นับจากนี้ไป ประเทศที่การระบาดของโควิด-19 ผ่านจุดสูงสุดแล้ว มีโจทย์จะต้องตัดสินใจว่า เมื่อไหร่จะผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค การเลือกจังหวะถอยมีราคาที่ต้องจ่าย ถ้ารามือเร็วเกินไป โรคอาจย้อนเล่นงานรอบสอง ถ้ารามือช้าเกินไป คนอาจตายเพราะไม่มีกิน
รัฐบาลต่างๆ ได้รับบทเรียนแล้วว่า เมื่อเกิดเชื้ออุบัติใหม่ ถ้ารับมือเร็ว คุมโรคได้ดี ถ้ารับมือช้า คนตายเป็นเบือเพราะไวรัส เรียกเสียงวิจารณ์ที่ว่า “น้อยเกินไป สายเกินการณ์”
ที่ผ่านมา นานาประเทศใช้มาตรการรับมือทำนองเดียวกัน นั่นคือ จำกัดการเคลื่อนที่ของหมู่ชน เว้นระยะห่างทางกายภาพ มาตรการเหล่านี้ล้วนมีความทุกข์ยากของประชาชนเป็นต้นทุน ดังนั้น แทบในทันทีที่เห็นสัญญาณว่าการระบาดเริ่มทุเลา บางประเทศในเอเชีย ยุโรป และอเมริกา จึงเริ่มนับหนึ่งที่จะกลับคืนสู่ภาวะปกติ
แต่คำถามก็คือ กลยุทธ์ที่จะถอนตัวออกจากมาตรการล็อกดาวน์ ชัตดาวน์ เคอร์ฟิว และมาตรการอื่นๆ อันหลากหลายระดับความเข้มข้นในแต่ละสังคม ควรเป็นอย่างไร รัฐควรผ่อนคลายแค่ไหน จึงจะไม่ถูกวิจารณ์ว่า “มากเกินไป เร็วเกินการณ์”
ยักษ์เอเชียเริ่มถอย
ประเทศต้นทางของการระบาดอย่างจีน เริ่มยกเลิกคำสั่งห้ามประชาชนสัญจรโดยยังคงเงื่อนไขบางประการเมื่อวันที่ 25 มีนาคม โดยเริ่มจากมณฑลหูเป่ยก่อน ส่วนเมืองอู่ฮั่น ซึ่งล็อกดาวน์ตั้งแต่เดือนมกราคม เพิ่งยกเลิกเมื่อวันที่ 8 เมษายน
ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน เป็นต้นไป อินเดียจะอนุญาตให้เกษตรกรหลายล้านคนกลับเข้าทำงาน เพื่อให้ทันฤดูเก็บเกี่ยวและฤดูเพาะปลูกรอบใหม่ พร้อมกับอนุญาตให้เปิดตลาดพืชผล ร้านซ่อมเครื่องจักรกล กิจการขนส่ง เพื่อไม่ให้ชาวไร่ชาวนาอดอยาก และไม่ให้ประเทศเผชิญวิกฤตขาดแคลนอาหาร
เกาหลีใต้ ซึ่งเน้นใช้มาตรการด้านสาธารณสุขเป็นหลัก เช่น ตรวจคัดกรอง สอบสวนโรค ติดตามกลุ่มเสี่ยงเข้ารับการกักกันโรค เปิดให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเกาหลีใต้ได้ประกาศยืดเวลาการใช้มาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม หรือ social distancing ไปจนถึงวันที่ 5 พฤษภาคม ขณะที่ก็รับปากว่าจะลดความเข้มงวดของมาตรการลง เพราะเข้าใจดีว่าการรักษาระยะห่างทางกายภาพเป็นเวลานานจะส่งผลความเหนื่อยล้าทางจิตใจของประชาชน
ชาติยุโรปทยอยผ่อนคลาย
