ขณะที่ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งใหญ่ อีกซีกโลกอย่างประเทศอังกฤษ ก็กำลังจะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นในวันพฤหัสบดีที่ 4 พฤษภาคมนี้
การเลือกตั้งท้องถิ่นของประเทศอังกฤษครั้งนี้มีความสำคัญยิ่งยวดในประวัติการณ์ สืบเนื่องจากพรรคอนุรักษนิยมสูญเสียการควบคุมในสภาผู้แทนราษฎร จึงทำให้มีจำนวนเก้าอี้ ส.ส.ว่างกว่าพันตำแหน่ง ถือเป็นจำนวนมากที่สุดนับตั้งแต่มีการเลือกตั้งท้องถิ่น
อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจ คือผู้สมัครฯ จากแต่ละพรรคต่างมีนโยบายแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการแก้ปัญหา ‘มลพิษในแม่น้ำ’ ซึ่งนโยบายดังกล่าวเป็น ‘ปัจจัยสำคัญ’ ที่จะนำไปสู่การชี้ขาดเลือกผู้ชนะการเลือกตั้งท้องถิ่น
จากงานวิจัยของกลุ่ม River Action ระบุว่า ประชาชนชาวอังกฤษแสดงความกังวลเกี่ยวกับมลพิษในแม่น้ำที่เพิ่มระดับสูงขึ้น และกว่าร้อยละ 94 สนับสนุนให้มีการเร่งแก้ไขสภาพแม่น้ำเสร็จสิ้นภายในปี 2030 และผู้สนับสนุนจำนวนเกินกว่าครึ่งลงความเห็นว่า การตัดสินใจลงคะแนนเสียงส่วนหนึ่งดูจากนโยบายในการแก้ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในแม่น้ำสายสำคัญของประเทศอังกฤษ
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2019 สำนักข่าวเดอะการ์เดียน (The Guardian) ได้เปิดโปงข้อมูลการลักลอบทิ้งสิ่งปฏิกูลและขยะปริมาณมหาศาลลงสู่แม่น้ำ ที่เป็นการกระทำของบรรดาบริษัทเอกชนและนิคมอุตสาหกรรมเกษตร พลันก่อให้เกิดปัญหามลพิษปนเปื้อนในแม่น้ำ จนปัญหาดังกล่าวถูกยกมาถกเถียงในสภาฯ โดยเฉพาะประเด็นความล้มเหลวจากการลงทุนสนับสนุนผังเมืองที่ไม่เอื้อต่อการบำบัดน้ำเสีย และการรับเงินใต้โต๊ะแลกกับการเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ไม่ลงโทษบริษัทที่กระทำความผิด
ทั้งนี้ คุณภาพแม่น้ำในประเทศอังกฤษอยู่ในระดับที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม โดย Rivers Trust ระบุว่า สิ่งที่ทำให้แม่น้ำจำนวนร้อยละ 53 ในอังกฤษไม่ผ่านเกณฑ์ มาจากการปนเปื้อนมลพิษและสิ่งปฏิกูลทั้งที่ยังไม่ผ่านการบำบัด และอีกร้อยละ 62 มาจากมลพิษทางการเกษตร ทั้งการใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง รวมถึงการทำฟาร์มปศุสัตว์ที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งล้วนส่งผลเสียต่อแม่น้ำ มิหนำซ้ำแต่ละกรณีมักพบปัญหา 1-2 สาเหตุในแม่น้ำเพียงสายเดียว
แอชลีย์ สมิธ (Ashley Smith) ผู้ก่อตั้งกลุ่มต่อต้านมลพิษจากสิ่งปฏิกูล (Wasp) ใช้เวลากว่า 6 ปี เพื่อตรวจสอบปัญหามลพิษในแม่น้ำอังกฤษ สมิธกล่าวว่า ที่ผ่านมาประชาชนถูกปิดปากเงียบในเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมจากรัฐบาล ทว่าปัจจุบันเรื่องดังกล่าวถูกพูดถึงแพร่หลาย โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ที่ประชาชนต่างให้ความสนใจ พร้อมออกมาตำหนิเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ละเลยปัญหามลพิษในแม่น้ำมานานหลายทศวรรษ
ขณะเดียวกัน แบร์รี วีตลีย์ (Barry Wheatley) ประธานพรรคกรีน กล่าวว่า เป็นเรื่องดีที่นักการเมืองจากพรรคอื่นๆ หันมาสนใจและตระหนักว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ต้องได้รับการแก้ไข ตราบใดที่ไม่ใช่แค่คำพูดเพื่อหวังชัยชนะจากการเลือกตั้ง เพราะการเลือกตั้งหลายครั้งที่ผ่านมา นักการเมืองล้วนมีนโยบายรับปากแก้ไขปัญหาให้ประชาชน แต่เมื่อได้เข้ามาทำหน้าที่จริงกลับเมินเฉยหายเข้ากลีบเมฆ
ด้านเบ็กกี มัลบี (Becky Malby) นักสิ่งแวดล้อมที่รณรงค์ขับเคลื่อนจนทำให้แม่น้ำยอร์กเชียร์ (Yorkshire) กลายเป็นแม่น้ำแห่งแรกในอังกฤษที่ได้รับสถานะว่า สามารถใช้น้ำเพื่ออุปโภคและบริโภคได้ มัลบีกล่าวว่า ประชาชนต่างไม่พอใจที่แม่น้ำและทะเลถูกใช้เป็นท่อระบายน้ำ แม้ประชาชนทุกคนยินดีจ่ายภาษีเพื่อให้แม่น้ำได้รับการดูแล แต่สิ่งที่เป็นอยู่กลับสวนทางโดยสิ้นเชิง เธอจึงวอนไปยังผู้แทนท้องถิ่นและนักการเมือง ให้รับฟังเสียงของประชาชนเสียที
“การเลือกตั้งเป็นข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนถึงระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นการที่คนท้องถิ่นออกมาเรียกร้องและด่าไปยังรัฐบาลในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง กำลังสะท้อนและเตือนหน่วยงาน รวมถึงนักการเมืองว่าพวกเขาต้องรับผิดชอบต่อประชาชนให้มากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะในช่วงเวลาหาเสียงเท่านั้น”
ที่มา
https://www.bbc.com/news/uk-politics-65190097
Tags: Environment, สิ่งแวดล้อม, ขับเคลื่อนด้วยการด่า, มลพิษในแม่น้ำ