ตลอดสองตอนที่ผ่านมา ผู้เขียนยกตัวอย่างบทเรียนจากคดีมาบตาพุดและตั้งคำถามถึงกลไก(ไร้)ส่วนร่วมในพื้นที่พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี เพื่อชวนให้คิดว่าเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดที่อีอีซีจะเป็นตัวอย่างของ ‘การพัฒนาที่ยั่งยืน’ (sustainable development) ตามนิยามสากล นั่นคือ การพัฒนาที่ตอบสนองต่อความต้องการของคนรุ่นปัจจุบัน โดยที่ไม่ลิดรอนความสามารถของคนรุ่นหลังในการตอบสนองต่อความต้องการของพวกเขา

อีอีซีกินขอบเขตกว้างถึงสามจังหวัดในภาคตะวันออก ที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและนิคมอุตสาหกรรมอื่นๆ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจให้กับประเทศอย่างก้าวกระโดดในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ต้องแลกมาด้วยผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมมากมาย หลายอย่างยังคงเป็นปัญหาจวบจนปัจจุบัน โดยเฉพาะปัญหามลพิษทางอากาศ น้ำ และของเสีย ก่อให้เกิดคำถามว่า คณะกรรมการอีอีซีจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนที่อาศัยอยู่ในสามจังหวัดอีอีซีได้อย่างไรว่า ปัญหาเก่าจะได้รับการแก้ไข ผู้ได้รับผลกระทบจะได้รับการเยียวยาอย่างเป็นธรรม และปัญหาใหม่จะไม่เลวร้ายรุนแรงกว่าในอดีต

ผู้เขียนสังเกตว่า ‘เครื่องมือ’ ที่ขาดไม่ได้ในการพัฒนาตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment: SEA) ซึ่งมีการคำนวณหา ‘ศักยภาพการรองรับ’ (carrying capacity) เป็นองค์ประกอบสำคัญ หรือกลไกการมีส่วนร่วม ‘ที่มีความหมาย’ (meaningful engagement) เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นและความกังวลของผู้ที่สุ่มเสี่ยงจะได้รับผลกระทบ ยังไม่เห็นมีวี่แววว่าจะถูกนำมาใช้ในการพัฒนาอีอีซีแต่อย่างใด

วันนี้ลองซูมลงมาดูประเด็น ‘ขยะ’ ปัญหาที่นับวันน่าจะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ในพื้นที่อีอีซีและพื้นที่อื่นทั่วประเทศ เพราะโดยรวมเราไม่เคยจัดการได้อย่างถูกต้องไม่ว่าจะช่วงไหนเลย ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ

ข้อมูลจากการสำรวจของกรมควบคุมมลพิษในปี พ.ศ. 2561 ชี้ว่า พื้นที่อีอีซีมีปริมาณขยะมูลฝอยราว 4,300 ตันต่อวัน ตัวเลขนี้ยังไม่รวมขยะที่รับจากกรุงเทพฯ เพื่อมากำจัดในพื้นที่ฉะเชิงเทราสูงถึงวันละ 2,000-3,000 ตันต่อวัน เท่ากับว่าทั้งปีมีขยะที่เกิดหรือถูกขนมาจัดการในพื้นที่อีอีซีมากถึง 2.6 ล้านตันต่อปี ยังไม่นับขยะที่คงค้างอีกมากกว่า 2 ล้านตัน

ปริมาณขยะว่าแย่แล้ว ความไร้ศักยภาพและประสิทธิภาพในการจัดการขยะน่าเป็นห่วงยิ่งกว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเปิดเผยในปี 2018 ว่า จังหวัดฉะเชิงเทรายังมีการกำจัดขยะมูลฝอยที่ไม่ถูกต้องร้อยละ 70 ของขยะมูลฝอยทั้งจังหวัด ชลบุรีมีการกำจัดขยะมูลฝอยไม่ถูกต้องร้อยละ 46.5 ส่วนระยองมีการกำจัดขยะมูลฝอยที่ไม่ถูกต้องร้อยละ 31.8

ปริมาณขยะว่าแย่แล้ว ความไร้ศักยภาพและประสิทธิภาพในการจัดการขยะน่าเป็นห่วงยิ่งกว่า

