หลายคนคงเคยได้ยินวลี ‘เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว’ ที่หมายถึง การกระทำของสิ่งเล็กๆ สิ่งหนึ่ง ย่อมส่งผลกระทบถึงสิ่งที่ใหญ่กว่าเสมอ บ้างก็มองว่านี่เป็นเพียงทฤษฏีที่พูดกันอย่างติดตลก แต่จะเป็นเช่นนั้นเสมอไปหรือไม่
‘เมื่อปะการังทั้งโลกกำลังจะหายไปกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ภายใน 30 ปี’
ย้อนกลับไปเมื่อต้นปี 2020 โลกเผชิญกับสัญญาณเตือนหายนะทางทะเล คือแนวปะการังใหญ่ที่สุดโลกอย่าง ‘เกรตแบร์ริเออร์รีฟ’ (The Great Barrier Reef) ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติใต้ทะเล (ปี 1981) ทางชายฝั่งตะวันออกของประเทศออสเตรเลีย เป็นแนวปะการังที่มีความยาวรวมกันกว่า 2,300 กิโลเมตร ตามแนวชายฝั่ง และมีพื้นที่ทั้งหมดถึง 3.44 แสนตารางกิโลเมตร มีปะการังมากกว่า 600 ชนิด และเป็นบ้านของสัตว์ทะเลนานาชนิดอีกนับไม่ถ้วน ได้เกิดปรากฏการณ์ฟอกขาว (Coral bleaching) และตายไปเกินกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมด
สถิติย้อนหลัง 5 ปี จากนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลในสถาบัน ARC Centre of excellence for Coral reef Studies พบว่า อัตราการฟอกขาวที่รุนแรง เกิดขึ้นโดยแบ่งเป็น 3 ส่วน เริ่มจากการฟอกขาวในช่วงแนวปะการังตอนบนในปี 2016 ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ถัดมาในปี 2017 คือช่วงตอนกลาง 33 เปอร์เซ็นต์ และใน ปี 2020 ที่ผ่านมาพบว่ามีการฟอกขาวกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเมื่อนับรวมพื้นที่ทั้งหมดเท่ากับว่า ที่ผ่านมาเราสูญเสียแนวปะการังที่มีชีวิตไปแล้วกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า นี่คือสัญญาณเตือนภัยทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางทะเลที่ร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่ง และได้แต่เพียงหวังว่าอุณหภูมิของน้ำทะเลจะไม่สูงไปกว่านี้ เพื่อจะได้มีปะการังบางส่วนฟื้นตัวกลับมาบ้างในปีที่ผ่านมา
แต่ความหวังก็ค่อยๆ ดับลง เมื่อนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเลสเตอร์ (University of Leicester) ได้ลงพื้นที่สำรวจเก็บตัวอย่างแนวปะการังในพื้นที่ใหญ่ๆ หลายพื้นที่และพบข่าวร้ายว่า มนุษยชาติได้พาธรรมชาติและปะการังเหล่านี้เข้าสู่จุดวิกฤตและไกลเกินกว่าจะสามารถย้อนกลับได้อีก จีนส์ ซิงคี (Jens Zinke) ศาสตราจารย์ด้านบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยเลสเตอร์ กล่าวว่า ปะการังเป็นสัตว์ที่ต้องพึ่งพิงสาหร่ายขนาดเล็กที่เรียกว่า ‘Zooxanthellae’ ซึ่งทำหน้าที่สังเคราะห์แสงและผลิตอาหารให้กับปะการังถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ของสารอาหารทั้งหมด สาหร่ายดังกล่าวคือสิ่งที่ทำให้แนวปะการังมีสีสันสดใส มีตั้งแต่สีเขียว น้ำตาล ชมพู เหลือง แดง ม่วง หรือน้ำเงิน ตามแต่ละชนิดของปะการัง แต่เมื่ออุณหภูมิของน้ำทะเลที่สูงขึ้นเพียง 1-2 องศาเซลเซียส จากผลของภาวะโลกร้อนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงจากปัจจัยอื่นๆ ในระยะเวลาประมาณ 2-3 เดือนติดต่อกัน จะทำให้สาหร่ายเหล่านี้ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ เมื่อสาหร่ายตาย ปะการังก็จะเกิดการฟอกขาวในที่สุด
