ผมไม่อยากให้มองว่า ก.ล.ต. เป็นผู้ร้ายนะ เพราะการสร้างผู้ร้ายขึ้นมา เวลาเล่าเรื่องมันดูน่าตื่นเต้นและน่าติดตาม แต่ผมมองว่า ก.ล.ต. และผู้ประกอบการควรจะคุยกันมากขึ้น เพื่อหาหนทางที่จะอยู่ร่วมกันได้ทั้งสองฝ่ายมากกว่า”

หลังจากเหตุการณ์ที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ออกกฎห้ามไม่ให้นำ Utility Token พร้อมใช้งาน ขึ้นบนศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ประกอบกิจการอยู่ในประเทศไทย ก่อให้เกิดคำถามตามมาในหมู่นักลงทุนว่า กฎหมายที่ออกมาครั้งนี้จะส่งผลอย่างไรต่อชุมชนคริปโตเคอร์เรนซีในบ้านเรา

วันนี้ ‘บิท’ – ศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์ นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย และผู้ก่อตั้ง Bitcast ผู้ที่ยืนอยู่ตรงกลางระหว่างฝั่งนักลงทุนและฝั่ง ก.ล.ต. จะมาอธิบายถึงที่มาที่ไปของการออกกฎหมาย Utility Token พร้อมใช้งานฉบับนี้ พร้อมวิเคราะห์ให้ฟังว่า อนาคตของวิงการคริปโตฯ ไทย ควรที่จะเดินหน้าไปทิศทางไหน

ศุภกฤษฎ์เริ่มต้นอธิบายหลักใจใหญ่ใจความของกฎหมายฉบับนี้ให้ฟังว่า 

“การประกาศห้ามลิสต์เหรียญ Utility Token พร้อมใช้นั้น โดยพื้นฐาน ก.ล.ต. มีหน้าที่กำกับดูแลผู้ที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลภายในประเทศไทย ซึ่งผู้ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. นั้นมีหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นศูนย์ซื้อขาย (Exchange), นายหน้า (Broker/Dealer) และเร็วๆ นี้อาจจะรวมถึงผู้ที่แนะนำการลงทุนคริปโตฯด้วย”

“แต่ประกาศตัวนี้มีผลเฉพาะ ‘ศูนย์ซื้อขาย’ เท่านั้น โดยปกติศูนย์ซื้อขายจะมีข้อกำหนดที่เรียกว่า Listing Rule หรือกฎในการนำเหรียญเข้าไปในกระดานเทรด ซึ่งประกาศที่ออกมานั้นคือการให้ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลมีการปรับ Listing Rule เพื่อไม่ให้นำเหรียญที่มีคุณลักษณะทั้ง 4 ประเภทเข้าสู่ศูนย์ซื้อขาย ได้แก่ Meme Token, Fan Token, NFT และ Token ที่ออกโดยศูนย์ซื้อขายเอง”

“การออกกฎของ ก.ล.ต. ในครั้งนี้ สำหรับคนที่เชื่อในตลาดเสรี รวมถึงตัวผมเองด้วย มองว่าตลาดที่มันเสรีโดยปราศจากการควบคุม จะโตไปได้อย่างยั่งยืนกว่า สิ่งที่เรากังวลจึงอาจจะไม่ใช่เนื้อหาที่ออกมา แต่เป็นกระบวนการที่เข้ามาทำให้ตลาดเสรีเสียรูปไปต่างหากที่ทำให้เรากังวล เพราะมีหลายอย่างที่ทำให้ความได้เปรียบในเชิงตลาดที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งกำลังโตไปในทิศทางที่ดีนั้น กำลังจะเสียรูปทรงไป”

ศุภกฤษฎ์ได้แยกความกังวลของนักลงทุนเป็น 2 ประเด็น ประเด็นแรกคือความกังวลเกี่ยวกับการห้ามลิสต์เหรียญ Meme Token, Fan Token และ NFT และประเด็นที่สองคือการห้ามลิสต์เหรียญของศูนย์ซื้อขายเอง

