แนวคิดหลักของการมีอยู่ของเทคโนโลยีบล็อกเชนและคริปโตเคอร์เรนซี คือการกระจายอำนาจ (Decentralize) เพื่อไม่ให้อำนาจในการใช้งานตกอยู่กับใครคนใดคนหนึ่ง แต่ในทางปฏิบัติ การกำหนดทิศทางในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ยังคงเป็นกลุ่มของนักพัฒนา (Developer) กลุ่มหนึ่งเท่านั้น ในปี 2016 จึงทำให้เกิดกลุ่มนักพัฒนาที่ทำงานในรูปแบบ ‘Decentralize Automouse Organization’ หรีอ ‘DAO’ องค์กรของนักพัฒนาที่มีความต้องการที่จะกระจายอำนาจไปสู่ผู้ใช้งานอย่างแท้จริง
องค์กรในรูปแบบดั้งเดิมส่วนใหญ่ยังคงมีการบริหารจัดการในรูปแบบลำดับขั้น ที่ต้องมีผู้ที่คอยควบคุมบริหารจัดการแนวทางของการทำงาน แต่ DAO คือองค์กรที่ทำงานในรูปแบบของกลุ่มทุน Open Source Code ที่อนุญาตให้ทุกคนสามารถเข้ามาพัฒนาระบบได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวตน
จุดประสงค์ก็คือ เพื่อให้อำนาจในการพัฒนานั้นกระจายตัวมากที่สุด และให้เครือข่ายของผู้ใช้งานเป็นผู้กำหนดแนวทางในการพัฒนาเอง เพื่อกำจัดข้อผิดพลาดที่สามารถเกิดขึ้นได้จากมนุษย์ และการปั่นราคา (Manipulation) ของนักลงทุน ผ่านการใช้สัญญาอัจริยะหรือ Smart Contract ซึ่งในปัจจุบัน DAO นั้นได้ทำงานอยู่บนเครือข่ายของอีเธอเรียม (Ethereum)
ดังนั้นแพลตฟอร์มที่ถูกสร้างขึ้นโดยมีการทำงานในรูปแบบ DAO จะทำงานตาม Code ที่ถูกเขียนไว้ตาม Smart Contract ที่นักพัฒนาเขียนขึ้นมา แต่ Code ที่ถูกเขียนขึ้นมาจะถูกทุกคนในเครือข่ายที่ถือเหรียญของแพลตฟอร์มช่วยกันตรวจสอบ และโหวตลงความเห็นว่า Code ที่ถูกเขียนขึ้นมาควรที่จะนำไปใข้งานจริงหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น The DAO โปรเจ็กต์ระดมทุนบนอีเธอเรียม ที่มีนักลงทุนสนใจร่วมทุนมากกว่า 1.1 หมื่นคน และนักลงทุนจะได้รับ Native Token ตามสัดส่วนเงินที่ลงไป เพื่อใช้ในการตัดสินใจว่าเงินระดมทุนควรที่จะนำไปลงทุนกับโปรเจ็กต์ใดดี โปรเจ็กต์ที่ได้รับการโหวตมากที่สุดจะได้รับเลือกให้ถูกนำไปพัฒนาต่อ
แม้ว่า DAO จะใช้คนในเครือข่ายในการช่วยกันสอดส่องดูแล แต่ก็ยังคงมีช่องโหว่อยู่ เพราะโปรเจ็กต์ The DAO เองก็ถูกมิจฉาชีพใช้ช่องโหว่บางอย่างในการดูดเงินในระบบไปถึง 100 ล้านดอลลาร์ฯ จนทำให้โปรเจ็กต์ The DAO ต้องปิดตัวลงไป แต่แนวคิดของ DAO ได้ถูกนำมาปรับปรุงพัฒนา และยังคงมีหลายแพลตฟอร์มที่นำแนวคิดดังกล่าวไปใช้งาน
อย่างแพลตฟอร์มในการให้กู้ยืมเงิน (Lending) อย่าง MakerDAO ที่ให้ผู้กู้เงินสามารถยืมเหรียญ Stable Coin ที่ชื่อว่า DAI ซึ่งมูลค่าจะถูกยึดไว้ที่ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อ 1 DAI โดยมูลค่าของ DAI จะถูกผูกติดอยู่กับมูลค่าของเหรียญคริปโตฯ ที่ผู้กู้มาวางเป็นหลักประกันเอาไว้ ซึ่ง MakerDAO สามารถที่จะคิดอัตราดอกเบี้ยในการกู้ และการเพิ่มหรือลดอุปทาน (Supply) ของ DAI เพื่อรักษามูลค่าให้คงที่ได้อย่างอัตโนมัติผ่าน Smart Contract ที่ถูกเขียนไว้ โดยมีเหรียญ MKR เป็น Native Token ในการโหวตเพื่อมีส่วนร่วมในการพัฒนาแพลตฟอร์ม และในปัจจุบันยังคงให้บริการอยู่โดยไม่มีปัญหาใดๆ
จึงทำให้เห็นว่า แม้ว่า DAO อาจจะยังมีช่องโหว่ในแง่ของการปฏิบัติจริง แต่ผู้คนในเครือข่ายต่างคอยช่วยกันพัฒนาสอดส่องดูแล เพื่อให้การทำงานในรูปแบบ DAO สมบูรณ์ขึ้นเรื่อยๆ โดยในอนาคต เราอาจจะได้เห็น DAO ในรูปแบบอื่นๆ นอกเหนือจากเทคโนโลยีทางการเงิน
ลองคิดดูว่า จะดีแค่ไหนถ้าประเทศเราสามารถออกนโยบายได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องผ่านสภาผู้แทนราษฎร แต่ให้ประชาชนทุกคนของประเทศช่วยกันโหวตแนวทางของประเทศ เพราะในอดีตเราล้วนเห็นแล้วว่า การฝากอำนาจไว้ในมือคนกลาง ย่อมเกิดความผิดพลาดขึ้นได้เสมอ
อ่าน Cryptonian EP34: เกณฑ์ภาษีคริปโตฯ ไทย ที่ไม่ทำให้ใครเจริญ ทาง https://www.facebook.com/themomentumco/posts/2872034316421587
ที่มา:
– https://th.bitcoinethereumnews.com/technology/what-are-daos-and-why-you-should-pay-attention/
– https://www.thaifrx.com/decentralized-autonomous-organization-dao-definition/
– https://www.finnomena.com/bitkub/what-is-dao/
– https://blockspaper.com/th/article/55
– https://www.investopedia.com/tech/what-dao/
ภาพ: NBC News
Tags: TheMomentum, DAO, DAI, Cryptonian, StayCuriousBeOpen