สถาบันขงจื่อผุดเป็นดอกเห็ดไปทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย ชาติตะวันตกกำลัง
ตรวจสอบบทบาทของหน่วยงานของจีนแห่งนี้มากขึ้น ล่าสุดสหรัฐฯกล่าวหาว่า องค์กรด้านการศึกษาดังกล่าวเป็น ‘เครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อ’
ข้อกล่าวหาที่ว่า ปักกิ่งซุ่มเงียบแผ่อิทธิพล แทรกแซงวงวิชาการ ผ่านสถาบันขงจื่อ มีมูลความจริงมากน้อยแค่ไหน กำลังเป็นคำถามในแวดวงนโยบายของหลายประเทศ หลายท้องถิ่น
ในเมืองไทย เรามีสถาบันขงจื่อก่อตั้งในมหาวิทยาลัย มีห้องเรียนขงจื่อตามโรงเรียนมัธยมฯ นับรวมกันหลายสิบแห่ง จนถึงขณะนี้ แวดวงการศึกษาในบ้านเราดูจะยังไม่เคยตั้งคำถามถึงบทบาทในเชิงความคิดความเชื่อค่านิยมที่แฝงมากับการเรียนการสอนภาษาจีน
ตรงกันข้าม ในโลกตะวันตก สถาบันขงจื่อและห้องเรียนขงจื่อกำลังถูกมองเป็นเครื่องมือทางนโยบายของจีน ที่ต้องการก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจทางวัฒนธรรม
เพ่งเล็ง ‘องค์การต่างชาติ’
เมื่อวันพฤหัสฯ ที่ผ่านมา (13 สิงหาคม) รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ไมค์ ปอมเปโอ มีคำสั่งว่า หน่วยงานที่ดูแลสถาบันขงจื่อ ซึ่งมีชื่อเรียกว่า ศูนย์อำนวยการสถาบันขงจื่อประจำสหรัฐอเมริกา (CIUS-Confucius Institute US Center) ต้องขึ้นทะเบียนกับรัฐบาลอเมริกันในฐานะที่จัดเป็น ‘องค์การผู้แทนรัฐบาลต่างประเทศ’
ปอมเปโอบอกว่า จีนใช้ข้อได้เปรียบที่สหรัฐฯ เป็นประเทศที่เปิดกว้าง ทำงานโฆษณาชวนเชื่อและขยายอิทธิพลในอเมริกา ศูนย์อำนวยการที่ว่านี้ทำหน้าที่รุกคืบโฆษณาจีนในระดับโลก และเสริมสร้างอิทธิพลของจีนในมหาวิทยาลัยอเมริกัน
เขาบอกด้วยว่า สหรัฐฯ ต้องการให้นักศึกษาที่ได้เรียนภาษาและวัฒนธรรมจีนปลอดพ้นจากการชี้นำของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและหน่วยงานบังหน้าทั้งหลาย
รัฐมนตรีช่วยฯ ต่างประเทศฝ่ายกิจการเอเชียและแปซิฟิก เดวิด สติลเวล เสริมว่า สหรัฐฯ ไม่ได้ปฏิเสธสถาบันขงจื่อ เพียงแต่อยากให้มหาวิทยาลัยต่างๆ เพ่งเล็งว่า นักศึกษาในมหาวิทยาลัยได้ซึมซับอะไรบ้าง แล้ววินิจฉัยด้วยตนเองว่า สิ่งนั้นส่งเสริมเสรีภาพทางวิชาการและค่านิยมประชาธิปไตยหรือไม่
การกำหนดให้ศูนย์อำนวยการแห่งนี้มีสถานะเป็นองค์การผู้แทนรัฐบาลต่างประเทศ ส่งผลให้พนักงานของซีไอยูเอสต้องจดทะเบียนกับกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ และปฏิบัติตามข้อกำหนดต่างๆ แบบเดียวกับเจ้าหน้าที่ของสถานทูตสถานกงสุล
เวลานี้ ในสหรัฐฯมีสถาบันขงจื่ออยู่ตามมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยราว 75 แห่ง มีห้องเรียนขงจื่อประมาณ 500 แห่ง
อย่างที่รู้กัน สหรัฐฯ กับจีนกำลังงัดข้อกันในหลายประเด็น จนร่ำ ๆจะกลายเป็นสงครามเย็นรอบใหม่ มองในแง่นี้ บางเสียงอาจเห็นว่า วอชิงตันหาเหตุจับผิดปักกิ่ง
อย่างไรก็ดี สหรัฐฯ ไม่ใช่ประเทศเดียวที่ตั้งคำถาม ชาติยุโรปหลายประเทศ รวมถึงออสเตรเลีย ต่างเคยพยายามเข้ากำกับดูแลบทบาทของสถาบันขงจื่อเช่นเดียวกัน
‘ขงจื่อ’ เบ่งบานทั่วโลก
สถาบันขงจื่อสนับสนุนการเรียนภาษาจีน ถ่ายทอดวัฒนธรรมจีน ตั้งแต่ศิลปะการเขียนตัวอักษร การทำอาหาร ไปจนถึงการรำมวยจีน รวมทั้งจัดงานสัมมนาวิชาการและการบรรยายในหัวข้อต่างๆ
