นิตยสารงานวิจัยออนไลน์ Nature Communications ได้เผยแพร่งานวิจัยทางชีววิทยาที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์ประเภทปรสิตว่ามีความเกี่ยวข้องกันมาอย่างยาวนาน โดยศึกษาปรสิตจากการถอดรหัสพันธุกรรมที่ยังคงเหลืออยู่ในอุจจาระของชาวไวกิ้งและชนเผ่าพื้นเมืองโบราณ เมื่อ 2,500 ปีก่อน ที่ยังคงทิ้งร่องรอยในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศในแถบยุโรปและสแกนดิเนเวีย

โดยนักวิจัยได้ศึกษาฟอสซิลโบราณทั้งหมด 17 ตัวอย่าง จากแหล่งที่ตั้งถิ่นฐานของชาวไวกิ้งที่แตกต่างกัน เช่น ในพื้นที่ไวบอร์ก (Viborg) โคเปนเฮเกน (Copenhagen) ลัตเวีย (Latvia) และเนเธอร์แลนด์ (Netherlands) จากนั้นนำเข้ากล้องจุลทรรศน์เพื่อทำการวิเคราะห์ทางพันธุกรรม

การถอดรหัสพันธุกรรมดังกล่าวนำไปสู่การสร้างจีโนมของปรสิต ที่คาดการณ์ว่าเคยอาศัยอยู่ในร่างกายของมนุษย์ โดยนักวิจัยพบว่าปรสิตดังกล่าวคือ พยาธิแส้ม้า (Trichuris trichiura) จำแนกอยู่ในประเภทพยาธิตัวกลม มีรูปร่างคล้ายเเส้ มีหัวเรียวยาวคล้ายปลายเเส้ เเละส่วนท้ายของลำตัวอ้วนใหญ่คล้ายด้ามเเส้ พยาธิตัวเต็มวัยใช้ส่วนหัวฝังอยู่ในบริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนต้น พยาธิตัวผู้มีความยาวประมาณ 30-45 มม. ส่วนพยาธิตัวเมียมีความยาวประมาณ 35-50 มม โดยนักวิจัยคาดการณ์ว่าพยาธิดังกล่าวอาศัยและปรับตัวเข้ากับมนุษย์มาอย่างน้อย 5.5 หมื่นปี

คริสเตียน คาเปล (Christian Kapel) นักสัตววิทยาจากมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน (The University of Copenhagen) กล่าวว่า พยาธิชนิดนี้จะเดินทางโดยอาศัยดินหรือแหล่งน้ำที่ปนเปื้อนอุจจาระของผู้ป่วยที่มีไข่พยาธิฝังตัวอยู่ เมื่อใครที่ดื่มหรือสัมผัสกับพาหะดังกล่าวก็จะได้รับไข่ของพยาธิเข้าไปในร่างกาย

เมื่อพยาธิชนิดนี้เข้าไปฝังตัวในลำไส้ของโฮสต์ (Host) ใหม่ได้อย่างปลอดภัยแล้ว ไข่จะฟักออกมาและพยาธิตัวเมียจะวางไข่อย่างต่อเนื่องในอัตราที่สูงถึง 2 หมื่นฟองต่อวัน ซึ่งพยาธิชนิดนี้สามารถเติบโตได้เต็มที่และอยู่ได้นานถึง 1 ปี ดังนั้นจึงผลิตลูกหลานจำนวนมากและถูกขับออกจากอุจจาระเพื่อเป็นวัฏจักรต่อไป แต่สิ่งสำคัญที่ทำให้นักวิจัยค้นพบว่าพยาธิชนิดนี้คือพยาธิที่อาศัยในมนุษย์โบราณมาอย่างยาวนาน เนื่องจากไข่ของพยาธิแส้ม้าสามารถอยู่รอดในดินได้นานกว่าพาหะอื่นๆ

ไข่ของพยาธิแส้ม้ามีเปลือกไคตินที่แข็งเพื่อรักษาดีเอ็นเอ (DNA) ข้างใน โดยพยาธิชนิดนี้ปรับตัวให้อยู่ในดินได้อย่างยาวนาน ทำให้ทีมวิจัยสามารถค้นพบพวกมันในลักษณะฟอสซิลตามพื้นที่ขับถ่ายของมนุษย์โบราณ ขณะเดียวกัน ทีมนักวิจัยยังได้ตรวจสอบตัวอย่างจากมนุษย์ปัจจุบันทั่วโลก เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างกับจีโนมพยาธิในยุคโบราณ

ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่า ปรสิตได้ปรับตัวในการทำงานกับร่างกายมนุษย์มากกว่าที่จะต่อต้าน เพื่อที่จะทำให้ไม่มีใครสังเกตเห็น และสามารถดำเนินชีวิตตามวงจรชีวิตเพื่อแพร่กระจายไปยังโฮสต์คนต่อไปให้ได้มากที่สุด ดังนั้น ข้อมูลใหม่ทางชีววิทยาชิ้นนี้จะนำไปสู่การคิดค้นวิธีการป้องกันและการแพร่กระจายของปรสิตในร่างกายมนุษย์

“การแพร่กระจายของพยาธิแส้ม้าพบได้น้อยลงตั้งแต่หลังยุคอุตสาหกรรมเป็นต้นมา แต่โชคไม่ดีที่ในบางพื้นที่ของโลกยังคงมีเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยต่อการแพร่กระจายของพยาธิชนิดนี้ ซึ่งศูนย์ควบคุมโรคอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention: CDC) คาดว่าในปัจจุบันมีมนุษย์ติดเชื้อโรคจากพยาธิดังกล่าวสูงถึง 795 ล้านคนทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคที่มีสุขาภิบาลไม่ดี

“การทำแผนที่ความสัมพันธ์ระหว่างพยาธิแส้ม้ากับมนุษย์ในช่วงต่างๆ นำไปสู่การพัฒนาการออกแบบยาต้านปรสิตที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งสามารถใช้ป้องกันการแพร่กระจายของปรสิตในภูมิภาคที่กำลังประสบโรคชนิดนี้ โดยเฉพาะในแถบประเทศที่ยากจน เพื่อให้เข้าถึงการรักษาและการพัฒนาต่อไปในอนาคต”

ที่มา

https://www.sciencealert.com/viking-poop-helps-scientists-reconstruct-genome-of-ancient-human-parasite

https://www.manchester.ac.uk/discover/news/enormous-promise-for-new-parasitic-infection-treatment/

https://www.nature.com/articles/s41467-022-31487-x

Tags: ,