“ตอนนี้ช้าไปแล้วสำหรับคำเตือนที่ปะการังเหล่านี้บอกเรามาโดยตลอด ในเรื่องของภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กำลังเกิดขึ้น ปะการังเป็นสัตว์ชนิดแรกๆ ที่มีความอ่อนไหวเมื่ออุณหภูมิของโลกเปลี่ยนไป หากเรายังนิ่งเฉยต่อสิ่งเหล่านี้ ไม่เพียงแต่ปะการังที่เป็นบ้านของสัตว์ทะเลจะหายไป แต่แผ่นดินซึ่งเป็นบ้านและแหล่งเพาะพันธุ์อาหารนานาชนิดก็จะหายไปเช่นกัน”
นักวิจัยกลุ่มนี้คาดการณ์ว่าภายใน 30 ปี หากอุณหภูมิของทะเลยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปะการังทั่วทั้งโลกในทุกพื้นที่จะมีโอกาสรอดเพียงแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น การคาดการณ์นี้ตรงกับรายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) โดยมีการคาดการณ์ว่าปะการังที่เหลืออยู่ในปัจจุบันจะฟอกขาวและไม่สามารถกลับมาฟื้นฟูได้อีกแล้ว ทั้งที่ในความเป็นจริง แม้จะมีโอกาสเพียงน้อยนิด แต่ปะการังก็สามารถฟื้นฟูตัวเองได้ หากทุกปัจจัยเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวไม่ต่ำกว่า 20-30 ปี
แน่นอนว่า เมื่อเด็ดดอกไม้ย่อมสะเทือนถึงดวงดาว มนุษย์กำลังทำให้ปะการังให้ตายอย่างช้าๆ ด้วยการเร่งการเกิดของภาวะโลกร้อน ผลที่ตามมาย่อมสะเทือนไปทั้งโลก ถึงแม้ว่ามนุษย์จะอาศัยบนพื้นดิน แต่การตายของปะการังกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ย่อมเกี่ยวโยงกับชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์อย่างคาดไม่ถึง
ดร.เพชร มโนปวิตร นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว และผู้ร่วมก่อตั้ง ReReef ให้ข้อมูลในเรื่องของการรักษาปะการังและผลกระทบต่อมนุษย์หากปะการังฟอกขาว ในนิตยสาร a day ไว้ดังนี้
ประเด็นแรก ปะการังไม่ต่างจากป่าเขตร้อนชื้น หรือที่นักอนุรักษ์มักเรียกว่า ‘ป่าฝนแห่งท้องทะเล’ เนื่องจากเป็นแหล่งรวบรวมความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญที่สุดในทะเล หากเทียบจำนวนปะการังทั้งหมดที่กินพื้นที่น้อยกว่า 1 เปอร์เซ้นต์ ของพื้นที่ทั้งมหาสมุทร แต่กลับเป็นระบบนิเวศที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตถึง 1 ใน 4 ของทะเลทั้งหมด
ปะการังมีโครงสร้างเป็น 3 มิติที่ซับซ้อน เหมาะสมในการเป็นที่อยู่อาศัยและที่หลบภัยของสัตว์นานาชนิด เมื่อปะการังตาย โครงสร้าง 3 มิติเหล่านั้นจะพังทลายเป็นพื้นที่ราบ สิ่งมีชีวิตจะสูญเสียที่อยู่ ที่อนุบาลตัวอ่อนทั้งหมดจะหายไปกว่าครึ่งจากทั้งหมด แน่นอนว่าจำนวนประชากรของปลาที่อาศัยตามแนวชายฝั่งก็ลดน้อยถอยลงตามไปด้วย