สเปนอนุญาตให้คนงานในภาคก่อสร้าง แรงงานในอุตสาหกรรมการผลิต กลับเข้าทำงานเมื่อวันที่ 13 เมษายน ส่วนร้านรวง บาร์ สถานบันเทิง โรงแรม ยังคงปิดทำการต่อไปจนถึงอย่างน้อยวันที่ 26 เมษายน
อิตาลีกำลังพิจารณาที่จะผ่อนคลายข้อห้ามสำหรับบางกิจการ ซึ่งถูกสั่งปิดมานานนับเดือน แม้ว่ารัฐบาลเพิ่งประกาศขยายเวลาล็อกดาวน์จนถึงวันที่ 3 พฤษภาคมก็ตาม
ฝรั่งเศสมีกำหนดที่จะเปิดโรงเรียนและร้านค้าหลังครบกำหนดล็อกดาวน์ในวันที่ 11 พฤษภาคม แต่ร้านอาหาร ร้านกาแฟ โรงแรม โรงหนัง จะปิดยาวต่อไปอีก และยังคงปิดรับพลเมืองที่ไม่ใช่ชาวยุโรปเข้าประเทศต่อไปโดยไม่มีกำหนด
เยอรมนีกำลังพิจารณาที่จะผ่อนคลายมาตรการบางอย่าง ซึ่งแต่ละแคว้นบังคับใช้เข้มงวดแตกต่างกัน แต่สนามกีฬากับลานคอนเสิร์ตจะปิดยาวอีกหลายเดือน
ออสเตรียอนุญาตให้เปิดร้านค้าขนาดเล็กแล้ว ร้านขนาดใหญ่จะเปิดในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ส่วนร้านอาหารจะเปิดในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม
ประเทศอื่นๆ ในยุโรป เช่น เบลเยียม สวิตเซอร์แลนด์ เดนมาร์ก กำลังจะผ่อนคลายมาตรการในช่วงกลางเดือนหน้าเช่นกัน ขณะที่อังกฤษประกาศเมื่อวันพฤหัสฯ (16 เมษายน) ว่าจะคงมาตรการล็อกดาวน์ต่อไปอีก 3 สัปดาห์
สหรัฐฯ เผยแผนบันได 3 ขั้น
ในบรรดาประเทศที่กำลังพิจารณาผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค สหรัฐฯ ดูจะมีสีสันของการเมืองเข้ามาปะปนในกระบวนการตัดสินใจเด่นชัดกว่าใคร นักสังเกตการณ์บอกว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เล่นเกมเอาดีใส่ตัว โยนชั่วให้ผู้ว่าการมลรัฐ
เมื่อวันพฤหัสฯ (16 เม.ย.) ทรัมป์เปิดตัวคำชี้แนะแนวทางสำหรับมลรัฐต่างๆ ประกอบด้วยขั้นตอน 3 ขั้น สรุปอย่างย่นย่อที่สุด ขั้นแรก มลรัฐที่เข้าข่ายพิจารณากลับมาเปิดกิจการควรมีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อลดลงต่อเนื่อง 14 วัน และมีขีดความสามารถในการตรวจเชื้อและติดตามผู้ติดเชื้อกลุ่มเสี่ยงเพิ่มขึ้น ในขั้นแรกนี้ โรงเรียนและสถานเลี้ยงเด็กต้องปิดต่อไป ประชาชนยังรวมตัวในที่สาธารณะเกิน 10 คนไม่ได้ ผู้คนยังต้องทำงานที่บ้าน
ขั้นที่สอง ในระยะ 14 วันถัดไป ถ้าแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อยังคงลดลง มลรัฐนั้นสามารถยกเลิกข้อห้ามการเดินทางที่ไม่จำเป็นได้ แต่คนยังต้องทำงานที่บ้าน และยังต้องปิดสถานที่รวมตัว ในขั้นที่สองนี้ เปิดโรงเรียนและกิจกรรมเยาวชนได้ เปิดร้านเครื่องดื่มได้ แต่ไม่มีที่นั่ง ลูกค้าต้องยืนดื่ม เปิดสนามกีฬากับโบสถ์ได้ แต่ต้องมีระยะห่างทางกายภาพปานกลาง
