วันที่ 20 ธันวาคม 2563 เป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งแรกของประเทศไทย หลังการทำรัฐประหาร 2557 นั่นหมายความว่า วันที่ 20 ธันวาคมที่จะถึงนี้ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด รวมถึงนายก อบจ.ทั่วประเทศจะดำรงตำแหน่งครบ 4 ปี และนั่นก็หมายความอีกว่าต้องจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นใหม่ทั่วประเทศไม่เกิน 45 วัน หรือภายในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2568 

ที่ผ่านมา การเมืองท้องถิ่นมักถูกยึดโยงกับคำว่า ‘บ้านใหญ่’ จนคล้ายกับว่า ตระกูลใหญ่ผูกขาดการเมืองประจำจังหวัดไปโดยปริยาย แต่ในวันที่กระแสทางการเมืองตื่นตัว คนรุ่นใหม่ คนหน้าใหม่ และหลายพรรคการเมืองพร้อมกระโจนเข้าสนามการเมืองท้องถิ่น สิ่งเหล่านี้จะทำลายวิถีปฏิบัติการเมืองเดิมๆ หรือไม่

The Momentum มีโอกาสคุยกับ ปิยะ ปิตุเตชะ พี่ชายคนโตแห่งบ้านใหญ่จังหวัดระยอง ถึงการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ใกล้จะถึงนี้ ตั้งแต่ประสบการณ์การดำรงตำแหน่ง นายก อบจ. 3 สมัยซ้อน คิดเป็นระยะเวลากว่า 17 ปี มุมมองการกระจายอำนาจ ปัญหาขยะและสิ่งแวดล้อมในจังหวัด ไปจนถึงมุมมองอย่างการเมืองบ้านใหญ่แบบ ‘ปิตุเตชะ’ ยังจำเป็นไหมในปัจจุบัน?

ย้อนกลับไปเมื่อช่วง 40-50 ปีก่อน จังหวัดระยองในสายตา ‘เด็กชายช้าง-ปิยะ’ เป็นจังหวัดแบบไหน

ผมเป็นคนอำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง มาตั้งแต่เกิด พ่อแม่พี่น้องก็อยู่ที่ระยองกันหมด สมัยนั้นระยองถือเป็นเมืองเล็กๆ น่าจะมีประชากรนับตามทะเบียนราษฎร์และประชากรแฝงรวมทั้งสิ้น เต็มที่ก็สักแสนหนึ่งหรือไม่ก็หนึ่งแสนห้าหมื่นคน ประชากรเน้นประกอบอาชีพเกษตรกร ปลูกพืชเศรษฐกิจเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นมัน อ้อย ยางพารา ทุเรียน เงาะ หรือมังคุด

ส่วนการท่องเที่ยว ด้วยความที่ระยองมีแนวหาดยาว มีเกาะเสม็ดสวยงาม ทำให้ในสมัยนั้นก็เริ่มมีรีสอร์ตมาตั้งบ้างแล้ว แต่ก็ไม่ถึงกับเป็นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวขนาดใหญ่ เรียกได้ว่ามีพื้นเพเดิมเป็นจังหวัดเกษตรกรรมเต็มตัว ส่วนการท่องเที่ยวในตอนนั้นยังไม่โตเต็มที่

แล้วตอนนี้ระยองเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง

หลายคนน่าจะคุ้นเคยกับคำว่า ‘เสือตัวที่ห้า’ กันดี ย้อนกลับไปในยุคของ พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ การเร่งพัฒนาประเทศเพื่อกลายเป็นเสือเศรษฐกิจตัวที่ 5 ของเอเชีย ต่อจากเกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง และสิงคโปร์ คือวิสัยทัศน์แห่งยุคที่ผู้นำประเทศอยากจะพิชิตให้ได้

หนึ่งในโครงการที่ถูกออกแบบมาเพื่อขับเคลื่อนประเทศไปสู่เป้าหมายนี้ คือโปรเจกต์ Eastern Seaboard อันประกอบไปด้วยการตั้งโรงงานและโครงการวางท่อขนส่งน้ำมันต่างๆ 