นับแต่เปิดสถาบันขงจื่อแห่งแรกในเกาหลีใต้ จนถึงสิ้นปี 2018 มีสถาบันขงจื่อก่อตั้งขึ้นทั่วโลกจำนวน 548 แห่ง ห้องเรียนขงจื่อในโรงเรียนประถมฯ และมัธยมฯ จำนวน 1,193 แห่ง ตัวเลขในปัจจุบันคงเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อย
สถาบันและห้องเรียนขงจื่อเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยหรือโรงเรียนเจ้าบ้านกับมหาวิทยาลัยเจ้าภาพในประเทศจีน ภายใต้การประสานงานของหน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการของจีน ที่มีชื่อว่า สำนักงานส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาจีนนานาชาติ หรือฮั่นปั้น (Hanban)
ความร่วมมือเหล่านี้มีรัฐบาลจีนรับเป็นผู้อุปถัมภ์ด้านเงินทุน โดยตั้งเป้าหมายว่า ภายในปี 2020 จะก่อตั้งสถาบันขงจื่อให้ได้ 1,000 แห่ง
สอนภาษา หรือ ‘โฆษณาชวนเชื่อ’
สถาบันขงจื่อเป็นแค่โรงเรียนสอนภาษา หรือว่ามีจุดประสงค์มากกว่านั้น กำลังกลายเป็นคำถามในหลายประเทศ บ้างมองว่า สถาบันแห่งนี้มีแต่ความปราถนาดีที่จะช่วยให้เด็กเยาวชนได้เพิ่มพูนทักษะเพื่ออาชีพการงาน แต่บางคนมองว่า ขงจื่อแฝงจุดประสงค์ในทางความคิดอ่าน
ฝ่ายที่วิจารณ์บอกว่า กฎระเบียบของสถาบันขงจื่อไม่เปิดให้มีการพูดจาถกเถียงในประเด็นที่อ่อนไหวสำหรับรัฐบาลจีน เช่น ปัญหาทิเบต ปัญหาไต้หวัน หรือเหตุการณ์เทียนอันเหมิน
แมท ชเรเดอร์ นักวิเคราะห์เรื่องจีนแห่งพันธมิตรประชาธิปไตยในสังกัดกองทุนมาร์แชลเยอรมัน ยืนยันว่า สถาบันขงจื่อเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อ
“นี่คือพื้นที่ของพรรครัฐบาลอำนาจนิยมที่ต่อต้านความคิดเสรีนิยม เช่น เสรีภาพในการพูด หรือการสืบค้นโดยเสรีต่อการโฆษณาเรื่องเล่าตามแบบฉบับของรัฐ”
รายงานของฮิวแมนไรท์วอทช์เมื่อปี 2019 ระบุว่า สถาบันขงจื่อเป็นแขนขาของรัฐบาลจีนที่ปิดกั้นเรื่องราวและมุมมองในบางประเด็นด้วยเหตุผลทางการเมือง และมีนโยบายจ้างพนักงานโดยดูจากความคิดความเชื่อทางการเมือง
ออสเตรเลียเป็นประเทศหนึ่งที่จับตาอิทธิพลของจีน เมื่อเดือนกรกฎาคม 2019 สื่อออสเตรเลียรายงานว่า บรรดามหาวิทยาลัยที่รับเป็นสถานที่จัดตั้งสถาบันขงจื่อต่างลงนามในข้อตกลงที่มอบอำนาจการจัดการเรียนการสอนแก่ฝ่ายจีน
ต่อมาในเดือนสิงหาคม รัฐนิวเซาท์เวลส์ประกาศยกเลิกห้องเรียนขงจื่อตามโรงเรียนทุกแห่ง ด้วยเหตุผลว่า ถึงแม้ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่า จีนแผ่อิทธิพลทางการเมืองในสถาบันการศึกษา แต่ปัจจัยหลายอย่างอาจเปิดทางให้แก่จีนในเรื่องนี้ นอกจากนี้ นิวเซาท์เวลส์ยังตรวจสอบด้วยว่า ข้อตกลงเหล่านั้นละเมิดกฎหมายป้องกันอิทธิพลต่างชาติหรือไม่
ในสหรัฐฯ มหาวิทยาลัยแอริโซนาสเตท และมหาวิทยาลัยซานดิเอโกสเตท เป็นรายล่าสุดที่ปิดสถาบันขงจื่อ เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยในอังกฤษ ฝรั่งเศส สวีเดน และเดนมาร์ก ขณะที่จังหวัดนิวบรันส์วิกของแคนาดาสั่งยกเลิกห้องเรียนขงจื่อ
สถาบันการศึกษาเหล่านี้หวาดระแวงเกินเหตุ หรือว่าเรายังไม่ตระหนักเพียงพอถึงพลังทางวัฒนธรรมแบบอำนาจนิยมที่แฝงเนียนมากับความร่วมมือด้านการศึกษา ขอทิ้งท้ายไว้เป็นข้อคิด
อ้างอิง :
Tags: สถาบันขงจื่อ