ชาวเผ่าที่ใช้เหยี่ยวช่วยล่าสัตว์ อดีตมนุษย์กินคนในพงไพร กลุ่มอิสระชนเร่ร่อนกับตำนานเบื้องหลังกว่า 2,000 ปี และชาวเผ่าบนผืนแผ่นดินแอฟริกาที่มีรอยแผลตามเรือนร่างดุจดั่งผลงานศิลปะ
ทั้งหมดข้างต้นคือเรื่องราวที่ เจตนิพัทธ์ เกษประดิษฐ์ หรือ ‘JKboy’ ช่างภาพชาวไทยฝีมือฉมัง ใช้เวลากว่า 10 ปี ออกเดินทางไปทั่วทุกมุมโลก เพื่อตามติดวิถีชีวิตของชนเผ่ากลุ่มน้อยที่ยังหลงเหลืออยู่บนโลก ซึ่งน้อยคนที่จะได้พบเห็นและสัมผัสความเป็นอยู่ของพวกเขาโดยตรง ท่ามกลางวัฒนธรรมอันแตกต่าง ภาษา สภาพภูมิอากาศสุดขั้ว สัตว์ร้าย และปัจจัยอื่นๆ อีกมากมาย ก่อนที่ประสบการณ์สุดล้ำค่านั้นจะถูกนำมาเผยแพร่ผ่านรูปถ่าย
Culture Club ชวนพาไปสัมผัสวิถีชีวิตของชนเผ่าพื้นเมืองที่หาชมได้ยากจากทั่วทุกมุมโลก ที่ปัจจุบันยังคงส่งต่อวัฒนธรรมกันจากรุ่นสู่รุ่น แม้โลกจะเดินหน้าพัฒนามากเท่าไร กับงานนิทรรศการภาพถ่าย ‘People and Their world’ ที่ River City Art Gallery
ผลงานชุด ‘People and Their world ได้รับรางวัลการันตีความยอดเยี่ยมจากเวทีนานาชาติมากมาย อาทิ รางวัลชนะเลิศ Photographer of the Year รายการ One Eyeland Awards 2021, รางวัล TOP 100 International Landscape photographer of the year ประเทศอังกฤษ ฯลฯ
นอกจากนี้ ผลงานของเขายังได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสารชื่อดัง อาทิ Lonely Planet, Digital Camera World, Digital SLR Photography, National Geographic (Espana), The Guardian (UK) และ View Magazine (Germany)
ชนเผ่าแรกที่เจตนิพัทธ์พาเรามาทำความรู้จัก คือ ‘เบอเกดชิน’ (Burgedchin) หรือชนเผ่าเร่ร่อนที่เลี้ยง ‘นกอินทรีทอง’ (Golden Eagle) ไว้ใช้สำหรับการล่าสัตว์ โดยพวกเขามีถิ่นฐานอาศัยอยู่บนเทือกเขาอัลไต ที่เป็นช่วงรอยต่อระหว่างผืนพรมแดนประเทศมองโกเลียและคาซัคสถาน ซึ่งปัจจุบันมีกันเหลืออยู่เพียง 250 คน
ท่ามกลางอุณหภูมิติดลบ 30 องศาเซลเซียส เจตนิพัทธ์ใช้เวลาคลุกคลีอาศัยอยู่กับเผ่านักล่าอินทรีเป็นระยะเวลา 1 เดือน อยู่กิน หลับนอน ร่วมกิจกรรม จากคนนอกจึงกลายเป็นเพื่อนสนิทรู้ใจ และเริ่มเผยให้เห็นถึงเคล็ดลับการดำรงชีพระหว่างคนและสัตว์ที่ส่งต่อกันมายาวนานถึง 250 ปี ทั้งนี้ นกอินทรีทองที่เห็นอยู่ในรูป ชนเผ่าเบอเกดชินจะนำมาเลี้ยงดูตั้งแต่ยังเล็ก ฝึกทักษะให้รู้จักการออกหาอาหาร และจะใช้ผ้าคาดปิดตาไว้ตลอด ยกเว้นตอนออกล่าสัตว์ที่ต้องเปิดตาเพื่อให้นกอินทรีทองจับจ้องไปยัง ‘เป้าหมาย’ ตรงหน้า ก่อนจะบินถลาโฉบเหยื่อผู้โชคร้าย ฉีกกระชากพุงคว้านเอาไส้ออกมาจนขาดใจตาย