ด้วยความเหมาะสมทางภูมิศาสตร์และทรัพยากร ระยองและจังหวัดใกล้เคียงในภาคตะวันออกจึงกลายมาเป็นฐานโครงสร้างอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทย จากเดิมที่เป็นจังหวัดเกษตรกรรม มาวันนี้กว่า 90% ของจังหวัดระยองขับเคลื่อนด้วยอุตสาหกรรม ส่วนอีก 10% ที่เหลือประกอบไปด้วยเกษตรกรรมส่งออกเป็นเพียงส่วนเล็กๆ จากที่เคยเป็นหัวใจหลักของจังหวัด ตามมาด้วยการท่องเที่ยวที่มีสัดส่วนรายได้ลดหลั่นลงมา

จากมุมมอง Bird’s-Eye View ในฐานะคนระยองที่เข้ามามีบทบาทเป็นผู้นำจังหวัดกว่า 40 ปีแล้ว ปัญหาสิ่งแวดล้อมในระยองเริ่มต้นตั้งแต่ตอนไหน

สมัยที่ผมเพิ่งเข้ามาดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาจังหวัด (สจ.) ยังไม่มีปัญหาให้เห็น เพราะช่วงนั้นโครงการเพิ่งดำเนินการไปไม่นาน อุตสาหกรรมจึงยังไม่โตนัก มาเริ่มโตเต็มที่หน่อยราวปี 2535-2538 ตรงกับช่วงที่ผมเริ่มลงสนามใหญ่ ตั้งแต่ตอนนั้นปัญหาก็เริ่มงอกเงยขึ้นมาให้เห็นในรูปแบบของกลิ่น โดยเฉพาะแถบมาบตาพุดซึ่งเป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งแรกๆ ของระยอง 

จำได้ว่า ในตอนนั้นนักเรียนโรงเรียนมาบตาพุดถึงขั้นเรียนไม่ได้กันเลยทีเดียว แต่เราก็ไม่รู้จะโทษใคร เพราะพอมีโรงงานมาตั้งจำนวนมาก การพิสูจน์ที่มาของกลิ่นจึงไม่ใช่เรื่องง่าย

สำหรับผม เรื่องนี้เกิดขึ้นจากความไม่ใส่ใจศึกษาผลกระทบของภาครัฐ ผนวกกับความไม่รู้เดียงสาของหลายๆ ฝ่าย สมัยนั้นไม่ใช่ว่าคนระยองประท้วงต่อต้านไม่ให้โรงงานเข้ามา เราอ้าแขนรับด้วยซ้ำ เพราะเราไม่รู้และไม่เคยเห็นตัวอย่างผลกระทบของนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทยที่เป็นรูปธรรมมาก่อน

คุณต้องเข้าใจว่าคนระยองดั้งเดิมเขาเป็นเกษตรกร ไม่ได้มีการศึกษาสูงพอจะไปรู้เท่าทันสิ่งเหล่านี้ เมื่อไม่รู้เท่าทัน เราจึงไม่ได้ขัดข้องอะไรที่จะให้โรงงานต่างๆ เข้ามาตั้ง

อยู่กับการเมืองท้องถิ่นมานานแค่ไหนแล้ว ทำไมถึงเปลี่ยนจากสนามใหญ่มาลงเล่นสนามท้องถิ่น

หากนับแค่ตอนเข้ามาเป็นนายก อบจ. จนตอนนี้ รวมแล้วน่าจะประมาณ 17 ปี ก่อนเข้ามาทำงานท้องถิ่น ผมเป็น ส.ส.มาแล้ว 3 สมัยซ้อน แต่ด้วยเหตุผลหลายอย่างจึงเปลี่ยนใจคิดอยากมาทำการเมืองท้องถิ่นแทน

