สิ่งที่คอลัมน์ Cryptonian อยากจะฝากไว้ก่อนจะขึ้นปีใหม่ คงไม่ใช่เทรนด์คริปโตฯ หรือว่าเทคโนโลยีฝั่งบล็อกเชนที่น่าสนใจ แต่คือการย้อนกลับไปถึงปัญหาที่เปรียบเสมือนโรคเรื้อรังของระบบเงินเฟียต (Fiat) อย่าง ‘ภาวะเงินเฟ้อ’ เพราะเงินที่อยู่ในกระเป๋าของพวกเราจะมีค่าน้อยลง หากอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ผู้ที่ตระหนักแล้วว่าการปล่อยให้เงินอยู่เฉยๆ นั้นไม่ต่างอะไรไปจากการปล่อยให้น้ำแข็งให้ละลายไปเรื่อยๆ ในอุณหภูมิห้อง และนับตั้งแต่โลกของเราได้เริ่มต้นใช้ ‘ระบบการเงิน Fiat’ ปัญหาเงินเฟ้อก็เปรียบเสมือนโรคภัยที่คอยทำร้ายบุคคลผู้ที่ตั้งใจเก็บออมอยู่เสมอมา

หากจะอธิบายให้เข้าใจโดยง่ายนั้น ‘ภาวะเงินเฟ้อ’ คือการที่ ‘เงิน’ ของคุณจะสามารถซื้อของได้น้อยลง ซึ่งสาเหตุอาจมาจากการที่เงินในระบบนั้นมีอยู่มากเกินไป และภาวะเศรษฐกิจไม่สามารถเติบโตได้ทันกับเงินที่เพิ่มขึ้นมาในระบบ โดยในปัจจุบันมีแนวโน้มว่าโลกของเรากำลังจะเข้าสู่ภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรง 

สาเหตุเป็นเพราะว่าเงินสกุลหลักของโลกอย่างดอลลาร์สหรัฐฯ ถูกผลิตขึ้นมาเป็นจำนวนมากเพื่อพยุงเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยมีข้อมูลว่าในปี 2020 เงินดอลลาร์ถูกผลิตขึ้นมามากถึง 20% ของปริมาณทั้งหมด ซึ่งในปัจจุบันวงเงินในการผลิตเพิ่มต่อเดือนของธนาคารกลางสหรัฐฯ อยู่ 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มขึ้น และยังไม่เห็นแนวโน้มว่าการหยุดพิมพ์เงินของสหรัฐฯ นั้นจะจบลงเมื่อใด

การที่รัฐมีอำนาจในการผลิตเงินได้นั้นสืบเนื่องมาจากระบบเงินเฟียต (Fiat) ระบบการเงินหลักของโลกเราในปัจจุบัน ที่เริ่มใช้งานตั้งแต่สมัยอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon) ซึ่งเป็นเงินที่มูลค่าขึ้นอยู่กับความน่าเชื่อถือของรัฐบาล และรัฐมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการควบคุมการเคลื่อนไหวของเงินผ่านนโยบายการเงิน-การคลัง ทำให้เงินดอลลาร์ฯ ที่หลายๆ ประเทศถือครองไว้เป็นเงินทุนสำรองได้รับผลกระทบทุกครั้งที่สหรัฐฯ ควบคุมเงินดอลลาร์ฯ

นั่นหมายความว่า หากเราไม่สามารถมีรายได้เพิ่มขึ้นให้เท่าทันกับอัตราเงินเฟ้อ เท่ากับว่ารายได้ของเรากำลังลดน้อยลง อีกทั้งระบบเงินเฟียตและเงินเฟ้อยังทำร้ายผู้ที่ตั้งใจเก็บออม เพราะเงินออมของเขาล้วนสูญเสียมูลค่าลงไปในทุกๆ วินาทีที่เงินถูกผลิตขึ้นมาใหม่

ทางนักเศรษฐศาสตร์สำนัก Austrian ที่เชื่อว่าเศรษฐกิจนั้นสามารถจัดการตัวเองได้ โดยที่รัฐไม่จำเป็นที่จะต้องเข้ามาแทรกแซง เพราะเห็นได้ชัดแล้วว่าทุกครั้งที่รัฐพยายามจะควบคุมเศรษฐกิจผ่านออกนโยบายนั้นจะตามมาด้วยผลร้ายมากกว่าผลเสียทุกครั้ง และความไม่เท่าเทียมกันเกิดขึ้น โดยทางฝั่งของสำนัก Austrian เชื่อว่าการเก็บออมและการผลิต (Saving and Production) เป็นตัวชี้วัดสำคัญทางเศรษฐกิจ

จึงก่อให้เกิดเป็นแนวคิดที่สนับสนุนให้ทั่วโลกหันมาใช้ Sound Money หรือ ‘เงินที่มั่นคง’ เงินที่ไม่สูญเสียมูลค่าของตัวมันเอง เนื่องจากเป็นเงินที่รัฐไม่สามารถควบคุมได้ อย่างเช่นการกลับไปใช้ระบบการเงินที่จำเป็นต้องใช้ทองคำในการค้ำประกันเพื่อผลิตเงินอย่าง ‘Gold Standard’ หรือมาตรฐานการเงินใหม่อย่าง ‘Bitcoin Standard’ ที่มีลักษณะเช่นเดียวกับทองคำ เพียงแต่สามารถใช้งานได้สะดวกกว่า

สาเหตุที่ทองคำและบิตคอยน์เป็นเงินที่มั่นคงเพราะว่าเป็นสิ่งที่มีปริมาณอยู่จำกัด ทองคำต้องใช้กำลังทรัพย์อย่างมากในการขุดเหมืองทอง และสกัดแร่ทองคำออกมา ในขณะเดียวกันบิตคอยน์ก็ใช้พลังงานไฟฟ้าในการตรวจสอบการทำธุรกรรมในเครือข่ายด้วยวิธีการ Proof of Work ของบล็อกเชน เพื่อที่จะได้บิตคอยน์ที่มีอยู่จำนวนจำกัด 21 ล้านบิตคอยน์ในระบบมาเป็นสิ่งตอบแทน

จึงเป็นเรื่องที่สุดแสนจะตลกร้าย หากวันใดเงินออมที่เราตั้งใจเก็บมาตลอดทั้งชีวิตต้องเสื่อมมูลค่าลงไปอย่างรวดเร็วโดยไม่ใช่ความผิดของเราเลยแม้แต่น้อย ในอนาคต จึงได้แต่คาดหวังว่าเราจะสามารถถอดอำนาจในการควบคุมเงินจากรัฐบาล และหันมาใช้เงินที่เป็นของประชาชนทุกคนอย่างทองคำหรือบิตคอยน์กันเสียที

ที่มา:

https://blockchain-review.co.th/blockchain-review/austrian-economy-sound-money-bitcoin/ 

https://www.bangkokbiznews.com/business/976048 

https://www.prachachat.net/columns/news-794660 

https://www.investopedia.com/ask/answers/041515/fiat-money-more-prone-inflation-commodity-money.asp 

https://www.netinbag.com/th/finance/what-is-fiat-money.html 

https://getbtcz.com/what-is-fiat-currency/?lang=th 

https://coinman.co/2019/09/11/bitcoin-gold-fiat-finding-sound-money/ 

https://www.blueoclock.com/bitcoin-vs-gold-the-great-debate-with-michael-saylor-and-frank-giustra-episode-1/ 

ภาพ: Getty Image

Tags: , , , , , , ,