เหยื่อส่วนใหญ่ที่ชนเผ่าเบอเกดชินล่า มักจะเป็นกระต่าย แพะ แกะ หรือแม้กระทั่งสุนัขจิ้งจอก เพราะหากเทียบกับนกอินทรีทองตัวเต็มวัยที่มีน้ำหนัก 7-8 กิโลกรัม และมีความยาวรวมปีกถึง 2 เมตร สัตว์เหล่านั้นก็คงไม่ใช่คู่ต่อสู้ที่ยากลำบากนัก แม้อาจฟังดูโหดร้ายกับมนุษย์เมือง แต่ทุกส่วนของเหยื่อจะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น เนื้อนำไปกิน หนังนำมาทำเครื่องนุ่งห่ม กระดูกนำมาทำเครื่องประดับและเครื่องดนตรี ส่วนที่เหลือจะนำไปแลกเปลี่ยนเป็นของใช้อื่นๆ กับผู้คนภายในเมือง ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยของผู้เลี้ยงจึงจำเป็นต้องสวมถุงมือหนังวัวเพื่อกันความคมจากกรงเล็บ
ส่วนภาพที่ถ่ายออกมา เกิดจากการผสมผสานเทคนิคการถ่าย 2 แบบเข้าด้วยกันระหว่างบุคคล (Portrait) และทิวทัศน์ (Landscape) ของช่วงรุ่งอรุณขณะแสงอาทิตย์ยังสาดส่องไม่เต็มที่บนยอดเขาอัลไต ยิ่งช่วยสื่อให้เห็นถึงความแข็งแกร่งและน่าเกรงขามไปพร้อมกัน
เด็กหญิงในรูปมีชื่อว่า ‘ซามานโบ’ เธอเป็นหนึ่งในลูกหลานของชนเผ่านักล่าอินทรี โดยเจตนิพัทธ์พบเจอกับเธอด้วยความบังเอิญขณะที่ภายในเผ่ากำลังจัดกิจกรรมล่าสัตว์บนยอดเขาอัลไต เมื่อปี 2016
“ผมเรียกเขาว่าน้องก๊วยเซียง (ชื่อตัวละครจากนิยายกำลังภายในเรื่องดาบมังกรหยก ภาคจอมยุทธอินทรี) ตอนนั้นน้องเขามีอายุ 11 ขวบ ด้วยความที่หน้าตามีเสน่ห์ ผมเลยขออนุญาตพ่อแม่น้องเพื่อตามไปถ่ายถึงที่บ้าน ปัจจุบันตอนนี้น้องอาุย 17 ขวบ ก็ยังติดต่อกันอยู่ ก๊วยเซียงเขามีแอกเคานต์เฟซบุ๊กด้วย แต่จะโพสต์อัปเดตความเคลื่อนไหวเฉพาะตอนเข้าเมือง”
อย่างไรก็ดี ในอดีต ชนเผ่าเบอเกดชินมักส่งต่อวิธีการล่าสัตว์ด้วยนกอินทรีทองจำกัดแค่ในหมู่ลูกชายคนโต ที่อนาคตถือสิทธิ์เป็นผู้สืบทอดหัวหน้าครอบครัวคนถัดไปเท่านั้น แต่เมื่อวันเวลาผันเปลี่ยน หนุ่มสาวของเผ่าส่วนใหญ่หันเหเข้าไปเรียนหนังสือและทำงานกันภายในเมือง เพื่อไม่ให้วัฒนธรรมดังกล่าวสูญหายไป ต่อมาจึงมีการแก้ไขขนบธรรมเนียมให้เด็กและผู้หญิงสามารถเรียนรู้การล่านี้ได้ ดังนั้น ภาพของเด็กหญิงซามานโบจึงมีความหมายถึงการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัย และทลายโซ่ตรวนจากขนบธรรมเนียมดั้งเดิม
“แรกเริ่มไปอยู่ด้วยกัน เขาก็จะเกร็งๆ เขินๆ แต่พอคุ้นเคยกับเรา เขาก็ให้ชุด ให้หมวก ดื่มเหล้ากันเละเทะ (หัวเราะ) อาจจะเพราะด้วยความที่หน้าเราเป็นคนเอเชียด้วย ทำให้สนิทกันง่ายขึ้น”