“คือ 3 เหรียญแรกนั้นเป็นประเด็นที่คนในตลาดโวยวาย เพราะผู้คนมองว่าเขาควรมีสิทธิเสรีภาพในการลงทุน นั่นคือการตัดสินใจว่าควรที่จะซื้อหรือไม่ซื้อ ดังนั้นก็ควรที่จะให้คนในตลาดเป็นคนกำหนดไม่ใช่ให้คนที่อยู่นอกตลาดมาเป็นคนเลือก โดยเฉพาะคนที่อยู่ในตลาดเสรีเคยเห็นมาแล้วว่า ในตลาดนอก ใครจะลิสต์เหรียญอะไรก็ลิสต์ได้หมด เพียงแต่ว่าถ้าเหรียญที่ลิสต์ออกมามันไม่ได้ก่อให้เกิดคุณประโยชน์ต่อมนุษย์ สุดท้ายโปรเจกต์พวกนี้มันอยู่ไม่ได้ เพราะคนในตลาดจะเป็นคนเลือกและตัดสินเองว่าโปรเจกต์ไหนที่มีคุณค่า ตลาดเสรีไม่ควรจะต้องถูกใครมากำหนดแบบนี้”

เนื่องด้วยคำว่ากฎหมายไม่บังคับใช้ย้อนหลัง นักลงทุนส่วนใหญ่จึงกังวลเกี่ยวกับปัญหาความไม่เท่าเทียมในการประกอบกิจการของศูนย์ซื้อขายในประเทศไทยอีกด้วย นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทยจึงได้อธิบายว่า ณ ปัจจุบันผู้คนกำลังรู้สึกเช่นไรกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

“เท่าที่สังเกตอารมณ์ของตลาด เขาไม่ได้กังวลหรอกว่าศูนย์ซื้อขายจะลิสต์เหรียญของตัวเองได้หรือไม่ได้ แต่สิ่งที่เขากังวลคือความไม่เท่าเทียมกันของผู้ประกอบการ ถ้ามีผู้ประกอบการอยู่ 5 ราย มีคนออกเหรียญของตัวเองไปแล้ว 3 ราย พอกฎหมายออกมาเปรี้ยง 2 รายหลังก็หมดสิทธิ์ทำ เตรียมม้วนเสื่อกลับไปได้เลย

“นอกจากความเสียเปรียบที่เข้ามาในตลาดทีหลังไม่พอ ยังมีเครื่องมือที่เข้ามาสู้กับคนในตลาดน้อยกว่าเดิมด้วยซ้ำ แสดงว่าการแข่งขันตรงนี้จะไม่มีคนเข้ามาเล่นตลาดตรงนี้เพิ่มขึ้นแล้วหรือเปล่า เพราะความเสียเปรียบในตลาดมีมากเกินไป และสิ่งที่ตลาดหรือนักลงทุนกังวลคือเรื่องความเหลื่อมล้ำในแง่ของกฎหมายมันไม่เอื้อต่อการเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ เลย

“สภาพแวดล้อมที่ดีควรจะเป็นตลาดเสรีที่มีการแข่งขันอย่างเหมาะสม มีความเท่าเทียมในการแข่งขัน เพราะถ้าเขาได้เปรียบ นั่นหมายความว่าแทนที่เขาจะต้องลงแรง 100% กลับกลายเป็นว่าลงแรงแค่ 50% เขาก็สามารถชนะคนที่มาทีหลังอยู่ดี ถ้าเป็นแบบนี้แล้วทำไมจะต้องสร้างนวัตกรรมให้ดีกว่าเพื่อจะชนะคู่แข่งล่ะ คุณต้องสร้างนวัตกรรมที่ดีกว่ากี่เท่าถึงจะชนะคนที่ได้เปรียบทางกฎหมาย”

เมื่อถามว่า หากศูนย์ซื้อขายรายใดต้องการจะออกเหรียญที่ถูกสั่งระงับทั้ง 4 ประเภท โดยย้ายไปจดทะเบียนที่ต่างประเทศ จะสามารถทำได้หรือไม่? ศุภกฤษฎ์ตอบว่า