สำหรับด้านขยะติดเชื้อ “ยังไม่มีระบบบริการจัดการขยะที่ชัดเจน โดยปริมาณขยะติดเชื้อปี 2559 มีปริมาณ 3,914 ตัน และ 2560 มีปริมาณเพิ่มขึ้น 4,966 ตัน ทั้งนี้ จากคาดการณ์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของขยะมูลฝอยปี 2559 อยู่ที่ 4.38 ล้านตัน หากมีอีอีซี ปริมาณขยะจะเพิ่มเป็น 9.75 ล้านตันในปี 2680 ปัจจุบันยังไม่สามารถจัดการได้อย่างชัดเจน”

หลังจากนั้นเมื่อกระทรวงทรัพย์ฯ ได้รับข้อมูลการพัฒนาเต็มรูปแบบจากคณะกรรมการอีอีซี ก็มีการปรับประมาณการขึ้นอีกหลายเท่าตัว โดยคาดการณ์แนวโน้มปริมาณขยะมูลฝอยในพื้นที่อีอีซีล่าสุดว่า จะเพิ่มจาก 9.41 ล้านตันในปี 2560 เป็น 20.08 ล้านตันในปี 2580 เลยทีเดียว

รัฐบาลประกาศว่าพื้นที่อีอีซีจะพยายามเน้นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ไม่ก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมาก หรือที่เรียกว่า ‘s-curve’ (อย่างไรก็ดี ผู้เขียนก็สงสัยว่า ‘อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ’ ซึ่งถูกเพิ่มเข้ามาช่วงปลายปี 2561 นั้นจะพัฒนาแบบ s-curve ได้จริงหรือไม่ เมื่อคำนึงถึงโลกทัศน์ปัจจุบันของกองทัพ แต่เรื่องนี้คงต้องยกยอดไปไว้ตอนหน้า เมื่อพูดถึงประเด็นการพัฒนาอุตสาหกรรม) แต่แน่นอนว่าโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมอะไรก็ตาม ย่อมต้องดึงดูดประชากรเข้ามาทำงานในพื้นที่จำนวนมาก ไม่นับอุตสาหกรรมต่อเนื่องอีกมากมาย

ด้วยเหตุนี้ จึงมีการคาดการณ์ว่าแรงงานในพื้นที่สามจังหวัดนี้จะเพิ่มจาก 8 ล้านคนในปัจจุบัน เป็น 18 ล้านคนในปี พ.ศ. 2580

ยิ่งคนเข้ามามาก ขยะยิ่งทวีคูณเป็นเงาตามตัว แต่ศักยภาพในการรองรับและจัดการกับขยะของพื้นที่ยังอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง

ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา การกำจัดขยะในพื้นที่อีอีซีส่วนใหญ่จะใช้ระบบฝังกลบ เพราะมีต้นทุนต่ำและใช้เทคโนโลยีไม่ซับซ้อน แต่ปัจจุบันเขตฝังกลบขยะในอีอีซีกระจายจนเกือบเต็มพื้นที่และเต็มศักยภาพแล้ว ทำให้เขตฝังกลบปัจจุบันไม่สามารถรองรับปริมาณขยะที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้เพียงพอ ยังไม่นับปริมาณขยะอีกมหาศาลที่จะเกิดขึ้นอนาคต

คณะกรรมการอีอีซีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช่ว่าจะเพิกเฉยต่อเรื่องนี้ โดยได้มีการจัดทำแผนสิ่งแวดล้อมอีอีซีฉบับแรก (2561-2564) ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ ถ้าดูเฉพาะเม็ดเงินลงทุนที่จะใช้กับการจัดการขยะ จะพบศูนย์จัดการขยะมูลฝอย 4 แห่ง ศูนย์จัดการขยะมูลฝอยติดเชื้อ 1 แห่ง รวมงบประมาณทั้งภาครัฐและเงินลงทุนจากภาคเอกชน 4,777 ล้านบาท

โครงการเหล่านี้จะใช้รูปแบบใดในการกำจัดขยะ และมีศักยภาพในการจัดการขยะมากน้อยเพียงใด ยังไม่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะ แต่เราสามารถดูตัวอย่างจากโครงการนำร่อง ‘โครงการบริหารจัดการขยะครบวงจร จังหวัดระยอง’ (Rayong Waste to Energy Project) ที่เป็นความร่วมมือระหว่างองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง และบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ในเครือ ปตท. ซึ่งนำขยะภายหลังการคัดแยกมาป้อนเข้าสู่โรงงานผลิตไฟฟ้า RDF ขนาด10 เมกะวัตต์ มูลค่าการลงทุน 1,000 ล้านบาท สามารถกำจัดขยะได้ประมาณ 500 ตันต่อวัน

