เมื่อ 27 มกราคมที่ผ่านมา ทุกสายตาของนักลงทุนต่างต้องจับจ้องไปยังทุกคำพูดของ ‘เจอโรม พาวเวลล์’ (Jerome Powell) ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ในการประชุมครั้งแรกประจำปี 2022 ของ คณะกรรมการดูแลนโยบายการเงิน (FOMC) แห่งธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve System: FED) ว่าจะมีแนวทางในการควบคุมเศรษฐกิจของประเทศอย่างไร โดยเฉพาะกับในช่วงเวลาปัจจุบันที่ภาวะเงินเฟ้อกำลังลุกลามไปในหลายรัฐ ซึ่งประเด็น ‘การประกาศขึ้นดอกเบี้ย’ คือประเด็นหลักที่ทุกภาคส่วนต่างกำลังจับตาให้ความสนใน

ย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ ธนาคารกลางสหรัฐฯ เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกาดำเนินไปได้อย่างราบรื่น ผ่านการใช้นโยบายดอกเบี้ย, การเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ระบบเศรษฐกิจ, การดูแลอัตราแลกเปลี่ยน และมาตรการช่วยเหลือทางด้านการเงินต่างๆ อีกทั้งยังรวมไปถึงการควบคุมแนวทางการดำเนินงานของสถาบันการเงินภายในประเทศให้เป็นไปตามแนวทางที่ธนาคารกลางกำหนดเพื่อคุ้มครองประชาชน 

โดยมาตรการของ FED จะถูกกำหนดโดย ‘คณะกรรมการดูแลนโยบายทางการเงิน (FOMC)’ ซึ่งจะประชุมกันปีละ 8 ครั้ง แต่สิ่งที่นักลงทุนในตลาดทุนให้ความสำคัญเป็นอย่างมากคือ ‘นโยบายดอกเบี้ย’ และ ‘การเพิ่มสภาพคล่อง’ เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ และเป็นมหาอำนาจของโลกทำให้การเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินในแต่ละครั้งนั้น ส่งผลต่อประเทศอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งรวมไปถึงปริมาณเงินในตลาดทุนอย่าง หุ้น ตราสารหนี้ หรือคริปโตเคอร์เรนซี เช่นกัน

ตั้งแต่ปี 2020 จนถึงปัจจุบัน สหรัฐฯ มีนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย (Quantitative Easing/QE) โดยได้ทำการ ‘อัดฉีดเงิน’ ผ่านการพิมพ์เงินเพิ่ม และนำไปซื้อพันธบัตรจากธนาคารพาณิชย์ เพื่อลดอัตราผลตอบแทนของดอกเบี้ยพันธบัตร โดยหวังว่าธนาคารพาณิชย์จะปล่อยกู้มากขึ้นเพื่อกระจายเงินเข้าไปอยู่ในระบบ อีกทั้งยังทำการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซา และช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 

ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่เลือกที่นำเงินไปลงทุนในหุ้น และคริปโตฯ เพราะการทำ QE ทำให้ผลตอบแทนในพันธบัตรรัฐบาลลดลง ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ นักลงทุนจึงหันไปลงทุนในหุ้น หรือคริปโตฯ เพื่อรักษาผลตอบแทนไว้ ส่งผลให้ทั้งสองตลาดนี้มีสภาพคล่องที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้นักลงทุนต่างกังวลว่า FED นั้นจะทำการลดการพิมพ์เงิน และเริ่ม ‘ดึงเงินออกจากระบบ (Quantitative Tightening)’ โดยการขายพันธบัตรที่ซื้อมาเพื่อดึงเงินกลับมาอยู่ที่ FED ดังเดิมแล้วหรือยัง

ในการประชุม FOMC ครั้งที่ผ่านมานั้น แม้จะมีการประกาศว่า FED จะยังคงทำ QE ในวงเงินเท่าเดิม และไม่มีการขายพันธบัตรเพื่อขึ้นดอกเบี้ย แต่ เจอโรม พาวเวลล์ กลับตอบคำถามแก่สื่อมวลชนอย่างคลุมเคลือถึงก้าวต่อไปของ FED โดยเขานั้นเชื่อว่าการขึ้นดอกเบี้ย และถอนการทำ QE ในปีนี้เป็นเรื่องที่สามารถ ‘ทำได้’ เพราะเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งขึ้นของสหรัฐฯ จึงเชื่อว่าการขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้จะไม่ส่งผลต่อตลาดแรงงานแต่อย่างใด เพราะการจ้างงานในปัจจุบันนั้นยังคงมากที่สุดในประวัติการณ์ ทำให้คณะกรรมการเห็นตรงกันว่าถึงเวลาที่ต้องขึ้นดอกเบี้ยได้แล้ว’ และอีกหนึ่งปัจจัย อาจมาจากการแพร่ระบาดของสายพันธ์โอไมครอนที่ไม่รุนแรงเท่าที่คาดไว้

คำว่า ‘ทำได้’ ของ เจอโรม นั้นหมายความว่า อาจจะทำก็ได้หรือไม่ทำก็ได้ แต่ดูจากปัจจัยทางเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐฯ ทำให้หลายๆ ฝ่ายเชื่อว่า การประชุม FOMC ในครั้งต่อไป ซึ่งคือวันที่ 15-16 มีนาคม 2022 นั้น FED จะใช้นโยบายทางการเงินที่ตึงเครียดมากขึ้น เพื่อลดเงินอออกจากระบบ และชะลอเงินเฟ้อที่รุนแรงในปัจจุบัน ที่อาจกำลังหมายถึงการที่สภาพคล่องของตลาดหุ้น และตลาดคริปโตฯ จะลดลงตามไปด้วย จึงอยากให้นักลงทุนวางแผนการลงทุนให้ดี และเตรียมตัวสำหรับการประชุม FED ในครั้งต่อไป

ภาพ: Reuter

ที่มา

https://www.moneybuffalo.in.th/economy/what-is-the-qt-monetary-policy-why-the-fed-might-use-it-to-solve-inflation 

https://www.efinancethai.com/LastestNews/LatestNewsMain.aspx?release=y&ref=M&id=czdoTk4zOHpSbjQ9 

https://greedisgoods.com/fed-%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD-federal-reserve/ 

https://web.facebook.com/dcentralizer/photos/a.2219606121652415/3121377651475253/ 

.

Tags: , , , , ,