จากแนวทางของ ก.ล.ต. หากมีกิจกรรมที่ชักจูง เชื้อเชิญให้นักลงทุนไทยซื้อหรือเข้ามามีส่วนร่วมกับเหรียญ โดยหลักการแล้ว คุณมีสิทธิ์ที่จะถูก ก.ล.ต. เข้ามากำกับดูแล เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะไปจดทะเบียนในต่างประเทศ หากมีกิจกรรมที่เชื้อเชิญคนไทยก็จะถูกควบคุมอยู่ดี เพราะอำนาจและขอบเขตที่จะเข้ามาบังคับใช้กฎหมายมันยังครอบคลุมอยู่

“ยกตัวอย่างว่า ถ้าผมจดบริษัทอยู่ที่ต่างประเทศ และมีการออก Token Bit และคนไทยแห่ไปซื้อกัน แบบนี้จะไม่มีปัญหา แต่ถ้าผมตั้งกรุ๊ป Telegram เชิญชวนคนไทยให้มาซื้อกัน อันนี้โดนแน่ แต่สำหรับเหรียญทั้ง 4 ที่ถูกสั่งห้ามนั้น ยังไงก็ลิสต์บน Exchange ไทยไม่ได้อยู่ดี เพราะมันอยู่ภายใต้กฎหมาย ส่วน NFT หรือ Fan Token เขาไม่ได้ห้ามการซื้อการขาย เพียงแค่ห้ามลิสต์บนกระดานเทรด ซึ่งก็ไม่ได้มีผลกระทบเท่าไหร่นัก เพราะพื้นฐานของลักษณะเหรียญ ซื้อนอกกระดานเทรดนั้นดีกว่าอยู่แล้ว และยังมีทางเลือกอื่นที่เรียกว่าดีลเลอร์หรือโบรกเกอร์

“ถามว่าแล้วแบบนี้ถือเป็นการผลักดันให้คนแห่ไปทำที่ต่างประเทศกันหรือเปล่า ผมว่าก็ไม่แน่ อาจจะไม่ได้รุนแรงขนาดนั้น เพราะเขาแค่ต้องการให้มีการซื้อขายเหรียญในตลาดอย่างถูกต้อง เพียงแต่ว่าสิ่งที่นักลงทุนกังวลคือคำนิยามของ ‘มีม’ (Meme) ว่า ก.ล.ต. เข้าใจความหมายตรงกันหรือเปล่า ผมเคยคุยกับซีอีโอของ Bitazza (กวิน พงษ์พันธ์เดชา) เขาบอกว่าข้อดีของมีมคือการสามารถสื่อสารเรื่องที่เป็นนามธรรม ที่เข้าใจยาก ให้มันเข้าใจง่ายมากขึ้น คนส่วนใหญ่มักจะคิดว่ามีมเป็นเรื่องไร้สาระ เราจึงต้องมาตีความกันใหม่ว่าความหมายที่แท้จริงนั้นคืออะไรกันแน่”

นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทยยังได้อธิบายถึงขอบเขตอำนาจในการเข้าถึงกระเป๋าเงินดิจิทัลบนศูนย์ซื้อขายว่า ก.ล.ต. สามารถเข้ามาควบคุมได้มากน้อยแค่ไหน มีสิทธิ์ที่จะยึดกระเป๋าเงินเป็นของกลางหรือไม่ หากวันใดที่ต้องการจะกำจัดคริปโตฯ ไปจากเมืองไทยจริงๆ 

“ตามอำนาจแล้วเขามีสิทธิ์นะ เพราะในเชิงกฎหมายไม่ได้ถูกกำกับดูแลเพียงแค่ ก.ล.ต. เท่านั้น แต่ศูนย์ซื้อขายถูกควบคุมโดยหลายภาคส่วน หนึ่งในนั้นคือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ถ้ามีการทำผิดทางกฎหมายและมีความจำเป็นที่ต้องใช้กฎหมายที่เป็นอำนาจรัฐเข้าแทรกแซง ผมคิดว่ามันสามารถทำได้ เหมือนกับการเข้ายึดข้อมูลในโลกของไซเบอร์ คนที่ถือ Private Key ก็คือศูนย์ซื้อขาย และการที่จะเข้าถึงข้อมูลกระเป๋าเงินตรงนั้นได้ก็คือการเอา Key มาจากผู้ดูแล Private Key นั่นแหละ ถ้ามีหมายศาลหรือการให้สิทธิ์ในการเข้าถึง เขาสามารถเข้าถึงได้แน่นอน”