เหตุผลหนึ่งเป็นเพราะตอนอยู่สภาใหญ่ ต่อให้เราเป็น ส.ส.เขตก็ตาม แต่หากไม่ได้นั่งเก้าอี้รัฐมนตรี นอกจากจะลงมือทำอะไรไม่ได้มาก เรายังแก้ปัญหาได้ช้า เพราะเมื่อรับเรื่องมา ก็ต้องนำเข้าสภาฯ ไปอภิปราย เสร็จจากในสภาฯ ก็ต้องผ่านกรม กระทรวง สำนักงบฯ อีก แต่ทันทีที่ผมเข้ามาเป็นนายก อบจ.ทุกอย่างดำเนินไปอย่างรวดเร็วกว่า เห็นผลชัดเจนกว่า เพราะไม่ต้องผ่านกระทรวง ทบวง กรม

แต่ข้อเสียก็อย่างที่ทราบกันดีคือเงินน้อยกว่า และหากเป็นเมื่อก่อน คนทั่วไปมักจะมองว่า ‘ศักดิ์และศรี’ ของคนเป็น ส.ส.เหนือกว่า เพราะสมัยนั้นยังไม่มีบัญญัติกฎหมายให้ประชาชนมาเลือกตั้งนายก อบจ.โดยตรง เพิ่งจะมาแก้กฎหมายเมื่อไม่นานมานี้นี่เอง

การที่การเมืองท้องถิ่นได้ ‘คนบ้านเรา’ เข้ามาบริหารมีข้อดีอย่างไร

อยากให้ลองนึกภาพตามว่า เมื่อเราต้องการทำผังเมืองสักเมืองหนึ่ง แต่คนทำผังเมืองเป็นนักวิชาการ เป็นอาจารย์ทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ ส่วนคนในพื้นที่ที่รู้จักผู้คนและธรรมชาติของพื้นที่นั้นจริงๆ กลับไม่ได้รับโอกาสให้เข้าไปมีบทบาทเลย ผลที่ออกมาคือเมืองที่ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งานจริง

การเลือกคนในท้องถิ่นมาบริหารคือ ‘การกระจายอำนาจ’ รัฐบาลที่รวมศูนย์อำนาจการปกครองเอาไว้ ไม่ยอมกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ อย่างที่ควรจะเป็น ย่อมไม่รู้และไม่สามารถตอบสนองความต้องการของคนในพื้นที่ได้

ในความคิดของคุณ ปัญหาเร่งด่วนของจังหวัดระยองคืออะไร

ระยองเป็นจังหวัดที่ขับเคลื่อนโดยเศรษฐกิจสามขา ได้แก่ อุตสาหกรรม เกษตรกรรม และการท่องเที่ยว ปัญหาที่เกิดขึ้นคือปัจจุบัน เศรษฐกิจสามขาที่ว่านี้กำลังตกอยู่ในภาวะที่ ‘ไม่ยอมรับซึ่งกันและกัน’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับแรงต้านจากภาคอื่นๆ มากเป็นพิเศษ เพราะมลพิษทางเสียง ทางอากาศ และทางน้ำที่เกิดขึ้น รวมถึงการแก่งแย่งทรัพยากรน้ำระหว่างภาคอุตสาหกรรมกับเกษตรกรรม

โจทย์ของผมในตอนนี้คือจะทำอย่างไรให้ภาคส่วนต่างๆ สามารถดำรงอยู่ร่วมกันได้โดยเข้าใจซึ่งกันและกัน ภาคอุตสาหกรรมคือรายได้หลักของจังหวัดในปัจจุบัน เราจึงจำเป็นที่จะต้องสะท้อนให้ภาคส่วนอื่นๆ เห็นถึงพัฒนาการทางเศรษฐกิจและผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับทุกคนโดยรวม ผ่านน้ำ ไฟ สัญญาณ ถนน และระบบสาธารณูปโภคที่สะดวกทั่วถึงมากขึ้น