สมมติถ้า ‘ศูนย์จัดการขยะมูลฝอย’ เหล่านี้ดำเนินการในลักษณะของการสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะทั้งหมด (ซึ่งเป็นวิธีจัดการที่แพงกว่าวิธีอื่นๆ อย่างเช่นการฝังกลบ) เหมือนกับโรงไฟฟ้าของ GPSC ก็เท่ากับว่าสามารถกำจัดขยะมูลฝอยได้ประมาณ 2,380 ตันต่อวัน

ตัวเลขนี้เท่ากับราวครึ่งหนึ่ง (55.5%) เท่านั้นเองของขยะมูลฝอย 4,300 ตันต่อวันในพื้นที่อีอีซี ซึ่งดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า ยังไม่รวมขยะอีก 2,000-3,000 ตันต่อวันที่ถูกขนจากกรุงเทพฯ มากำจัดในพื้นที่ฉะเชิงเทรา

พูดง่ายๆ คือ การลงทุนเกี่ยวกับการจัดการขยะมูลฝอยในอีอีซียังดูน้อยนิดเมื่อเทียบกับขนาดและความเร่งด่วนของปัญหา และดูจะไม่ทันการณ์ต่อแนวโน้มของขยะในพื้นที่แม้แต่น้อย

สถานการณ์ด้านขยะอันตรายหรือกากอุตสาหกรรมน่ากลัวกว่าขยะมูลฝอยเสียอีก เนื่องจากขยะชนิดนี้เป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากถ้าหากไม่ถูกกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ จากตัวเลขของกระทรวงทรัพย์ฯ กากอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซี 3 จังหวัดปัจจุบันมีปริมาณทั้งหมด 5.07 ล้านตันต่อปี เข้าโรงงานกำจัดแจ้งรับเพียง 2.47 ล้านตันต่อปีเท่านั้น เท่ากับมีกากอุตสาหกรรมที่ไม่ได้รับการกำจัดมากถึง 55.26% และปัจจุบันก็ยังคงมีการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมในพื้นที่ 3 จังหวัดอย่างต่อเนื่อง

ที่น่าตกใจคือ ทั้งแผนสิ่งแวดล้อมอีอีซีไม่ปรากฏโครงการใดเลยที่จะรับมือกับกากอุตสาหกรรม ชวนให้ตั้งคำถามว่า คณะกรรมการอีอีซีมีแนวทางรับมือกับเรื่องนี้อย่างไรกันแน่ การไม่ระบุข้อมูลเรื่องนี้ในแผนสิ่งแวดล้อม แปลว่าคณะกรรมการละเลยกับปัญหานี้ หรือว่าจะใช้หลัก ‘ใครก่อมลพิษคนนั้นจ่าย’ (polluter pays principle) กำหนดให้โรงงานต้นทางของขยะอันตรายต้องมาจัดการกับปัญหานี้ด้วยตัวเอง หรือว่าจะใช้วิธีอื่น?

ถ้าเราใช้ตัวเลขค่าใช้จ่ายในกำจัดขยะมูลฝอยด้วยวิธีฝังกลบ 2,000 บาทต่อตัน (อ้างอิงจากรายงานปี 2012 ของธนาคารโลก เรื่อง ‘What a Waste: a Global Review of Solid Waste Management’) และค่าใช้จ่ายการกำจัดขยะอันตราย อย่างน้อย 5,000 บาทต่อตัน (อ้างอิงจากงานวิจัยปี 2016 เรื่องขยะอุตสาหกรรมของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย: ทีดีอาร์ไอ) ก็เท่ากับว่าการจัดการกับขยะมูลฝอย 9 ล้านตันต่อปี จะต้องใช้เงินมากถึง 18,000 ล้านบาทต่อปี และการจัดการกับขยะอันตราย 5 ล้านตันต่อปี ก็ต้องใช้เงินไม่น้อยกว่า 25,000 ล้านบาทต่อปีเลยทีเดียว

นี่เฉพาะสถานการณ์ปัจจุบัน ถ้ามองไปในอนาคตเมื่อขยะจะเพิ่มมากกว่านี้สองเท่า ประชาชนในพื้นที่จะอยู่กันอย่างไร

ความคลุมเครือไม่ชัดเจน และไม่เพียงพอต่อขนาดและแนวโน้มของปัญหาเช่นนี้ นับว่าขัดต่อหลักการ ‘รอบคอบไว้ก่อน’ หรือ precautionary principle ของการพัฒนาที่ยั่งยืน

