อีโบลากลับมาอีกแล้ว รัฐบาลคองโกประกาศอย่างเป็นทางการ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (8 พ.ค. 2018) ว่าไวรัสอีโบลาระบาดในเมืองบิโคโร (Bikoro) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ หลังจากผลแล็บยืนยันว่ามีผู้ป่วยสองรายติดเชื้อไวรัสชนิดนี้

ไวรัสอีโบลา สามารถแพร่ระบาดในคนและไพรเมท (ลิง กอริลลา และชิมแปนซี) ซึ่งได้รับเชื้อมาจากค้างคาวในป่า ไวรัสนี้ถ่ายทอดจากสัตว์ป่ามายังมนุษย์ และแพร่เชื้อจากมนุษย์สู่มนุษย์ได้ อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ประมาณ 50%

ก่อนหน้านี้ เมื่อ 5 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยที่ต้องสงสัยว่าจะเป็นไข้เลือดออกจากไวรัสอีโบลา 21 คน มีผู้เสียชีวิตแล้ว 17 คน

อีโบลาเป็นโรคระบาดประจำถิ่นในสาธารณรัฐคองโก ครั้งนี้เป็นการระบาดครั้งที่ 9 นับแต่มีการค้นพบไวรัสชนิดนี้ในประเทศเมื่อปี 1976 การระบาดครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในปี 2017 ทางตอนเหนือ แต่เป็นการระบาดในวงจำกัดเนื่องจากความร่วมมือกันระหว่างรัฐบาล องค์การอนามัยโลก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

หลังจากการระบาดครั้งก่อน ทางการอนุญาตให้มีการใช้วัคซีนทดลอง แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ใช้เพราะมีอุปสรรคจากระบบโลจิสติกส์ที่ไม่พร้อม

นายแพทย์มัตชิดิโซ โมเอติ (Matshidiso Moeti) ผู้อำนวยการส่วนภูมิภาคแอฟริกา องค์การอนามัยโลกกล่าวว่า “เราจะเก็บตัวอย่างมากกว่านี้ ติดตามการติดต่อ ทำงานกับชุมชนเพื่อป้องกันและควบคุมโรค และปรับปรุงการรวบรวมและแลกเปลี่ยนข้อมูล”

องค์การอนามัยโลกระบุว่า จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลคองโก และทำงานร่วมกับองค์กรด้านสุขภาพ รวมทั้ง องค์กรแพทย์ไร้พรมแดน พร้อมทั้งเตือนประเทศเพื่อนบ้านให้เตรียมพร้อม ติดตั้งระบบจัดการเพื่อทำให้เจ้าหน้าที่และหน่วยงานต่างๆ พร้อมรับมือ เพื่อยับยั้งการกระจายเชื้ออีโบลาในจังหวัดและประเทศต่างๆ โดยใช้งบประมาณ 1 ล้านเหรียญสหรัฐจากกองทุนฉุกเฉินเพื่อสนับสนุนการทำงานในอีกสามเดือนต่อจากนี้

ก่อนหน้านี้ การระบาดของเชื้ออีโบลาที่ร้ายแรงที่สุดสิ้นสุดลงในแอฟริกาตะวันตก กินเวลายาวนานถึงสองปี มีผู้เสียชีวิตกว่า 11,300 คน และมีผู้ติดเชื้อประมาณ 28,600 คน ในประเทศกินี เซียร์ราลีโอน และลิเบอเรีย

แม้จะมีการระบาดเกือบทุกสองสามปี แต่ตัวเลขผู้เสียชีวิตในคองโกลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

 

ที่มา:

Tags: , , , ,