เราสามารถพูดอย่างเต็มปากได้หรือไม่ว่า โลก NFT นั้นเป็นมิตรต่อวงการศิลปะจริงๆ ?
ที่ผ่านมาเราเห็นแล้วว่า ในบรรดางานที่สามารถขายได้หลักแสนหรือหลักล้าน ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นกับงานศิลปะบางแขนงเท่านั้น แม้แต่ช่างภาพก็ยังไม่สามารถขายภาพถ่ายให้มีราคาสูงลิ่วเฉกเช่นงานดิจิทัลอาร์ตได้เลย
และประเภทงานศิลปะที่ถูกพูดถึงน้อยที่สุดในโลกของ NFT หนีไม่พ้น ‘งานเขียน’ ที่ผ่านมายังไม่พบเจองานเขียนหรือนักเขียนที่สามารถสร้างชื่อในสังคม NFT ได้จริงๆ จังๆ เสียที
แต่หนึ่งในงานเขียนที่ใกล้เคียงกับคำว่าประสบความสำเร็จมากที่สุด น่าจะเป็นบทความที่ชื่อว่า “Buy This Column on the Blockchain!” ของ เควิน รูส (Kevin Roose) คอลัมนิสต์ของสื่อยักษ์ใหญ่อย่าง The New York Times ผลงานชิ้นนี้ถูกประมูลไปในราคา 350 ETH (560,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ) บนแพลตฟอร์ม Foundation ซึ่งเงินทั้งหมดได้ถูกใช้ในงานการกุศล นับเป็นเคสแรกในรูปแบบงานเขียนที่ประสบความสำเร็จในโลก NFT
ก่อนหน้านี้ เว็บไซต์สื่อต่างประเทศหลายสำนัก ก็เคยนำงานเขียนประเภทคอลัมน์ขึ้นขายในรูปแบบของ NFT มาบ้างแล้ว สื่อเจ้าแรกที่ขายบทความในรูปแบบของ NFT คือ Quatz ซึ่งขายไปได้ในราคา 1ETH หรือ 1,800 ดอลลาร์สหรัฐฯ แต่นอกเหนือไปจากงานของ เควิน รูส ก็ยังไม่มีงานเขียนชิ้นใดขายได้ในราคาสูง เหมือนกับงานศิลปะ NFT ในรูปแบบอื่นๆ ได้เลย
จอห์น ฟ็อกซ์ (John Fox) นักเขียนชาวอเมริกันเจ้าของหนังสือชื่อ ‘I Will Shout Your Name’ ได้แสดงความเห็นไว้ว่า ถึงแม้ปัจจุบันจะยังไม่เห็นงานเขียนถูก ‘มินต์’ ขายอย่างแพร่หลายมากนัก แต่ในอนาคตข้างหน้าก็อาจจะได้เห็นงานประเภท ‘ต้นฉบับหนังสือ’ หรือ ‘งานเขียนของ AI’ เกิดขึ้น เนื่องจากพื้นที่ในการเติบโตของวงการ NFT ยังคงเปิดกว้างอยู่มาก อีกทั้งมูลค่าของงาน NFT นั้นถูกวัดด้วยความหายาก นี่คือการวิเคราะห์ที่น่าจับตามองของ จอห์น ฟ็อกซ์ ต่องานเขียนในวงการ NFT
การขายงานศิลปะในรูปแบบของ NFT นั้น หากไม่ใช่งานที่มีรูปภาพที่สามารถเห็นชัดเจนอย่างดิจิทัล อาร์ต ก็ต้องเป็นงานที่สามารถสื่อแนวคิดของงานให้กับสังคม NFT ได้ ยกตัวอย่างเช่นโปรเจคต์ Loot ของ ดอม ฮอฟแมน (Dom Hofmann) ผู้ร่วมก่อตั้งแอพลิเคชั่น Vine ที่เคยได้รับความนิยมในอดีต เขาสามารถขายได้ถึงชิ้นละ 11 ETH *หรือประมาณ 32,759 ดอลลาร์สหรัฐฯ
โปรเจคต์ Loot คือเซ็ทของคำอธิบายไอเทม 8 ชิ้น ที่จะแจกให้กับคนที่กดรับในรูปแบบสุ่ม มีจำนวนจำกัดเพียง 8,000 เซ็ท โดยงาน NFT ชิ้นนี้จะมีตัวหนังสืออธิบายแค่ 8 บรรทัดเท่านั้น เป้าหมายของศิลปินก็คือต้องการให้คนในสังคม NFT ‘มอบคุณค่าให้กับตัวหนังสือเหล่านั้นเอง’ ไม่ว่าจะเป็นการวาดรูป หรือร่างรูปทรงของไอเทม แม้แต่การนำไอเทมของโปรเจคต์ Loot ไปอยู่ในเกม NFT ที่จะถูกสร้างขึ้นในอนาคต จึงทำให้งานทั้ง 8,000 ชิ้น มีราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 11 ETH เพราะไอเดียที่สุดล้ำของโปรเจคต์นี้นั่นเอง
ในสังคม NFT ไม่ว่าจะสร้างสรรค์งานออกมาในรูปแบบใด สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการทำให้ ‘ไอเดีย’ ของงานชิ้นนั้น สามารถ ‘สื่อ’ ไปยังผู้คนได้ ทำอย่างไรก็ได้ให้คนเห็นมูลค่าของงานชิ้นนั้น ซึ่งงานแต่ละประเภทก็มีวิธีสื่อสารแตกต่างออกไป ก็ได้แต่หวังว่าในอนาคต เราจะได้เห็นศิลปะ NFT ในรูปแบบของงานเขียนมากขึ้นกว่าเดิม
ภาพ: https://foundation.app/@kevinroose/~/13129
ที่มา:
https://www.thecreativepenn.com/2021/06/11/nfts-for-authors-publishing/
https://www.seanblanda.com/nft-for-writers/
https://qz.com/1984094/quartz-is-selling-the-first-ever-nft-news-article/
https://foundation.app/@kevinroose/~/13129
https://cryptotica.medium.com/loot-d22f611b8559
Tags: NFTWriter, Cryptonian, NFT101, Loot