เวทีรางวัลลูกโลกทองคำ หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Golden Globe ถือเป็นหนึ่งในเวทีมอบรางวัลที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของสหรัฐอเมริกา และเพิ่งจะประกาศผลผู้เข้าชิงรางวัลในสาขาต่างๆ เมื่อไม่นานนี้ (13 ธันวาคม 2564)
ความจริงแล้วรางวัลโกลเดนโกลบมีเรื่องราวอยู่เบื้องหลังมากมายที่ควรต้องรู้ไว้และรู้ทันสักหน่อย เราจึงอยากพาย้อนไปดูเรื่องราวน่าสนใจและที่มาของลูกโลกทองคำ โดยสรุปมาเป็น 17 ข้อ ที่กระชับและเข้าใจง่าย
1. รางวัลนี้เริ่มต้นโดยสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศของฮอลลีวูด (HFPA-Hollywood Foreign Press Association) ในปี 1943 เป็นช่วงที่ฮอลลีวูดเรียกตัวเองว่าเป็น ‘The Golden Era’ ของวงการหนังอเมริกัน ส่วนหนึ่งมาจากภาพยนตร์ของสหรัฐฯ เริ่มได้รับการยอมรับและกลายเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒธรรมของโลกตะวันตก วัฒนธรรมหนังคาวบอย การชื่นชมเพศชายเป็นใหญ่ วิถีชีวิตแบบคริสเตียนแสนโรแมนติก ฯลฯ ก็เริ่มต้นจากตรงนี้ ถือเป็น Soft Power ที่ส่งผลกระทบมาจนถึงปัจจุบัน
2. นักข่าวต่างประเทศในลอสแอนเจลิสจึงมีความคิดที่จะจัดระเบียบในการรวบรวมและแจกจ่ายข่าวภาพยนตร์ไปยังตลาดนอกสหรัฐฯ เพื่อเผยแพร่หนังของตัวเองให้เป็นที่นิยมมากขึ้น(และแน่นอนว่าเกี่ยวเนื่องกับค่านิยมทางสังคมและการเมืองของสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน) จึงเริ่มจัดพิธีคล้ายๆ กับรางวัลออสการ์ เพื่อเป็นเกียรติแก่ความสำเร็จของภาพยนตร์ รางวัลลูกโลกทองคำจึงจัดขึ้นถูกครั้งแรกในปี 1944 โดยภาพยนตร์เรื่องแรกที่ได้รับรางวัลคือThe Song of Bernadette สร้างจากนิยายชื่อเดียวกันของ ฟรานซ์ เวอร์เฟล (Franz Werfel) กำกับโดยเฮนรี คิง (Henry King) จากนั้นก็จัดกันติดต่อเรื่อยมา กระทั่งปัจจุบัน
3. ปฎิเสธไม่ได้ว่าการขยายความรู้เรื่องหนังของสหรัฐฯ เกี่ยวเนื่องกับการเผยแพร่ค่านิยมแบบอเมริกันไปในประเทศที่เป็นคู่ค้า พันธมิตร หรือเป็นประเทศที่อยู่ในการปกครอง เพื่อให้เห็นถึงความน่าสนใจของวัฒนธรรมแบบอเมริกันชน แต่ปัจจุบันรางวัลลูกโลกทองคำกลายเป็นงานระดับนานาชาติมากขึ้นเรื่อยๆ เรียกว่าเป็นความบันเทิงที่คาบเกี่ยวกันทั้งการสะท้อนจุดยืนของประเทศ การทำธุรกิจกับประเทศอื่นๆ รวมถึงเป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์ในเรื่องของการเปิดกว้างทางความคิดของสังคมอเมริกัน
