้าวชาวเวียดนามกว่า 2 แสนรายที่อาศัยอยู่ในบริเวณปากแม่น้ำโขง ได้เปลี่ยนมาปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง ผลลัพธ์ที่ได้คือผลผลิตทางการเกษตรที่มากขึ้นทันที 10-18% นำไปสู่ตัวเลขกำไรที่มากขึ้นอีก 28.6% ทั้งยังลดการใช้น้ำไปได้ทันที 15-40% และประการที่สำคัญที่สุด คือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปได้ 7.3 ตันคาร์บอนไดออกไซด์
ไม่แน่ว่านี่อาจเป็นอนาคตของเกษตรกรไทยด้วยเช่นกัน
ปัจจุบันมีพื้นที่ทำการปลูกข้าวในแปลงทดลองเปียกสลับแห้งแล้วใน 6 จังหวัดด้วยกัน ได้แก่ สุพรรณบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี หากปลูกข้าวด้วยวิธีนี้ เกษตรกรผู้ปลูกจะสามารถขายคาร์บอนเครดิตได้ไร่ละ 500 บาทต่อปี ประเทศไทยมีนาข้าวทั้งหมดประมาณ 60 ล้านไร่ หากขายคาร์บอนเครดิตปีละ 500 บาทต่อไร่ ก็เท่ากับว่าจะมีเงินมากถึง 3 หมื่นล้านบาทไหลเข้ากระเป๋าชาวนา โดยไม่ผ่านกระเป๋านายทุน
จริงอยู่ที่ตลอดเวลาที่ผ่านมาเราอาจไม่เคยรู้ว่า กระบวนการผลิตของข้าวที่เราบริโภคเข้าไปทุกวันส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากน้อยเพียงใด แต่ในอนาคตอันใกล้นี้ เราอาจมีตัวเลือกใหม่เป็น ‘ข้าวคาร์บอนต่ำ’ ปลูกด้วยวิธีใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า นอกจากจะช่วยลดโลกร้อนแล้ว ยังเป็นนำไปสู่การเกษตรที่ยั่งยืน
ที่มา
Umali-Deininger, D. Greening the rice we eat. https://blogs.worldbank.org/eastasiapacific/greening-rice-we-eat#:~:text=Rice%20is%20responsible%20for%2010,of%20the%20region’s%20methane%20emissions.
สุภชัย ปิติวุฒิ. “ระบบผลิตเปียกสลับแห้ง แกล้งข้าว” โดย ชาวนาวนาหยุด.https://www.nstda.or.th/nac/2013/download/presentation/NAC2013_Set1/CC-305-02-PM/Supachai_Document.pdf
Tags: Wave BCG, Spiro Carbon, Environment, Alternate Wet and Dry, Low Carbon Diet