ด้วยความผูกพันที่สั่งสมกันมา ปัจจุบัน เจตนิพัทธ์ยังคงติดต่อไปมาหาสู่กับชนเผ่านักล่าอินทรีเป็นประจำ และกำลังวางแผนจะนำชุดภาพถ่ายผู้นำแต่ละรุ่นกลับไปมอบให้เป็นที่ระลึก แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ภาษา ขนบธรรมเนียม และวัฒนธรรม ไม่ได้เป็นกำแพงกีดขวางต่อมิตรภาพของพวกเขาได้เลย
ถัดมาเป็นส่วนจัดแสดงภาพของ ‘ชาตัน’ (Tsaatan) หรือชนเผ่าเรนเดียร์ ที่มีถิ่นฐานอาศัยอยู่ระหว่างพรมแดนมองโกเลียกับรัสเซีย ท่ามกลางสภาพแวดล้อมของป่าสน หิมะโปรยปรายร่วงหล่นอยู่ตลอดเวลา เจตนิพัทธ์เล่าให้เราฟังว่า โอกาสที่จะเข้าไปพบกับพวกเขามีเพียงแค่ช่วงฤดูหนาว อุณหภูมิติดลบ 40 องศาเซลเซียสเท่านั้น เพราะปากทางเข้าที่เป็นทะเลสาบจะแข็งตัวเป็นพื้นราบ จนสามารถนั่งรถกระบะโฟร์วีลฝ่าเข้าไปถึงได้
ตลอดระยะเวลากว่า 1,000 วัน ชนเผ่าชาตันใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับกวางเรนเดียร์อย่างพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน โดยพวกเขาใช้ประโยชน์จากเขา น้ำนม เนื้อ และหนัง รวมถึงใช้เป็นพาหนะสำคัญในการเดินทาง ผู้คนที่นี่จะถูกฝึกให้ขี่กวางกันเป็นตั้งแต่วัยเยาว์ ขณะเดียวกันจะย้ายถิ่นฐานไปบริเวณรอบๆ ตามการผันเปลี่ยนของฤดูกาล เพื่อหาแหล่งหญ้าเขียวขจีมาเป็นอาหารอันโอชะแก่สัตว์เลี้ยง
ด้วยความที่มีจำนวนประชากรเหลือเพียง 44 ครอบครัวเท่านั้น พวกเขาจึงจำเป็นต้องดูแลพึ่งพิงกันตลอดเวลา ทั้งยามเจ็บไข้ ออกหาอาหาร เฝ้าเวรยามไปพร้อมกับสุนัขตัวสีขาวที่เลี้ยงเอาไว้เห่าเตือนภัย และหากสังเกตให้ดีจะเห็นว่าหัวหน้าครอบครัวแต่ละบ้านนิยมพกปืนไรเฟิลไว้ป้องกันอันตรายจากสัตว์ร้ายอย่างหมาป่า นอกจากนี้ ชนเผ่าชาตันยังนำผลผลิตจากการล่าสัตว์และเขากวางเข้าไปแลกเปลี่ยนเป็นของใช้จำเป็นกับคนในเมืองอยู่สม่ำเสมอ
เกร็ดที่น่าสนใจ คือเขาของกวางเรนเดียร์มักจะถูกตัดแต่งให้สั้นลงอยู่เสมอ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุเวลาใช้ขี่เดินทาง รวมถึงลากเลื่อนขนของระยะไกล
ชาวชาตันเชื่อว่า ผืนป่าและกายหยาบของบรรดาสัตว์น้อยใหญ่ ล้วนเป็นที่สิงสถิตของเทพ รวมถึงดวงวิญญาณบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ พวกเขาจึงแสดงความนับถือด้วยการติดต่อสื่อสารผ่าน หมอผี (Shaman) และขอคำแนะนำในการดำรงชีวิต
สำหรับชุดดังกล่าวที่เห็นในภาพ ถือเป็นชุดเฉพาะของหมอผีประจำเผ่า ที่จะถูกส่งต่อกันภายในครอบครัวเดียวกันรุ่นสู่รุ่น และจะมีการเสริมเครื่องประดับตกแต่งชุดไปเรื่อยๆ พร้อมกับอุปกรณ์ที่ใช้ตีประกอบพิธีอย่างกลองหนังสัตว์