“อย่างกรณีที่เอฟบีไอเข้าไปยึดบิตคอยน์จากคนที่เรียกค่าไถ่บริษัทท่อส่งน้ำมัน Colonial Pipeline คือเอฟบีไอก็เข้าไปยึดบิตคอยน์จาก Coinbase เนื่องจากเขามี Private Key ในการเข้าถึง Exchange นั้นอยู่แล้ว กรณีจึงคล้ายๆ กัน แต่โดยพื้นฐาน ก.ล.ต. จะไม่เข้าไปยึดหรอก แต่อาจจะเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานอื่นมากมากกว่า เพรา ก.ล.ต. จะดูแลเฉพาะในเรื่องการลงทุนเท่านั้น ทำหน้าที่ควบคุมผู้ประกอบการเท่านั้นเฉยๆ”

ศุภกฤษฎ์ยังพูดถึงที่มาของการสั่งห้ามลิสต์เหรียญของศูนย์ซื้อขายขึ้นบนกระดานเทรดของตัวเองว่า

“เนื่องจาก ก.ล.ต. กังวลว่าหากศูนย์ซื้อขายออกเหรียญและขึ้นกระดานเทรดของตัวเอง มันจะมีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนเกิดขึ้น เขาอาจจะมีอำนาจในการชี้นำราคาของเหรียญตัวเองได้ แล้วมันจะมีอินไซเดอร์ที่รู้วงในว่ามีอะไรที่เกิดขึ้นบ้างจากกิจกรรมของบริษัท ทำให้เกิดข้อได้เปรียบในการซื้อขายก่อนตลาด เพราะฉะนั้น วิธีการแก้ของเขาคือการห้ามลิสต์เหรียญบนกระดานของตัวเอง แต่ก็ไปลิสต์ที่อื่นได้อยู่ดี อาจฟังดูตลกนิดนึง ซึ่งมันก็จะเกิดการชี้นำราคาได้อยู่ดี เขาอาจกังวลในเรื่องของการที่แอดมินจะทำอะไรกับตัวระบบเสียมากกว่า แต่ปัญหาทางด้านอินไซเดอร์จะยังคงมีอยู่

“ไม่รู้ว่าจะคุ้มหรือเปล่าจากการออกกฎนี้มา หากเทียบกับ Talent ที่จะเข้ามาในตลาด เพราะไม่ได้มีการประเมินมูลค่าออกมาเป็นจำนวนเงินที่ชัดเจน แต่ในด้านความรู้สึก มันจะดูขัดๆ กันนิดหน่อย เพราะสีสันของตลาดเสรีถูกกระตุกให้กลับมาคิดว่า จริงๆ แล้วตลาดมันก็ไม่ได้เสรีขนาดนั้น แน่นอนว่ากันไว้ดีกว่าแก้ แต่ว่าปัญหาที่กังวลนั้นเคยเกิดขึ้นให้เห็นจริงๆ แล้วหรือยัง แต่สิ่งที่สำคัญคือการบังคับใช้งานกฎหมาย เพื่อให้ผู้ประกอบการรู้ว่าสิ่งนี้มันคือความผิดและไม่ควรทำ ถ้าไม่เคยมีการลงโทษเอาผิดให้เป็นตัวอย่างจริงๆ ผู้ประกอบการก็อาจจะไม่รู้เลยว่าสิ่งที่เขาทำนั้นผิดหรือเปล่า และอาจจะทำให้คนที่คิดจะทำอะไรดีๆ โดนห้ามไปโดยปริยาย”

“ผมเคยคุยประเด็นกับ อาจารย์ พิริยะ สัมพันธารักษ์ ผู้มีความรู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโลกคริปโตฯ อีกท่าน เขาเปรียบเทียบไว้ดีมากว่า ‘ผืนดินที่เรานำต้นไม้มาปลูก ถ้าเราดูแลดี ต้นไม้มันก็งอกงาม แต่ปัจจุบันเหมือนกับว่าเรากลัววัชพืช จนเราตัดทุกอย่างให้เหี้ยนรวมถึงต้นไม้ดีๆ ด้วย’ นี่แหละคือความน่ากลัวของกฎหมายฉบับนี้ หากมีการบังคับใช้กฎหมายดีๆ มันก็เหมือนการที่จะถอนเฉพาะวัชพืชออกให้หมด ตลาดที่กำลังหาทิศทางอยู่ และยังไม่รู้ว่ามันจะโตไปในทิศทางไหน ยังไม่ทันไรก็ไปตัดมันเสียแล้ว สุดท้าย สวนหลังบ้านเรามันก็จะโตยาก”