การปรับเปลี่ยนเพื่อให้รางวัลนี้มีความโดดเด่นและดู ‘ไม่อเมริกัน’ จนเกินไปเป็นเรื่องจำเป็น อย่าลืมว่าคู่แข่งคนสำคัญในเวทีการประกวดประชันคงหนีไม่พ้นรางวัลออสการ์ บุคลิกของรางวัลลูกโลกทองคำจึงพยายามออกมาในแนวทางที่ดูเป็นกันเองสนุกสนานมากกว่า ช่วงปี 2017-2019 ลูกโลกทองคำมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ทั้งในแง่ของภาพลักษณ์ มีการกำหนด Brand Guide ในการสื่อสาร โดยเฉพาะประเด็นเรื่องของความหลากหลายของหนังที่เข้าชิง
4. แต่ก็ดูเหมือนว่าไม่ได้เป็นเส้นทางที่โรยด้วยกลีบกุหลาบ การออกมาประกาศไม่ถ่ายทอดงานลูกโลกทองคำในปี 2022 ของสถานีโทรทัศน์ NBC เพื่อให้ทางผู้จัดปรับปรุงประเด็นความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ความโปร่งใสของเวทีประกาศรางวัลของคนในวงการภาพยนตร์มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ หลังจากพบว่าหลายรางวัลที่ประกาศออกไปมีความไม่โปร่งใส มีข้อกำหนดที่ดูไม่สอดคล้องกับสังคม มีนักแสดงหลายคนออกมาให้การสนับสนุนสถานี NBC ไม่ว่าจะเป็น ทอม ครูซ (Tom Cruise) และ สการ์เลตต์ โจแฮนส์สัน (Scarlett Johanson) การประกาศจุดยืนของสถานีโทรทัศน์ NBC ออกมาตั้งแต่กลางปี 2021 ทางสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศของฮอลลีวูดก็รับลูกว่าจะพยายามปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้ดูผ่อนคลาย และเปิดโอกาสให้กับภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศสามารถแข่งขันในสาขาต่างๆ ได้มากขึ้น
5. กระแสนี้หลักๆ มาจากการมอบรางวัลลูกโลกทองคำให้กับภาพยนตร์เรื่อง Minari (2020) ในสาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศ ทั้งๆ ที่ภาพยนตร์ดังกล่าวเป็นหนังอเมริกัน ผู้กำกับและนักแสดงเป็นคนเอเชียสัญชาติอเมริกัน แม้หนังจะพูดภาษาเกาหลีใต้มากกว่าภาษาอังกฤษ (กฎของสมาคมฯ ตั้งไว้ว่าหนังที่จะได้เข้าชิงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมต้องพูดภษาอังกฤษไม่น้อยว่าครึ่งหนึ่งของความยาวหนัง) แต่เมื่อเทียบกับมาตรฐานของเวทีออสการ์ ภาพยนตร์เรื่องเดียวกันนี้กลับได้เข้าชิงในเวทีออสการ์สำหรับสาขาหลักมากมาย
6. เวทีรางวัลออสการ์นั้นมีกฎที่ต่างออกไป ยกตัวอย่างภาพยนตร์เรื่อง Parasite (2019) จากเกาหลีใต้ เป็นภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศเรื่องแรกที่คว้ารางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมไปได้ แต่กลับไม่ได้เข้าชิงรางวัลสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเวทีลูกโลกทองคำ แต่คว้ารางวัลในสาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศไปแทน ซึ่งกลายเป็นคำถามถึงมาตรฐานการทำงานของสองเวทีนี้