พีธีกรรมเต้นติดต่อดวงวิญญาณของหมอผีเผ่าชาตันนับว่าเป็นภาพหาดูได้ยาก และมีโอกาสเพียงน้อยนิดที่คนจากโลกภายนอกจะได้เห็น เนื่องจากพวกเขาถือว่าเป็นพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ ไม่ควรถูกรบกวนจากใครก็ตาม
เจตนิพัทธ์ยังระบุทิ้งท้ายอีกว่า การจะเข้าไปพบกับชนเผ่าเรนเดียร์ค่อนข้างทำได้ยากและต้องใช้เวลาพอสมควร ไม่ใช่แค่เพียงเรื่องของสภาพอากาศ แต่ยังต้องทำเรื่องขออนุญาตจากทางการประเทศมองโกเลีย เพราะบริเวณดังกล่าวจัดอยู่ในเขตพื้นที่หวงห้าม
ในหมู่เกาะชิเบรุต บนดินแดนประเทศอินโดนีเซีย ที่มีสภาพแวดล้อมเป็นป่าฝนดิบชื้น เจตนิพัทธ์ได้เก็บภาพของชนเผ่า ‘เมนตาไว’ (Mentawai) ที่ในยุคอดีตโบราณพวกเขาดำรงชีพ เพิ่มกำลังวังชา และสร้างขวัญกำลังใจแก่พวกพ้องด้วยการกินเนื้อมนุษย์เป็นอาหาร ทว่า หลังการประกาศอิสรภาพของประเทศอินโดนีเซียในปี 1950 รัฐบาลต้องการให้ประเทศมีความศิวิไลซ์มากขึ้น จึงเริ่มนโยบายจัดระเบียบชนเผ่าบนเกาะต่างๆ ส่งผลชาวเมนตาไวถูกสั่งบังคับให้ปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ ซึ่งรวมไปถึงการกินเนื้อมนุษย์ด้วย
นอกจากการสวาปามเผ่าพันธุ์เดียวกัน ชาวเมนตาไวยังถูกสั่งห้ามการสักลายตามตัว ที่ในอดีตการสักแต่ละครั้งบ่งบอกถึงชีวิตของศัตรูที่สังหารได้ อีกทั้งพวกเขายังยกเลิกการเหลาตะไบฟันให้แหลมคล้ายกับฟันของจระเข้ อันผิดแปลกไปจากฟันธรรมชาติของมนุษย์ และแม้กระทั่งชุดแต่งกาย หรือประเพณีที่ดูล้าสมัยเองก็ตาม
เจตนิพัทธ์เล่าถึงการเข้าไปถ่ายภาพชนเผ่าดังกล่าวว่า ต้องออกนั่งเรือเฟอร์รีจากท่าเมืองปาดังเป็นระยะเวลา 12 ชั่วโมง ต่อด้วยเรือพายเล็กอีก 4 ชั่วโมงครึ่ง และเดินเท้าต่ออีก 2 ชั่วโมง จึงจะถึง โดยมีลูกหลานของชนเผ่าเมนตาไวที่เข้าไปเรียนหนังสือภายในเมืองอาสาเป็นไกด์พานำ
“ช่วงแรก เราไปขออาศัยอยู่กับเขาก็ต้องพกสิ่งของ พกอาหารสด เข้าไปแลกเปลี่ยนกับที่พักเพราะพวกเขาไม่ใช้เงิน ด้วยความที่อินโดนีเซียเป็นเกาะน้ำเค็มระหว่างทางเข้าไปจะต้องเผชิญอันตรายจากฝูงจระเข้ สัตว์มีพิษต่างๆ และยุงที่สร้างความรำคาญตลอดเวลา”
ส่วนขั้นตอนการถ่ายภาพ เจตนิพัทธ์ยังระบุว่าทำได้ยากลำบากเช่นกัน เพราะด้วยความเป็นป่าฝน เมื่อใช้งานกล้องเสร็จจึงจำเป็นต้องนำไปแช่ถังข้าวสารคลายความชื้น อย่างไรก็ดี ภาพลักษณ์ที่ดูโหดร้ายน่าสยดสยองในอดีตของชนเผ่าเมนตาไวได้เลือนหายไปตามกาลเวลา ปัจจุบันพวกเขากลายเป็นชนเผ่าอัธยาศัยดี และดำรงชีวิตด้วยการล่าสัตว์ โดยอาศัยอุปกรณ์อย่างหอกและลูกธนูอาบยางไม้พิษ