ขั้นที่สาม หากผู้ติดเชื้อยังคงลดลงตลอด 14 วัน มลรัฐนั้นเปิดทำการธุรกิจได้ สถานที่ขนาดใหญ่เปิดได้ แต่ต้องมีระยะห่างทางกายภาพเล็กน้อย ร้านเหล้าเบียร์สามารถเพิ่มพื้นที่ยืนดื่มได้
ทรัมป์กำลังกดดันให้บรรดาผู้ว่าการมลรัฐเปิดกิจการ เพราะเป็นห่วงว่าเศรษฐกิจที่เสียหายจากมาตรการอยู่กับบ้านจะฉุดคะแนนนิยมในการเลือกตั้งประธานาธิบดี ซึ่งมีกำหนดในเดือนพฤศจิกายน
เมื่อวันศุกร์ เขาทวีตข้อความให้ท้ายพวกผู้ประท้วงในหลายมลรัฐที่เรียกร้องให้ผู้ว่าฯ สั่งเปิดเมือง ภายใต้รัฐธรรมนูญอเมริกัน อำนาจด้านสาธารณสุขเป็นของท้องถิ่น ถ้าเปิดเมืองตามคำชี้แนะ เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้น ทรัมป์สามารถอ้างเป็นผลงานเอาไปใช้หาเสียงได้ แต่ถ้าเปิดแล้วเกิดคลื่นการระบาดรอบสอง เขาคงไม่ลังเลที่จะโยนบาปให้คนสั่งเปิด
เตรียมพบ ‘สภาวะปกติแบบใหม่’
ข้อพิจารณาสำคัญสำหรับการตัดสินใจว่าจะผ่อนคลายเมื่อไหร่ แค่ไหน อย่างไร ขึ้นกับขีดความสามารถของระบบสาธารณสุขของแต่ละประเทศ ที่จะรองรับคนไข้ติดเชื้อและผู้ป่วยวิกฤต โดยเทียบกับอัตราการแพร่ระบาด ซึ่งแต่ละสังคมมีขีดความสามารถนี้ไม่เท่ากัน
ประเด็นหัวใจก็คือ ถ้าเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อัตราการระบาดต้องไม่เกินขีดความสามารถรองรับของโรงพยาบาลและห้องไอซียู
ขณะที่หลายประเทศเริ่มนับถอยหลังที่จะหวนคืนสู่ภาวะปกติ เมื่อวันจันทร์ที่แล้ว (13 เมษายน) ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส แถลงว่า การยกเลิกมาตรการเร็วเกินไปอาจทำให้ไวรัสกลับมาระบาดอีก มีแต่วัคซีนเท่านั้นที่จะหยุดยั้งโรคโควิด-19 อย่างได้ผลแท้จริง
คาดกันว่า วัคซีนคงต้องใช้เวลาพัฒนาราว 2 ปี ผลการศึกษาชิ้นหนึ่งในวารสาร Science แนะนำว่า รัฐบาลของหลายประเทศอาจจำเป็นต้องใช้มาตรการผ่อนบ้างตึงบ้างสลับกันไปจนถึงปี 2022
ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า ถึงแม้ในท้ายที่สุด ทุกประเทศยกเลิกมาตรการแล้ว การใช้ชีวิตในที่สาธารณะของผู้คนในโลกหลังยุคสงครามไวรัสคงไม่เหมือนเดิม เราจะได้พบกับสภาวะปกติแบบใหม่ มาตรการป้องกันโรคระบาดในบางรูปแบบและบางระดับจะอยู่กับเราต่อไป.
อ้างอิง:
AP via Japan Times, 18 April 2020
ภาพ: FRANCOIS GUILLOT / AFP
Tags: อิตาลี, โคโรนาไวรัส, โควิด-19, สหรัฐอเมริกา, สเปน, จีน, ฝรั่งเศส, อินเดีย, เกาหลีใต้, ออสเตรีย