เราต้องพิสูจน์ให้คนระยองเห็นว่า นอกจากอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และการท่องเที่ยวจะอยู่ร่วมกันได้แล้ว แต่ละภาคส่วนยังมีส่วนในการสนับสนุนซึ่งกันและกัน เช่น ถนนหนทางและโครงสร้างที่เกิดขึ้นจากภาคอุตสาหกรรม สามารถอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว และช่วยให้ภาคเกษตรกรรมสามารถขนส่งผลิตผลได้  

ปัญหาระหว่างภาคส่วนต่างๆ ที่ว่านี้ ถูกสะท้อนผ่านปริมาณขยะในระยองด้วยใช่ไหม

ใช่ ถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่ต้องหาทางออก สำหรับขยะครัวเรือน ตอนนี้ระยองมีขยะเกิดขึ้นโดยเฉลี่ย 1,000-1,300 ตันต่อวัน แต่จังหวัดมีโรงขยะไฟฟ้าที่กำจัดได้ครบวงจรเพียงแห่งเดียวเท่านั้น ปัจจุบัน แผนการหลักของผมที่จะต่อยอดให้ระยองมีกำลังในการกำจัดสูงขึ้น คือการสร้างโรงขยะไฟฟ้าแห่งที่ 2 ซึ่งคาดว่าจะช่วยแบ่งเบาขยะในระยองได้ทั้งหมด

ในส่วนของขยะอุตสาหกรรม ปัจจุบันมีหลากหลายพื้นที่ที่ประสบปัญหาลักลอบเอาขยะอุตสาหกรรมมาฝังใกล้ๆ กับชุมชน ทำให้แหล่งน้ำปนเปื้อนสารเคมี จริงๆ นี่เป็นปัญหาที่ผมจัดการได้ไม่ยากเลย ว่ากันตามตรงขยะอุตสาหกรรมอาจจะกำจัดง่ายกว่าขยะชุมชนเสียอีก เพราะไม่ใช่ขยะที่เน่าเสียหรือส่งกลิ่น แต่ปัญหาหลักคือมันไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของผม

หากไปลองศึกษาอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ ในการดูแลขยะ จะพบว่าขยะชาวบ้านมีกระทรวงมหาดไทยดูแล ขยะอุตสาหกรรมมีกระทรวงอุตสาหกรรมดูแล ส่วนขยะติดเชื้อมีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดูแลอยู่ เพราะแบบนี้ ผู้นำท้องถิ่นจึงไม่มีอำนาจที่จะเข้าไปบริหารจัดการขยะทั้งหมดที่เกิดขึ้นในจังหวัดได้อย่างเต็มที่

ว่ากันว่า ‘คนระยองรวยที่สุดในประเทศ’ คุณคิดเห็นอย่างไรกับคำกล่าวนี้

ย่อมไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว ตัวเลขสถิติที่ว่านี้อ้างอิงจาก GDP ต่อหัว วัดจากรายได้มาหารด้วยประชากรตามทะเบียนราษฎร์ อย่างปี 2564 ตัวเลขที่ออกมาตกคนละเกือบ 1 ล้านบาท ก็เกิดจากรายได้ 6-7 ร้อยล้าน หารด้วยประชากรจริง 7 แสนคน โดยไม่นับประชากรแฝง ซึ่งเป็นประชากรมากกว่าครึ่งในจังหวัด

คำกล่าวที่ว่านี้จึงไม่ได้สะท้อนความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในจังหวัดเลยก็ว่าได้

มีเสียงสะท้อนมาจากภาคประชาสังคมว่า โครงการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดระยอง ไม่ได้เอื้อประโยชน์ต่อคนระยองจริงๆ ตามที่สัญญาไว้เมื่อ 20-30 ปีก่อน คุณเห็นด้วยไหม

เห็นด้วย ผมคิดว่าขั้นตอนแรกในการที่เราจะสามารถแก้ไขปัญหานี้ คือเราต้องยอมรับความจริงให้ได้เสียก่อนว่านี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง และยอมรับให้ได้ว่า การที่คนเข้าไปทำงานตำแหน่งสูงๆ ในนิคมอุตสาหกรรมได้ เป็นคนนอกพื้นที่และเรียนจบสูง เป็นชาวต่างชาติที่เข้ามาเป็นประชากรแฝง มากกว่าประชากรถาวรจริงๆ นี่เป็นปัญหาของจังหวัดระยองที่เราต้องแก้ไข