ต่อมาคือ ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่พบได้ในหลายประเทศที่มีพื้นที่ติดทะเล ซึ่งแนวปะการังสามารถลดทอนสิ่งเหล่านี้ได้ ปะการังมีโครงสร้างที่เป็นเหมือนปราการที่สำคัญต่อแนวชายฝั่ง และสามารถป้องกันคลื่นที่เข้ามากัดเซาะชายฝั่งได้ งานวิจัยจากกรมทรัพยากรชายฝั่งและทะเลของไทยชี้แจงอย่างชัดเจนว่า แนวปะการังสามารถช่วยชะลอคลื่น โดยพื้นที่ที่ปะการังเสื่อมโทรมมีอัตราการกัดเซาะชายฝั่งมากกว่าพื้นที่มีปะการังอยู่อย่างสมบูรณ์ ซึ่งปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งเป็นปัญหาที่หน่วยงานรัฐมักเป็นไม้เบื่อไม้เมากับชาวบ้านมาโดยตลอด รัฐต้องการสร้างเพื่อชะลอการกัดเซาะ แต่การสร้างเหล่านั้นกลับไม่ถูกจุดประสงค์ และทำให้การเลี้ยวเบนของคลื่นผิดไปจากธรรมชาติ รวมทั้งมีการใช้งบประมาณที่ไม่คุ้มค่าเท่าที่ควร แทนที่เขื่อนกั้นคลื่นจะสามารถป้องกันกลับเป็นตัวเร่งและทำลายชายฝั่งเสียเอง แน่นอนว่าหากมีปะการังที่มีชีวิตย่อมดีกว่าการสร้างกำแพงกั้นคลื่นโดยไม่ต้องใช้งบประมาณแม้แต่บาทเดียว
“ตอนนี้เราก็กำลังเจอปัญหาการกัดเซาะรุนแรงมาก เราพยายามทำรั้วไม้ไผ่ เสาคอนกรีตดักทราย นู่นนี่นั่น แต่ในระบบนิเวศปะการังมีปลานกแก้วเป็นตัวหมุนเวียนแร่ธาตุอยู่แล้ว มันกัดกินปะการังแล้วถ่ายออกมาเป็นทราย เป็นการเติมทรายให้ธรรมชาติ ถ้าปะการังหมดไป ปลานกแก้วอยู่ไม่ได้ อธิบายง่ายๆ คือไม่มีคนเติมทราย มีงานวิจัยบอกว่า ทรายที่เกาะมัลดีฟส่วนใหญ่เป็นทรายที่มาจากปลานกแก้ว มันมีบทบาทสำคัญมากในการช่วยรักษาเกาะไว้ ถ้าปะการังหมดไป ทรายจะค่อยๆ ถูกกัดเซาะหายไป เกาะอาจจะหายไปเลยก็ได้ เพราะระดับน้ำทะเลพุ่งสูงขึ้นอยู่แล้วด้วย”
สุดท้ายคือ มหาสมุทรดูดซับความร้อนที่เกิดขึ้นจากโลกถึง 90 เปอร์เซ็นต์ และปะการังคือแหล่งกักเก็บคาร์บอนชั้นดีที่สุด การที่ปะการังมีชีวิตและช่วยกักเก็บคาร์บอนไว้ในระบบนิเวศ เป็นการทำงานที่ทุกคนไม่ต้องลงทุน แต่กลับได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า หากปะการังหายไปจากโลกเหลือเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ จำนวนที่สามารถกักเก็บก็จะน้อยตามไปด้วย ยิ่งเร่งให้เกิดโลกร้อนเร็วขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในอนาคต
แน่นอนว่า 3 ประเด็นที่กล่าวมา คือในเชิงการอนุรักษ์และทรัพยากร แต่ถ้าอนุรักษ์แล้วกินไม่ได้จะมีประโยชน์อะไร หรือใครจะต้องการมาอนุรักษ์อีกในอนาคต ดังนั้นเม็ดเงินหรือคุณค่าทางเศรษฐกิจย่อมเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลไม่แพ้กัน
ดร.เพชรแจงว่า ที่ผ่านมาการท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลัก โดยเฉพาะในบ้านเราทะเลคือรากฐานสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจ
“ยกตัวอย่างประเทศไทย การท่องเที่ยวมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงมาก เพิ่งมีงานวิจัยออกมาว่าประเทศไทยเป็นประเทศ Top 5 ที่ได้ประโยชน์จากปะการังในแง่การท่องเที่ยวปีละกว่า 8 หมื่นล้านบาท พอเอามุมเศรษฐกิจมาจับ มันจะเริ่มเห็นชัดขึ้นว่า เศรษฐกิจท้องถิ่นต้องพึ่งพาแนวปะการังขนาดไหน ตอนนี้ทั่วโลกเลยตื่นตัวมากว่าต้องอนุรักษ์ปะการัง อนุรักษ์ทะเล”
นอกจากนี้ หากปะการังหายไป ย่อมเกิดการล่มสลายของชุมชนชายฝั่ง ในระดับโลกยังมีชุมชนอีกมากที่ต้องพึ่งพาการทำประมงพื้นบ้าน ยังมีวิถีชีวิตชุมชนเกิดขึ้นจากรากเหง้าสภาพแวดล้อมที่มีการใช้ประโยชน์ตรงนั้น ถ้าปะการังหมดไป แหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำตามธรรมชาติลดลง ปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้ก็ลดลงตามไปด้วย
เมื่อไม่สามารถทำอาชีพประมงได้ย่อมต้องอพยพเข้าเมือง เกิดปัญหาเชิงสังคมตามมา วิถีชีวิตของหมู่บ้านเปลี่ยนเป็นเมืองมากขึ้น ไร้คนหนุ่มสาวสานต่อ ถ้าฟื้นฟูทรัพยากรไม่ได้ ชุมชนนั้นจะล่มสลายโดนเปลี่ยนให้กลายเป็นโรงงานหรืออุตสาหกรรม เช่น หลายแห่งในประเทศไทย
“5–10 ปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงเห็นได้ชัด ทะเลส่วนใหญ่ในโลกอยู่ในสภาวะเสื่อมโทรม มีปัญหาคุณภาพน้ำ การพัฒนาขนาดหนักตามชายฝั่ง ปะการังฟอกขาว การทำประมงผิดกฎหมายและเกินขนาด ตอนนี้ทะเลส่วนใหญ่ทั่วโลกเสียสมดุลไปหมดแล้ว เมื่อผสมผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มันเลยยิ่งมะรุมมะตุ้มสารพัด”
ทะเลเป็นของทุกคน ไม่มีใครเป็นเจ้าของเพราะมีขนาดใหญ่มาก เป็นแหล่งทรัพยากรที่ใช้เท่าไรก็คงไม่มีวันหมด แต่เนื่องจากพวกเราไม่เห็น จึงไม่ใช่ว่าไม่มีผลกระทบ สิ่งเหล่านั้นกลายเป็นโศกนาฏกรรมที่เงียบเชียบสำหรับท้องทะเลและสัตว์ต่างๆ
“ยกตัวอย่างปี 2553 ที่ปะการังเกาะสุรินทร์ฟอกขาวแล้วตายไปเกิน 90 เปอร์เซ็นต์ แต่แทบไม่มีคนรู้เรื่อง ถ้าจู่ๆ เขาใหญ่เกิดมีไฟป่า ป่าเขาใหญ่หมดไป 80–90 เปอร์เซ็นต์ ภายในไม่กี่เดือน มันคงเป็นวาระแห่งชาติ ทุกฝ่ายตื่นตระหนกตกใจ แต่เหตุการณ์ปีนั้นเงียบมาก มามีข่าวเอาเดือนมกราคมปีถัดไปที่นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลพยายามกดดันว่า ต้องมีมาตรการลดผลกระทบนะ แม้แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่รู้ว่าผลกระทบมันใหญ่โตแค่ไหน เขาเห็นปะการังดีๆ กลายเป็นสีขาวจนเป็นสีน้ำตาล นึกว่าหาย แต่ที่จริงคือปะการังตายหมดแล้ว”
อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าตอนนี้มนุษย์จะเปิดกล่องแพนดอราพาทุกสิ่งข้ามเส้นที่จะเยียวยารักษาธรรมชาติและปะการังให้กลับมาจุดเดิมได้แล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่า ทุกคนไม่ต้องสนใจปล่อยเลยตามเลย เพราะเรายังคงมีสิ่งสุดท้ายในกล่องแพนดอราเสมอ นั้นคือ ‘ความหวัง’
“หลายคนบอกว่าสายไปแล้ว ถึงเราจะหยุดปล่อยก๊าซคาร์บอนเลยตอนนี้ โลกก็ยังร้อนขึ้นอย่างน้อย 2 องศา ฉะนั้น ยังไงปะการังก็จะหมดในอีก 30 ปีข้างหน้า ภายในปี 2050 โลกเราอาจไม่เหลือปะการังแล้ว”
