วันที่ 3 เมษายน 2563 นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยวันนี้ว่า พบผู้ป่วยใหม่ 103 ราย ยอดผู้ป่วยสะสมเป็น 1,978 ราย รักษาหายแล้ว 581 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 4 ราย รวมผู้เสียชีวิตแล้ว 19 ราย พร้อมชี้แจงว่า เนื่องจากระบบการรายงานตัวเลขผู้รักษาหายยังคงต้องให้แพทย์กรอกหลังการรักษา จึงอาจทำให้ตัวเลขคลาดเคลื่อนไปบ้าง
ผู้เสียชีวิตรายที่ 16 เป็นชายไทยอายุ 59 ปี ป่วยวันแรก 16 มีนาคม ต่อมาไปพบแพทย์ในวันที่ 21 มีนาคม ที่โรงพยาบาลบางปะกอก และได้กลับไปทำงานโดยปกติทันที แต่วันที่ 31 มีนาคมเริ่มมีอาการเหนื่อยหอบ และเข้ารักษาที่โรงพยาบาลอีกครั้ง ก่อนได้รับผลยืนยัน และเสียชีวิตในวันที่ 2 เมษายน
ผู้เสียชีวิตรายที่ 17 เป็นชายไทยอายุ 72 ปี เคยสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันซึ่งเป็นลูกชายที่ไปดูมวย มีโรคประจำตัวคือโรคไต เริ่มป่วย 16 มีนาคม และเสียชีวิตวันที่ 1 เมษายน
ผู้เสียชีวิตรายที่ 18 เป็นชายไทย 84 ปี ทำงานอยู่ในสนามมวยราชดำเนิน มีโรคประจำตัวไต ความดันโลหิตสูง โรคเก๊าท์ และอีกหลายโรค เข้ารับการรักษา 26 มีนาคม และเสียชีวิตวันที่ 2 เมษายน
ผู้เสียชีวิตรายที่ 19 เป็นชายไทย 84 ปี มีประวัติไปสนามมวยราชดำเนินก่อนป่วย เริ่มป่วย 14 มีนาคม เข้ารักษา 21 อาการไข้ 39.3 องศาเซลเซียส มีน้ำมูกไอ และเสียชีวิตวันที่ 2 เมษายน
ทั้งนี้ กลุ่มผู้ติดเชื้อในช่วงอายุ 20-29 ปี เพิ่มขึ้นตลอดในช่วงเดือนที่ผ่านมา เพราะเป็นกลุ่มที่มีการเดินทางและพบปะสังสรรค์บ่อยครั้ง จึงอยากให้ตักเตือนกันเพื่อลดการแพร่ระบาด
ในขณะนี้พบว่ามี 14 จังหวัดที่ยังไม่มีรายงานพบผู้ป่วย ได้แก่ กำแพงเพชร น่าน พิจิตร ลำปาง ชัยนาท ตราด บึงกาฬ สกลนคร สิงห์บุรี สมุทรสงคราม อ่างทอง สตูล พังงา และระนอง ส่วนจังหวัดที่มีสัดส่วนประชากรติดเชื้อไวรัสต่อแสนคนมากที่สุดคือ ภูเก็ต โดยมีอัตราส่วน 2.87 คนต่อประชากรแสนคน ทั้งนี้ ประเทศไทยยังมีอัตราการเสียชีวิตที่ไม่สูงนัก อยู่ที่ร้อยละ 0.96 ของผู้ติดเชื้อ
วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาแถลงเพิ่มเติมเรื่องการประกาศใช้มาตรการเคอร์ฟิวเมื่อวานนี้ โดยกล่าวในประเด็นแรกว่า ประเทศไทยยังไม่ได้ปิดประเทศ เพราะการปิดประเทศคือปิดสนามบิน ยกเลิกเที่ยวบินทั้งหมด ดังนั้น ปัจจุบันประเทศยังไม่ปิดประเทศในความหมายนี้ คนไทยที่อยู่ต่างประเทศสามารถเดินทางกลับได้ การขนส่งสินค้าเข้า-ออกยังคงทำได้ตามปกติ นอกจากนี้ ชาวต่างชาติที่ต้องการเดินทางเข้ามาในประเทศไทยยังคงทำได้ แต่จะมีมาตรการเข้มงวดขึ้นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ทุกคนที่เดินทางเข้าประเทศไทยต้องกักตัว 14 วันทั้งหมด
ประเด็นการห้ามออกจากเคหสถานในเวลา 22.00-4.00 น. นายวิษณุกล่าวว่า หากใครฝ่าฝืนมีความผิดตามพระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มีโทษจำคุก 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีข้อยกเว้นสำหรับคน 2 กลุ่ม กลุ่มแรก ข้อยกเว้นเป็นการทั่วไปเหมือนที่ระบุไว้ ได้แก่ ผู้ที่มีภารกิจหรือปฏิบัติหน้าที่ด้านการแพทย์ ซึ่งรวมถึงผู้ป่วย คลินิก และโรงพยาบาล ผู้ที่มีอาชีพหรือมีหน้าที่ต้องทำการขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภค ขนส่งหนังสือพิมพ์ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการธนาคาร โดยเฉพาะกลุ่มที่ขนเงินไปเติมในตู้เอทีเอ็ม รวมถึงผู้ที่ทำงานในกะกลางคืนไม่ว่าจะเป็น พนักงานโรงงานหรือพนักงานรักษาความปลอดภัย ทั้งนี้ ขอเพียงพกเอกสารยืนยันติดตัวจากหัวหน้างานเพื่อยืนยันกับเจ้าหน้าที่ก็เพียงพอ กลุ่มที่สอง กลุ่มที่ได้รับการยกเว้นเฉพาะราย หรือกลุ่มที่รัฐบาลไม่ได้ระบุไว้ในประกาศ ขอให้ขออนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
นอกจากนี้ หากมีคนที่ต้องการเดินทางออกนอกประเทศ อาทิ แรงงานต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาทำงานในไทย แต่ไม่สามารถข้ามแดนได้ ให้คณะกรรมการโรคติดต่อประจำจังหวัด จัดสถานที่กักกันให้คนเหล่านี้เป็นเวลา 14 วัน เมื่อพ้นกำหนดจึงค่อยปล่อยไปอีกที
กรณีสื่อมวลชนถามว่าสามารถออกไปทำข่าวในช่วงเคอร์ฟิวได้หรือเปล่า วิษณุกล่าวอย่างชัดเจนว่าไม่ได้และคงไม่มีการอนุญาตอย่างแน่นอน เพราะคงไม่มีข่าวอะไรออกมาในเวลานั้นอยู่ดี ทั้งนี้ วิษณุทิ้งท้ายว่ารัฐบาลเชื่อว่ามาตรการเคอร์ฟิวจะสามารถลดการแพร่ระบาดลงไปได้อย่างแน่นอน เพราะการแพร่ระบาดส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่มีการรวมตัวกัน และมักเป็นช่วงเวลากลางคืน
ทั้งนี้ วิษณุเน้นตลอดการแถลงว่า รัฐบาลจะคอยจับตาดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และอาจจะมีการเพิ่มระยะเวลาเคอร์ฟิวจากตอนนี้ 6 ชั่วโมงเป็น 8 หรือ10 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับตัวเลขของผู้ติดเชื้อ