เมื่อถามว่า แล้ววงการคริปโตเคอร์เรนซีที่มีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับตลาดเสรีที่ปราศจากการควบคุม จะอยู่ร่วมกับ Regulator ผู้คุมกฎ แล้วเดินคู่ไปด้วยกันได้อย่างไรในวงการคริปโตเคอร์เรนซี

“พูดตรงๆว่า เขาไม่เคยสนใจผู้คุมกฎอยู่แล้ว คอมมูนิตี้มันโตของมันไปเรื่อยๆ อยู่แล้ว แต่การเข้ามากำกับดูแลอาจจะทำให้เราไม่โตเร็วเท่ากับคอมมูนิตี้ภายนอกที่ไปเร็วกว่า ผมเตือนคนรุ่นใหม่ว่า เราต้องพยายามเข้าใจคนรุ่นเก่าด้วยว่าเขาอาจจะมีอะไรบ้างอย่างที่เราไม่มี เพราะหากเราต้องการให้เขายอมรับ มันก็ต้องเปิดใจรับฟังความคิดบางอย่างเขาด้วย แต่ปัญหาคือทั้งสองฝ่ายไม่ยอมรับความเห็นของกันและกัน หากมีการพูดคุยกันของทั้งสองฝั่ง ก็จะมีความคิดทำนองว่า ผู้ใหญ่หรือเด็กรุ่นใหม่ไม่เข้าใจและไม่มีความรู้พอ สุดท้ายกลายเป็นการเถียงกันว่าใครฉลาดกว่าใคร ไม่ได้มาเถียงกันในเรื่องที่เราอยากจะเข้าใจร่วมกันจริงๆ

“ยกตัวอย่างไอเดียหนึ่งที่ผมได้มาจากคุณฮ้อ-พลากร ยอดชมญาณ CEO KULAP บอกว่าถ้าเราสามารถสร้าง New Economy บน DeFi ได้ เราก็สามารถเขียน Smart Contract ให้เสียภาษีบนบล็อกเชนไปเลย ทุกธุรกรรมที่เกิดขึ้นก็ตัด Vat 7% และยิงเข้า Address ของสรรพากรไปเลย ไอเดียแบบนี้ ถ้ามีการคุยกันมันอาจจะจบลงโดยที่ทุกคนยอมรับกันได้ และให้เทคโนโลยีสมัยใหม่ช่วยให้ทุกคนได้ประโยชน์กันหมด อันนี้เป็นเรื่องที่ต้องคุยกันอย่างเดียวเท่านั้น”

ศุภกฤษฎ์ยังได้เล่าถึงเหตุการณ์ที่ ก.ล.ต. ออกกฎหมายมาเพื่อกำกับดูแลวงการคริปโตฯ เมื่อครั้งก่อน ซึ่งมีการเรียกผู้ประกอบการเข้าหารือเพื่อหาทางออกร่วมกันว่า

“ผมไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ จึงไม่ทราบว่าเขาคุยอะไรกัน แต่ก่อนหน้าที่จะมีการทำ Public Hearing (การฟังความคิดเห็นของนักลงทุน) นั้นมีความวุ่นวายมาก กฎหมายที่ออกมาก็ไม่ได้ตรงตามรูปแบบที่ผู้กำกับดูแลเขาอยากจะทำ จึงมีความสงสัยกันว่า การออกกฎหมายครั้งล่าสุดนี้ ทำไมจึงไม่มีการ Public Hearing แต่กลับประกาศเป็นกฎหมายออกมาเลย สุดท้ายเราก็ทำอะไรไม่ได้ ก็ต้องยอมรับมันไป