แน่นอนว่ายังมีอีกแนวคิดที่กล่าวว่า ในเมื่อปะการังเป็นสิ่งมีชีวิต สิ่งมีชีวิตทุกตัวเกิดมาเพื่ออยู่รอด ดังนั้นก็เชื่อว่าปะการังจะพยายามปรับตัวเพื่อให้เข้ากับสภาพแวดล้อม แต่หากกล่าวเช่นนี้ก็ดูเป็นการโยนความหวังให้อยู่กับปะการังฝ่ายเดียว มนุษย์ย่อมต้องเข้ามาช่วยเหลือดูแลในสิ่งที่พวกเราพอทำได้
“ปะการังเขากวางที่ขึ้นชื่อว่าอ่อนไหวต่ออุณหภูมิที่สุดก็เริ่มมีรายงานการวิจัยบอกว่า บางตัวเริ่มทนอุณหภูมิสูงกว่าปกติได้ ขึ้นชื่อว่าสิ่งมีชีวิตไม่มีใครอยากตาย มันต้องสู้เต็มที่เพื่อจะดำรงเผ่าพันธุ์อยู่ให้ได้ ฉะนั้นยังมีความหวัง”
เรื่องการขอให้ช่วยกันอนุรักษ์คงไม่ต้องกล่าวอะไรกันมาก เพราะเชื่อว่าทุกคนก็ช่วยกันเท่าที่ทำได้ ภาครัฐเริ่ม เอกชนตาม ประชาชนหนุน หากสามารถทำเช่นนี้ได้ทั้งโลก เราจะสามารถชะลอเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้บ้าง ยิ่งเมื่อดูจากหลากหลายข้อตกลงสัญญาในเรื่องการดูแลธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมรวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญที่ทุกประเทศต้องมี
หากเป็นเช่นนี้ ‘ความหวัง’ ก็ยังคงมีอยู่ และถึงแม้ว่าในอนาคตปะการังอาจจะจบในรุ่นเราหรือมองในแง่ดีอาจจะช่วยชะลอไปได้อีก อย่างน้อยที่สุดการได้เริ่มลงมือและอนุรักษ์ก็เป็นเรื่องที่ไม่ว่าใครควรหันมาใส่ใจร่วมกัน เพื่อท้องทะเล ปะการัง จะเป็นสวรรค์ของนักดำน้ำ และแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามต่อไปในอนาคต
ที่มา:
https://www.theguardian.com/environment/2018/apr/19/great-barrier-reef-30-of-coral-died-in-catastrophic-2016-heatwave
https://coralcoe.org.au/annualreport2021/
https://adaymagazine.com/people-petch-coral
Fact Box
-
ปะการังฟอกขาว (Coral bleaching) เป็นปรากฏการณ์ที่เนื้อเยื่อปะการังมีสีซีดหรือจางลงจากการสูญเสียสาหร่ายซูแซนเทลลี (Zooxanthellae) เกิดจากสภาวะที่ไม่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสาหร่าย เช่น อุณหภูมิน้ำทะเลสูงเกินไป มีน้ำจืดไหลลงมาทำให้ความเค็มลดลง ตะกอนที่ถูกน้ำจืดไหลพัดพามาจากชายฝั่ง หรือแม้แต่มลพิษที่เกิดจากการใช้ประโยชน์ทางทะเลของมนุษย์
-
เกรตแบร์ริเออร์รีฟ (Great Barrier Reef) เป็นแนวหินปะการังที่ยาวที่สุดในโลก ยาวกว่า 2,300 กิโลเมตร อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศออสเตรเลีย หรือตอนใต้ของทะเลคอรัล เริ่มตั้งแต่แหลมยอร์ก (Cape York) ซึ่งอยู่ไกลขึ้นไปทางเหนือของรัฐควีนส์แลนด์ ลงมาถึงบันดะเบิร์ก (Bundaberk) ทางตอนใต้ ครอบคลุมพื้นที่กว่า 3.44 แสนตารางกิโลเมตร แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ แนวปะการังเหนือ (Northern Reef) หมู่เกาะวิตซันเดย์ (Whitsunday Island) และแนวปะการังใต้ (Southern Reef) ขึ้นเป็นทะเบียนมรดกโลกทางธรรมชาติ ในปี 1981