ทั้งหมดที่พูดไปนั้นยังไม่นับขยะพลาสติกและกากอุตสาหกรรมที่นำเข้ามาจากประเทศอื่น เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง หัวหน้าโครงการศึกษาวิจัยเรื่อง การนำเข้าของเสียและผลิตภัณฑ์ใช้แล้วของประเทศ จากมูลนิธิบูรณะนิเวศ เปิดเผยเมื่อปลายเดือนตุลาคม 2562 ที่ผ่านมาว่า

“หลังจากประเทศจีนห้ามขยะพลาสติก ทำให้ในช่วงหนึ่งประเทศไทยมีการนำเข้าขยะพลาสติกเพิ่มขึ้น 2,000-7,000% ซึ่งเป็นตัวอย่างชัดเจนมาก เพราะขยะพลาสติกในประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ สหภาพยุโรป จะมีระบบการคัดแยกค่อนข้างดี แต่เมื่อคัดแยกแล้ว ต้องเข้าใจว่า อุตสาหกรรมรีไซเคิลหรือการหล่อหลอมพลาสติก เป็นอุตสาหกรรมที่มีมลพิษสูงมาก และเป็นบ่อเกิดของโรคมะเร็ง อากาศปนเปื้อน รวมถึงการนำไปสู่ภาวะการเจ็บป่วยต่าง ๆ ฉะนั้นประเทศพัฒนาแล้วจึงไม่นิยมให้มีโรงงานรีไซเคิลพลาสติก เพื่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี หรือถ้ามีอยู่ จะใช้พลาสติกเกรดดี ส่วนพลาสติกเกรดต่ำจะส่งออกมารีไซเคิลในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งประเทศไทยนำเข้ามาจำนวนมาก

“ทั้งนี้ กฎหมายอนุญาตให้นำเข้าพลาสติกเพื่อการรีไซเคิลได้ แต่จะต้องเป็นพลาสติกสะอาด อย่างไรก็ตาม จากการตรวจจับพบว่า มีการนำเข้าพลาสติกสกปรกมาก ซึ่งอาจนำไปสู่โรงงานรีไซเคิล หรือทำลายทิ้ง หรือไปสู่การรีไซเคิลที่ก่อให้เกิดมลพิษสูงมาก ทั้งหมดนี้ถือเป็นสิ่งที่เป็นปัญหาเกิดขึ้นในประเทศไทย” ซึ่งสามจังหวัดในพื้นที่อีอีซีก็พบการลักลอบนำเข้าพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์เช่นกัน

ปัญหาขยะในพื้นที่อีอีซี ไม่ว่าจะเป็นขยะมูลฝอย กากอุตสาหกรรม หรือขยะพลาสติก ยังไม่มีการจัดการเชิงบูรณาการทั้งระบบ และโครงการต่างๆ ที่คณะกรรมการอีอีซีประกาศในแผนสิ่งแวดล้อมก็ครอบคลุมเฉพาะบางส่วนของขยะมูลฝอย ดูจากเม็ดเงินลงทุนแล้วไม่น่าจะรับมือกับปัญหาได้อย่างเพียงพอและทันการณ์

ประเด็นที่สำคัญไม่น้อยกว่ากันคือ ทั้งที่ประเทศเผชิญกับปัญหา ‘ขยะท่วม’ ขนาดนี้ ผู้เขียนยังไม่เคยเห็นนโยบายหรือมาตรการอะไรที่จะมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่รัฐ เพิ่มประสิทธิภาพของการบังคับใช้กฎหมาย และลดแรงจูงใจของผู้ประกอบการนิสัยแย่ (ปัจจุบันการลักลอบทิ้งขยะอันตรายมีโทษปรับสูงสุดเพียง 200,000 บาทเท่านั้นตามกฎหมายโรงงาน นับว่าถูกกว่าการจ้างกำจัดมาก)

น่าเสียดายที่ผู้เขียนเห็นแต่รัฐบาลกำหนดตัวชี้วัดผลงาน (KPI) ของคณะกรรมการอีอีซีอย่างชัดเจนเฉพาะเรื่องเม็ดเงินลงทุนที่อยากให้ดึงดูดจากนักลงทุน

ไม่เห็นเคยกำหนด KPI ด้านการจัดการขยะและการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมให้กับประชาชนในพื้นที่บ้างเลย

โปรดติดตามตอนต่อไป.

 

 

ภาพปก: REUTERS/Athit Perawongmetha

Tags: , , , , , , ,