“ตรงนี้เป็นสิ่งที่อยากให้คนในวงการคริปโตฯ จับตามองว่าสิ่งที่ภาครัฐบอกว่ารับฟังนั้น เขาฟังจริงๆ หรือเปล่า ผมไม่ได้อยากให้มองว่า ก.ล.ต. เป็นผู้ร้ายนะ เพราะการสร้างผู้ร้ายขึ้นมา เวลาเล่าเรื่องมันดูน่าตื่นเต้นและน่าติดตาม แต่ผมอยากจะให้ช่วยกันดูในภาพใหญ่มากกว่า การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ไม่ควรต้องเป็นอุปสรรคในการเติบโตของตลาดที่กำลังจะเกิด ให้ซบเซาลง แต่ควรจะช่วยส่งเสริมให้มันเติบโตไปในทิศทางที่มันควรจะเป็น

“ผมมองภาพใหญ่ว่าเทคโนโลยีมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่เราต้องมองให้ออกว่าอะไรคือข้อดี อะไรคือข้อเสีย เพราะถ้าเรามองแต่ข้อเสียและมองไม่เห็นข้อดี เปรียบได้กับว่าความสำเร็จอยู่ฝั่งตรงข้ามของถนน แต่เรากลับมองเห็นแต่รถที่วิ่งไปวิ่งมาด้วยความหวาดกลัว จึงต้องยืนอยู่เฉยๆ แต่ถ้าเห็นแต่ข้อดี เราก็จะมุ่งเดินอย่างระมัดระวังโดยที่ไม่ต้องกลัวว่าจะโดนรถชน ถ้าเรามองเห็นทั้งข้อดี และข้อเสีย เราจะสามารถก้าวข้ามไปยังจุดหมายได้สำเร็จและปลอดภัย แต่ถ้าเราเอาแต่กลัวและยืนอยู่เฉยๆ คนอื่นๆ ก็จะเดินไปข้างหน้าเรื่อยๆ แล้ววันหนึ่งเราจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

“ตลาดของคริปโตฯ สามารถเติบโตและสร้างความสำเร็จใหม่ๆ ให้กับโลกได้แน่นอน ผมเห็นอยู่เสมอว่าพฤติกรรมของคนนั้นเปลี่ยนไปตลอด เพียงแต่มันเปลี่ยนไปเร็วจนเราไม่ทันรู้สึกว่ามันเปลี่ยน ตลาดเสรีจะเป็นคนกำหนดเองว่าพฤติกรรมของเราจะเปลี่ยนไปอย่างไร ซึ่งผมมองว่าสิ่งที่ควรจะทำก็คือ สอนให้นักพัฒนาที่มีความสามารถในเมืองไทยสามารถที่จะสร้างโปรเจกต์ที่ดี และมีประโยชน์ที่แท้จริง เพื่อใช้ในการแข่งขันกับตลาดโลกได้

“หากมองในภาพเล็กแค่ประเทศไทยของเรา เทคโนโลยีบล็อกเชนก็อาจจะต้องใช้เวลาในการปรับให้เข้ากับบริบทของคนไทย แต่จะทำอย่างไรให้หลักการของตลาดเสรีมันยังคงอยู่ได้ และยังมีประสิทธิภาพในการแข่งขัน ตรงนี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องพูดคุยทำความตกลงกัน ผมอยากให้ฝ่ายที่กำกับดูแลลองใช้วิธีเขียนกฎแบบ Smart Contract ลงไปดู เพื่อให้ทุกฝ่ายเห็นแล้วสบายใจว่ามีความโปร่งใส สามารถให้ชุมชนช่วยกันตรวจสอบ (Validate) และดูแลว่า Code ของทางฝ่ายกำกับดูแลมันควรจะเป็นอย่างไร ตรงนี้อาจจะเป็นการหาจุดลงตัวให้ทั้ง สองฝ่ายสามารถอยู่ร่วมกันได้

ศุภกฤษฎ์กล่าวทิ้งท้ายว่า อยากให้ตลาดคริปโตเคอร์เรนซีในไทย เติบโตได้ทันโลกภายนอก ทั้งยังหวังว่าผู้ใหญ่ภายในประเทศจะเปิดใจ และนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปช่วยให้ประเทศพัฒนาขึ้นได้ พร้อมกับชุมชนคริปโตฯ ในไทยที่ใหญ่โตและมั่นคงขึ้นเรื่อยๆ 

Tags: , , ,