ไม่ใช่แค่งานภาพที่น่าสนใจ ด้านบรรยากาศแสง สี และเสียง ภายในนิทรรศการ People and Their world ยังจัดแต่งออกมาได้อย่างลงตัว ตามอีกหนึ่งความถนัดของเจตนิพัทธ์ที่มีอาชีพเป็นมัณฑนากร (Interior Designer) จึงไม่น่าแปลกใจหากห้องจัดแสดงสี่เหลี่ยมธรรมดาๆ จะดูมีมิติมากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า
จากทวีปเอเชียบินข้ามฟากมายังทวีปแอฟริกา บนผืนแผ่นดินประเทศเอธิโอเปีย เจตนิพัทธ์พาเดินลัดเลาะหุบเขาเพื่อไปพบกับ 3 ชนเผ่าพื้นเมือง ได้แก่ ซูริ (Suri) ฮามาร์ (Hamar) และคาโร (Karo) ที่แต่ละเผ่าต่างดำรงชีวิตกลมกลืนไปกับธรรมชาติ และมีประเพณีสุดแปลกประหลาด
ยกตัวอย่าง ภาพหญิงสาวเผ่าฮามาร์ที่มีเครื่องประดับร่างกายสีสันฉูดฉาด เส้นผมของพวกเธอจะชโลมด้วยเนย ดินเหนียว ไขมันสัตว์ เพื่อให้เป็นสีแดงตามเอกลักษณ์ดั้งเดิมของเผ่า และเมื่อถึงคราวแต่งงาน พวกเธอจะไม่สระผมอีกต่อไป นอกจากนี้ เผ่าที่ว่ายังมีพิธีกรรมหาคู่แสนสุดโต่ง โดยพวกเขาจะเต้นรำเกี้ยวพาราสีกัน และหากหญิงสาวต้องตาชายใด พวกเธอจะลงมือหักกิ่งไม้ ก่อนหยิบยื่นให้ฝ่ายชายผู้โชคดี และขอร้องให้เขาบรรจงเฆี่ยนตีลงบนแผ่นหลังจนเกิดแผลเป็น แม้จะดูแปลกประหลาดต่อสายตาคนจากโลกภายนอก ทว่า สำหรับชาวเอธิโอเปียทั้งหลาย พวกเขากลับมองว่านี่เป็นความงามสุดเลอค่า
อย่างไรก็ดี การเดินทางเข้าไปถ่ายภาพยังดินแดนเอธิโอเปียจำเป็นต้องทำด้วยความระมัดระวังอย่างถึงที่สุด เพราะหากล้ำเส้นเขตแดนจากเผ่าหนึ่งไปอีกเผ่าหนึ่งโดยไม่มีการบอกกล่าว นั่นหมายถึงความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดการสู้รบระหว่างเผ่า ที่มีเปอร์เซ็นต์การสูญเสียมากยิ่งกว่าอันตรายจากสัตว์ร้ายในทุ่งหญ้าสะวันนา
สำหรับผู้ที่สนใจงานนิทรรศการภาพถ่าย People and Their world สามารถเดินทางไปชมได้ที่ River City Art Gallery ห้อง RCB Photographers’ Gallery 1-2 ชั้น 2 เวลา 11.00 น. – 20.00 น. ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2565
นอกจากนี้ ยังสามารถชมงานนิทรรศการภาพถ่ายแนว Landscape จากทั่วทุกมุมโลก ที่มีชื่อว่า Creation of The World ซึ่งเป็นผลงานอีกชุดของเจตนิพัทธ์ ได้ที่ River City Art Gallery ชั้น 3 ห้อง 333 Gallery ตามวันและเวลาเดียวกัน
Tags: JKBO, ชนเผ่ารอบโลก, People And Their World, Photography Exhibition, River City Art Gallery, เจตนิพัทธ์ เกษประดิษฐ์