     ความรู้สึกของประชาชนแบบที่ว่ามานี้ ส่วนหนึ่งก็เกิดขึ้นจากการที่ทั้งสามภาคส่วนของจังหวัดยังคงเป็นปรปักษ์ต่อกันอย่างที่ผมอธิบายไปเบื้องต้น เมื่ออุตสาหกรรมเข้ามา แล้วคนในจังหวัดกลับไม่ได้รับผลประโยชน์อย่างเต็มที่ มิหนำซ้ำยังเสียผลประโยชน์อีก

สิ่งที่ผมพอจะทำได้ในตอนนี้และลงมือทำมาสักพักแล้ว คือการสร้างโรงเรียนที่จะทำให้เด็กระยองมีงานที่ยั่งยืนและตอบโจทย์นิคมอุตสาหกรรม หนึ่งในสถาบันที่ว่าก็คือ ‘วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาตากสินระยอง’ ซึ่งเป็นสถาบันที่อ้าแขนรับเยาวชนระยองทั้งหมด ใครก็ตามที่ไม่มีที่เรียน หากมาสมัครที่นี่จะได้เรียนหมดทุกคน เพราะสำหรับผม การให้โอกาสคนเป็นเรื่องสำคัญมาก

     แต่แน่นอนว่ามันไม่ง่ายหรอก โดยเฉพาะการนิเทศชี้แจงเด็กและผู้ปกครอง ให้เข้าใจถึงธรรมชาติของสายอาชีพต่างๆ ที่จะอยู่รอดในจังหวัด เด็กๆ ส่วนหนึ่งเขาก็อยากจะเรียนตามใจตัวเอง เราก็ไม่สามารถไปโทษเขา หรือโทษพ่อแม่เขาที่อยากจะสนับสนุนให้ลูกเรียนที่ชอบได้ แต่ปัญหาที่ตามมาก็คือสายงานที่เด็กๆ เลือกจะมีงานในจังหวัดรองรับมากน้อยแค่ไหน

ในฐานะสมาชิก ‘บ้านใหญ่ปิตุเตชะ’ คนหนึ่ง คุณคิดเห็นอย่างไรกับแนวคิดเรื่องบ้านใหญ่

     ผมมองคำว่า ‘บ้านใหญ่’ เป็นเรื่องดี เพราะเราไม่ใช่บ้านใหญ่ประเภทที่จะไปรังแกชาวบ้าน แต่เป็นบ้านใหญ่ที่ชาวบ้านแวะเวียนกันมาหา มาร้องเรียน มาปรึกษาปัญหา มาขอความช่วยเหลือ นัยหนึ่ง บ้านใหญ่ก็คือที่พึ่งของประชาชน เป็นเหมือนพรรคการเมืองระดับท้องถิ่นที่ประชาชนจับต้องได้

     ยกตัวอย่างเช่นเทศกาลหนึ่งที่จะมีคนมาขอพบเยอะมาก คือ ‘เทศกาลฝากลูก’ ผมมองต่างจากหลายคนที่ไปโฟกัสว่านี่คือเรื่องของเส้นสาย แท้จริงแล้วไม่ใช่เลย การรับฝากลูกคือการการันตีว่าเด็กๆ ในท้องถิ่นจะต้องมีที่เรียน ไม่หลุดออกจากการระบบศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมให้ความสำคัญอย่างมาก

