ตอนที่องค์การอนามัยโลกประกาศอัตราการเสียชีวิตของโรคโควิด-19 สัปดาห์ที่แล้วว่าน่าจะอยู่ที่ 3.4% ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขพากันตกใจ เพราะผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาจำนวนหนึ่งเห็นตรงกันว่าตัวเลข 1% น่าจะตรงกว่า แต่เนื่องจากเป็นโรคใหม่ ไม่มีข้อมูลด้านการแพร่กระจายและความรุนแรงของโรคก็ยากที่จะคำนวณ

ด้วยตัวแปรหลายอย่างที่ส่งผลต่อการคำนวณเพื่อคาดการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ยังไม่คงที่ อาชิช ชา ผู้อำนวยการ Global Health Institute ตั้งคำถามต่อตัวเลข 3.4% ที่องค์การอนามัยโลกประกาศว่ามาจากไหน ตัวเลขนี้เป็นค่าเฉลี่ยระดับโลก ขณะที่คนอยากรู้ความเสี่ยงของตัวเอง

นักวิทยาศาสตร์ นักคณิตศาสตร์ และนักระบาดวิทยาทั่วโลกต่างก็พยายามคาดการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่าจะกินเวลานานและสร้างความเสียหายมากแค่ไหน แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะจนถึงตอนนี้ข้อมูลที่จะสามารถใช้คำนวณได้ยังไม่พอ ตัวเลขต่างๆ ที่มีการบันทึกไว้อาจไม่ใช่ตัวเลขที่แท้จริง  Ashleigh Tuite นักระบาดวิทยา มหาวิทยาลัยโตรอนโตซึ่งกำลังสร้างแบบจำลองการระบาดของโรคในประเทศจีนจนถึงกลางเดือนมีนาคมกล่าวว่า ต้องคาดการณ์จากองค์ประกอบเล็กๆ มากมายที่เคลื่อนที่ไปมา สำหรับเธอการทำนายการแพร่ระบาดของโรคเป็นเกมที่ยากซับซ้อน จนไม่อยากจะบอกตัวเลขใดๆ 

โดยทั่วไป นักระบาดวิทยามักจะวัดอัตราการเสียชีวิตของโรคจากช่วงเวลาหนึ่ง โดยจะดูว่าคนป่วยและดูว่ามีชีวิตอยู่ได้นานแค่ไหน กี่สัปดาห์ กี่เดือน กี่ปี ขึ้นอยู่กับโรค แต่เท่าที่มีการศึกษาไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ตอนนี้นักวิทยาศาสตร์ยังไม่มีข้อมูลนี้

ยิ่งมีผู้เข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 น้อย ก็ยิ่งยากที่จะหามาตรการป้องกันและแก้ไข โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรคที่มีระยะฟักตัวนาน  และผู้ติดเชื้อไม่แสดงอาการ ถ้าเราสามารถตรวจหาเชื้อไวรัสได้ครบทุกคนในโลกนี้ เราก็จะรู้ได้ว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อมีเท่าไหร่ การตรวจเจอผู้ติดเชื้อมากขึ้นก็จะยิ่งช่วยให้อัตราการเสียชีวิตน้อยลง 

เมื่อเปรียบเทียบกับการตรวจหาผู้ติดเชื้อ การนับจำนวนผู้เสียชีวิตง่ายกว่าโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในโรคที่มีระยะฟักตัวช้า แต่ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า จำนวนผู้เสียชีวิตที่เห็นอาจคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ตัวอย่างเช่น บางประเทศผู้เสียชีวิตจากโรคปอดอักเสบไม่ถูกตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรน่า มีรายงานว่าผู้ป่วยชาวสเปนคนหนึ่งได้รับการตรวจพบว่ามีไวรัสโคโรน่าหลังจากเสียชีวิตไปแล้ว

นอกจากนี้สภาพแวดล้อมของแต่ละประเทศต่างกันมาก แม้จะมีผลการศึกษาที่ระบุชัดว่า ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเสียชีวิตมากที่สุด แต่สัดส่วนผู้สูงอายุในแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน ขณะที่จีนมีสัดส่วนผู้สูงอายุ 11% อิตาลีมี 23% สหรัฐอเมริกามี 16% ประเทศที่มีผู้สูงอายุมากกว่าก็อาจจะมีอัตราการเสียชีวิตมากกว่า

เนื่องจากตอนนี้ข้อมูลที่ป้อนเข้าเพื่อคำนวณด้วยคอมพิวเตอร์ยังไม่แน่นอน นักวิทยาศาสตร์จึงใช้วิธีสร้างแบบจำลองที่น่าจะเป็นไปได้หลายล้านแบบ จากค่าความเป็นไปได้ที่แตกต่างกัน

สถานการณ์การแพร่ระบาดก็เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ศาสตราจารย์ด้านจุลชีววิทยา มหาวิทยาลัยฮ่องกง หยุ่น กว็อกยุง ซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านมาตรการควบคุมโรคแก่ทางการฮ่องกงให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 8 มีนาคมว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 ของจีนค่อนข้างคงตัว เขาคาดว่า แม้ในช่วงฤดูร้อนสถานการณ์ในจีนและฮ่องกงน่าจะดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ต่อไปรูปแบบของการแพร่กระจายของเชื้อจะต่างออกไป เนื่องจากขณะนี้เกิดการระบาดไปทั่วโลกแล้ว เส้นทางการระบาดจะกลายเป็นการระบาดจากประเทศอื่นแทนตอนแรกประเทศอื่นกลัวเรา ตอนนี้เรากลัวพวกเขานำไวรัสเข้ามา

นอกจากนี้เขายังคาดว่าการระบาดทั่วโลกจะไม่สิ้นสุดลงในปีนี้จนกว่าจะมียาต้านไวรัสหรือวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ ราคาถูก คนส่วนใหญ่เข้าถึงได้ ส่วนผู้ที่ได้รับเชื้อมีภูมิต้านทานตามธรรมชาติ

ที่มา:

https://www.nytimes.com/interactive/2020/03/07/upshot/how-deadly-is-coronavirus-what-we-know.html

https://www.wsj.com/articles/how-many-people-will-get-and-die-of-coronavirus-epidemiologists-model-answers-11583538443

https://www.scmp.com/news/hong-kong/health-environment/article/3074127/coronavirus-epidemic-will-not-end-year-hong-kongs

ภาพ  : Jung Yeon-je / AFP

Tags: , ,