7. ที่ผ่านมาฮอลลีวูดพยายามเพิ่มความหลากหลายในวงการบันเทิง ทั้งในงานเบื้องหลังและงานหน้ากล้อง หลังจากที่ในปี ค.ศ. 2016 นักแสดงที่ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ทั้ง 20 คน ล้วนแล้วแต่เป็นคนผิวขาวทั้งหมดติดต่อกันสองปีซ้อน ก็ยิ่งมีคำถามถึงมาตรฐานของการตัดสินของคณะกรรมการ ซึ่งสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศของฮอลลีวูดก็ได้ออกแถลงการณ์ว่า จากการพิจารณากฏเกณฑ์ในปีนี้ ยืนยันว่าประเด็นเรื่องภาษาจะไม่เป็นอุปสรรคในการตระหนักถึงคุณค่าของภาพยนตร์อีกต่อไป
8. หากยังไม่ได้ดูภาพยนตร์เรื่อง Minari ที่บอกเล่าเรื่องราวของครอบครัวชาวเกาหลีที่มาตั้งรกรากทำฟาร์มในรัฐอาร์คันซอในช่วงทศวรรษปี ค.ศ. 1980 สามารถเข้าไปดูได้ที่ HBO GO
9. นอกเหนือจากการเปลี่ยนกฎเกณฑ์ที่กำลังพยายามกันอยู่ สิ่งหนึ่งที่ถูกเปลี่ยนไปแล้วคือถ้วยรางวัล หากสังเกตให้ดีจะพบว่า ถ้วยรางวัลของลูกโลกทองคำก็มีการเปลี่ยนการออกแบบ
10. ก่อนหน้านี้ถ้วยรางวัลลูกโลกทองคำเป็นหนึ่งในถ้วยรางวัลที่มีคนทำหล่นมากที่สุดรางวัลหนึ่ง เพราะความที่ถือไม่ค่อยถนัดมือ ฐานของถ้วยรางวัลเป็นสี่เหลี่ยมและทำจากหินอ่อนที่ค่อนข้างหนัก ต่อมาทางสมาคมฯ ได้ว่าจ้าง R/GA ออกแบบถ้วยรางวัลใหม่ โดยเวอร์ชันใหม่นี้มีฐานทรงกระบอกที่เข้ากับหลักสรีรศาสตร์มากขึ้น แม้ว่ามันจะหนักขึ้นนิดหน่อย แต่ก็ถือมือเดียวได้ ถ่ายรูปสวย ไม่หลุดมือ นอกเหนือจากนั้น R/GA ยังเพิ่มเทคโนโลยีการสื่อสารระยะใกล้ (NFC) ใส่ไว้ในถ้วยรางวัล โดยเทคโนโลยีนี้สามารถพิสูจน์ได้ว่าถ้วยรางวัลนี้เป็นของจริง มีการใส่ข้อมูลต่างๆ เช่น ชื่อผู้ชนะ ประเภทและปี เพื่อป้องกันการปลอมแปลง และให้มั่นใจว่าเป็นของแท้ ถ้วยรางวัลดีไซน์ใหม่ถูกเริ่มใช้เมื่อปี 2019 ยกเว้นรางวัลเซซิล บี.เดอมิลล์ (Cecil B.deMille) และแครอล เบอร์เนตต์ (Carol Burnett) ที่ยังออกแบบเป็นฐานหินอ่อนรูปสี่เหลี่ยม
11. รางวัล เซซิล บี.เดอมิลล์ (Cecil B. DeMille) คือรางวัลที่เริ่มแจกกันในปี 1950 โดยสมาคมฯ ตั้งรางวัลกิตติมศักดิ์ เพื่อเชิดชูผลงานที่โดดเด่นในวงการบันเทิง ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นบุคคลระดับนานาชาติในวงการบันเทิง รางวัลแรกถูกนำเสนอแก่ผู้กำกับและโปรดิวเซอร์ เซซิล บี.เดอมิลล์ ต่อมาจึงกลายเป็นชื่ออย่างเป็นทางการของรางวัลนี้