เวลาไปไหนมาไหน ถ้ามีโอกาสได้คุยกับ ผอ.โรงเรียนไหนก็ตาม ผมมักจะเน้นย้ำกับพวกเขาอยู่เสมอว่าไม่ให้ไล่เด็กออก เพราะการไล่ออกจากโรงเรียน แทบไม่ต่างอะไรกับการไล่เด็กไปเป็นโจร หรือไปติดยาเลย ทั้งที่ความผิดของเขาอาจจะไม่ใช่ความผิดร้ายแรง เช่น หากพบนักเรียนสูบบุหรี่ แทนที่โรงเรียนจะคอยดูแลว่าเขามีปัญหาอะไร ต้องการการสนับสนุนหรือไม่ กลับไปไล่เขาออก ผมมองว่าไม่สมเหตุสมผล

สำหรับผม เด็กคนหนึ่งมีค่ากับประเทศนี้มาก โดยเฉพาะในยุคที่อัตราการเกิดต่ำแบบนี้ ถ้าดูแลเขาดี เขาก็จะเติบโตมาเป็นประชากรที่มีคุณภาพ เพราะเหตุผลนี้แหละ โรงเรียนที่ผมดูแลอยู่จึงจัดให้มีการเยี่ยมบ้านนักเรียนทุกคน เพื่อที่เราจะได้ช่วยเหลือเด็กให้ถูกจุด และสามารถยื้อเด็กให้อยู่ในระบบการศึกษาต่อไป

บรรยากาศหาเสียงสมัยก่อนกับตอนนี้แตกต่างกันอย่างไรบ้าง

     สมัยก่อน การเลือกตั้งท้องถิ่นต้องหาเสียงกันเข้มข้น อย่างผมนี่ต้องลงพื้นที่ทุกวัน จัดงานอะไรก็ต้องไปให้ครบทุกงาน งานศพ 5 งานในวันเดียวก็ยังมีนะ (หัวเราะ) หากเป็นยุคก่อน การที่มีงานศพ แล้ว ส.ส.ในท้องที่ไม่โผล่หน้าไปให้เห็นนี่ไม่ได้เลย ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก

     ผมคิดว่านี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผมอยู่กับการเมืองท้องถิ่นมาได้นานถึง 17 ปี นอกจากเรื่องผลงานแล้ว คือเรื่องที่ว่าหากมีปัญหา ชาวบ้านก็รู้กันว่าบ้านอาช้างอยู่ไหน เราทำงานอยู่ตรงไหน เขาก็เห็น

พอมาหาเสียงยุคนี้ที่ต้องสู้ด้วยข้อมูลสารสนเทศและเทคโนโลยี ถามว่าผมต้องปรับตัวไหม ก็ต้องปรับบ้าง ถ้าสู้กันด้วยกระแสบนโลกออนไลน์ ต้องยอมรับว่าผมอาจจะสู้ไม่ไหว แต่ผมถือว่าตลอดเวลา 17 ปีที่ทำให้คนระยอง ผมเองก็ทำงานเต็มที่และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ของตัวเองอยู่แล้วเช่นกัน

คิดจะกลับไปลงเล่น ‘สนามใหญ่’ บ้างไหม?

     ไม่คิดจะกลับไปเลย ผมมองว่าเมื่อได้ตำแหน่ง ส.ส.มาแล้ว เราก็ทำอะไรไม่ได้มากนอกจากไปยกมือให้รัฐบาล งาน ส.ส.คือการรับเรื่อง เสนอเรื่อง ส่งเรื่อง แต่ไม่ได้แก้ปัญหาเองโดยตรง แต่เมื่อผมเข้ามาทำงานท้องถิ่น ผมเห็นปัญหาชัดเจนแทบจะในทันทีที่เวลาลงพื้นที่ไป หากเจอต้นตอปัญหาก็สามารถจัดการแก้ไขได้เลย

อย่างเรื่องการศึกษาคนระยองไม่ตอบโจทย์นิคมอุตสาหกรรมที่เรียนไปเบื้องต้น ถ้าผมทำเรื่องนี้ในตำแหน่ง ส.ส. ป่านนี้โรงเรียนน่าจะยังไม่มีให้เห็นเลย แต่เพราะเราทำด้วยตำแหน่งนายก อบจ.ถึงเกิดขึ้นได้

