ชั่วโมงนี้ทั้งผู้คนทั้งใน และนอกวงการคริปโคเคอร์เรนซีกำลังพูดถึงจักรวาลนฤมิตรอย่าง ‘เมตาเวิร์ส (Metaverse)’ ที่กลายเป็นคำฮิตติดตลาด หลังจากที่ ‘มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก’ แห่ง ‘เฟซบุ๊ก’ (Facebook) ได้ทำการเปลียนชื่อบริษัทเป็น ‘เมตา’ (Meta) พร้อมประกาศอย่างเป็นทางการว่าธุรกิจโลกเสมือนจริงนั้นเป็นสิ่งที่เขาให้ความสนใจ และพร้อมทุ่มเททรัพยากรในการพัฒนาเพื่อเปิดให้บริการแก่ผู้ใช้ทั่วโลกอย่างจริงจัง แต่ก่อนที่จะไปถึงจักรวาลนฤมิตร Cryptonian สัปดาห์นี้อยากจะพาทุกท่านไปรู้จักกับประวัติศาสตร์โดยย่อของอินเทอร์เน็ต ตั้งแต่ Web 1.0 ไปจนถึง Web 3.0 ว่ากว่าจะมาถึงเมตาเวิร์ส เราผ่านอะไรกันมาบ้าง
ในยุคเริ่มแรกเริ่มของการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เราจะเรียกว่า Web1.0 นั้น การมาถึง World Wide Web ทำให้ผู้คนสามารถที่จะสร้างเว็บไซต์ส่วนตัวของตัวเอง และอัพโหลดข้อมูลคอนเทนต์ต่างๆ ขึ้นไปบนเซิร์ฟเวอร์ เพื่อให้ผู้ใช้สามารถอ่านหรือดาวน์โหลดข้อมูลบางอย่างมาได้ แต่ไม่สามารถที่จะโต้ตอบกับผู้สร้างเว็บอีกฝ่ายได้อย่างอิสระ ในยุคปฐมกาลของการใช้งาน เว็บไซต์จึงเป็นแค่การสื่อสารทางเดียวโดยใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตเพียงเท่านั้น
เมื่อเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตเริ่มพัฒนาขึ้น เหล่านักสร้างเว็บจึงมุ่งเป้าไปยังเรื่องของ การสร้างคอนเทนต์จากผู้ใช้ (User-Generated Content), ประสบการณ์ของผู้ใช้ และการใช้งานของผู้ใช้ ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘โซเชียลมีเดีย’ (Social Media) ตามมา จนเราเรียกยุคสมัยนี้ว่า ‘โซเชียลเว็บ’ (Social Web) หรือ Web 2.0 เพราะ การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของแอพพลิเคชันมือถือประเภทโซเชียลมีเดีย ที่ไม่เพียงแค่ให้ผู้ใช้อ่าน และดูเพียงเท่านั้น แต่ยังสามารถเขียนข้อความ หรืออัพโหลดข้อมูลเช่น ข้อความ,ภาพ,เสียง หรือวิดีโอได้ อย่างเช่นแพลตฟอร์มอย่าง ยูทูป, ทวิตเตอร์ หรือบริษัทในเครือ Meta เองอย่างเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม
แต่ด้วยความนิยมที่สามารถดึงดูดผู้ใช้ให้มาใช้งานแพลตฟอร์มได้อย่างมหาศาลนี้เอง จึงเกิดเป็นปัญหา เพราะผู้ประกอบการได้หันมาให้ความสนใจในการทำธุรกิจผ่านโซเชียลมีเดียมากขึ้น ทั้งการโฆษณา และการขายสินค้า ซึ่งทุกๆ อย่างนั้นล้วนถูกควบคุมและสอดส่องโดย ‘ตัวกลาง’ อย่างผู้ควบคุมแพลตฟอร์มเหล่านี้มีอำนาจที่อยู่ในมือ ‘มากเกินไป’ ไม่ว่าจะเป็นการเซนเซอร์ข้อความที่ไม่เหมาะสม, เก็บข้อมูลของผู้ใช้โดยไม่ได้ขออนุญาต หรือแม้กระทั่งขึ้นค่าโฆษณาหากต้องการที่จะมีตัวตนเด่นมากขึ้นในแพลตฟอร์มของพวกเขา และต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่แพลตฟอร์มตั้งขึ้นหากต้องการที่จะใช้งานแพลตฟอร์มต่อไป
คำถามต่อไปก็คือหากจะเข้าสู่โลกเมตาเวิร์สนั้น ‘ตัวกลาง’ เพียงไม่กี่คนนั้นในการกำกับดูแลคนนับล้านนั้นจำเป็นหรือไม่?
นักพัฒนาบางกลุ่มตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้ทำการพัฒนาให้อินเทอร์เน็ตเข้าสู่ยุค Web 3.0 หรือ ‘Decentralize Web’ การใช้งานเว็บไซต์ที่ฐานข้อมูลจะถูกแชร์ร่วมกันทั้งเครือข่าย และช่วยกันตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้องอยู่เสมอ ไม่ใช่การพึ่งพาเจ้าของแพลตฟอร์มเพียงผู้เดียวอย่างแต่ก่อน กระจายอำนาจกลับไปอยู่ในมือของผู้ใช้งานมีมากขึ้น
คอนเซ็ปต์ดังกล่าวนั้นมีความคล้ายคลึงกับการทำงานของระบบบล็อกเชนสาย Smart Contract อย่างอีเธอเรียม (Ethereum) เสียเหลือเกิน ทำให้ผู้คนคาดการณ์ว่ากระดูกสันหลังของเทคโนโลยี Web 3.0 นั้นจะมีบล็อกเชนที่สามารถเขียน Smart Contract ได้ ซึ่งจะทำให้เครือข่ายของอินเทอร์เน็ตในยุคของ Web 3.0 นั้นกลายเป็น ‘ข้อมูลของโลก’ โดยที่ไม่มีใครสามารถที่จะปิดกั้น หรือควบคุมได้เลย
แต่ปัจจุบันแนวคิด และการทำงานของ Web 3.0 กำลังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา และยังไม่ถูกนำมาใช้งานจริงอย่างแพร่หลายมากนัก แต่ด้วยการเกิดขึ้นในรูปแบบของธนาคารไร้ตัวกลางอย่าง DeFi และวงการ NFT ทั้งศิลปะ และเกมทำให้ผู้คนเริ่มที่จะเห็นภาพอนาคตของ Web 3.0 ได้ชัดมากขึ้นกว่าเดิม
ดังนั้นก่อนที่เราทุกคนจะมองไปยัง ‘โลกนฤมิตร’ การทำความเข้าใจกับคอนเซ็ปต์ของ Web 3.0 นั้นเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก เพราะหากวันหนึ่งบริการโลกเสมือนของ Meta ได้กำเนิดขึ้นมาจริงๆ โดยมี มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เป็นผู้ควบคุมโลกใบนั้น คงจะทำให้โลกใบใหมที่ทุกคนรอคอยหมดสนุกไปไม่น้อย
ที่มา:
– https://moneyandbanking.co.th/article/the-guru/facebook-web-30-blockchain-111164
– https://blockchainhub.net/web3-decentralized-web/
– https://www.geeksforgeeks.org/web-1-0-web-2-0-and-web-3-0-with-their-difference/
ภาพ: Getty image
Tags: Blockchain, บล็อกเชน, Metaverse, StayCuriousBeOpen, เมตาเวิร์ส, TheMomentum, Web30