12. ส่วนรางวัลแครอล เบอร์เนตต์ (Carol Burnett) ตั้งชื่อตามผู้รับรางวัลคนแรกในปี 2019 แครอล เบอร์เนตต์ เป็นนักแสดงและนักแสดงตลก รางวัลนี้จะนำรายได้ที่เกิดจากกำไรในการจัดงานไปให้ทุนสนับสนุนทุนการศึกษาและโปรแกรมอื่นๆ สำหรับคนที่ทำงานด้านภาพยนตร์และโทรทัศน์ โดยมากรางวัลนี้จะทำงานร่วมกับ Young Artist Foundation ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1978 เพื่อหาช้างเผือกและมอบรางวัลความเป็นเลิศของคนทำงานที่มีอายุต่ำกว่า 21 ปีที่ยังไม่มีโอกาสมากนัก หรืออาจมีปัญหาทางร่างกาย
13. มาถึงหนังเด่นๆ ในปีนี้ คณะกรรมการพิจารณารางวัลลูกโลกทองคำประกาศชื่อผลงานบันเทิงที่จะเข้าชิงในครั้งที่ 79 เป็นที่เรียบร้อย มีหลายคนหลายเรื่องที่ดูแล้วไม่พลิกโผ เช่น วิล สมิธ (Will Smith) ซึ่งได้รับเสียงวิจารณ์ในแง่ดีอย่างมากจากหนังชีวประวัติของ ริชาร์ด วิลเลียมส์ บิดาชาวผิวดำที่สร้างตำนานนักเทนนิสหญิงวีนัสและเซเรนา วิลเลียมส์ ใน ‘King Richard’ ตามมาด้วยคริสเตน สจ๊วร์ต (Kristen Stuart) ที่เธอทำได้ดีจริงๆ จากบทเจ้าหญิงไดอานาใน Spencer (2021)ส่วนหนังที่ได้รับเสียงชื่นชมอีกเรื่องจากการกำกับของ สตีเวน สปีลเบิร์ก (Steven Spielberg) คือหนังรีเมกที่มัดใจทั้งคนรุ่นเก่าและใหม่อย่าง West Side Story (2021) ทั้งยังส่งผลให้ ราเชล เซเกลอร์(Rachel Zegler) ได้เข้าชิงในบทนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม และจะลืมไม่ได้เลยกับ เลดี้ กาก้า (Lady Gaga) ในบทบาทของเพทริเซียใน House of Gucci (2021)
14. แนะนำหนังหลายๆ เรื่องจากนักแสดงหลายคนที่ได้เข้าชิงในครั้งนี้ ที่คุณสามารถหาดูได้ในระบบสตรีมมิง มาเริ่มที่ Netflix คนแรกคือ ลีโอนาโดดี คาปริโอ (Leonado Di Caprio) ได้เข้าชิงในบทนักแสดงนำจาก Don’t Look Up (2021)
ส่วนหนังที่ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลสูงสุดสาขาดราม่า ได้เเก่ The Power of the Dog (2021) ก็มีให้ดู
ตามมาด้วย Tick, Tick…BOOM! (2021) มีสิทธิในรางวัลสาขาภาพยนตร์ประเภทคอเมดี้และมิวสิคัล
15. AppleTV+ ก็มีให้ดูเช่นกันกับ บทบาทของ เดนเซล วอชิงตัน (Danzel Warshington) จาก The Tragedy of Macbeth (2021) และ CODA (2021)
16. อีกสองค่ายที่มีให้ดูก็คือ บทบาทของ เบน แอฟเฟล็ก (Ben Afflek) จาก The Tender Bar (2021) ดูได้ทาง Amazon Prime และ Dune (2021) ดูได้ทาง HBO GO
17. Belfast (2021) และ The Power of the Dog (2021) เป็นหนังสองเรื่องที่ได้เข้าชิงในสาขาใหญ่ๆ มากที่สุดคือ 7 รางวัล
การประกาศผู้เข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำสาขาต่างๆ จะมีขึ้นในเดือนมกราคมปีหน้า ระหว่างนี้ก็ลองไล่ดูหนังต่างๆ ที่มีสิทธิ์ลุ้นคว้ารางวัลกันไปพลางๆ ก่อน
Tags: Entertainment Weekly Round-Up, Golden Globe, ลูกโลกทองคำ