ระยองในฝันของ ‘อาช้าง’ เป็นอย่างไร

ปัจจุบันเมื่อคนพูดถึงระยอง พูดถึงทะเล ชายหาด เกาะแก่ง อีกสิ่งหนึ่งที่คนอดไม่ได้ที่จะเริ่มนึกถึงมาคู่กัน คือภาพจำในฐานะเมืองอุตสาหกรรมที่ต้องแบกรับมลพิษ ทั้งที่เดิมที ระยองเป็นเมืองที่ทั้งน่าอยู่และน่าเที่ยว

สมัยก่อนเมื่อพูดถึงระยอง คนก็จะนึกถึงเกาะเสม็ด นึกถึงทุเรียนอร่อย ผมอยากทำให้คนกลับไปพูดถึงระยองเหมือนเมื่อก่อน ซึ่งไม่ได้หมายความว่า คนจะต้องมองข้ามภาคอุตสาหกรรม เพราะนี่คือรายได้หลักและที่มาของความเจริญในจังหวัด แต่ผมอยากทำให้คนมองเห็นว่า มันมีหนทางที่ทุกๆ ภาคส่วนสามารถอยู่ร่วมกันและเกื้อหนุนกันได้

ผมอยากเปลี่ยนความรู้สึกของพี่น้องประชาชนในจังหวัด ไม่ให้เขารู้สึกว่าสิ่งที่มาถึงระยองพร้อมกับอุตสาหกรรมคือมลพิษ แต่เป็นน้ำ ไฟ ถนนหนทางที่สะดวก และเมืองระยองที่เจริญขึ้น

Fact Box

  • ปิยะ ปิตุเตชะ เกิดเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2500 ลูกชายคนโตของอดีตกำนันคนดังแห่งเมืองระยอง สาคร ปิตุเตชะ พี่ชายของ สาธิต ปิตุเตชะ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขและอดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และธารา ปิตุเตชะ อดีต ส.ส.ระยอง ปัจจุบันสังกัดพรรคประชาธิปัตย์
  • ปิยะลงเล่นการเมืองท้องถิ่นครั้งแรกขณะอายุเพียง 25 ปีเท่านั้นในสนามสภาจังหวัด แม้สอบตกในสมัยแรก แต่ต่อมาก็ได้รับเลือกติดต่อกัน 2 สมัย (ปี 2528-2535) และทำให้ชื่อ ‘สจ.ช้าง บ้านค่าย’ กลายเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง
  • ต่อมาในปี 2535 ปิยะเริ่มลงเล่นการเมืองสนามใหญ่โดยแรกเริ่มสังกัดพรรคชาติพัฒนา และเช่นเคย แม้จะไม่สามารถชนะได้ทันทีในสมัยแรก แต่เขาก็ไม่ถอดใจและกลับมาชนะได้ในสมัยถัดมา อีกทั้งยังได้รับเลือกมาเป็น ส.ส.ระยอง เขต 3 ติดต่อกันถึง 3 สมัย (ปี 2538-2549) คราวนี้เป็นที่รู้จักในแวดวงการเมืองภายใต้ชื่อ ‘เสี่ยช้าง’
  • ในปี 2549 ปิยะวางมือจากการเมืองระดับประเทศ หนุนน้องชาย ธารา ปิตุเตชะ ลงสนามใหญ่แทนตัวเองกับพรรคไทยรักไทย ก่อนจะหันกลับมาลุยสนามการเมืองท้องถิ่นและกลายเป็นผู้ชนะด้วยคะแนนท่วมท้นในปี 2550 และได้รับความไว้วางใจให้เป็นนายก อบจ.เรื่อยมาจนถึงสมัยปัจจุบัน 
  • ในสมัยล่าสุดมีการรีแบรนด์ภาพลักษณ์ขนานใหญ่ เสี่ยช้างผู้กว้างขวางจึงกลายมาเป็น ‘อาช้าง’ ที่ดูเฟรนด์ลี่ เข้าถึงง่าย และใกล้ชิดกับประชาชนขึ้นอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน
Tags: , , , , , , ,